TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBitkub Onlineรู้ทัน 7 กลโกงในวงการ NFT

รู้ทัน 7 กลโกงในวงการ NFT

NFT หรือ Non-fungible Token นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่หลายคนเริ่มสนใจ โดยเฉพาะจากการที่คอลเลกชัน NFT บางชุดมีชื่อเสียงและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อย่างคอลเลกชัน CryptoPunks หรือ Bored Ape Yatch Club ทำให้มีนักลงทุนมือใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิจฉาชีพก็แฝงตัวเข้ามาไม่น้อยเลยทีเดียว

เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ บทความนี้จึงรวบรวมกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้หาเหยื่อในวงการ NFT ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือมีประสบการณ์อยู่แล้วก็สามารถเรียนรู้และป้องกันตัวได้

1.การปั่นราคา NFT

การปั่นราคาหมายถึงการที่มิจฉาชีพทำการซื้อขาย NFT ไปมาระหว่างพวกเดียวกันเองในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อทำให้ราคาของ NFT ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามที่พวกเขาต้องการ ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นเจ้าของโปรเจกต์ NFT ที่เล่นไม่ซื่อเสียเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อ NFT เพราะคาดว่ามูลค่าอาจเพิ่มขึ้นได้อีก

แต่เมื่อราคาสูงขึ้นถึงระดับที่มิจฉาชีพพอใจแล้ว พวกเขาก็จะทำการเทขายเพื่อทำกำไรทันที ทำให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ไหวตัวไม่ทัน วิธีนี้ถูกเรียกอีกแบบหนึ่งว่า Pump & Dump

คอลเลกชัน NFT ที่มีคุณภาพจริง ๆ มูลค่าของมันจะเกิดจากการที่นักลงทุนเห็นคุณค่าและทยอยเข้ามาเป็นเจ้าของ ซึ่งมักจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น หากพบว่าคอลเลกชัน NFT ใดมีราคาเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะคอลเลกชันใหม่ หรือคอลเลกชันที่ราคาขึ้นโดยไม่มีข่าวสารมาสนับสนุน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าคอลเลกชันนั้นอาจกำลังถูกปั่นราคาอยู่

2.การฟิชชิ่ง

การฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นคำที่เราอาจจะเคยพบเห็นมาบ้างแล้วต่อให้ไม่ใช่วงการ NFT ก็ตาม ซึ่งหมายถึงการพยายามหลอกเอาข้อมูลสำคัญจากผู้ใช้ด้วยข้อความ อีเมล หรือเว็บไซต์ปลอมที่ตกแต่งให้ดูเหมือนเว็บไซต์จริงหรือดูน่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้าหลงเชื่อและกรอกข้อมูลสำคัญของตัวเองลงไป หรือไม่ก็อาจเป็นการแอบติดตั้งไวรัสลงอุปกรณ์ของผู้ใช้

วิธีที่จะป้องการฟิชชิ่งได้ดีที่สุดคือการสังเกต โดยให้สังเกตว่าข้อความที่ได้รับเป็นข้อความที่มาจากผู้ให้บริการที่เชื่อถือจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเว็บไซต์ก็ลองสังเกตที่ URL ว่าถูกต้องไหม และที่สำคัญ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะไม่สอบถามรหัสผ่านหรือ Private Key ดังนั้น หากถูกถามก็ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน

3.การแฮกกระเป๋า

นอกจากการฟิชชิ่งแล้ว บางครั้งมิจฉาชีพก็อาจใช้วิธีแฮ็กผู้ให้บริการกระเป๋าหรือ Wallet โดยตรงเลย ดังนั้น การเลือกใช้ผู้ให้บริการกระเป๋าที่น่าเชื่อถือและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจึงเป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาด้วยเสมอ

4.หลอกแจก NFT

วิธีนี้อาจดูคล้ายกับการฟิชชิ่ง แต่มิจฉาชีพจะหลอกโดยนำรางวัลเป็น NFT ฟรีมาหลอกล่อให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว

นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจใช้วิธีบังคับให้เหยื่อทำภารกิจบางอย่างเพื่อที่จะได้รางวัลเป็น NFT ฟรี เช่น การแชร์บนโซเชียลให้ถึงยอดที่กำหนด แต่แท้จริงแล้วเป็นการขยายวงออกไปเพื่อหาเหยื่อเพิ่มต่างหาก

5.การปลอมตัวเป็นคนดัง

เนื่องจากคำพูดของเหล่าคนดังหรือเซเลปมักมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป จึงไม่แปลกที่เหล่ามิจฉาชีพจะฉวยโอกาสด้วยการปลอมตัวเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อหลงเชื่อจนยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญหรือร่วมลงทุน

นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจสร้างโปรเจกต์ NFT ขึ้นมาโดยแอบอ้างว่าเป็นโปรเจกต์ของเซเลป เพื่อหลอกให้คนเข้ามาลงทุน โดยที่เซเลปตัวจริงไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย

ดังนั้น เมื่อเห็นข้อความเชิญชวนให้มาลงทุนโดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ก่อนอื่นต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโปรเจกต์นั้นเสียก่อน และตรวจสอบข่าวสารว่าเป็นโปรเจกต์ที่บุคคลมีชื่อเสียงคนนั้นมีส่วนรู้เห็นด้วยจริงหรือไม่

6.การปลอม NFT

นอกเหนือจากชื่อเสียงของบุคคลแล้ว บางครั้งมิจฉาชีพก็ทำการสร้างโปรเจกต์ NFT ปลอมขึ้นโดยเลียนแบบโปรเจกต์ที่มีชื่อเสียง แม้เราจะสามารถตรวจสอบที่มาของ NFT แต่ละชิ้นผ่านบล็อกเชนได้ก็จริง แต่บางครั้งโปรเจกต์ NFT ปลอมเหล่านี้ก็อาจมาพร้อมกับราคาที่น่าดึงดูดจนทำให้บางคนไม่ทันระวังตัว

ยกตัวอย่าง Phunky Ape Yacht Club (PAYC) ซึ่งเป็นคอลเลกชันที่เลียนแบบ NFT ชื่อดังอย่าง Bored Ape Yacht Club (BAYC) แต่เป็นรูปที่กลับด้านและไม่มีคุณสมบัติอื่น ๆ เหมือนกับของแท้ ทำให้ปัจจุบัน PAYC ถูกแบนไปโดย OpenSea เรียบร้อย

7.การสร้างกระแสให้ NFT

โซเชียลมีเดียนับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์มากสำหรับการโปรโมทผลงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะโพสที่มาจากผู้มีชื่อเสียงหรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่พวกเขาสามารถสร้างกระแสหรือการไฮป์ (Hype) ที่มากเกินจริงให้กับโปรเจกต์ NFT ได้เช่นกัน

เมื่อมีกระแสไฮป์มากเกินไป นักลงทุนบางคนอาจร่วมลงทุนในโปรเจกต์ NFT โดยไม่ได้วิเคราะห์เสียก่อนว่าโปรเจกต์นั้นมีคุณสมบัติพอที่จะทำให้มันมีมูลค่าสูงเหมือนอย่างที่ไฮป์กันหรือไม่ และเมื่อมีกระแสพูดถึงมันมากขึ้นก็อาจดึงดูดให้คนใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของ NFT สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นราคาก็อาจปรับลดลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงมูลค่าที่แท้จริง หรือร้ายกว่านั้นก็อาจเป็นการ Pump & Dump โดยอินฟลูเอนเซอร์เสียเอง

วิธีป้องกันกลโกงในวงการ NFT

1.อัปเกรดระบบความปลอดภัย

นักลงทุนสามารถใช้วิธีเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีหรือกระเป๋าของตัวเองได้ผ่านการสร้างรหัสผ่านที่มีความแข็งแกร่ง เช่น มีตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก ตัวเลข และอักษรพิเศษ เพื่อทำให้ความพยายามแกะรหัสผ่านโดยมิจฉาชีพเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนควรพิจารณาเปิดใช้ฟีเจอร์ 2FA (Two-factor authentication) หากกระเป๋าดิจิทัลที่ใช้นั้นรองรับ ส่วนในกรณีที่ใช้กระเป๋าดิจิทัลแบบที่ต้องดูแล Private Key เอง นักลงทุนสามารถพิจารณาเลือกใช้ Hardware Wallet ที่น่าเชื่อถืออย่าง Trezor หรือ Ledger Nano ได้เช่นกัน

2.ติดตามข่าวอย่างมีสติ

รู้หรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไม่ได้มาจากการแฮกกระเป๋า แต่มาจากการถูกหลอกด้วยคำมั่นสัญญาที่เกินจริง โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนที่มิจฉาชีพมักจะโน้มน้าวเหยื่อด้วยการรับประกันผลตอบแทนที่น่าสนใจ หรือแม้แต่การปั่นกระแสจนทำให้ผู้คนให้คุณค่ากัยโปรเจกต์ NFT สูงเกินความเป็นจริง

ดังนั้น ทุกครั้งที่พบเห็นการเชิญชวนให้มาลงทุนในโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ NFT ตลอดจนการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ควรพิจารณา ตรวจสอบ และศึกษาให้ดีก่อนว่าโปรเจกต์ที่จะลงทุนคืออะไร ใครคือผู้สร้าง มีประโยชน์อย่างไร และเชื่อถือได้หรือไม่ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพบนสื่อโซเชียล

3.เลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้บริการออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่การลงทุน NFT เท่านั้น นั่นคือการเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ มีการจดทะเบียนชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ โดยเราตรวจสอบความน่าเชื่อถือผ่านการดูข่าวสารตามสื่อหรือการสนทนาตามโซเชียล หากเป็นผู้ให้บริการที่เปิดมานานและเชื่อถือได้ก็มักจะมีข่าวสารและถูกพูดถึงไปในทางที่ดี ส่วนในกรณีที่เป็นผู้ให้บริการรายใหม่นักลงทุนก็ต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

อ้างอิง Coingecko, Outlook, TechTarget, MUO

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ