TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"คลองสุเอซ" วิกฤติ ... ฝันร้ายส่งออก

“คลองสุเอซ” วิกฤติ … ฝันร้ายส่งออก

โลกนี้มักจะมีอะไรที่คาดไม่ถึงเสมอ ๆ อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุก The Ever Given ของญี่ปุ่น แต่บริหารโดย Evergreen ของไต้หวัน ได้เกยตื้นในคลองสุเอซ ตัวเรือขวางการจราจรทางเรือทั้งสองเส้นทางทำให้การขนส่งสินค้าติดขัดครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง ในรอบหลายปี 

คลองสุเอซ เป็นช่องแคบสำคัญที่เชื่อมโรงงานในเอเชียกับผู้บริโภคยุโรป นอกเหนือไปจากจากการขนส่งน้ำมัน จึงถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการค้าโลก คลองแห่งนี้มีความยาว 195 กิโลเมตร และเป็นคลองที่ไม่มีประตูน้ำ การแล่นเรือตลอดคลองจึงไม่หยุดชะงัก และใช้เวลาเชื่อมสองฝั่งแค่ 13-15 ชั่วโมงเท่านั้น

จากข้อมูลของนิตยสาร Lloyd’s List ระบุว่า ในแต่ละวันมีสินค้ามูลค่ากว่า 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านเส้นทางนี้ ยังมีข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ปีที่แล้วมีเรือบรรทุกสินค้าแล่นผ่าน 19,000 ลำต่อปี เฉลี่ย 50 ลำต่อวัน หรือคิดเป็น 30% ของการเดินเรือทั้งโลก และยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน 10% ของน้ำมันทั้งโลกอีกด้วย

เรือ The Ever Given จึงย่อมไม่ใช่เรือบรรทุกธรรมดา ๆ แต่เป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีความยาวเท่ากับตึกเอ็มไพร์สเตตของสหรัฐฯ มีพื้นที่สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ 20,000 ตู้ ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้เรือขนส่งสินค้ารวมทั้งเรือขนส่งน้ำมันจำนวนหลายร้อยลำต้องตกค้างลอยเท้งเต้งอยู่เฉย ๆ ไม่สามารถเดินเรือต่อไปได้ 

มีการประมาณการณ์ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อการค้าโลกราว 6,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์โดยเฉพาะผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรปจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และทำให้ราคาน้ำมันโลก ปรับตัวสูงขึ้นและยังบล็อกไม่ให้ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากยุโรปเดินทางกลับเอเชีย 

นั่นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ โควิด-19 ระบาด ขณะนี้ความไม่สมดุลของการค้าส่งผลให้ทุก ๆ ตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ที่ส่งสินค้าจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ จะมีตู้คอนเทนเนอร์เพียงตู้เดียวที่เดินทางกลับเอเชีย

กล่าวสำหรับประเทศไทยเองพลอยโดนหางเลขอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น เนื่องจากคลองสุเอซเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% การขนส่งทั้งโลก รวมทั้งปริมาณการค้าราว 12% ของโลกที่ผ่านคลองสุเอซและเป็นเส้นทางหลักของ สินค้าของไทยส่งออกไปยุโรปมีสัดส่วนราว 8% 

สินค้าไทยที่ส่งออกไปยุโรปส่วนใหญ่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ยางพารา แอร์ อัญมณี เครื่องประดับ เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการส่งมอบในเดือนมีนาคม ที่จะเกิดการติดขัดและล่าช้าออกไป 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายจากค่าระวางเรืออาจจะแพงขึ้น เนื่องจากการนำเข้าสินค้าผ่านเส้นทางนั้นไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก จากปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว อีกทั้งจีนเองยอมที่จะจ่ายค่าระวางเรือในระดับสูงเพื่อส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาค่าระวางเรือปรับขึ้นต่อเนื่องถึง 4-5 เท่า จากเดิมที่เคยอยู่ระดับเพียง 700-800 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดขยับขึ้นมาสูงกว่าระดับ 4 พันดอลลาร์แล้ว

วิกฤติครั้งนี้ยิ่งนานวันความเสียหายต่อการค้าโลกยิ่งมหาศาลลำพังมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปที่ได้รับความเสียหายจริง ๆ คงแค่ระดับหนึ่ง เพราะสัดส่วนเมื่อเทียบกับส่งออกไปยังตลาดนอกยุโรปแล้วไม่มากแต่คนที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ คือ ตัวผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปนั่นเอง

แต่ที่น่าวิตกกังวลมากกว่า นั่นคือ ผลกระทบทางอ้อมอย่างที่รู้ ๆ กันว่าในปัจจุบันผู้ส่งออกสินค้าเผชิญกับปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้นจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนครั้นเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นอีกยิ่งทำให้การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเดิมก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว กลายเป็นปัญหาที่หนักมากยิ่งขึ้น

วิกฤติเที่ยวนี้จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแบบเต็ม ๆ ทั้งจากโควิดก็ยังไม่ฟื้นยังมาโดนหางเลขวิกฤติคลองซุเอชเข้าตำรา “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ฝันร้ายส่งออกไทย

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก xinhuathai

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ