TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeTIF เปลี่ยนชีวิต…พิชิตกรดไหลย้อน ด้วยการ “เย็บหูรูดกระเพาะอาหารแบบไร้รอยแผล”

TIF เปลี่ยนชีวิต…พิชิตกรดไหลย้อน ด้วยการ “เย็บหูรูดกระเพาะอาหารแบบไร้รอยแผล”

แม้กรดไหลย้อน หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) จะไม่ใช่โรคแปลกใหม่ แต่มีอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้นทุกปี แต่หากรักษาไม่ตรงจุดหรือไม่เร่งทำการรักษาจนเกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยมักประสบความทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตแย่ลง และอาจเกิดโรคร้ายแรงอื่นตามมา

ส่องสถานการณ์โรคกรดไหลย้อน

รศ.คลินิก นพ.ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า โรคกรดไหลย้อนในภาพใหญ่ทั่วโลกกลายเป็นโรคสามัญที่พบในประชากรทั่วไปราว 25-35%  คิดเป็นหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ถ้าดูจากตัวเลขในกลุ่มอเมริกาเหนือ ตัดมาที่ฝั่งญี่ปุ่นหรือเกาหลีจะพบน้อยลงเหลือประมาณ 5-7% ขณะที่ประเทศไทยเคยพบข้อมูลศึกษาเมื่อปี 2556 ผ่านการทำแบบสอบถามผู้มารับการรักษาในโรงพยาบาล 2,500 คน พบผู้ป่วยเป็นกรดไหลย้อนถึง 34% แต่เมื่อนำผู้ป่วยที่พบมาส่องกล้อง มีเพียง 6% ที่แพทย์เห็นว่ามีอาการกรดไหลย้อนที่ทำให้เกิดโรคหลอดอาหารอักเสบ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่พบการอักเสบของหลอดอาหารขณะส่องกล้องประมาณ 28% นี้ อาจไม่ได้รับการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การวัดกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

กรดไหลย้อนมักมาพร้อมกับโรคอ้วน ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขปี 2552 พบคนไทยเป็นโรคอ้วนกว่า 30% และเป็นอันดับสองของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2552-2565 อัตราโรคอ้วนของคนไทยที่มากขึ้น ทำให้โรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อันนี้เป็นมิติในเชิงสุขภาพ

หากมองในมิติเศรษฐกิจ ประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าติดกลุ่มท็อป 3 เพราะมีผู้ป่วยที่ต้องกินยาถึงหนึ่งในสามของประเทศ ต้องเสียเงินถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญต่อปีในการรักษา ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการรักษามะเร็งทางเดินหารทั้งหมดรวมกัน (8.4 พันล้านเหรียญ) แต่นั่นไม่เท่ากับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมักมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สำหรับประเทศไทยแม้ยังไม่เคยมีการทำแบบสอบถามจริงจังว่า การป่วยเป็นกรดไหลย้อนทำให้คุณภาพชีวิตหรือประสิทธิผลของงานลดลงหรือไม่ แต่เมื่อมองตัวเลขในปี 2556 ซึ่งพบผู้ป่วยราว 34% (ใกล้เคียงกับตัวเลขทั่วโลก) จึงพออนุมานได้ว่าน่าจะเกิดผลกระทบที่คล้ายคลึงกัน 

“ความเข้าใจผิดของคนไทยเรื่องกรดไหลย้อนที่พบบ่อย คือคิดว่ายาลดกรดกินเป็นพัก ๆ ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยาลดกรดมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการกินแบบเทด่างผสมกรดเพื่อให้กลายเป็นกลาง เช่น ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน กาวิสคอนดูอัลแอคชั่น เป็นต้น แต่กินตลอดไปก็ไม่ไหว เพราะด่างมักผสมในรูปแบบแคลเซียมทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืดได้  ส่วนกลุ่มที่สอง คือ Proton Pump Inhibitor (PPI) (โปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์) ซึ่งจะลดการรับโปรตอนเข้ามาในเซลล์ ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากเพราะเป็นการหยุดการสร้างกรดในระดับเซลล์ ยากลุ่มนี้ เช่น Miracid (มิราซิด), Nexium (เน็กเซียม), Pariet (พาริเอท) เป็นต้น ต้องกินอย่างน้อยสองอาทิตย์ต่อเนื่อง แต่คนไทยมักคิดว่าเป็นแล้วค่อยกินยา ไม่กินยาต่อเนื่อง”

2 ปัจจัยหลัก 5 ภาวะเสี่ยงกรดไหลย้อน

“เริ่มต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากสาเหตุหลักของการเกิดโรคกรดไหลย้อนซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัย อันนี้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับกายวิภาค (Anatomy) ของผู้ป่วยโดยตรงคือ 1) ภาวะหูรูดกระเพาะอาหารหลวม ทำให้เปิด-ปิดได้ไม่ดีจนกรดสามารถไหลย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารได้ และ 2) การมีเส้นประสาทที่รับรู้ไวเกินไป ซึ่งแพทย์อาจตรวจพบหรือไม่พบกรดก็ได้ และไม่มีการขยับตัวของหลอดอาหารที่ผิดปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้ให้ยาลดกรดหรือทำหัตถการก็ไม่หาย ต้องรักษาด้วยการให้ยาที่ทำให้เส้นประสาทรับรู้ช้าลง นอกจากนี้ทีมแพทย์ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยจาก 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

โรคอ้วน (Obesity) น้ำหนักตัวที่มากทำให้เกิดแรงกด ซึ่งไปเพิ่มความดันในช่องท้องที่มากขึ้นจนต้องหาทางระบายออก การดันตัวของช่องท้องขึ้นมาทีละนิดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีกรดไหลย้อน หากกระเพาะอาหารถูกดันผ่านกระบังลมสูงขึ้นมาถึงช่องอก จะกลายเป็นภาวะเจ็บป่วยด้วยเฮอร์เนีย (Hiatal hernia) คือ การเคลื่อนของอวัยวะไปผิดตำแหน่ง ซึ่งในที่นี่คือการที่ส่วนบนของกระเพาะอาหารเลื่อนไปอยู่เหนือกระบังลม

“ปกติระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะมีวาล์วเปิด-ปิด เวลาเราทานอาหาร อาหารจะไหลผ่านหลอดอาหารลงไปในช่องอก ผ่านช่องเปิดกระบังลมซึ่งทำงานประสานกันกับหูรูดลักษณะวงกลมด้านล่างสุดของหลอดอาหารเหมือนเป็นประตูสองบาน พอประตูฝั่งหูรูดถูกดันขึ้นไปที่ช่องอก ขณะที่ประตูฝั่งกระบังลมยังอยู่ที่เดิม การเปิด-ปิดก็จะไม่สัมพันธ์จนทำให้กรดไหลย้อนแทรกขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนมากกว่าคนไข้ปกติ

การตั้งครรภ์ (Pregnancy) ซึ่งพบภาวะการเป็นกรดไหลย้อนบ่อยมาก แต่เมื่อคลอดบุตรแล้ว ความดันในช่องท้องลดลง รวมถึงการลดระดับของฮอร์โมนที่มีมากระหว่างการตั้งครรภ์ที่มักทำให้ตัวหูรูดคลายตัวได้ง่ายกว่าปกติ อาการก็จะหายไป 

การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารขึ้นมาอยู่เหนือกระบังลม (Hiatal hernia) ซึ่งแพทย์มักจะพบระหว่างการส่องกล้อง หรือบางทีอาจพบได้จากการตรวจทางรังสีวิทยาสำหรับภาวะอื่น ๆ เช่น ซีทีช่องอก และ/หรือช่องท้อง ภาวะนี้เกิดได้กับผู้ป่วยสูงอายุที่กล้ามเนื้อเริ่มหย่อนยาน หรืออาจมีภาวะโรคอ้วนรวมอยู่ด้วย 

ภาวะพังผืด-ผิวหนังตึงแข็ง (Scleroderma) เป็นกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยจะมีการสร้างพังผืดกระจายอยู่โดยทั่ว ตามผิวหนังบริเวณผิวหน้า แขน และนิ้วมือ เมื่อพังผืดไปแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหาร จะทำให้การปิดเปิดของกล้ามเนื้อหูรูดแย่ลง หูรูดกระเพาะอาหารที่แข็งตัวและเปิดค้างตลอดเวลาจะทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้รักษาหายยากเนื่องจากตัวโรคไม่ได้เกิดจากทางเดินอาหารโดยตรง 

และสุดท้าย โรคกระเพาะอาหารบีบตัวช้า (Gastroparesis) หรือที่เรียกว่า กระเพาะอาหารขี้เกียจ เกิดกับผู้ป่วยที่การทำงานของกระเพาะอาหารผิดปกติจากการที่เส้นประสาทถูกทำลาย จึงไม่สามารถย่อยอาหารและส่งต่อไปยังอวัยวะถัดไป เช่น ลำไส้เล็ก ทำให้อาหารคงค้างอยู่ในกระเพาะเป็นเวลายาวนานจนเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาได้ ภาวะนี้พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นมายาวนาน ทั้งนี้ 28% ของคนไข้ที่มีกระเพาะอาหารขี้เกียจ อาจไม่มีประวัติเบาหวานมาก่อนเลยก็เป็นได้

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้กรดไหลย้อนที่เป็นอยู่แล้วกลับเป็นมากขึ้น  ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้หูรูดเปิด-ปิด ได้ไม่ดี การสูบบุหรี่ ซึ่งทำลายเส้นประสาท การกินอาหารมื้อดึกแล้วนอนเลยทันที การกินอาหารที่กระเพาะต้องใช้เวลาย่อยนานกว่าปกติ เช่น กลุ่มอาหารที่มีไขมันสูงและของทอด รวมถึงการรับประทานยาที่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะมากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อปวดไหล่ เช่น อาร์คอกเซีย (Arcoxia), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟิแนก (Diclofenac), พอนแสตน (Ponstan) เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้อง “ลด-ละ-เลี่ยง” ไปก่อน ส่วนการกินเผ็ดที่คนชอบถามกัน ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าสัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อนรึเปล่า แต่การกินเผ็ดทำให้กระเพาะอาหารรับรู้ได้ไวว่าไม่สบายท้องแต่คนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นกรดไหลย้อนก็เป็นได้ 

มุมมืดเรื่องกรดไหลย้อน

“สิ่งที่ยากมาก ๆ คือ การแยกแยะให้ออกระหว่างอาการกรดไหลย้อนกับโรคหัวใจ ตัวผมเองถ้าผู้ป่วยอายุสัก 40-60 ปีเดินเข้ามา ถึงจะตรวจพบว่าเป็นกรดไหลย้อน ผมจะแนะนำให้พบแพทย์โรคหัวใจด้วย ยิ่งถ้าเป็นคนอ้วนที่มีโรคเบาหวาน ความดัน เพราะวิกฤตฉุกเฉินของผู้ป่วยระหว่างกรดไหลย้อนกับหัวใจก็ต้องดูที่หัวใจก่อน จริง ๆ แล้วก็มีเกณฑ์ของฝรั่งให้ประเมินเปรียบเทียบว่า ผู้ที่มารับการรักษาเกิดอาการแสบอก เรอเปรี้ยว ขมคอ มีของไหลย้อนจากท้องขึ้นมาที่ช่องอก หรือรู้สึกเหมือนมีของหนัก ๆ ทับตรงหน้าอก เจ็บแน่นลามไปที่แขนซ้ายด้านใน ไปที่กรามหรือขากรรไกรด้านในรึเปล่า ถ้าเป็นอย่างหลังให้คิดไว้ก่อนว่า หัวใจ เพราะเป็นอวัยวะที่ใช้เส้นประสาทชุดเดียวกัน” 

คุณหมอทศพล ยังกล่าวว่า แม้ในทางการแพทย์จะยังไม่พบผู้ที่เสียชีวิตจากการเป็นกรดไหลย้อน นอกจากการวินิจฉัยผิดอย่างที่กล่าวข้างต้น คือ เป็นโรคหัวใจแต่เข้าใจว่าเป็นกรดไหลย้อน แต่กรดไหลย้อนที่ดูเหมือนเล็กน้อยกลับส่งผลที่น่ากลัวตามมา เช่น ทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหารอักเสบจนถึงขั้นเกิดแผลไปนาน ๆ ร่างกายซึ่งพยายามซ่อมแซมตัวเองจนเกิดพังผืดหรือแผลเป็นหดรั้งกลายเป็นภาวะหลอดอาหารตีบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดกรดไหลย้อนแต่กลายเป็นกลืนแล้วติดแทน 

หรือการที่ร่างกายพยายามเปลี่ยนหลอดอาหารให้มีหน้าตาหรือสภาพที่ทนกรดได้ดีเช่นเดียวกับลำไส้เล็ก หากฟังดูเผิน ๆ เหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้วเป็นความเสี่ยง คุณหมอบาร์เร็ตต์และแอลลิสัน (Dr. Norman Barrett and Dr. Philip Rowland Allison) ผู้ค้นพบความสัมพันธ์นี้อธิบายว่า นี่คือ ภาวะก่อนการเป็นมะเร็ง (Esophageal intestinal metaplasia หรือ Barrett’s esophagus) สำหรับคำแนะนำโดยสมาคมแพทย์โรคทางเดินอาหารแห่งอเมริกา (American College of Gastroenterology) ผู้ป่วยฝรั่ง อายุเกิน 50 ปี เป็นกรดไหลย้อนมานาน สูบบุหรี่ มีโรคอ้วน และ/หรือมีสมาชิกครอบครัวเป็นมะเร็งหลอดอาหาร จะได้รับคำแนะนำการตรวจค้นหาว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) ที่เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อปกติ เนื้อเยื่อมะเร็ง หรือเป็นภาวะก่อนมะเร็งรึเปล่า เพราะภาวะก่อนมะเร็งกับการอักเสบทั่วไปค่อนข้างแยกได้ยาก และการอ่านผลชิ้นเนื้อ ต้องอาศัยพยาธิแพทย์ที่มีความชำนาญการสูงก่อนจะบอกว่าผู้ป่วยดังกล่าวมีภาวะ Barrett’s esophagus 

“ผลพวงต่อเนื่องจากภาวะกรดไหลย้อนมี 3 อย่าง คือ หลอดอาหารอักเสบ เกิดพังผืดที่รัดแน่นทำให้กลืนแล้วติด และภาวะก่อนการเกิดมะเร็งจนกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นหากพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดอาหาร หากมีความยาวของ Barrett’s esophagus ที่สั้นกว่า 3 ซม. โอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งถือว่าน้อยคิดเป็น 0.2% แต่ถ้าพบความยาวเกิน 3 ซม. ความเสี่ยงการเป็นมะเร็งจะสูงมากถึง 5-10% เลยทีเดียว”

เติมการรักษาให้เต็มสิบด้วย TIF

คุณหมอทศพล อธิบายว่า ที่ผ่านมา หากแบ่งแนวปฏิบัติการรักษาโรคกรดไหลย้อนเป็นสเปคตรัมไล่ตั้งแต่ 0-10 ตัวเลขต้น ๆ ระดับ 0-2 วิธีรักษา คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle modification) เช่น ลดความอ้วน ปรับวิถีการกิน ไม่กินดึกมากหรือไม่กินอาหารมื้อดึกมากจนเกินไป  เป็นต้น ส่วนตัวเลข 3-4 คือ ควบคู่ด้วยการรับประทานยากลุ่ม PPI ที่รับรองโดยสมาคมแพทย์โรคทางเดินอาหารแห่งอเมริกา (American College of Gastroenterology) ซึ่งเผยแพร่ผ่านออนไลน์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ว่า ได้ผลดีในระดับหนึ่ง ผู้ป่วยสามารถตอบสนองต่อยาได้เกินครึ่ง คราวนี้ปัญหามาเกิดตรงที่แนวปฏิบัติไล่จาก 0-4 หากไม่ได้ผลจะกระโดดไป 10  คือ การผ่าตัดเลย แล้วผู้ป่วยบางคนที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผลแต่ไม่ต้องการผ่าตัด ก็คือหมดทางเลือก ต้องทน ๆ ไป คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี ซึ่งเราพบว่ามีผู้ป่วยกว่า 20-30% ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคของหัตถการที่เรียกว่า TIF (Transoral Incisionless Fundoplication) แปลตรงตัว คือ การส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อรัดหูรูดกระเพาะอาหารโดยไร้รอยแผล ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อปิดช่องว่างการรักษาในระดับ 5-9 และทำให้สเปคตรัมการรักษาโรคครบถ้วน  

โดยหลักการของ TIF คือ การดึงหูรูดกลม ๆ ที่เริ่มบานและเกิดกรดไหลย้อนเต็มไปหมดลงมาสร้างเป็นวาล์วปิด-เปิดให้ได้ความสูง 2.5-3 ซม. ปรับให้กลมประมาณ 270-330 องศา เหลือไว้เพียง 30-90 องศาเพื่อไม่ให้การกลืนติดขัดและเพื่อให้เส้นเลือดใหญ่สามารถวิ่งเข้าสู่กระเพาะอาหารได้ตามปกติ นอกจากนี้หากคนไข้มีเฮอร์เนียที่ขนาดเล็กกว่า 2 ซม. การซ่อมหูรูดด้วย TIF จะสามารถแก้ไขเฮอร์เนียให้หายไปได้ ขณะที่การผ่าตัดแต่เดิมที่ผ่านมา แพทย์ด้านศัลยกรรมจะวินิจฉัยก่อนว่ามีเฮอร์เนียเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีจะเปิดท้องเข้าไปดึงกระเพาะอาหารลงมา ณ ตำแหน่งเดิมก่อน ทำการเย็บกระบังลมให้แคบลงป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารไหลขึ้นไปได้อีก จากนั้น จึงเย็บหูรูดให้แน่นขึ้นโดยดึงเนื้อกระเพาะส่วนบนเล็กน้อยมาบิดเกลียวพันรอบหลอดอาหารส่วนล่าง

ข้อดีของ TIF ที่ต่างจากศัลยกรรม คือ การศัลยกรรมใช้วิธีหยิบเนื้อกระเพาะขึ้นมาพันรัดรอบหลอดอาหารแต่ผู้ป่วยจะเรอไม่ได้อีกเลยเพราะเป็นการเสริมความแข็งแรงของหูรูดแบบบิดพันเกลียว ดังนั้น หากจู่ ๆ เกิดลมจุกแน่นอยู่ที่ยอดของกระเพาะอาหารก็จะดันกระบังลมและเอาลมไม่ออกซึ่งทรมานมากพอ ๆ กับการเป็นกรดไหลย้อน แต่ด้วยวิธีของ TIF ไม่ใช้การบิด แต่เป็นการดึงหูรูดลงตรง ๆ ซึ่งเลียนแบบธรรมชาติมากกว่า แล้วเย็บด้วยตัวยึด (Fastener) ครั้งละคู่อย่างน้อยประมาณสิบถึงยี่สิบคู่โดยรอบให้ได้ 270-330 องศา เมื่อหูรูดเข้าที่ตัวยึดก็จะค่อย ๆ สลายไปเอง จึงมีความคงทนแข็งแรงและมีลักษณะใช้งานใกล้เคียงของเดิมตามธรรมชาติให้มากที่สุด คนไข้จะสามารถเรอได้ กำจัดแก๊สออกจากกระเพาะได้เมื่อต้องการ  ส่วนผลข้างเคียงของ TIF คิดเป็น 2% เช่น ปวดไหล่ มีเลือดออกบ้าง ซึ่งส่วนตัวยังไม่เคยพบ ขณะที่การเย็บซ่อมหูรูดกระเพาะอาหารแบบศัลยกรรมจะพบภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ 5% 

“ต้องยกเครดิตให้โปรเฟสเซอร์ เคน แชง (Professor Ken Chang, MD) ผมมองว่าเขาคือพระเจ้าด้านการส่องกล้องที่พยายามคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา ในเมื่อหลอดอาหารเป็นท่อตรง ๆ แล้วต้องซ่อมหูรูด แทนที่จะเปิดจากข้างนอกแล้วเข้าไปซ่อมของที่อยู่ลึก ๆ ในแกนกลางลำตัว สู้คิดค้นอุปกรณ์เข้าไปซ่อมจากข้างในดีกว่า เคน แชงคิดเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ปี จนมาได้เวอร์ชันที่ดีที่สุดประมาณปี 2560-2561 ตัวอุปกรณ์ TIF ถูกออกแบบให้เหมือนแขนตรงยาวสอดลงไปตามหลอดอาหาร เจาะรูตรงกลางเพื่อใส่อุปกรณ์กล้อง ตรงปลายสุดจะเหมือนข้อมือหักพับได้ การทำงานจะประกอบไปด้วยสองส่วน คือ หนึ่ง หยิบหูรูดเข้ามาอยุ่ในช่องว่างของอุปกรณ์ และสอง ยิงตัวเย็บ ซึ่งความโชคดีของผม คือ การได้เป็นผู้ถือกล้องในระยะเริ่มแรก เริ่มเย็บในระยะถัดมา และร่วมศึกษาเทคนิคการผ่าตัด TIF จากอาจารย์ถึงสองคน คือ โปรเฟสเซอร์ เคน แชง และอาจารย์ผม โปรเฟสเซอร์ มิมิ เคนโท (Professor Marcia Canto, MD, MHS) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ เคน แชงเช่นกัน” 

คุณหมอทศพลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า สมาคมแพทย์โรคทางเดินอาหารแห่งอเมริกา เมื่อปี 2564 นับเป็นรายแรก ๆ ที่ใส่เทคนิคการผ่าตัด TIF ไว้ในแนวปฎิบัติการรักษา เราก็ปฎิบัติไปตามนั้น กล่าวคือ เมื่อรับยาลดกรด 8-12 สัปดาห์ แล้วอาการไม่หายอีก หรืออาการกลับเป็นซ้ำหลังจากหยุดยาไป ขั้นตอนถัดไปคือการส่องกล้องหลังจากหยุดยา 2-4 สัปดาห์ หากพบการอักเสบเยอะมาก ก็ต้องวินิจฉัยยืนยันว่าเกิดจากกรดไหลย้อนจริง หากไม่พบการอักเสบขณะส่องกล้อง ก็ต้องทำการวัดปริมาณกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร เมื่อใช้ยาไม่ได้ผล ก็มีตัวเลือกคือ TIF ซึ่งเทียบเท่าการทำศัลยกรรมอย่างหนึ่งในการรักษากรดไหลย้อนเรื้อรัง 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาเกิน 2 ซม. จน TIF เอาไม่อยู่ จึงเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันในห้องผ่าตัดระหว่างหมอศัลยกรรมซึ่งรับหน้าที่ดึงกระเพาะอาหารกลับลงมาที่ช่องท้องแล้วเย็บกระบังลมให้แน่นขึ้น แล้วใช้เทคนิคการรัดหูรูดด้วย TIF ซึ่งเป็นการลบจุดด้อยเสริมจุดเด่นของแต่ละเทคนิคเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

TIF กับข้อพึงระวังในกระบวนการรักษา

“การรักษาไม่ใช่เฉพาะเรื่องยา หรือเทคโนโลยี แต่ต้องประกอบไปด้วยทีมที่พร้อมในสภาพแวดล้อมที่พร้อม ในโรงพยาบาลที่พร้อม มีทีมสนับสนุนครบ น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องของทุกโรค ถ้าทีมไม่พร้อม ห้ามทำ เพราะหมอที่เก่งที่สุดไม่ใช่หมอที่ทำได้ทุกอย่าง แต่คือหมอที่รู้ว่าเมื่อไหร่ห้ามทำ”

คุณหมอทศพล กล่าวว่า มาตรฐานอย่างหนึ่งที่ต้องทำก่อนการรักษา คือ ทุกคนจะต้องทำแบบสอบถามเพื่อประเมินคุณภาพชีวิตที่เรียกว่า GERD Health related to Quality of Life ซึ่งผลคะแนนยิ่งน้อยยิ่งดี ยิ่งมากยิ่งแย่ ตัวเลขนี้อาจารย์ผมมิมี่พิสูจน์มาแล้วว่า ก่อนทำตัวเลขอยู่ที่ 30-35 แต่หลังทำเหลือเลขตัวเดียว แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการทำ TIF ดังนั้น การทำ TIF จะต้องมีข้อมูล มีตัวเลขสถิติที่จับต้องได้ วัดได้ นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญของทีมก็สำคัญ ตัวแพทย์ผู้ส่องกล้องเพื่อทำหัตถาร TIF ต้องพร้อม ถามว่าวัดจากอะไร ต้องเย็บแผลผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 30 เคส จึงจะเรียกได้ว่าพอเย็บแผลเป็น อย่างตัวผมเองตอนบินกลับมาไทย ก็คือผ่านมาแล้ว 40 เคส นอกจากนี้แพทย์ที่ทำการวัดกรด การขยับตัวและการทำงานของหลอดอาหารก็มีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้ทีมสามารถแนะนำการรักษาให้ผู้ป่วยในภาวะต่าง ๆ ได้ เราได้รับความกรุณาจาก ศ. นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในระดับเอเชียแปซิฟิก สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนรับการรักษา

นพ.ทศพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่บำรุงราษฎร์เรารักษาหมดทั้งคนไทยและต่างชาติ กลุ่มแรกเข้ามาด้วยอาการกรดไหลย้อน Heartburn Regurgitation เช่น แสบร้อนยอดอก หรือไม่ได้แสบร้อนแต่รู้สึกมีของขย้อนขึ้นมาแล้วเกิดเรอเปรี้ยวขม กลุ่มที่สอง คือทราบอาการกรดไหลย้อนแต่อาจไม่ได้นึกถึงว่ากรดที่ไหลขึ้นมาข้างบนนั้นไหลไปที่ไหนได้บ้าง เช่น บางคนไปหาแพทย์หูคอจมูกเพราะเสียงแหบหรือเส้นเสียงอักเสบ นั่นก็คือกรด บางคนเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง นั่นก็คือกรดที่ทะลุไปถึงช่องหู หรือ การเกิดไซนัสอักเสบ ถ้ากรดลงมาที่ปอดอาจเกิดอาการ Asthma หรือหอบหืด หรือปอดอักเสบได้เลย ดังนั้น TIF จึงสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากกว่าแค่แก้อาการกรดไหลย้อน และถึงแม้การทำ TIF อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องกลับไปกินยาลดกรดภายหลังผ่าตัดไปแล้วห้าถึงสิบปี แต่หากกลับไปเลือกใหม่อีกครั้ง ข้อมูลจากงานวิจัยก็พบว่าผู้ป่วยก็ยังเลือกทำ TIF อยู่ดีเพราะคุณภาพชีวิตดีกว่ามาก

ส่งต่อองค์ความรู้สู่การพัฒนาบุคลากรด้าน TIF

“ฝันอย่างหนึ่งของผมเมื่อตัดสินใจกลับไทย คือ อะไรที่จอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) มี เมืองไทยต้องมี และบำรุงราษฎร์ก็พร้อมจะเป็นที่แรกของไทยในทุกเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นความท้าทายที่เราต้องทำให้ได้และต้องเร็ว นอกจากจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย และโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการแสดงศักยภาพว่า ประเทศไทยทำได้”

คุณหมอทศพล กล่าวว่า TIF จะเข้ามาอยู่ใน Heartburn Program ภายใต้ศูนย์รักษาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โดยเป็นโปรแกรมแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวปฏิบัติในการรักษาครบตั้งแต่ 0-10 และด้วยความที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นศูนย์ใหญ่ มีแพทย์ครบทีม ทำให้เจ้าของนวัตกรรมอยากลงทุนกับโรงพยาบาล

เมื่อมองให้ไกลถึงเป้าหมายของการนำ TIF มารักษาผู้ป่วย คุณหมอทศพล ย้ำว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยทั้งในมิติของการให้บริการผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนมิติความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่สามารถส่งต่อการบริการสู่ระดับภูมิภาคและโลก ซึ่งในมิติของการบริการผู้ป่วย หากผู้ป่วยยังมีอาการที่เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังมากอยู่ทั้ง ๆ ที่ได้รับการรักษาแบบเดิมมานาน ย่อมต้องการศูนย์รักษาที่ตอบโจทย์แบบครบ 0-10 มีทีมแพทย์ที่ไว้ใจได้และพร้อมให้การรักษาไปตามแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนมิติของโรงพยาบาล คือ การวางมาตรฐานการรักษา (Standard of Care) อย่างเป็นระบบตามแนวปฏิบัติสากล เช่น พยาบาลต้องรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร แพทย์จะต้องรู้ขั้นตอนปฏิบัติในการทำหัตถการต่าง ๆ ซึ่งที่บำรุงราษฎร์เอง ใช้ Standard of Care ที่ได้รับอนุญาตมาจากโรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins)

ขณะที่มิติทางการแพทย์ คือ ความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย ผมยกตัวอย่าง อาม่าท่านหนึ่งอายุ 80 กว่า กินยาลดกรดมาสามสิบปีเพราะคิดว่าเป็นกรดไหลย้อน แต่จริง ๆ แล้วพอเรามาวัดการขยับตัวของหลอดอาหาร (High resolution esophageal manometry) พบว่าป่วยเป็นโรคหูรูดรัดแน่นเกินไป (Achalasia) แต่เมื่อไม่อยากมีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการผ่าตัดก็เลี่ยงให้ไปแก้โดยการฉีดโบท็อกซ์เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว ซึ่งทำให้อาการที่เหมือนกรดไหลย้อนหายไป อันนี้คือแบบแรกที่แพทย์ต้องเก่งและมีประสบการณ์มากพอ เคสที่สองเป็นผู้ป่วยคนไทยในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียบินมาทำการรักษาด้วยการส่องกล้องและขอวัดกรด วัดการทำงานของหลอดอาหารซึ่งไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่พบว่าสาเหตุมาจากเส้นประสาทที่รับรู้เร็วไป ต้องแก้ไขด้วยยาที่ทำให้เส้นประสาทคุยกันช้าลง ซึ่งทั้งสองเคสนี้ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีมาก

“โดยหลักการ คือ การสร้างกระบวนการรักษาแบบองค์รวม (Multidisciplinary program) หากจำเป็นต้องรักษาด้วย TIF ก็ทำ แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีนี้จริง ๆ ก็ไม่ต้องทำ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ต้องประกอบกันระหว่างจรรยาบรรณและการมีองค์ความรู้ที่รอบด้าน สิ่งที่เน้นย้ำอีกอย่าง คือ มาตรฐานของบำรุงราษฎร์ ที่ต้องเหนือกว่ามาตรฐานสากล เช่น อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต้องน้อยกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ แต่หากเกิดขึ้นเราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมถึงเกิด ไม่ใช่ว่าเกิดโดยบังเอิญ” 

ส่วนความรับผิดชอบต่อสังคมระดับนานาประเทศ (International Society) คือ การบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ ๆ และการอัพเดทตัวเองอยู่ตลอดเวลา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มุ่งมั่นในการเป็นที่หมายด้านการแพทย์ให้กับหลายภูมิภาคทั่วโลกว่า เรามีทางออกสุดท้ายสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มักมีภาวะที่รักษาได้ยากและซับซ้อนได้หรือไม่ “ความรับผิดชอบของบำรุงราษฏร์ คือ ทีมเราต้องพร้อม ดี และเก่งพอ”  คุณหมอทศพลกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผย 73% ของพนักงานพร้อมหางานใหม่ หากเงินเดือนที่ปรับขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

วีซ่าเผย ญี่ปุ่นครองแชมป์ จุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งนักท่องเที่ยวไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ