TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก รีแบรนด์ Facebook เป็น Meta ลุยโลกเสมือน Metaverse

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก รีแบรนด์ Facebook เป็น Meta ลุยโลกเสมือน Metaverse

กลายเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงฮือฮาส่งท้ายสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม และสร้างความสะพรึงในแง่หนึ่งไม่น้อยรับเทศกาลฮัลโลวีน เมื่อ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ประกาศเปลี่ยนโฉม รีแบรนด์บริษัทเฟซบุ๊กครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta (เมตา) ซึ่งย่อมาจาก Metaverse (เมตาเวิร์ส) พร้อมเปลี่ยนสัญลักษณ์บริษัทให้เป็นรูปอินฟินิตี้ ขณะที่ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนเป็น “MVRS” โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ หากติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของซักเคอร์เบิร์กมาโดยตลอด การลุกขึ้นมาเปลี่ยนชื่อบริษัทในครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่สร้างเซอร์ไพรซ์ ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ หรือเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่สักเท่าไรนัก เพราะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซักเคอร์เบิร์กมักใช้โอกาสที่ตนเองปรากฎตัวตามงานต่าง ๆ พูดถึงเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ Metaverse ว่าจะเป็นเมกะเทรนด์ที่นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลของโลกอนาคต

นอกจากนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กยังเดินหน้าทุ่มงบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนา เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) อย่างมาก โดยได้เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ ๆ อย่าง หูฟัง Oculus VR ออกมา พร้อมกับเร่งออกแบบอุปกรณ์แว่นตาอย่างสมาร์ทกลาสที่เฟซบุ๊กจับมือกับเรย์แบนด์ และสายรัดข้อมือ AR อยู่ด้วย ขณะที่ล่าสุด เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ (25 ตุลาคม) เฟซบุ๊กก็เพิ่งจะประกาศแผนจ้างงานแรงงานทักษะสูงเพิ่มเติมอีก 10,000 ตำแหน่งในภูมิภาคสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการสร้าง Metaverse

เรียกได้ว่า งานนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก ทุ่มสุดตัว เพื่อสร้าง “โลกเสมือนจริง” หรือ “โลกทิพย์”  ที่เจ้าตัวอธิบายว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อมเสมือนที่เชื่อมโยงชุมชนเสมือนจริงต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถพบปะกัน ทำงาน เล่น ซื้อของออนไลน์ หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) และเทคโนโลยีเสริมจริง (Augmented Reality) ตลอดจนแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อโลกออนไลน์อื่นๆ

สำหรับเหตุผลหลักในการเปลี่ยนชื่อบริษัทครั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์กระบุอย่างชัดเจนว่า ชื่อของ เฟซบุ๊ก ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด Metaverse ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจที่บริษัทต้องการมุ่งไปนับจากนี้ โดยนอกจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว เฟซบุ๊กยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเชื่อมต่อผู้คนเข้าไว้ด้วยกันบนโลกออนไลน์อีกมากมาย 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่นี้ สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของบริษัท รวมทั้ง เฟสบุ๊ค วอทส์แอป (WhatsApp) และอินสตาแกรม (Instagram) จะยังคงใช้ชื่อเดิมต่อไป เช่นเดียวกับโครงสร้างขององค์กรที่จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

การประกาศรีแบรนด์ในครั้งนี้มีขึ้นระหว่างที่ซัคเคอร์เบิร์กเข้าร่วมงานพรีเซ็นต์ผลงาน Facebook’s Connect conference เมื่อวันพฤหัสบดี (29 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ โดยซีอีโอของเฟซบุ๊ก ระบุชัดว่า Metaverse จะเป็นพรมแดนที่ต้องก้าวต่อไป (the next frontier) ที่จะเข้าถึงผู้คนราว 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในทศวรรษหน้า และจะกลายเป็น ระบบนิเวศแห่งใหม่ที่ช่วยสร้างงานด้านเทคโนโลยีได้หลายล้านตำแหน่งในอนาคต

“เพราะฉะนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป เราจะให้ความสำคัญกับเมตาเวิร์สก่อน ไม่ใช่เฟซบุ๊กก่อนแบบเดิมอีกต่อไป” ซัคเคอร์เบิร์กระบุ

ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักมองว่า การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้เป็นสัญญาณชัดเจนล่าสุดที่แสดงถึงความตั้งใจของบริษัทที่จะวางเดิมพันไว้กับเมกะเทรนด์ใหม่อย่างเมตาเวิร์ส แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่มีจุดกำหนดจากจินตนาการของนิยายแนววิทยาศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า การให้ความสำคัญกับ metaverse มากขึ้นนี้ ทำให้บริษัท เมตา หรือ อดีตเฟซบุ๊ก สามารถกระจายธุรกิจให้หลากหลาย ท่ามกลางแรงกดดันใหม่ ๆ ที่เฟซบุ๊กต้องเผชิญในตลาดโซเซียลมีเดีย ซึ่งมีคู่แข่งหน้าใหม่มาแรงที่เข้ามา เช่น TikTok ของ ByteDance ที่โดนใจผู้ใช้งานวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 25 ปีทั่วโลก 

ก่อนหน้านี้ ซัคเคอร์เบิร์กเคยกล่าวว่า การปรับปรุงบริษัทไปยัง metaverse ส่วนหนึ่งก็เพื่อมุ่งดึงดูดคนหนุ่มสาวให้หันกลับมาหาเฟซบุ๊กอีกครั้ง 

ยิ่งไปกว่านั้น หลายฝ่ายมองว่า การพัฒนาเมตาเวิร์ส จะเปิดทางให้บริษัท เมตา ของซัคเคอร์เบิร์ก ลดการพึ่งพาระบบปฎิบัติการมือถือ ผู้ให้บริการเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่าง Alphabet ของ Google และ Apple Inc. ทำให้สามารถส่งผ่านบริการของบริษัทไปได้อย่างเต็มที่

โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่ารายได้ในโตรมาสที่ 3 และ 4 ของ Meta ในปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎระเบียบใหม่ของ Apple ที่เปิดทางให้มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไอโฟนผ่านแอพเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ระเบียบข้างต้นทำให้ Meta ตระหนักได้ว่า บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของรากฐานของอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ครอบครอง

Mark Shmulik นักวิเคราะห์จาก Sanford C. Bernstein กล่าวว่า ถึงจุดหนึ่ง ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ย่อมมีแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ ปรากฎตัวขึ้น ดังนั้น เมื่อจะต้องเปลี่ยนไปอยู่แล้ว Meta ย่อมอยากเป็นให้ได้มากกว่าหรือดีกว่า Apple หรือ Google

ด้านข้อมูลของนักวิเคราะห์จาก EMarketer Inc. ประเมินว่า Meta ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดและมีอัตราการเติบโตในระดับที่เยี่ยมในตลาด ซึ่งขณะนี้ Meta มีมูลค่าบริษัทสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่รายได้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2012 ปีแรกที่บริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ตลาด และรายได้ส่วนใหญ่ของ Meta มาจาการโฆษณาที่โซเชียลมีเดียรายนี้มีส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ 24% คิดเป็นมูลค่าราว 200,000 ล้านเหรีญสหรัฐ ไล่หลังกูเกิลที่มีส่วนแบ่งตลาดโฆษณาอยู่ที่ 29%

ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้รวบรวมปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนจากหลากหลายวงการ ที่แม้จะไม่ได้แสดงความรู้สึกต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ใช้โอกาสนี้ในการล้อเลียนชื่อ เมตา เช่น Meta ย่อมาจาก “Met a girl who they had been falling in love with during their high school on Facebook again.” (เจอผู้หญิงที่เคยตกหลุมรักสมัยมัธยมบนเฟซบุ๊กอีกครั้ง) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อของเฟซบุ๊กเป็นเมตาในครั้งนี้ อาจเป็นหนึ่งในความพยายามของบริษัทที่ต้องการ “เบี่ยงประเด็น” จากรายงาน Facebook Papers ซึ่งเป็นเอกสารหลายพันหน้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์นี้ที่ถูกรวบรวมจากคนภายในองค์กรและสื่อต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ชี้ถึงความขัดแย้งในบริษัทเและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการใช้งานของเฟสบุ๊คซึ่งมีผู้ใช้ราว 3,000 ล้านคนทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกรณีอื้อฉาวที่อดีตพนักงานของเฟสบุ๊ค อย่าง ฟรานเชส เฮาเกน ลุกขึ้นมาเปิดเผยว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เฟสบุ๊คเพิกเฉยหรือลดความสำคัญของคำเตือนเรื่องผลกระทบทางลบจากสื่อสังคมออนไลน์นี้ต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหญิง อีกทั้งวิธีทำธุรกิจของเฟซบุ๊กซึ่งเน้นผลกำไรของบริษัท เป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ทางสังคมทั่วโลก ตั้งแต่ประเด็นการลักลอบค้ามนุษย์ ไปจนถึงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของผู้คน

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังไม่ได้ทำตามพันธสัญญาที่จะส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออก โดยปล่อยให้ระบบอัลกอริทึ่มของตนทำงานโดยนำพาผู้ใช้งานไปสู่ข้อมูลเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับความคิดสุดโต่งและใช้ความรุนแรงโดยไม่ทำการใด ๆ เพื่อป้องกันเลย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมรสุมที่เฟซบุ๊ก หรือ เมตา กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเผชิญการตรวตตสอบจากคณะกรรมการกหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ การสู้คดีตต่อต้านการผูกขาดที่คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ (Federal Trade Commission – FTC) ยื่นฟ้อง การเข้าชี้แจงกับทางสภานิติบัญญัติ กระแสความไม่พอใจของพนักงานภายในองค์กร และการคว่ำบาตรของผู้ลงโฆษณา ทำให้ ลอร่า รีส ที่ปรึกษาด้านการตลาด เปรียบเทียบการเปลี่ยนชื่อของเฟซบุ๊คในครั้งนี้ว่าเหมือนกับกรณีที่บริษัทพลังงาน BR พยายามปรับชื่อบริษัทเป็น “Beyond Petroleum” เพื่อหนีจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งก็หวังว่าการรีแบรนด์ของเฟซบุ๊กครั้งนี้จะเป็นไปได้ด้วยดี เหมือนกับในเดือนตุลาคมปี 2015 ที่ Google เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Alphabet เพื่อจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจน และแตกแยกย่อยสาขาธุรกิจของบริษัท จนสามารถขยายตัวเติบโตได้อย่างทุกวันนี้ 

งานนี้ คงต้องลุ้นต่อไปว่า เดิมพัน “โลกทิพย์” หรือ เมตาเวิร์สของซัคเกอร์เบิร์ก จะเปรี้ยงปังเหมือนเมื่อครั้งที่เจ้าตัวเปิดตัวเฟซบุ๊กได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เทคโนโลยีโลกเสมือน คือ เทรนด์ที่หลายบริษัทกำลังมุ่งไป และเป็นโอกาสที่บรรดาสตาร์ตอัพหน้าใหม่สามารถฉกฉวยได้ 

ที่มา:

Facebook changes name to Meta to highlight virtual reality shift

MANG? MAANA? Now that Facebook is Meta, what comes after FANG?

Facebook Announces New Name: Meta

Facebook changed its company name to Meta. Here’s how the internet reacted

Facebook changes its company name to Meta

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อ “ล้านช้าง” เคลื่อนขบวน ไทยจะได้ประโยชน์จริงใช่ไหม

ตอบคำถามยังไงให้มงลง: แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส Miss Universe Thailand 2021

เทรนกันไป แต่ไหงไม่เกิดอะไรขึ้นมา?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ