TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewiTAX ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย

iTAX ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน หนึ่งในหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในฐานะประชาชนของประเทศ คือ การเสียภาษี ซึ่งสำหรับคนทั่วไปเรื่องกฎหมายและการเสียภาษี คือ เรื่องยาก และแม้จะเข้าใจและยินดีที่จะเสียภาษี แต่ก็อดที่จะแอบถอดใจเมื่อต้องเผชิญกับขั้นตอน หรือเงื่อนไขทางกฎหมายยิบย่อย ที่ทำให้การคำนวณรายได้ และคิดค่าลดหย่อนเพื่อเสียภาษีในแต่ละปี เป็นเรื่องน่าปวดหัวที่ใครหลายคนไม่อยากข้องแวะมากที่สุด

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง iTAX แอปพลิเคชันคำนวณและวางแผนภาษี ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดความคิดที่ว่า จะดีสักแค่ไหน หากมี “เครื่องมือ” หนึ่งที่เข้ามาช่วยคำนวณรายได้เพื่อภาษี รวมถึงคิดแผนลดหย่อนให้เสร็จสรรพ ทำให้การเสียภาษีเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย และเข้าใจได้ง่าย

ทั้งนี้ ดร.ยุทธนา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ iTAX เดิมทีมาจากงานวิจัยสมัยที่ตนเองเรียนปริญญาเอกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยหัวข้องานวิจัยในครั้งนั้น คือ “แนวทางป้องกันการเลี่ยงภาษี” ซึ่งในระหว่างที่ทำก็พบว่าคนกลุ่มหนึ่งแม้จะเสียภาษีแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาที่เสียภาษีไม่ถูกต้องทั้ง ๆ ที่กฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนดี ปรากฏว่าเป็นเพราะกฎหมายภาษีสำหรับคนกลุ่มนี้ และอีกหลาย ๆ กลุ่มเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แล้วพอไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ ผลลัพธ์ก็คือ ถูกลงโทษจากภาครัฐ

“ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันไม่ควรจะเกิดขึ้น เลยคิดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร มองว่า ภาษีน่าจะง่ายที่สุด สะดวกที่สุด แล้วก็ประหยัดที่สุดสำหรับทุกคน นั่นคือ สิ่งที่ควรจะเป็น เลยเอาภาษีมาบวกกับเทคโนโลยี มาบวกกับดีไซน์ ผลลัพธ์ที่ได้มาจึงเป็นแอป iTAX อย่างที่เห็นทุกวันนี้” 

แอปพลิเคชัน iTAX ที่ย่อมาจาก Intuitive Tax หมายถึง ภาษีที่รู้และเข้าใจได้เองโดยสัญชาตญาณ คนใช้งานไม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจกฎหมายการเสียภาษีแต่อย่างใด

ขณะที่หลักการทำงาน หลังจากดาวน์โหลดแอป iTAX ที่เปิดให้โหลดฟรีมาใช้งานแล้ว ผู้ใช้กรอกข้อมูลรายได้ และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายรองรับทั้งหมดในปัจจุบัน ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ

พอกรอกข้อมูลเสร็จ แอปพลิเคชันจะคำนวณให้เสร็จว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มเท่าไร หรือได้ภาษีคืนเท่าไร ลดหย่อนไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เหลือที่ยังไม่ใช้อีกกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือที่ยังไม่ใช้นี้สามารถนำไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อนำไปลดหย่อนอะไรได้บ้าง พ่วงด้วยรายละเอียดข้อมูลของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยลดหย่อน เช่น ประกันชีวิต หรือ กองทุน จากหลายแหล่งมานำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างให้ผู้ใช้งานเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการและสอดคล้องกับเงื่อนไขบริบทของชีวิต จัดเป็นลำดับตามผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด

ขณะเดียวกัน แอปพลิเคชัน iTAX ยังมีระบบจำลองสำหรับคำนวณและวางแผนการเสียภาษีได้อย่างรัดกุม ทำให้ผู้ใช้งานสามารถคำนวณและวางแผนการเสียภาษีของตนเองได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส 

ด้วยความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ iTAX นอกจากจะเป็นแอปที่มีคนดาวน์โหลดติดอันดับต้น ๆ บน App Store แล้ว iTAX ยังเป็นพันธมิตรเอกชนอย่างเป็นทางการรายแรกของกรมสรรพากรที่เข้าไปเชื่อมระบบข้อมูลกับกรมสรรพากรเพื่อช่วยให้คนทำงานประจำมีเงินเดือนสามารถเตรียมเอกสารยื่นภาษีผ่านระบบ iTAX ไปยังกรมสรรพากรได้โดยตรง 

ในอนาคตจะขยายต่อยอดไปถึงการเชื่อมโยงการเสียภาษีในกรณีที่มีรายได้ประเภทอื่น ๆ ต่อไป คาดการณ์ว่า จะสามารถขยายบริการได้ในการเสียภาษีปีพ.ศ. 2564 ที่จะเสียกันช่วงต้นปี พ.ศ. 2565

“เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญที่ภาครัฐมองเห็นความสำคัญของสตาร์ตอัพที่สามารถเข้ามาช่วยเหลืองานในระดับชาติได้” 

ในส่วนของการป้องกันรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าวว่า ในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ความเป็นส่วนตัว (privacy) ถือเป็นประเด็นลำดับแรกที่ใส่ใจ และข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ก็เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่ง iTAX มองตนเองเป็นเสมือนธนาคารที่มีคนไว้ใจมาฝากข้อมูลส่วนตัวไว้ โดยคนที่นำมาฝากแสดงได้ว่าเชื่อใจ iTAX ในระดับหนึ่ง ดังนั้น การใช้งานแอป iTAX จึงไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลในส่วนของชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ยกเว้นในกรณีที่จะยื่นภาษี ผู้ใช้งานก็จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อให้ถูกต้องตรงกันกับกรมสรรพากร

“ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูล privacy ที่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่มีการขายข้อมูลลูกค้า ส่วนเรื่องระบบความมั่นคงปลอดภัยของระบบ เราใช้ระบบ 256 BitM ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับระบบสากล ธนาคารก็ใช้ระดับนี้เหมือนกัน ผมว่าเรื่องความมั่นใจไม่น่ามีปัญหา เราไม่ได้ทำ iTAX กันมาปีสองปี เราทำกันมาหลายปีแล้ว”

แม้แอป iTAX จะเป็นแอปที่ให้โหลดใช้ได้ฟรี ไม่คิดค่าบริการ ตามความตั้งใจแรกเริ่มของผศ.ดร.ยุทธนา ที่มองว่า คนเสียภาษีมีภาระรับผิดชอบที่ต้องทำงานเสียภาษีหนักมากอยู่แล้ว ดังนั้น การจะมาเก็บเงินเพิ่มเพื่อความสะดวกในการเสียภาษี จึงไม่ใช่แนวทางของ iTAX โดยเด็ดขาด 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า แอป iTAX จะไม่สามารถสร้างรายได้หรือผลตอบแทนใด ๆ ให้กับนักพัฒนา 

“เมื่อขอให้โมเดลตรงนี้มันไปต่อได้โดยที่ไม่ต้องเก็บเงินผู้เสียภาษี เราก็ต้องมาคิดแล้วว่า เราจะสามารถต่อยอดทำเงินจากแอปได้ที่ส่วนไหน ด้วยความที่คนมาใช้แอป iTAX ส่วนใหญ่เป็นคนระดับกลางขึ้นไประดับบน จะมีปัญหาของคนที่เสียภาษี อยากจะวางแผนจัดการการเสียภาษี เราเลยมองว่าเหมือนนิตยสารเล่มหนึ่ง ที่กลุ่มผู้ใช้ของเราเป็นคนระดับกลางถึงระดับบน กำลังมองหาของลดหย่อนภาษี เราจะเป็นสะพาน เป็นมีเดียหรือช่องทางหนึ่งในการเอาของลดหย่อนภาษีจากคนขายไปยังคนซื้อ เป็นกระดานในการแมทชิ่งกัน ดังนั้น เมื่อเขาได้เจอกัน ทุกคน วิน-วิน หมด คือ คนซื้ออยากได้ของอยู่แล้ว คนขายก็มีของอยากขาย ดังนั้น เราที่อยู่ตรงกลางก็จะได้เป็นค่ามาร์เก็ตติ้ง ค่าโฆษณา คือโมเดล รายได้หลักของเรา”

แน่นอนว่า การพัฒนาแอป iTAX จนกระทั่งสามารถเติบโตเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรกับกรมสรรพากรไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังต้องอาศัยระยะเวลาอยู่นานหลายปี ซึ่งโอกาสที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเรื่องจังหวะเวลาที่เหมาะสม กับการเติบโตของฐานผู้ใช้งาน iTAX ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600,000 คน ซึ่งฟังดูเยอะ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียภาษีที่มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน จึงเป็นสัดส่วนที่ยังเล็ก แต่ก็เพียงพอทำให้ iTAX มีความน่าเชื่อถือพอที่จะเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานของรัฐอย่างกรมสรรพากรได้ 

อุปสรรคของการพัฒนาแอปในด้านการทำงานกับกรมสรรพกร คือ การสื่อสารพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งโชคดีว่ากรมสรรพากรเปิดใจรับฟังความเห็นจาก iTAX ในฐานะคนที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้เสียภาษี ขณะที่อุปสรรคในส่วนของผู้ใช้งานก็คือความน่าเชื่อถือของ iTAX เอง 

“iTAX เติบโตแบบปากต่อปาก ถ้าเรามีเงินสองก้อน ก้อนหนึ่งทำโปรดักส์ ก้อนหนึ่งทำมาร์เก็ตติ้ง ผมจะเอาสองก้อนมารวมกันแล้วทำโปรดักส์ให้ดีก่อน เพราะผมเชื่อว่าถ้าโปรดักส์ที่ดีมันออกมา คนจะบอกต่อ ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นจริง โปรดักส์ถ้ามันทำได้ดีในระดับหนึ่ง มันก็มีคนบอกต่อเยอะ พอคนบอกต่อเยอะ มันก็กลายเป็นปากต่อปาก สุดท้าย ถ้าโปรดักส์ของเราดีจริง เขาจะกลายเป็น evangelist เขาจะไปบอกต่อโปรดักส์ของเราเองว่า มันดีอย่างไร เขาชอบอย่างไรบ้าง”

นอกจากการร่วมมือกับกรมสรรพากรแล้ว iTAX ยังจับมือกับบรรดาธนาคาร ทำเป็น iTAX Bank โดยต่อยอดจากการเข้าร่วมการแข่งขัน hackathron ที่กรมสรรพากรจัดขึ้นเพื่อหาโซลูชันว่าทำอย่างไรภาษีไทยจึงจะถูกใจประชาชน ซึ่งทีม iTAX ก็คว้ารางวัลชนะเลิศโดยการเสนอไอเดียดูแลการเสียภาษีของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ด้วยการที่ iTAX จะรับหน้าที่จัดเรียงข้อมูลจากบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนรับฝากของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้อยู่ในรูปแบบที่กรมสรรพากรต้องการ ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายของออนไลน์ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี เพราะมี iTAX คอยดูแลให้

ทั้งนี้ ด้วยความที่ได้รางวัลชนะเลิศ โครงการข้างต้นจึงได้เข้าร่วมกับ Tax Sandbox ของทางกรมสรรพากร ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อกรุยทางข้อติดขัดหรืออุปสรรคทางกฎหมาย ทำให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ 

ผศ.ดร.ยุทธนาคาดการณ์ว่า โครงการ iTAX Bank ดังกล่าว มีแนวโน้มจะเปิดตัวได้ภายในปีนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง iTAX กับกรมสรรพากรและธนาคารกรุงไทย

ปัจจุบัน iTAX ยังจำกัดการให้บริการอยู่ที่การวางแผนคิดคำนวณภาษี กับการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นแบบ แต่คาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายขอบเขตการให้บริการจนกระทั่งสามารถเสร็จสิ้นกระบวนการเสียภาษีตลอดตั้งแต่ต้นจนจบได้ ส่วนในส่วนของนิติบุคคล iTAX มีแผนที่จะขยายบริการไปในส่วนของระบบการจัดการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ที่เรียกว่า iTAX Pay Station ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ และหวังว่าจะทำให้การทำงานของแอปพลิเคชันไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลด้านประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักภาษี ณ ที่จ่าย และรายละเอียดอื่น ๆ รวมถึงรายได้จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกับทางกรมสรรพากร ทำให้การชำระภาษีของพนักงานบริษัทเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องรอใบทวิฯ50 โดยระบบดังกล่าวจะค่อย ๆ ขยายตัวครอบคลุมถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 

“สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในระยะยาวคือสิ่งที่ผมเรียกมันว่า Tax Automation Economy คือ  ทุกคนไม่ต้องจัดการเรื่องภาษีแล้ว เอาเวลาไปทำงานที่ชอบ ที่รัก ผมคิดว่าทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อจัดการภาษีที่มันซับซ้อนขนาดนี้ ผมอยากให้การจัดการภาษีมันง่ายขึ้นแล้วเรามีเวลาไปทำสิ่งที่เรามีความสุขมากขึ้น”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ