TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ระบบราง" เส้นทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ของสปป.ลาว

“ระบบราง” เส้นทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ของสปป.ลาว

การเปิดใช้เส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงปานกลาง ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ (จากเดิมที่กำหนดเปิดใช้ในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2 ธันวาคม) ด้วยขบวนรถไฟล้านช้างบนระบบรางรถไฟจีน-ลาว ส่วนหนึ่งของโครงการแถบเศรษฐกิจ 1 เส้นทาง หรือ One Belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชื่อมจากระบบรางจากนครคุนหมิงไปยังเวียงจันทน์

โครงการนี้ สปป.ลาว คาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นประตูการค้า (Land Link) ที่สามารถเชื่อมต่อตลาดการค้าไปอีกหลายประเทศ ทั้งจีน กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และไทย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งเรื่องการค้าขาย การจ้างแรงงาน และอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ปี พ.ศ.2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โตที่ร้อยละ 4.5 จากปัจจุบันอยู่ที่ 19.14 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย

สองข้างทางของโครงการนี้จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ 3 เขต ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็นบ่อหานแขวงหลวงน้ำทา เป็นศูนย์กระจายสินค้าและแหล่งธุรกิจบันเทิงที่มีชื่อเสียงของลาว และใกล้กับแหล่งอารยธรรมสิบสองปันนา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำแขวงบ่อแก้ว มีโครงการนาคราชนคร เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ริมแม่น้ำโขง พื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ที่บ้านดอนไข่นก เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  มูลค่าโครงการรวมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นศูนย์รวมธุรกิจครบวงจร โครงการประกอบไปด้วยโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า สถานีขนส่งทางรถและเรือ โกดัง ห้องเย็น ปั๊มน้ำมัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ และจัดสรรเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty free) กว่า 2,000 คูหา ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และในบริเวณเศรษฐกิจแห่งนี้ก็เป็นศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์รวมธุรกิจบันเทิงที่สำคัญ 

เขตเศรษฐกิจพิเศษในนครหลวงเวียงจันทน์ มี จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจไชยเชษฐา (Saysetha Development SEZ) พื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ (6,250 ไร่) มูลค่าการลงทุน 128 ล้านเหรียญสหรัฐ  เขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงธาตุหลวง (Bueng Thatluang Specific Economic Zone) มูลค่าการลงทุนสาธารณูปโภค ประมาณ  54,000 ล้านบาท บนเนื้อที่สัมปทาน 365 เฮกตาร์เป็น เขตศูนย์การค้าปลอดภาษี เขตนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก เขตศูนย์กลางการบริการทางธุรกิจการเงินและการลงทุน รวมถึงท่าเรือขนส่งสินค้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์-โนนทอง (Vita Park)

บทเรียนประกันโควิด … ความเสี่ยงที่เกินคาดของบริษัทประกันภัย

เวที RCEP ตลาดร่วมที่ช่วยประเทศไทยก้าวต่อไปเชื่อมตลาดโลก

สำหรับรถไฟความเร็วสูงที่จะเริ่มเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ มีบริษัท The Laos-China Railway Company (LCRC) เป็นผู้ดูแล จะเริ่มให้บริการเบื้องต้นนครเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงจะมีสถานีทั้งหมดจำนวน 33 สถานี จะเปิดให้บริการในเบื้องต้น 21 แห่ง ตลอดเส้นทางมีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่รวมกับสถานีขนส่งสินค้าในที่เดียวกัน 10 แห่ง (ไม่รวมสถานีส่งออกและสถานีสินค้าโภคภัณฑ์เวียงจันทน์ใต้ของรถไฟ) ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ โพนหงษ์  วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงาว เมืองไซ นามอร์ นาเตย และบ่อเต็น  นอกจากนี้จะเป็นสถานีสำหรับการขนส่งสินค้า ส่วนอีก 12 สถานีจะเปิดให้บริการหลังจากนี้ 

ขบวนรถไฟที่ใช้วิ่งในเส้นทางนี้มีจำนวน 18 ขบวน แบ่งเป็นขบวนรับ-ส่งผู้โดยสาร 4 ขบวน ขบวนขนส่งสินค้า 14 ขบวน (ส่วนใหญ่จะวิ่งในเวลากลางคืน) ในแง่ของจำนวนสถานีที่เปิดในการใช้งานครั้งแรก มี 21 สถานีที่สามารถออกแบบรถวิ่งได้ 23 รอบ/วัน แต่ในระยะยาว หากเปิดครบ 33 สถานี ระยะวิ่งจะเพิ่มเป็น 39 รอบ/วัน ส่วนอัตราการค่าโดยสาร ต่อหัวกิโลเมตรละ 0.3 หยวน 1.56 บาท ส่วนอัตราค่าขนส่งกิโลเมตรละ 0.5 หยวนต่อตันต่อ 1กิโลเมตร หรือ 2.60 บาทต่อตันต่อ 1 กิโลเมตร    

ปกติการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังนครคุณหมิง นอกจากจะไปทางเรือและเครื่องบินแล้ว ทุกวันนี้สามารถขนส่งโดยทางรถยนต์จากท่าเรือเชียงของในจังหวัดเชียงรายข้ามแพไปห้วยทรายของลาวฝั่งตรงข้ามกับเชียงของจากนั้นตรงไปบ่อเต็น เมืองชายแดนของลาวที่ติดกับบ่อหาน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของจีน มุ่งสู่เมืองจิ่งหง (เชียงรุ้ง) ผ่านเมืองหล่า เข้าสู่นครคุนหมิง ใช้เวลาประมาณ 2 วัน ซึ่งระยะหลังจะมีการใช้เส้นทาง “คุนมั่น กงลู่” หรือ เส้นทาง R3A แต่หากเปลี่ยนการขนส่งสินค้ามาใช้รถไฟความเร็วสูง จีน-สปป.ลาว จะระยะเวลาขนส่งไม่เกิน 15 ชั่วโมง (ข้อมูลจากำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการเจรจา (สนข.) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย)

การคำนวณในครั้งนี้เชื่อมต่อไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อีก 5 สถานี คือ โมฮาน สิบสองปันนา ผู่เออร์ อวี้ซี และคุนหมิง ซึ่งในอนาคตอันใกล้สปป.ลาว จะมีการขยายบริการเชื่อมต่อไปยังสถานีดังกล่าวข้างต้น

ปัจจุบันไทยมีสินค้าเกษตรส่งออกไปยังจีน 80-90% ในส่วนนี้มากกว่า 70% เป็นผลไม้ ทำให้ระยะเวลาขนส่งต้องรวดเร็ว มิเช่นนั้นสินค้าจะได้รับความเสียหาย เน่า เสีย หรือช้ำ การขนส่งผ่านทางรถไฟความเร็วสูงของสปป.ลาว-จีน อาจจะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่อีกเส้นทางที่จะช่วยย่นระยะเวลา และเป็นช่องทางสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ นอกเหนือจากผู้ประกอบการของสปป.ลาวด้วย

ขอบคุณภาพจาก: สำนักข่าวสารปะเทดลาวและสำนักวิทยุจีนสากล CRI fm 93

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ