TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessนกทยอยร่วงจากฟ้า กระพือปีกบินไม่ไหว

นกทยอยร่วงจากฟ้า กระพือปีกบินไม่ไหว

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) โดยศาลฯ กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 27 ต.ค.63 นี้ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของ บรรดานักลงทุน และคนในวงการบิน

-ใครยอดขายหด แต่ Convenience Food Store ยังฉลุย
-ออริจิ้น มั่นใจสมาร์ทคอนโดยังโตได้ เตรียมเปิดขายโครงการแบบไม่มีสำนักงานขาย

เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ประกาศยกเลิกกิจการ เนื่องจากขาดทุน เพราะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ “นกสกู๊ต” และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางเช่นกัน

วิกฤติของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก อาจจะมีโควิด-19 เป็นจำเลย แต่ในกรณี ของสายการบิน ตระกูล “นก” โควิดเป็นเพียงตัวเร่งให้เท่านั้น เพราะเรื่องราวของตระกูลนกนั้น เริ่มจาก นกสกู๊ตตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ดำเนินธุรกิจ ว่ากันว่ากำเนิดนกสกู๊ต เกิดจาก ใครบางคนอยากทำธุรกิจสายการบิน จึง ใช้วิธีการสวมสิทธิ์ และซื้อใบอนุญาตจาก บริษัท พีทแอร์ จำกัด

นกสกู๊ต จดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2556 ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย

-สายการบินสกู๊ต จากสิงคโปร์ ถือหุ้น 49%
-บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ถือหุ้น 49%
-บริษัท เพื่อนน้ำมิตร จำกัด ถือหุ้น 2%

หลายคนอาจสงสัย เพราะเข้าใจมาโดยตลอดว่า นกแอร์ถือหุ้นนกสกู๊ต แต่ปรากฎชื่อบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ถือหุ้น แล้วนกมั่งคั่งคือใคร

นกมั่งคั่งจดทะเบียนบริษัทเมื่อ 13 มิถุนายน 2557 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยนายพาที สารสินและนายโชคชัย ปัญญายงค์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) การบินไทยในขณะนั้น ประกอบกิจการการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่มีตารางเวลา ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นกแอร์ 49% นายพาที ถือหุ้น 50% และนางสาวมยุรี เพชรนอก 1 % ซึ่ง มยุรียังถือหุ้นหลายบริษัท ร่วมกับพาที เช่น บริษัท ดีดีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, เดอะ นก เวย์ จำกัด, บริษัท พีพี โปรเจ็ค มิวสิค จำกัด, บริษัท เรียลลี เรียลลี คูล จำกัด บริษัท สตาร์ไรเดอร์ จำกัด เป็นต้น (ภายหลังปรากฏชื่อ นางนริศรา อุษณาจิตต์ เป็นผู้ถือหุ้น 1% แทนมยุรี เพชรนอก) เป็นบริษัทที่ประสบภาวะขาดทุนตลอด ผลประกอบการปี 2562 ระบุมีรายได้จำนวน 1,808,220 บาท ขาดทุน 40,519,794 บาท

ส่วน บริษัท เพื่อนน้ำมิตร นั้นก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีนายปิยะ ยอดมณี ถือหุ้น 37.5% นายยอดชาย สุทธิธนกูล 37.5% และ นายนายรนนท์ มินทะขิน 25%

ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจของนกสกู๊ต ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จาก

ปี 2561 รายได้ 5,920,784,572 บาท ขาดทุน 1,528,337,856 บาท
ปี 2560 รายได้ 5,650,095,085 บาท ขาดทุน 47,586,426 บาท
ปี 2559 รายได้ 3,910,329,212 บาท ขาดทุน 612,005,761 บาท
ปี 2558 รายได้ 952,934,566 บาท ขาดทุน 1,206,888,133 บาท

*ข้อมูลนี้อ้างอิงจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

คำถามที่ตามมาคือ นกสกู๊ต ขาดทุนแล้วเอาเงินที่ไหนในการดำเนินธุรกิจ เป็นที่ประจักษ์ว่า เงินดังกล่าวมาจากเงินของนกแอร์ ใส่ลงมา ทั้งเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้น เช่น การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของนกแอร์ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น การประชุมรอบนี้จะขอมติผู้ถือหุ้นอนุมัติกู้ยืมเงิน 500-1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% จาก หทัยรัตน์ จุฬางกูร โดยนำเงิน 490 ล้านบาทลงทุนเพิ่มในสายการบินนกสกู๊ตผ่านบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด บริษัทย่อยของนกแอร์ ด้วยความเห็นชอบคณะกรรมการบริษัทวาระพิเศษได้มีมติอนุมัติ

สาเหตุที่ต้องกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นหรือบุคคล เพราะไม่สามารถยืมเงินจากธนาคาร สถาบันการเงิน หรือออกตั๋ว ขายในตลาดจากรายอื่นได้ เนื่องจากเครดิตจากเจ้าหนี้ไม่มี เพราะขาดทุน หนี้สินล้นพ้นตัว แล้วทำไม พาที สารสิน ถือหุ้นใหญ่สุดถึง 50% แต่ไม่ควักเงินในการบริหาร นกสกู๊ต เลย

ในเวลาต่อมา พาที สารสิน สารภาพว่า หุ้น 50% ในนกมั่งคั่ง เป็นนอมินีให้นกแอร์ลงทุนในนกสกู๊ต เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ด้วยความที่ สายการบินนกแอร์ มี การบินไทย ถือหุ้นใหญ่อยู่ 39% (ขณะนั้น) จึงต้องตั้งนกมั่งคั่งขึ้นมา และมอบหมายให้ผม ซึ่งเป็นซีอีโอนกแอร์และเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นแทน

ในส่วนของ นกแอร์เอง ก็เอาตัวไม่รอด จากผลประกอบการ ที่ระบุชัดว่า ขาดทุนต่อเนื่อง

ปี 2561 รายได้ 13,884,164,228 บาท ขาดทุน 2,404,840,513 บาท
ปี 2560 รายได้ 14,786,663,686 บาท ขาดทุน 1,825,675,378 บาท
ปี 2559 รายได้ 13,119,677,310 บาท ขาดทุน 2,626,826,192 บาท
ปี 2558 รายได้ 13,386,723,454 บาท ขาดทุน 423,941,058 บาท

*ข้อมูลนี้อ้างอิงจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แม้จะมีการเพิ่มทุนเมื่อต้นปี 2562 ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไป ดังนี้

หทัยรัตน์ จุฬางกูร 26.33%
ณัฐพล จุฬางกูร 26.07%
ทวีฉัตร จุฬางกูร 22.51%
การบินไทย 13.28% (จากเดิมถือ 49% ในปี 2547)

นอกจากนั้นยังหาวิธีหยุดการขาดทุน แต่ไม่สามารถทำได้ หนำซ้ำเมื่อเกิดปัญหา การบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟู กระหน่ำด้วย นกสกู๊ต ปิดกิจการ แม้นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร CEO นกแอร์ จะบอกว่าการปิดตัวของนกสกู๊ตไม่กระทบกับนกแอร์ แต่คล้อยหลังเพียงไม่นาน นกแอร์ก็ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง

เมื่อนกสกู๊ตหมดแรงบิน จนมาถึง นกแอร์ คงต้องมาลุ้นกันว่า วันที่ 27 ต.ค. 2563 เวลา 9.00 น. ที่ศาลนัดไต่สวนจะเป็นอย่างไร นกแอร์ อาจจะเป็นนกตัวต่อไปที่ไม่มีแรงกระพือปีก หากเป็นเช่นนั้น คงเป็นการปิดตำนาน “นก” ที่ครั้งหนึ่ง นายพาที สารสิน อดีตซีอีโอนกแอร์ บอกกับสื่อมวลชนว่า ตั้งชื่อสายการบินตามชื่อเล่นของนายปิยะ ยอดมณี

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“ฮอนด้า” ยอดขายครึ่งปี 2563 ครองอันดับ 1 ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
-Apple ผลประกอบการ Q3 โต 11% สถิติใหม่ประจำไตรมาสเดือนมิถุนายน
-เอไอเอส เปิดสิทธิพิเศษแกนใหม่ “Well-being” หนุนป้องกันก่อนรักษา
-Bolt รุกตลาดไทย พร้อมชิงส่วนแบ่งตลาดบริการขนส่ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ