TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม CLMV ท่ามกลางวิกฤติโควิด

โอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม CLMV ท่ามกลางวิกฤติโควิด

กลุ่มประเทศ CLMV อันประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) เป็นกลุ่มประเทศที่รายล้อมประเทศไทย มีขนาดพื้นที่รวม 1.43 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากรรวมกัน 177 ล้านคน ประชากร มากกว่า 60% อยู่ในวัยทำงาน คือ. อายุประมาณ 15 – 59 ปี ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มประเทสที่ถูกจับตามองจากหลาย ๆ ประเทศ 

ก่อนช่วงไวรัสโควิดระบาด CLMV ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนสูงมาก ดูได้จากอัตราการขยายตัวสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มประเทศ CLMV  มีลักษณะเป็นตลาดใหม่ ขนาดเล็กที่เติบโตเร็ว ที่เรียกว่า ตลาดชายขอบ (Last Frontier Markets) 

ประเทศไทย มองหาโอกาสในการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV มีข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ว่าในปี พ.ศ.2561 ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในลักษณะธุรกิจแฟรนไชส์ 49 แบรนด์ 50% เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเวียดนาม ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของจีนที่ผ่านประเทศเหล่านี้

เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเติบโตทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ระบุว่าในปี พ.ศ.2563 GDP ของกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงขยายตัวแบบชะลอลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 ผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งภาคการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี พ.ศ.2564 กลุ่มประเทศ CLMV จะมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี พ.ศ.2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว   

รายงานของศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า กลุ่ม CLMV รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวที่ สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลัง 2.การส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 3.กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาคที่เข้มแข็งขึ้น (Regionalization)

EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ.2564 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับการส่งออกของกลุ่ม CLMV ภาคการส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะความต้องการสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 7.0% (จาก 2.9% ในปี 2563) โดยไตรมาสแรก ของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาการส่งออกเวียดนามเติบโตสูงถึง 23.7% เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีต่อปี (YOY)

ส่วน สปป.ลาว คาดว่าจะเติบโตเพียง 3.5% (จาก -0.5% ในปี พ.ศ.2563) ได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออก กระแสไฟฟ้า เป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่แร่ธาตุและสินค้าการเกษตรเป็นหมวดที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างจำกัด

กัมพูชา คาดว่า ในปี พ.ศ.2564 เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำ ที่ระดับ 3.0% (จาก -1.9% ในปี 2563) โดยพบว่าการส่งออกช่วงไตรมาสแรกขยายตัวที่ 5.0%YOY จากปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ การส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและความสามารถในการทำนโยบายกระตุ้นทางการคลังจะเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่การส่งออกส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงตลาดยุโรป ที่ยังฟื้นตัวตามหลังสหรัฐฯ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจาก สหภาพยุโรป

เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มหดตัวอย่างหนักราว -10% ปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศเป็น อุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยหลัก 3 ประการที่จะมีผลต่อการเติบโตของกลุ่มประเทศ CLMV คือ 1.ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง 2.ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 และ3.ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

นับว่ากลุ่มประเทศ CLMV ยังเป็นกลุ่มที่มีความหอมหวานในการลงทุนอีกเยอะ ซึ่งมีการประเมินว่า ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) ประเทศเวียดนามจะมีอัตราการเติบโต และความก้าวหน้า ด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน แซงหน้าประเทศไทย ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริหารประเทศจะทำการคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้ประชากรไทยมีรายได้สูงอย่างยั่งยืน และประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ