TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"ล็อกดาวน์" กระทบธุรกิจอาหารทั้งระบบนิเวศ

“ล็อกดาวน์” กระทบธุรกิจอาหารทั้งระบบนิเวศ

อาหารมีความสำคัญในการดำรงชีพ เรากินอาหารทุกวัน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลาย ๆ ผู้ประกอบการจำนวนมากหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารที่หลากหลายในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย สำหรับเมืองไทยนั้น อาหารชาติไทยได้รับการยอมรับว่า รสชาติดี ช่างประดิดประดอย ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารข้างทาง (street food) ที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติและคนในชาติ ส่งผลให้ธุรกิจอาหารเติบโตทุกปีอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ.2563 มูลค่าตลาดร้านอาหารประมาณ 4 แสนล้าน อาจจะเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่ถ้ามองย้อนไปที่ พ.ศ.2562 มูลค่าตลาดร้านอาหารรวมอยู่ที่ 4.3 แสนล้าน เท่ากับว่าร้านอาหารนอกจากจะไม่เติบโตแล้วยังมีมูลค่าถดถอยลงไปด้วย ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 นี้ ไม่แน่ว่ามูลค่าตลาดรวมร้านอาหารจะสามารถกลับไปเท่ากับปี พ.ศ.2562 ได้หรือไม่ 

สาเหตุหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ส่งผลเสียหายต่อหลาย ๆ ธุรกิจ แล้วกระทบกันเป็นโดมิโน่  ตัวอย่างเช่น เมื่อส่งออกไม่ได้ โรงงานปิดตัวลง มีแรงงานจำนวนมากย้ายกลับถิ่น ต้องคืนบ้านเช่า อพาทเม้นต์ ร้านอาหารตามสั่งแถวนั้นก็ขายไม่ได้ ไม่นับรวม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ประกาศให้มีการปิดร้านอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของความเสียหายของธุรกิจอาหาร 

หากจำกันได้ ศบค.โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ “มาตรการกึ่งล็อกดาวน์” ที่บังคับใช้กับร้านอาหาร ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 19 กรกฎาคม 2564  หลังจากนั้นมีคำสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในช่วงวันที่ 20 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564 จากนั้นได้ใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) วันที่ 1 สิงหาคม2564 ระบุให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายเฉพาะในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (food delivery service) เท่านั้น พร้อมยกระดับความเข้มงวด โดยการขยายพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด จากมาตรการก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 13 จังหวัด

แต่มีกระแสเสียงสรรเสริญจากทุกภาคส่วน จนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการนี้ โดย (1) อนุญาตให้ผู้บริโภคสั่งอาหารผ่าน food delivery (2) อนุญาตให้ผู้บริโภคโทรสั่ง/สั่งซื้อจากร้าน และรับสินค้าได้เฉพาะจุดพักคอยของห้างสรรพสินค้า และ (3) อนุญาตให้ร้านอาหารวางจำหน่ายอาหาร ณ จุดที่จัดเตรียมพื้นที่ไว้ ให้ภายใน/บริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต

กรุงไทยคอมพาส ธนาคารกรุงไทย ประเมินผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดว่า ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 130,000-259,600 ล้านบาท และหากผลกระทบจากการคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างหนัก คงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2ปี

ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าความเสียหายแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

1.หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 31 สิงหาคม 2564 และควบคุมเพียง 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 130,000 ล้านบาท

2.หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 กันยายน และควบคุมเพียง 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 198,300 ล้านบาท

3.หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 กันยายน แต่ขยายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ไปสิ้นสุด ณ 31 ตุลาคม ซึ่งอาจครอบคลุมทั่วประเทศ จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 259,600 ล้านบาท

มูลค่าความเสียหาย 2 กรณีแรก หมายถึงจังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ไม่เพิ่มจากเดิม ที่สั่งล็อก 29 จังหวัด (13 + 16) นอกจากนั้น ยังคาดการณ์ว่า มูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมในครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 107,500 – 214,600 ล้านบาท หรือติดลบ 22-44% ของรายได้ร้านอาหารโดยรวมในปี พ.ศ.2563 

สมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย จำนวนร้านอาหารในประเทศ จากเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 550,000 ราย  ได้ปิดตัวไปก่อนหน้ามาตรการล็อกดาวน์วันที่ 28 มิถุนายน กว่า 50,000 ราย เนื่องจากไม่สามารถมีเม็ดเงินมากพอที่จะรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ และมาตรการของรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งไม่มีมาตรการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น  และยังมีร้านอาหารอีกจำนวนมากที่เตรียมจะปิดกิจการแบบชั่วคราวและถาวร 

ในขณะที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารในไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ. 2563 พบว่าหดตัวลึกถึง 49.2%YoY และเชื่อว่าผลประกอบการที่แย่แบบนี้จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2563 เช่นกัน หรือต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีพ.ศ.2564 หากไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้คลี่คลายลงได้

ในทางกลับกันธุรกิจร้านอาหารที่ยังสามารถยืนหยัดต่อสู้ในธุรกิจก็มีการปรับตัว ทำครัวกลาง (cloud kitchen) บ้าง การขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันระบบขนส่งอาหาร (food delivery) ซึ่งสามารถสร้างรายได้บางส่วน แต่ไม่ครอบคลุมรายได้เหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีร้ายอาหารบางแบบที่ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ เช่น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ หรือร้านอาหารที่ขายบรรยากาศ (fine dining)

เท่ากับว่ายิ่งรัฐบาลใช้มาตรการล็อกคดาวน์ร้านอาหาร ยิ่งส่งผลเสียต่อธุรกิจในวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการ และ ระบบนิเวศ ได้แก่ ผู้ปรุงอาหาร พนักงานเสิร์ฟอาหาร  ไรเดอร์ผู้ส่งอาหาร เกษตรกรที่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นอาหาร 

ยิ่งนานวันยิ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่สามารถพยุงธุรกิจอยู่ได้จนต้องปิดกิจการ นี่ยังไม่นับรวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการสั่งอาหารจากร้านมารับประทาน จนต้องประกอบอาหารเองที่บ้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ