TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเมื่อภาพถ่าย “ปลากัด” กลายเป็น NFT

เมื่อภาพถ่าย “ปลากัด” กลายเป็น NFT

เชื่อแน่ว่าใครหลายคนจะคุ้นกับภาพปลากัดสะบัดหางสีสันสวยงามบนหน้าจอสมาร์ทโฟนแบรนด์ดังระดับโลกเมื่อหลายปีก่อนกันได้ ภาพปลากัดสีสันสวยงามนั้นได้กลายมาเป็น “ลายเซ็น” งานวิจิตรศิลป์ (fine art) ของช่างภาพมืออาชีพอย่าง “วิศรุต อังคทะวานิช” ที่วันนี้ได้นำผลงานเข้าสู่โลก “สินทรัพย์ดิจิทัล” แล้ว 

ผลงานภาพถ่าย “ปลากัด” ได้ถูกนำไปวางจำหน่ายที่ OpenSea มาร์เก็ตเพลส NFT แห่งแรกและที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วิศรุต เจ้าของผลงานภาพถ่าย “ปลากัด” กล่าวกับ The Story Thailand ว่า โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (งานศิลปะ) ไม่ได้ต่างจากตลาดสินทรัพย์อะนาล็อกเท่าใดนัก คนที่เป็นนักสะสม มีทั้งที่เป็นแบบเก็บงานเพราะชอบ กับเก็บงานเพราะเก็งกำไร หรือทั้งสองอย่าง ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล (งานศิลปะ​) ก็มีคน 3 กลุ่มนี้เหมือนกัน คือ ชอบ ซื้อมาได้เป็นเจ้าของได้ครอบครอง มีความสุขแล้ว อีกกลุ่มเป็นการซื้องานเพื่อการลงทุน และกลุ่มที่ 3 จะซื้องานไหนต้องชอบก่อน แล้วคาดการณ์ว่าทำกำไรได้ค่อยซื้อ

“ผมมองว่า NFT ศิลปะไม่ต่างจาการสะสมงานศิลปะแบบเดิม ๆ มากนัก เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีทำให้มีรูปแบบและช่องทางมากขึ้น จะดึงดูดคนใหม่เข้ามามากขึ้น งานศิลปะแบบเดิม คนที่จะสะสมงานศิลปะได้จะต้องเป็นคนที่มีเงินมากระดับหนึ่ง แต่งานศิลปะดิจิทัลทำให้ตลาดสะสมงานศิลปะขยายใหญ่ขึ้น มีศิลปินหน้าใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะมีผลงานที่ยังไม่แพงมากเข้ามามากขึ้น ฝีมือดี ๆ และผลงานยังไม่แพงมาก ทำให้เกิดคนซื้อรายใหม่ได้มากขึ้น” 

เขามองการเติบโตของสินทรัพย์ (ศิลปะ) ดิจิทัล ว่าช่วงนี้เป็นช่วงการเติบโต ตลาดเริ่มโต คนเริ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งไม่ต่างจากการเติบโตของพระเครื่องที่เกิดขึ้น เติบโต และลดลง ซึ่งเขามองเห็นโอกาสและโดดเข้ามามีส่วนร่วมเลย 

“สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้เป็นความเชื่อของเราว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นความเชื่อร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่งเหมือนหุ้น ที่ถ้าคนมองว่าหุ้นจะขึ้น เข้าไปซื้อเยอะ ๆ ก็จะขึ้น ถ้าคนมองว่าหุ้นจะลง ปล่อยขายเยอะ ๆ ก็จะลง แต่ความเชื่อของคนอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานจริง ๆ ของหุ้นตัวนั้นก็ได้”

ตลาดของงานศิลปะดิจิทัลก็เช่นกัน มีลักษณะหนึ่งที่คล้ายตลาดหุ้น ที่มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของคน 

“NFT เป็นสิ่งใหม่ ผมเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีประสบการณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง ผมไม่ได้รอจนมั่นใจว่าจะดีจะรุ่งแล้วค่อยไปทำ แต่มองว่า ณ เวลานี้ มีโอกาส มีความพร้อม มีคนช่วย (เพื่อน) ที่มาเสริมตรงที่ผมไม่เก่งได้ ทำงานไปด้วยกัน ตอนนี้ได้ลงผลงานไปแล้ว 1 ผลงาน เพื่อทดสอบตลาดการตอบรับของตลาด ก่อนที่จะนำผลงานมาลงเพิ่ม” 

เขา กล่าวว่า มีความคาดหวังว่า NFT จะเป็นช่องทางใหม่ ๆ ในการขายผลงาน

“งานผมเป็นงาน photo ซึ่งเท่าที่ดูเว็บ NFT งาน photo ยังไม่ได้นิยมมาก คิดว่ามีทั้งอุปสรรคและโอกาสรออยู่ อุปสรรค คือ การเอาของไปขายผิดที่ ขายไม่ตรงกลุ่มลูกค้าที่เข้ามา แต่มีโอกาส คือ ของที่อยู่ผิดที่ ตัวมันเองจะกลายเป็นจุดเด่น เพราะไม่เหมือนของรอบ ๆ”

ช่างภาพผู้หลงรัก fine art กับภาพจำ “ปลากัด” 

ด้วยความที่ชอบดูงานศิลปะตั้งแต่เด็ก ๆ แม้ว่าอาชีพหลักของเขา คือ การถ่ายงานโฆษณา แต่การถ่ายภาพ find art ก็เป็นงานอดิเรกหลัก และเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ และมีลูกค้า ซึ่งส่วนมากเป็นลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาเรื่อย ๆ 

“งานถ่ายภาพโฆษณากับการถ่ายภาพ fine art มีที่มาจากคนละทาง การถ่ายภาพ fine art มาจากความชอบ ชอบอะไรก็ทำ แต่งานโฆษณาแม้ว่าจะใช้ทักษะของงานศิลปะก็จริง แต่ว่ามีเหตุมีผล มีเรื่องความต้องการของลูกค้า มีเรื่องการสื่อสาร สิ่งที่ลูกค้าต้องการสื่อสาร”

งาน fine art จะเป็นตัวของตัวเองมากกว่า ซึ่งคนทำ fine art มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มอาจจะมองตลาด ว่าตลาดสนใจอะไรวิ่งไปทำ กับบางกลุ่มที่อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ได้สนใจว่าจะขายได้หรือไม่ได้ วิศรุต จะอยู่ในพวกที่สอง คือ ทำในสิ่งที่ชอบทำ ส่วนจะขายได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าไม่ใช่งานอาชีพ แต่ที่ผ่านมากลับขายได้เรื่อย ๆ เพราะ “ปลากัด” เป็นสิ่งแปลกใหม่ (exotic) สำหรับประเทศอื่น บางทีคนไทยเห็นภาพปลากัดจะเฉย ๆ เพราะเห็นตั้งแต่เด็ก แต่ต่างชาติเห็นว่ามีความแปลกใหม่มาก เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น มีทั้งความแปลกประหลาดและความสวยงามในตัวมันเองค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ตัว (ปลากัด)​ เองเป็นที่สนใจของคนอื่นที่ไม่คุ้นเคย 

ภาพจำหรือคาแรคเตอร์หลักของงาน fine art ของ วิศรุต คือ “ปลากัด” เพราะเขาเป็นคนแรกที่ถ่ายภาพปลากัดในลักษณะแบบนี้ เวลาคนพูดถึงงานของเขาจะพูดถึงปลากัด 

“ผมมองว่าถ้าเราทำงานศิลปะ มันควรจะมีบุคลิกของเราอยู่ในตัวงาน และเป็นสิ่งที่คนอื่นเวลาพูดถึงเราจะนึกขึ้นมาได้ จะนึกถึงเราในลักษณะไหน ถ้าเราเป็นศิลปินดัง ทำงานออกมาแล้วคนนึกไม่ออก ก็ดูแปลก ๆ อยู่ การเป็นศิลปิน ควรจะมีลายเซ็นที่เป็นของตัวเองอยู่เหมือนกัน” 

ปีนี้เป็นปีที่ 10 ที่เขาถ่ายภาพปลากัด ครั้งแรกเมื่อปี 2011 แรงบันดาลใจแรกที่ถ่ายปลากัด มาจากความชอบส่วนตัวที่ชอบเลี้ยงปลาตั้งแต่เด็ก และตอนเด็กเคยเลี้ยงปลากัด ปลาทอง ปลาหางนกยูง และมีวันหนึ่งไปเดินตลาดนัดจตุจักร และเจอปลาทองสายพันธุ์แพนด้า ที่มีสีขาวดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งเพาะขึ้นมาใหม่ (ณ ตอนนั้น) ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกตื่นตะลึงมากว่ามันน่ารักและสวย เลยซื้อมาเลี้ยง และเริ่มถ่ายภาพปลาทองสายพันธุ์แพนด้าเพื่อส่งงานไปขายใน Shutterstock

จุดนั้นเองที่ทำให้เขาเห็นว่า visual ที่ออกมาแปลกใหม่ดี รู้สึกชอบ และถ่ายมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งไปงานประกวดปลา และเห็นปลากัด ซึ่งปลากัดสมัยใหม่มีความแตกต่างจากปลากัดตอนเขาเป็นเด็กมาก ทั้งสีและลักษณะหาง มีความสวยงามมากว่าเดิมมาก ๆ ทำให้เกิดความตื่นตะลึงอีกรอบ ตื่นตาตื่นใจมาก 

“ภาพตอนเด็ก ปลากัด คือ ปลาสีเดียวทั้งตัว สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ ไม่ได้มีความสวยงาม ไม่ได้มีลวดลายมากเท่าปัจจุบัน คนผสมพันธุ์ของไทยเราเก่งที่สามารถทำปลาแปลก ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ”

เขาซื้อปลากัดสีสันสดใสสวยงามมาเลี้ยง และถ่ายภาพปลากัด แล้วชอบภาพปลากัดที่ตัวเองถ่าย ด้วยความเป็นคนชอบงานศิลปะ โดยเฉพาะงานศิลปะกรีก-โรมัน neo-classic ที่เป็นหินอ่อน หรืองานแฟชั่น งานเต้น งานบัลเลต์ ชอบงานศิลปะเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอถ่ายภาพจึงมีมุมมองของสิ่งเหล่านี้ออกมาในนผลงาน เลยกลายเป็นงาน visual ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับช่วงนั้น เพราะตอนนั้นยังไม่เคยมีใครถ่ายปลากัดออกมาเแบบนี้ หลังจากนั้นก็ลองเอาไปโพสต์ในเว็บต่างชาติ และได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี มีการส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ กลายเป็น viral ในอินเทอร์เน็ต และทำให้หลายแบรนด์อยากให้ไปร่วมงานด้วย และเป็นส่วนที่ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

จากการถ่ายรูปปลาที่ชอบในวัยเด็ก จนกลายมาเป็น signature และได้โชว์ผลงานบนสมาร์ทโฟนที่ดังที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นงานของเขาเป็นที่รู้จักมาเกือบปี เริ่มจากการส่งต่อกันในเว็บออกแบบ และในกลุ่มงานออกแบบศิลปินและนักออกแบบทั่วโลกจะรู้จักงานของเขาในระดับหนึ่ง แต่การที่ภาพถ่ายปลากัดของเขาขึ้นไปอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนของแบรนด์หนึ่ง ทำให้คนไทยหันมาสนใจ และกลายเป็น Talk of the Town ณ ช่วงนั้น 

“ต่างประเทศไม่มีปลามากและหลากหลายเหมือนเมืองไทย ต่างประเทศมีช่างภาพเก่งกว่าผมเยอะ แต่เขาไม่มีปลาถ่าย เลยเป็นโอกาสของคนที่อยู่กับปลา คนไทยรู้สึกคุ้นเคยกับปลากัดและไม่ได้มองว่าสวยงามและน่าถ่าย เพราะมันใกล้ตัวและธรรมดา แต่ผมไม่ได้เริ่มต้นทำงานจากการเอาวัตถุประสงค์สุดท้ายเป็นที่ตั้ง ผมทำงานจากความชอบของตัวเอง แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ เลยเป็นสิ่งแปลกใหม่ในโลกของดีไซน์ระดับโลกตอนนั้น ทำให้ใคร ๆ ก็สนใจ” 

การถ่ายภาพปลากัดซึ่งเป็นสัตว์เล็กและเคลื่อนไหวได้ ต้องใช้ความสามารถในการถ่ายภาพเป็นพิเศษหรือไม่นั้น

เขา บอกว่า การถ่ายปลาต้องทักษะการถ่ายภาพในสตูดิโออยู่แล้ว เพราะว่าไฟจะเป็นไฟเฟลช ช่างภาพที่ถ่ายภาพสตูดิโอทุกคนถ่ายได้หมด เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ความยากอยู่ที่จิตนาการมากกว่า เวลาแต่ละคนมองปลากัดแล้วเขามองเห็นอะไรบ้าง ความยากอยู่ที่การไปหาไปเลือกปลาที่มีบุคลิกบางอย่างที่ถ่ายมาแล้วสวย ถ่ายมาแล้วคนดูตื่นตะลึง ไม่ได้ยากที่เทคนิค ทุกวันนี้มีคนมาถ่ายภาพปลากัดกันเยอะมากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 

การถ่ายภาพปลาไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือ ถ่ายมาแล้วจะสร้างผลงานที่แปลกใหม่กว่านี้ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่เขาท้าทายตัวเองตลอดเวลา ว่าถ้ายังถ่ายภาพปลากัดอยู่ สามารถมองเห็นแง่มุมต่าง ๆ แง่มุมอื่น ๆ ที่จะเล่าเรื่องจากสิ่งนี้ได้ 

นอกจากดูสีสันของปลาแล้ว ต้องดู “บุคลิก” ของปลาด้วย เพราะปลาแต่ละตัวมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน บางตัวเป็นปลานิ่ง ๆ ถึงลายจะสวยแต่หากเขานิ่งมาก ๆ จะถ่ายรูปเขายากมาก เพราะเขาไม่โพสต์ท่า บางตัวไม่สวยมากแต่โพสต์เก่ง ซึ่งการโพสต์เก่งสามารถปกปิดความไม่สวยบางอย่างได้ และการใช้แสงเงาบางทีก็ช่วยเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของปลาได้ อาทิ บางทีถ่ายย้อนแสงก็จะให้ความรู้สึกอีกอย่างไปเลย ซึ่งต้องใช้ทักษะของช่างภาพมาช่วย แต่หลัก ๆ คือ ต้องมีจินตนาการที่ชัดเจนก่อนว่าจะถ่ายอะไรออกมาเป็นอะไร 

เขาพยายามหาไอเดียแปลกใหม่ทดลองเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดผลงานใหม่ ซึ่งเขามองว่าการทดลองไอเดียนั้นถึงแม้จะไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เพราะการทำงานแบบนี้ ต้องมีการทดลองอยู่ตลอดเวลา หากทดลองแล้วดีก็ค่อยทำผลงานออกมาเป็นซีรีส์ ถ้าทำออกมาแล้วล้มเหลวก็ปล่อยให้ล้มเหลวไป

เพราะการทำงานศิลปะ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถคาดหวังอะไรได้ 100% งานศิลปะเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของการทดลอง เป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมอง​ (ของคนถ่าย) ไปเรื่อย ๆ 

“เป็นเรื่องของความชอบของเรากับความชอบของคนอื่น งานศิลปะที่ประสบความสำเร็จ จะมีทั้งสองด้านนี้มาเจอกัน คือ เราชอบแล้วคนอื่นชอบ ถ้าทำงานศิลปะแล้วบอกว่าเราชอบคนเดียวจะบอกว่าเป็นความสำเร็จก็ใช่ ถ้าเป้าหมายของเรา คือ ทำเพื่อความสบายใจเพื่อตอบสนองตัวเองก็เป็นความสำเร็จแล้ว แต่ถ้าเราคิดว่าเป้าหมายของงานศิลปะจะต้องมีเรื่องการยอมรับของคนอื่นด้วย ก็เป็นโจทย์แลการวัดผลอีกแบบหนึ่ง ที่ต้องทำออกมาแล้วเราชอบ คนอื่นชอบด้วย ผมเอาตัวเองเป็นที่ตั้งก่อน เพราะงานศิลปะที่ทำ ทำเพื่อสนองความต้องการของผมก่อน เหมือนเราพักผ่อนด้วยการถ่ายรูป เราไม่รู้หรอกว่างานเราจะไปถึงใครบ้าง และใครชอบหรือไม่ชอบ เป็นสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้”

ช่วงโควิด งานนิทรรศการจะหยุดไว้ก่อน แต่มีงานได้รับเชิญจาก Hub of Photography ของ “ทอม” (ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์) ที่จัดงาน Photographic Group Exhibition ระหว่าง 17 มิถุนายน ถึง 25 กรกฎาคม และประมาณปลายปีจะมีแสดงผลงานที่สวีเดน (งานภาพถ่ายเกี่ยวกับสัตว์) 

“ผมมีเส้นแบ่งชัดเจน เวลาทำงานลูกค้า จะทำตามโจทย์ แต่มีมาตรฐานส่วนตัว เพราะทุกชิ้นงานเป็น porfolio ของผม การทำงานลูกค้าและงาน fine art ใช้ตรรกะคนละแบบ”

งานศิลปะ เป็นสิ่งจรรโลงจิตใจทั้งคนทำและคนเสพ ส่วนเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ที่ผ่านมาทำงานแบบเชิงเดี่ยว ทำคนเดียว ในสเกลเล็กที่ตัวเองควบคุมได้หมด เชี่ยวชาญแล้วถึงลงมือทำ แต่โลกทุกวันนี้ซับซ้อนและเปลี่ยนเร็วจนไม่สามารถที่จะทำงานเชิงเดี่ยวได้เก่งทุกอย่าง แต่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของทีมและการหาพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันได้ เปิดใจ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยน 

“ถ้าเรายังยึดทุกอย่างที่เราเคยคิด ใช้กับยุคนี้ไม่ได้ ยุคนี้ความมรู้เยอะและเร็ว เปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าเราทำแบบเดิม เราจะอยู่ที่เดิม ถ้าเราอยากก้าวไปกับโลก บางจุดยืนต้องมีการเคลื่อนที่” 

ทำความรู้จัก

วิศรุต อังคทะวานิช เป็นผู้นำเสนอแนวคิดให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ก่อนหน้านี้เป็น art director ก่อนจะมาเป็น freelance งานด้านออกแบบสิ่งพิมพ์ และถ่ายภาพโฆษณา จนปี 2013 ผลงานถ่ายภาพปลากัดเริ่มเป็นที่รู้จักทาง blog ต่างๆ ใน internet ผ่านทาง เว็บ thisiscolossal.com และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้ลงงานในเว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ BBC, NHK, TBS (Tokyo) รวมทั้งรายการในประเทศไทย และนิตยสารในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเป็นช่างภาพโฆษณา ทำงานศิลปกรรมภาพถ่าย และเป็นวิทยากรบรรยาเกี่ยวกับการถ่ายภาพ

NFT หรือ Non-Fungible Token คือ “สินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว” ไม่สามารถลอกเลียนขึ้นมาได้ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งที่อยู่บนบล็อกเชน คล้ายกับ Bitcoin หรือ Ether (Ethereum) แต่จุดที่แตกต่างกันคือ Bitcoin และ Ether เป็นสินทรัพย์แบบ Fungible ที่ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว จึงนิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ คล้ายกับเงินสด แต่ NFT ถูกใช้แทนสิ่งใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น รูปภาพ วีดีโอ ดนตรี อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงของสะสมต่าง ๆ  เป็นต้น 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ