TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistบทบาทของจีน กับพันธมิตรทางตอนใต้ CLMV

บทบาทของจีน กับพันธมิตรทางตอนใต้ CLMV

สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศมหาอำนาจฝั่งเอเชียที่กล้าท้าทาย อำนาจของสหรัฐอเมริกา ด้วยยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หลังจากจีนสร้างชาติตนเอง จนทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากการมีรายได้ต่ำ สร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลางในทุกมิติ (Moderate Prosperous Society in All Respects) หลังจากนั้น จีนพยายามใช้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เป็นการสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

จีนมีพื้นที่ทางตอนใต้ติดกับประเทศเวียดนาม สปป.ลาว และประเทศเมียนมา หรือที่เรียกว่า กลุ่มประเทศ CLMV เริ่มจากประเทศกัมพูชา แม้จะไม่มีชายแดน ติดกับประเทศจีน แต่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ CLMV

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีนเป็นอย่างมากกว่า 3 ประเทศ มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัมพูชากับจีนยาวนานกว่า 63  ปี มีสายสัมพันธ์ทั้งในระดับสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชากับผู้นำของจีน และระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ.2563 เพิ่งจะลงนามเซ็นสัญญาในความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีการลดอัตราภาษีศุลกากรและส่งเสริมการเข้าถึงตลาดระหว่างกัมพูชากับจีน การค้า การท่องเที่ยว และการเกษตร

นอกจากนั้น ยังมีโครงการที่จีนมาลงทุนในกัมพูชามากมาย ทั้งในส่วนของโครงการพัฒนาสาธารณูปการขนาดใหญ่ในจังหวัดเกาะกง มีข่าวลือว่า กัมพูชาอนุญาตให้จีนเช่าพื้นที่สร้างฐานทัพเรือจีนบนเกาะกง สัญญาเช่าปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลานานกว่า 270 ปี เพื่อแลกกับหนี้ก้อนโตมูลค่ากว่า 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่รัฐบาลจีนเคยออกทุนและปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลกัมพูชาใช้ในโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมทั้งสะพานมิตรภาพระหว่างกัมพูชา-จีน ภายในกรุงพนมเปญและสีหนุวิลล์ ที่มีมูลค่ากว่า 5,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 178,900 ล้านบาท 

โครงการบนเกาะกงนี้ มีทั้งสนามบิน ฐานทัพทหาร ท่าเรือน้ำลึก “เกาะกง นิว พอร์ท” (Koh Kong New Port)  เป็นโครงการ Cambodia-China Comprehensive Investment and Development Pilot Zone หรือพื้นที่นำล่องการพัฒนาและการลงทุนแบบครบวงจรจีน-กัมพูชา แต่รัฐบาลกัมพูชาออกมาเปิดเผยว่า จีนเช่าพื้นที่เพียง 99 ปี รัฐบาลจีนได้สร้างสนามบินบนเกาะกงจริง แต่เป็นสนามบินพาณิชย์  

นอกจากนี้ จีนยังลงทุนในเมืองสีหนุวิลล์ โครงการสาธารณูปโภคขนาดมหึมา ที่ลงทุนทั้งเม็ดเงินและแรงงานของจีนหลายพันล้านดอลล่าร์ เช่น ทางด่วนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์เชื่อมจาก สีหนุวิลล์เข้ากับกรุงพนมเปญ ยังมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า รวมทั้งบ่อนคาสิโน ที่มีมากเกือบ 100 แห่ง สมัยที่ยังรุ่งเรือง

สปป.ลาว เป็นอีกประเทศที่มีสัมพันธภาพที่ดีกับจีน จะเห็นได้จากโครงการเส้นทางรถไฟ Silk Road Economy Belt ลาว-จีน มูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจของ สปป.ลาวทั้งหมด โดย 60% ของเงินลงทุนในโครงการ ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้จากธนาคารส่งออกนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) ของจีน ที่เหลือ 40% เป็นการร่วมทุน โดยรัฐบาลสปป.ลาว ออกค่าใช้จ่าย 12% หรือ 250 ล้านดอลลา ส่วนที่เหลือ 28% หรือประมาณ 480 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลจีนเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ในส่วนคุนหมิง – สิงคโปร์ เชื่อมจากประเทศจีน  ผ่านประเทศสปป.ลาว และผ่านประเทศไทย  ลงไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ 

เส้นทางรถไฟสายลาว-จีนนี้ มีความยาว 414 กิโลเมตร  มาตรฐานรางขนาด 1.435 เมตร แนวทางวิ่งมีลักษณะที่ผ่านเทือกเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ เป็นทางยกระดับ175 กิโลเมตร มีการสร้างสะพาน 167 แห่ง และสะพานสูงข้ามหุบเหว 154 แห่ง ระยะทางรวม 67.15 กิโลเมตร มีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา 75 แห่ง ระยะทางเฉพาะที่เป็นอุโมงค์รวมมากกว่า 190 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ยาวที่สุด ยาว 9.5 กิโลเมตร รถไฟสายนี้ จะเริ่มเปิดใช้งานจริง วันที่ 2 ธันวาคม 2564  ซึ่งเป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางจากนครคุนหมิง ถึงนครหลวงเวียงจันทน์  

สถานีสุดท้ายใน สปป. ลาว คือ สถานีท่านาแร้ง ตีนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ชายแดนไทย ซึ่งจะเชื่อต่อกับสถานีหนองคายของไทย ในอนาคตทำให้การเดินทางจากไทยไป ชายแดนประเทศจีนใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงและอีก 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังคุนหมิงได้

ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน ทำให้จีนไม่อาจมองข้ามการลงทุนในเวียดนาม โดยสำนักงานการลงทุนของต่างชาติ กระทรวงวางแผนและลงทุนเวียดนาม เผยตัวเลขโครงการที่จีนมาลงทุนในเวียดนาม สูงถึง 1,500 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม มากกว่า 5 แสนล้าน เช่น โครงการที่กลุ่มอาลีบาบาลงทุน มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาทในธุรกิจค้าปลีกของบริษัท The CrownX ในเครือกลุ่มบริษัทเมซาน (Masan Group) รวมทั้งในปี พ.ศ. 2564 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จีนลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในเวียดนาม 61 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วเวียดนามยังมีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กับจีน รวมทั้งความชอกช้ำจากการเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีนเป็นเวลานานถึงสองพันปี ดังนั้นจึงพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศอื่น เพื่อคานอำนาจจจีน จึงเป็นที่มาของการเป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐอเมริกา และ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายเอเชีย ต้องมาเยี่ยมเยียนเวียดนามและสิงคโปร์ในฐานะพันธมิตรทางเอเชียตะวันออกฉียงใต้

ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและจีน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 70 ปีเมื่อปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา แต่ต้องถือว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนน้อยที่สุด หากเทียบกับ 3 ประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ทำการรัฐประหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ จีนนับเป็นประเทศที่ลงทุนในเมียนมามากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น

โดยลงทุนประมาณ 500 โครงการ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ เช่น สัมปทานและผู้ถือหุ้นเขตเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐยะไข่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ที่มีความยาว 1,700 กิโลเมตร โครงการถนนและรางจากภาคใต้ของจีนผ่านส่วนต่าง ๆ ของเมียนมาไปยังจอก์พยู รวมทั้งโครงการล่าสุดก๊าซธรรมชาติเหลว (LGN) ซึ่งมีมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่โรงงานของจีนที่ลงทุนในเมียนมา 32 แห่ง ถูกบุกรุกทำลาย ลอบวางเพลิง ทำให้ธุรกิจจีนในพม่าเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 37 ล้านดอลลาร์

จะเห็นว่า สมาชิกทั้ง 4 ประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV มีโครงการที่จีนเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนา เติบโต และได้ประโยชน์ร่วมกันกับ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่อิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้น ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจวางใจในอิทธิพลดังกล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ