TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessส่องภารกิจ AIS ผู้ให้บริการดิจิทัล “ปลาใหญ่ที่นำพาปลาเล็กว่ายน้ำ พร้อมโตไปด้วยกัน”

ส่องภารกิจ AIS ผู้ให้บริการดิจิทัล “ปลาใหญ่ที่นำพาปลาเล็กว่ายน้ำ พร้อมโตไปด้วยกัน”

วิกฤตการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจในทุกแวดวงอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น แต่อาจจะมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งรวมถึง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่ต่อให้เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่มีบทบาทอย่างมากในสังคมในช่วงวิกฤตการระบาด

แม้แต่ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ AIS ยอมรับระหว่างการเข้าร่วมวงเสวนา “วัคซีนมา: ธุรกิจไทยจะฟื้นไวหรือไต่ช้า (มุมมองภาคธุรกิจ) ที่จัดโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า AIS ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 

“หลายคนคิดว่าเราไม่กระทบ เพราะเราอยู่ในธุรกิจที่เป็นพื้นฐานของการใช้ Digital services ยิ่งมีโควิดที่คนส่วนใหญ่ต้อง Work from home หรือ Learn from home เราก็น่าจะมีโอกาสได้กำไรจากการเติบโตตรงนี้ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่เป็นเช่นนั้น AIS แม้ยอดการใช้งานของเราจะเพิ่มขึ้นถึง 30-40% แต่รายได้ทั้งอุตสาหกรรมของเรากลับลดลง”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ AIS

สำหรับเหตุผลที่กระทบ สมชัย อธิบายว่า เป็นเพราะต่อให้คนใช้งานจำนวนมาก แต่ AIS ไม่สามารถที่จะเก็บเงินได้สูงขึ้นตามการใช้งาน เนื่องจากกำลังซื้อของคนอ่อนตัวลง ทำให้จากแพ็กเกจเดิมที่เคยขายได้ 500-600 บาท ต้องขายที่ 300-400 บาทแทน

“จะเห็นว่า ปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นแน่ ๆ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถเก็บรายได้ได้เหมือนเดิม ด้วยภาวะเศรษฐกิจ ด้วยกำลังซื้อ เพราะฉะนั้น อยากจะบอกว่า ตัวโควิด-19 มันเข้ามากระทบทุก Sector จริงๆ  ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่อยู่ใน Sector ที่น่าจะเติบโตและได้กำไร”

โควิด-19 เร่ง Digital Disruption และ Digital Transformation

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ สมชัย CEO ผู้คว่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโทรคมนาคมไทยมานานหลาย 10 ปี และการันตีฝีมือด้วยรางวัล BEST CEO กลุ่มเทคโนโลยีในปี 2020 ล่าสุด มองว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่จะเป็นผลดีต่อองค์กรภาคธุรกิจ คือ Digital Disruption และ Digital Transformation

แน่นอนว่า ในฐานะผู้บริหาร Digital Disruption และ Digital Transformation เป็นสิ่งที่เชื่อได้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของแทบทุกองค์กรมีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ลงมือทำ เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ไม่จำเป็น แต่เพราะโควิด-19 มา ทำให้กลายเป็นตัวเร่ง ตัวบังคับให้องค์กรธุรกิจทั้งหลายต้องลงมือทำในทันที AIS ก็ไม่ต่างกัน 

“การมาของโควิดเหมือนบังคับให้เราต้องปรับ ซึ่งการปรับตัวนี้ ในระยะยาวหรือในอนาคต องค์กรจะดีขึ้น แข็งแรงขึ้น เพราะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยในทุกๆ ธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะของเรา มันจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพมาก ๆ อันนี้จะเป็นข้อดีของโควิด ดังนั้น จึงอยากฝากทุกคนว่า อย่ามองแต่แง่ลบ แง่บวกก็มี ขอให้เราทุกคนใช้โอกาสตรงนี้ในการแสวงหาโอกาสในการ Digitalization มาทำให้ธุรกิจของเราเข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น”

ในส่วนของ AIS สิ่งที่โควิดเร่งให้ทำ คือ การเดินหน้าพัฒนาความพร้อมเครือข่าย 5G ที่ AIS วางแผนจะทำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะอุปกรณ์เครื่องมือและระบบนิเวศของไทยยังไม่พร้อม แต่โควิดรุกไล่ให้ทำตามแผนที่วางไว้ให้เร็วขึ้น 

AIS วางจุดยืนของตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า จะไม่เป็นเพียงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Operator) เท่านั้น แต่จะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Service Provider) ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนในทุกอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้บริโภค ให้การทำงานและการใช้ชีวิตสะดวกราบรื่นไม่มีสะดุด

ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นจาก AIS ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือ ขณะที่องค์กรมากมายชะลอ หรือระงับการลงทุน แต่ AIS กลับเดินหน้าลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้งาน 5G โดยมีการนำเทคโนโลยี 5G ไปช่วยภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สร้างและพัฒนา AI, Robotic, Automation, Internet of Things, Cloud ยกระดับสู่ Smart Factory ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นโซลูชั่นที่เข้ามาช่วยภาคธุรกิจรับมือผลกระทบที่เกิดจากโควิด เช่น การขาดแคลนแรงงาน การผลิตไม่คงที่ การนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปช่วยทำให้บริษัทนั้น ๆ สามารถทำงานตามแผนเดิมได้ แม้จะมีวิธีการทำงานหรือขั้นตอนทำงานเสริมเติมเข้ามาจากเดิม

ขณะเดียวกัน เมื่อเอ่ยถึง ประเด็นด้านเทคโนโลยี แม้ไทยจะไม่ได้มี Deep Technology ที่ล้ำหน้าชาติใดบนโลก แต่อย่างน้อยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สมชัย CEO ของ AIS กล่าวอย่างมั่นว่า ประเทศไทยไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกในเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G  ซึ่งไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่นำ 5G มาประยุกต์ใช้ เป็นรองเพียงแค่ไม่กี่ประเทศอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอเมริกาเท่านั้น 

“เราอาจจะช้าในยุค 3G และ 4G แต่พอมาในยุค 5G เราไปได้เร็วกว่าเขามาก และที่สำคัญผู้บริโภคของไทย เปิดรับเทคโนโลยีได้เร็วมาก เราอาจจะไม่เก่งแบบเมืองนอกที่เขามีจุดแข็งในเรื่องของ R&D ที่คิดค้นของใหม่ ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นในมุม Users ในการใช้งาน เรามี passion ไม่แพ้ชาติใดในโลก”

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ไทยอาจไม่ได้เป็น Innovator ชั้นแนวหน้าของโลก แต่ก็เป็น User ผู้รู้จักประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตนั่นเอง

Digital Platform คือ Core Business ใหม่ 

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ภาคธุรกิจทั้งหลาย รวมถึง AIS ตระหนักได้ว่า มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตหรือภัยคุกคามที่ไม่คาดคิดเช่นนี้ได้อีกในอนาคต ดังนั้น บทเรียนที่ AIS ได้รับก็คือ การเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ มองให้ไกล และวางพื้นฐานของบริษัท หรือ Core Business ให้มั่นคง ซึ่งโชคดีว่า AIS มีวิสัยทัศน์ในรูปแบบนี้มานานแล้ว เห็นได้จากการที่มีการวางแผนเรื่อง Transformation มาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

“มันไม่ใช่ว่าผมเก่ง แต่เป็นเพราะผมได้มีโอกาสเห็นสถานการณ์ในประเทศต่าง ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าเรา เราเห็นแล้วว่าลูกค้าจะไม่ใช้สินค้าของเราแค่การติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง Digital Services ที่จะมาช่วยให้เขากินดีอยู่ดี ทำงานดีขึ้นด้วย”

สมชัย มองว่า การใช้ดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์โซลูชันของผู้บริโภคเป็นกระแสที่กำลังมาแน่นอน ดังนั้น AIS จึงตั้งมั่นที่จะ ​​​Transform ตัวเอง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้าง Core Business ก็คือ โทรคมนาคมให้แข็งแกร่ง

“สิ่งที่ AIS ตั้งใจทำ มีสองอย่างด้วยกัน คือ การดำเนินการปรับปรุงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจ Connection เช่น Fixed Broadband และ AIS Fibre ส่วนเรื่องที่ 2 ที่เราอยากทำมาก ๆ แต่ยังทำไม่สำเร็จสักที ก็คือ การสร้าง Digital Platform ที่เกิดขึ้นบนเวทีระดับโลกแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป ต่างร่ำรวยมหาศาลมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ จากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม AIS จึงประกาศชัดเจนว่าจะต้องทำ ​​Digital Platform ให้ได้ เพราะถ้าทำได้ AIS จะมีแหล่งรายได้ (Source of  Revenue) อย่างมหาศาล มากกว่าธุรกิจดั้งเดิม อีกทั้ง คุณค่าของ Digital Platform ยังทำให้ AIS สามารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเงินการธนาคาร และโฆษณา ฯลฯ เป็นการใช้พื้นฐานของ AIS ซึ่งดีอยู่แล้วเข้าไปทำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ดีขึ้น 

โดย สมชัย ย้ำว่า แนวคิดการเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่นของ AIS จะไม่ได้เข้าไปเพื่อกลืนกินครอบครองธุรกิจนั้น ๆ เพราะ AIS รู้ดีว่าตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะทำ ดังนั้น สิ่งที่ AIS จะทำ ก็คือ การเข้าไปร่วมมือกับอุตสาหกรรมนั้น เพื่อนำเอาแพลตฟอร์ม หรือเทคโนโลยีของ AIS ไปทำงาน แล้วเกิดเป็น Business Model แบบ Revenue Sharing ซึ่งจะเป็นหนทางช่วยสร้างโอกาสช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ของ AIS ให้มากขึ้นอีกเท่าตัว 

“นี่เป็น Business Model ที่ผมมองไว้ โดยต้องลงมือทำ 3 อย่างด้วยกัน อย่างแรก คือ ต้องคิดหา Digital Service ที่จะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ของบริษัท อย่างที่สอง ก็คือ Skill Set ใหม่ๆ การค้นหา รวมรวมและพัฒนาคนเก่ง แน่นอนว่าเมื่อเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ ย่อมต้องการความสามารถและชุดทักษะใหม่ ๆ ของคนเข้ามารองรับ อาจจะเริ่มจากการพัฒนาคนในองค์กรให้เก่งขึ้นมาก่อน หรือถ้าไม่ได้เพราะเป็นเรื่องเฉพาะทาง ต้องหาคนเก่งให้เข้ามาในองค์กรให้ได้ ส่วนสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างที่ 3 คือ Ecosystem ที่หมายความว่า เราเก่งและเชี่ยวชาญในแบบของเราแล้วเอาความเชี่ยวชาญนั้นไปเป็น Business Partner เพื่อสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อต่อการเติบโตทั้งหมดขึ้นมาแทน” 

สมชัย สรุปว่า ถ้ามี Business Model ใหม่ มี Skill Set ที่ดี และมี Right Partners และ Ecosystem ที่ดี ทั้งสามอย่างนี้ จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตของภาคธุรกิจได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน 

“สำเร็จหรือไม่สำเร็จยังไม่รู้ แต่ AIS ได้ลงมือทำแล้ว ลองทำแล้ว มูฟออกไปแล้ว ถ้าทำสำเร็จ AIS จะโตอีกเท่าตัว หรืออย่างน้อยเราก็ได้ทำ เพราะถ้าขืนเรายังโตด้วยแนวทางแบบเดิม ๆ AIS แม้จะยังโต แต่ก็โตกว่าการโตของจีดีพีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เกิน 1-2%”

สำหรับตัวอย่างของการ Transform จนเกิดเป็นบริการตัวใหม่ที่กำลังมาแรงของค่าย AIS ในขณะนี้ คือ AIS PLAY โดยสมชัย กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เรียกเก็บค่าบริการ ไม่มีค่าโฆษณา เพราะต้องการสร้างฐานลูกค้า ก็มีผู้เข้ามาสมัครใช้บริการแล้วถึง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ 4 ล้านคนเป็น Active Subscriber เท่ากับว่า ถ้า AIS เดินหน้าทำจริงจัง ก็จะสามารถสร้าง Advertising Model บนแพลตฟอร์ม ดังกล่าวได้อย่างมหาศาล หรืออาจจะจับมือกับธนาคาร ลองทำ Mobile Banking ช่วยเสริมให้บริการของธนาคารขยายตัว ขณะที่ AIS ก็ได้อานิสงค์ส่วนแบ่งจากการโตตรงนี้ด้วย 

ขณะที่ ประเด็นเรื่องการแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ สมชัย ยอมรับว่า ไม่อาจนำมาแข่งกันได้ เพราะระดับฝีมือแตกต่างกัน เหมือนนำทีมบอลนักเรียนมัธยมต่างจังหวัดไปแข่งขันกับทีมบอลโลก ถามว่าไทยไม่เก่งหรือ คำตอบ คือ ไม่ใช่ ไทยเก่งมาก แต่เป็นความเก่งที่อยู่คนละระดับกัน  

ดังนั้น สิ่งที่ AIS เห็นว่าจะทำได้และควรทำ ก็คือ การอยู่ในอาณาเขตบริเวณของตน เช่น การทำ Digital Platform ก็จะทำเป็น Digital Platform เฉพาะในไทยเท่านั้น ไม่ได้ไปแข่งกับเขาเลย

“วันนี้ ยูทูปดังมากในไทย คนไทยที่ดูยูทูปส่วนใหญ่ล้วนดูคอนเทนต์ของไทยถึง 80-90% ดูคอนเทนต์ต่างประเทศที่มีมากมายมหาศาลน้อยมากแค่ 10-20% เท่านั้น แต่ว่าคนทำคอนเทนต์ของไทยกลับต้องพึ่งแพลตฟอร์ม ยูทูป เท่ากับว่า ลงทุน 100 บาทพอขึ้นแพล็ตฟอร์ม ยูทูป เงินที่ได้มาอาจไม่ถึง 100 ที่ลงทุนไป แต่ถ้าเราสามารถสร้างแพลตฟอร์มของคนไทยกับพาร์ทเนอร์ แล้วคนไทยยอมเข้ามาดู ไม่ต้องไปแข่งกับเขา เอาเฉพาะในเมืองไทย คนทำคอนเทนต์ไทยย่อมต้องแฮปปี้ เพราะลงทุน 100 บาท ผม (เจ้าของแพลตฟอร์ม) ขอเก็บ 10-20 บาท ส่วนผู้ผลิตได้ไป 80-90 บาท นี่เป็นแนวคิดที่ AIS คิดจะทำ”

ทั้งนี้ สมชัย สรุปว่า AIS จะเดินหน้า Transform ตัวเอง และต้องแข่ง เพียงแต่รู้ตนเองว่าจะไปแข่งกับคนนอกหรือต่างประเทศไม่ได้ AIS ต้องแข่งในสนามของตนเอง AIS ต้องเปลี่ยนผ่าน และมุ่งมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต 

แน่นอนว่า ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สมชัย อยากฝากถึงบรรดานักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของ AIS ที่แม้ไม่ได้หวือหวา แต่ก็มีเสถียรภาพในเรื่องของการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และแม้จะมุ่งมั่นผันตัวเองไปสู่ ​Digital Service Provider แต่ AIS ก็ไม่ทิ้งสิ่งที่เป็น Core Business ซึ่งเป็นหัวใจและรากฐานที่ทำให้เป็น AIS อยู่ทุกวันนี้ 

โดย AIS เชื่อมั่นว่า ทุก ๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้อง มี Digital Transform ซึ่ง AIS พยายามเสนอตัวเข้าไปมีส่วนช่วยและส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

“วิสัยทัศน์ของเรา คือ เราอยากเป็น Digital Service Provider ที่จะรับใช้คนไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการทำงาน ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว ทำให้องค์กรพาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือกับเรามีเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน แทนที่จะต้องไปนั่งคิดหากันเอาเอง เป็นการเติบโตของ AIS และของพาร์ทเนอร์ในแบบระยะยาว”

นอกจากนี้ สมชัย ในฐานะ Best CEO ประจำปี 2020 ด้านเทคโนโลยี ยังได้ฝากถึงองค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลายให้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์เดียวกันกับ AIS ในการเป็นปลาใหญ่ที่ไม่กินปลาเล็ก

“ผมอยากสนับสนุนนให้เราเป็นพี่ใหญ่ที่ช่วยเหลือน้องเล็ก ต้องเป็นปลาใหญ่ที่พาปลาเล็กแหวกว่ายออกไปท้าคลื่นลมที่ถาโถมเข้ามา ถ้าเราไม่เปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจที่จะช่วยดึงคนเล็ก ๆ ขึ้นมาให้ได้ มันก็จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนไม่ได้ AIS กำลังพยายามทำอยู่ ทำให้ไม่ใช่แค่ AIS ที่จะมีมูลค่ามากกว่าเดิมหลายเท่าตัวเท่านั้น แต่จะทำให้คุณค่าในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในยุคดิจิทัลนี้เช่นกัน”  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ