TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเอ็มเทค สวทช. ส่งโนฮาว นวัตกรรม ‘เปลความดันลบ’ ให้ บ.สุพรีร่าฯ

เอ็มเทค สวทช. ส่งโนฮาว นวัตกรรม ‘เปลความดันลบ’ ให้ บ.สุพรีร่าฯ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงาน PETE (พีท) เปลปกป้องหรือ ‘เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19’ แบบออนไลน์ ระหว่าง เอ็มเทค สวทช. กับ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด พร้อมได้มอบเปลความดันลบ ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อใช้ในภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช.กล่าวว่า ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้สร้างนวัตกรรม‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ หรือเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 โดยออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกน (CT Scan) ปอดผู้ป่วย ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

โดยวันนี้ เอ็มเทค สวทช. จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงาน PETE (พีท) เปลปกป้อง หรือ ‘เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19’ ให้กับ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นรายแรกและรายเดียว โดยได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำไปสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของ เอ็มเทค สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรม ให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงนอกจากนั้นแล้วในวันนี้ทีมวิจัยเอ็มเทคร่วมกับบริษัท ได้ส่งมอบเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ชุด ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เพื่อนำใช้งานในภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคร้ายที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดทำงานอย่างหนัก รับหน้าที่เป็นเสมือนด่านหน้าในการต่อสู้กับโรค จึงจำเป็นต้องได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเปลความดันลบที่ เอ็มเทค สวทช. พัฒนาขึ้นนอกจากจะตอบโจทย์สำหรับเป็นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ไปในแต่ละจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกในการยกระดับความสามารถอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของรัฐบาล

นายไกรกาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัดกล่าวว่าบริษัท สุพรีร่าฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยยินดีเข้ามารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมนี้ พร้อมกับสิทธิเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ รวมถึงรถฉุกเฉิน รถพยาบาลแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศมากว่า 30 ปี จึงมีความพร้อมในด้านการให้บริการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และพร้อมที่จะร่วมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยฝีมือคนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล 

“เราทราบว่าเปลความดันลบนี้เป็นผลงานวิจัยที่ทาง เอ็มเทค สวทช. ได้ทำงานเป็นอย่างหนักในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ใช้ และแก้ปัญหาด้านที่มีอยู่ของอุปกรณ์ชนิดเดียวกันนี้ที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งานร่วมกับรถพยาบาล การเข้าเครื่อง CT Scan การออกแบบวิธีการทำความสะอาดรวมไปถึงการใช้อะไหล่และวัสดุที่มีอยู่ในประเทศ”

สำหรับแผนการผลิตและจำหน่ายบริษัท สุพรีร่าฯ จะขอเป็นส่วนหนึ่งในฐานะคนไทยที่จะร่วมกันพัฒนาเครื่องมือแพทย์จากฝีมือคนไทย 100% ให้ได้มาตรฐานระดับสากล มีราคาที่จับต้องได้และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สมเหตุสมผล เพื่อสนับสนุนงานวิจัยไทยและลดการพึ่งพาเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งนวัตกรรมเปลความดันลบที่เอ็มเทค สวทช. พัฒนาขึ้น ทำให้เห็นบทเรียนสำคัญว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และน่าจะเป็นหนทางที่ยั่งยืนและมั่นคงที่สุด

ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่าเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผลงานวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์สำหรับใช้ในประเทศนั้น สพฉ.ในฐานะหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์มีความยินดีที่ได้อุปกรณ์นี้มาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางแพทย์ และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินในภารกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก จนถึงระลอกล่าสุด สพฉ. ให้การปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ร่วมกับกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์เอราวัณ กทม. ในการนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากบ้านไปยังโรงพยาบาลสนามของหน่วยงานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

โดยผลการปฏิบัติงานระลอกล่าสุดตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน จนถึง 19 มิถุนายน 2564 นำส่งผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 7,500 ราย เป็นทีมปฏิบัติการทั้งสิ้น 139 ทีม ซึ่งหากแบ่งโรงพยาบาลปลายทางที่รับผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดคือ โรงพยาบาลบุษราคัม จำนวนกว่า 2,000 ราย รองลงมาคือโรงพยาบาลสนามวัฒนา Factory ประมาณ 900 ราย และโรงแรมบางกอกชฎา 700 ราย ขณะที่ศูนย์นิมิบุตรรับผู้ป่วยไปรักษาแล้วประมาณ 600 ราย 

“ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกเหนือจากการมีบุคลากรเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนรถพยาบาลที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามมาตรฐานสากลแล้ว สพฉ. เห็นความจำเป็นและประโยชน์ในการใช้งานอุปกรณ์เปลความดันลบรูปแบบนี้อย่างยิ่ง เพราะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุไปถึงจุดรักษา ไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน หรือเครื่อง CT scan ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถลดภาระ เวลา และค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดอุปกรณ์ได้อีกด้วย”  

รองเลขาฯสพฉ. กล่าวด้วยว่า เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากอุปกรณ์นี้สามารถกระจายไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยติดตั้งไปพร้อมรถพยาบาลตั้งแต่ขั้นตอนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการใช้งานภายในสถานพยาบาล จะช่วยให้ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจากจุดเกิดเหตุและระหว่างนำส่งโรงพยาบาล จนไปถึงขั้นตอนการรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ