TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistขึ้นรถไฟย้อนเวลาหาอดีต ถอดบทเรียนหลุมดำตลาดหุ้นไทย

ขึ้นรถไฟย้อนเวลาหาอดีต ถอดบทเรียนหลุมดำตลาดหุ้นไทย

คุณ ๆ อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘หลุมดำ’ กันใช่ไหมครับ เพราะมักถูกใช้พูดถึงอะไรก็ตามที่ ‘สูญหายหรือสลายไป’ 

เพราะในจักรวาลนอกจากความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น​ เราเคยได้ยินว่ามี ‘หลุมดำ’ ที่คอยดูดกลืนทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นดาวทั้งดวง ให้หลุดลงไปในความดำมืดที่มองไม่เห็นแม้จุดสิ้นสุด 

ทุกสิ่งล้วนสูญสลายด้วยแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลภายในนั้น …

ในโลกของการเงิน ‘หลุมดำ’ เป็นเหมือนทศวรรษที่สาบสูญที่ดูดกลืนความมั่งคั่งไปจากนักลงทุน

หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึง​วิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นช่วงที่ ‘เวลา’ หายสาบสูญไปจากโลก คนที่เรารักหายไปแบบกระทันหัน จะไปไหนมาไหนทำอะไรก็ลำบาก เมืองที่เคยพลุกพล่านก็แทบจะกลายสภาพเป็นเมืองร้าง รวมถึงหลายคนที่ต้องตกงาน หลายบริษัทที่ต้องปิดกิจการไป นึกแล้วยังสยองไม่หายเลยครับ ​

ในช่วงนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำระสายไม่น้อย …

หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นเองก็เพิ่งผ่านทศวรรษที่สาบสูญ หรือ The Lost Decade ไปเมื่อไม่นานมานี้ จากเศรษฐกิจที่ซบเซามาอย่างยาวนาน จากภาวะฟองสบู่แตกในปลายทศวรรษที่ 1980 ทำให้ต่อมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่ำมาก เฉลี่ยแค่ 1% ต่อปี ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเงินฝืดยาวนาน จนธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องลดดอกเบี้ยลงมาจนเหลือ 0% หรือบางทีก็ติดลบมานานกว่า 25 ปี

ญี่ปุ่นจึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับโลกการลงทุนที่ทำให้เราเห็นภาพ ‘ช่วงเวลาที่สูญหายไป’ จากวิกฤติเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ​ ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่คุณทราบไหมครับว่า ตลาดหุ้นไทยก็เคยมี ‘หลุมดำ’ หรือช่วงที่เป็นการสูญหายของดัชนี เป็นเหมือนทศวรรษที่สาบสูญที่ดูดกลืนความมั่งคั่งไปจากนักลงทุน 

ผมจะอาสาพาคุณขึ้นขบวนรถไฟข้ามเวลา ไปหาหลุมดำของตลาดหุ้นไทย เพื่อเรียนรู้บทเรียนจากอดีต และสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องในเวลานี้กันครับ

สถานีที่ 1 หลุมดำปี 2522 วิกฤติแรกของตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยก่อตั้งในปี 2518 ซึ่งดัชนีตอนสิ้นปีนั้นอยู่ที่ 84.07 จุด และขึ้นลงอยู่ในระดับ 80 กว่า ๆ 

จนกระทั่งปี 2520 … ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งสู่ระดับสูงสุดที่ 192.62 ในเดือนตุลาคม จากนั้นแม้จะขยับขึ้นลงบ้าง ก็ไม่เคยลงต่ำกว่าระดับ 181 จุดอีกเลยครับ

และในปี 2521 ดัชนีหุ้นไทยก็ได้พุ่งไปถึง 257.73 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 40% ภายใน 1 ปี ก่อนจะตกฮวบลงมาในปี 2522 เหลือเพียง 149.4 จุด 

และที่น่ากลัวคือตกต่อเนื่อง 3 ปีซ้อนครับ! … จนเหลือ 106.62 จุดตอนสิ้นปี 2524 ก่อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

วิกฤติราชาเงินทุน 

ราชาเงินทุน เป็นชื่อบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ คล้าย ๆ ธนาคารสมัยนี้นั่นแหละครับ  

แต่สมัยนั้นบริษัทราชาเงินทุน ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยเลยทีเดียว

ในปี 2522 จากบริษัทขนาดใหญ่ กลับล้มละลายภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี แต่แค่เรื่องราวของบริษัทเพียงบริษัทเดียว ทำให้เกิดวิกฤติได้เลยเหรอ … มาดูกันครับว่าเป็นเพราะอะไร

บริษัทราชาเงินทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2520 ที่ราคาเริ่มต้น 275 บาท แต่ภายใน 1 ปี ราคาหุ้นกลับพุ่งไปถึง 2,470 บาท ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาครับ 

และแม้เศรษฐกิจจะไม่ดีแต่ตลาดหุ้นกลับทำผลงานได้ดี

แต่เนื่องจากตลาดเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ยังขาดกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการปั่นราคา ร่ำรวยกันเป็นแถบ ๆ 

คนต่างแห่เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อคว้าโอกาส มีการกู้เงินไปลงทุนเพื่อเก็งกำไร และหุ้นที่คนนิยมเล่นกันในตอนนั้นก็มี บริษัทราชาเงินทุนรวมอยู่ด้วย

จึงกลายเป็นว่าบริษัทราชาเงินทุน ปล่อยกู้เพื่อให้คนนำเงินมาซื้อหุ้นบริษัทอีกที จนถึงขั้นที่ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา จากนั้นก็ปล่อยเงินกู้ให้นำมาซื้อหุ้นของบริษัทแม่ตัวเองจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด นี่มันอะไรกันเนี่ย

และจากการปล่อยกู้ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีการเรียกหลักประกันใด ๆ ทำให้เกิดหนี้เสียจนล้มละลายในเวลาต่อมาครับ

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้นักลงทุนต่างหวาดกลัวพากันเทขายหุ้นตัวอื่น ๆ ไปด้วย ขายแบบไม่สนใจราคา … นักเก็งกำไรที่กู้เงินมาลงทุนต่างเป็นหนี้เป็นสิน และมีการฟ้องร้องกันมากมาย  นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นหนักหนา

กว่าที่ดัชนีจะกลับมาสู่จุดเดิมต้องใช้เวลาถึง 8 ปีเลยทีเดียวครับ

สถานีที่ 2 หลุมดำปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทย

หลังจากผ่านช่วงวิกฤติราชาเงินผ่อน ตลาดหุ้นไทยกลับมาพุ่งแบบก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2532 ที่กระโดดจากปี 2531 กว่าเท่าตัว จาก 386.73 เป็น 879.19 จุด

และพุ่งขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2536 จาก 893.42 จุดในปี 2535 เป็น 1,682.85 จุด ก่อนจะลดลงเรื่อย ๆ จนมาเทกระจาดในปี 2540 ที่ดัชนีเหลือเพียง 214.53 จุดในเดือนสิงหาคม

เป็นการตกติดต่อกันยาวนานถึง 5 ปีเลยทีเดียวครับ (จาก 1,682.85 จุดในปี 2536 ลงมา 1,360.09 จุดในปี 2537 จากนั้นลงมา 1,280.81 จุดในปี 2538 ยังไม่พอลงมา 831.57 จุดในปี 2539 และ 372.69 จุดในปี 2540 จนกระทั่งมาอยู่ที่ 355.81 จุดในปี 2541)

ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 481.92 จุดในปี 2542 หยุดสถิติตลาดตกติดกันไว้ที่ 5 ปี ….

ซึ่งหลังจากปี 2542 ต้องใช้เวลาถึง 11 ปี กว่าที่ดัชนีจะกลับไปสู่ระดับ 1,000 จุดได้อีกครั้ง และใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี ถึงจะกลับไปสู่จุดที่เคยสูงสุดในปี 2536 ได้ … เรียกได้ว่าเป็นทศวรรษที่สาบสูญของตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียวครับ

วิกฤติต้มยำกุ้ง 

ใครที่เป็นนักลงทุน หรือแม้แต่คนทั่วไป คงไม่มีใครไม่รู้จักวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ชื่อฟังดูอร่อยครบเครื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสร้างรอยแผลและความขมขื่นไว้ไม่น้อยครับ

เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2540 ซึ่งจุดเริ่มต้นจริง ๆ คงต้องย้อนไปในช่วงก่อนหน้านั้นสักราว ๆ ปี 2530 – 2539 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก

เริ่มจากต่างประเทศย้ายฐานการผลิตเข้ามา ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าเพื่อนบ้าน และค่าแรงมีราคาถูก ทำให้เศรษฐกิจตอนนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว 

ต่อมารัฐบาลได้เปิดนโยบายเสรีทางการเงินเพื่อให้สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น มีการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาปล่อยกู้ต่อในประเทศ ซึ่งขณะนั้นไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

ทำให้การกู้เงินจากต่างประเทศเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกจากกู้มาทำธุรกิจแล้ว ยังกู้มาเพื่อเก็งกำไร ไม่ว่าจะในหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อบ้านมาขายต่อ แล้วนำเงินที่ได้ไปจ่ายคืนเงินกู้ กินกำไรส่วนต่าง

พอคนเห็นว่าสามารถทำกำไรได้ง่าย ก็แห่กันทำตามทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้นสูงกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็น รวมถึงพอเศรษฐกิจดี ค่าเงินถูก ก็มีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก 

แต่ในเวลาต่อมา ไทยมีการส่งออกสินค้าได้น้อยลง เนื่องจากจีนส่งออกสินค้าในราคาที่ถูกกว่าจึงแย่งลูกค้าไป ทำให้เกิดขาดดุลการค้า ส่งออกได้น้อยกว่านำเข้าอย่างมาก นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจพากันถอนทุนออก และเริ่มทวงเงินที่กู้ไป ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

อย่าลืมว่าการที่ไทยใช้นโยบายคงที่อัตราแลกเปลี่ยนได้นั้น ต้องแลกมาด้วยเงินทุนสำรองของประเทศที่ต้องใช้อุดหนุนค่าเงินเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ครับ พอเงินหมด รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน 

หายนะจึงมาเยือน …

คนที่กู้เงิน ต้องหาเงินบาทจำนวนมากขึ้นเพื่อมาใช้หนี้ ทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการไป ราคาอสังหาฯ ที่สูงขึ้นคนไม่สามารถซื้อไหวก็กลายเป็นเหมือนฟองสบู่ที่แตกดังโพละ! 

เศรษฐกิจล้มระเนระนาด ดัชนีร่วงกราว กลายเป็นทศวรรษที่สาบสูญของตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง 

ถอดบทเรียน เอาตัวรอดจากหลุมดำ

จากที่เราได้นั่งรถไฟผ่านความน่ากลัวในอดีตกันไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งถอดใจ และหมดหวังในตลาดหุ้นไทยกันนะครับ 

ในระยะเวลากว่า 47 ปี ที่ตลาดหุ้นไทยได้ก่อตั้งขึ้นมา เกิดเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นตกติด ๆ กัน แค่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตกติดกัน 3 ปี ในช่วงวิกฤตราชาเงินทุน และครั้งที่สอง ตกติดกัน 5 ปีในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 

นอกจากนั้นไม่มีปีที่ตกติดต่อกันอีกเลยครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการขึ้นลงสลับกัน

และจากเหตุการณ์วิกฤติทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่กระทบตลาดหุ้นและเป็นสาเหตุหลักของการเกิดหลุมดำ คือ การกู้เงินเพื่อมาลงทุนเก็งกำไร ซึ่งพอเกิดวิกฤติไม่ใช่แค่ราคาหุ้นที่ตก แต่หมายถึงหนี้สินที่ไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนได้ทันครับ

ซึ่งในการลงทุนยุคปัจจุบัน ที่นักลงทุนไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่คนในวงการธุรกิจหรือคนที่เรียนทางด้านนี้มาโดยตรง แต่เป็นคนทั่วไปที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษา ก็ได้เข้าสู่โลกการลงทุนมากขึ้น

เงินลงทุนที่ใช้ส่วนใหญ่จึงจะเป็นเงินออม หรือเงินเก็บ และมีการมองภาพการลงทุนในระยะยาวมากกว่าแค่การเก็งกำไร ทำให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างในอดีตมีน้อยกว่า 

อีกทั้งตลาดหุ้นในปัจจุบันมีการกำกับดูแลที่ดีมากขึ้น สถาบันการเงินเองได้รับรู้บทเรียนในอดีตปรับเปลี่ยนมาตรฐานการปล่อยเงินกู้ที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้คุณสบายใจได้ในระดับนึงว่าเหตุการณ์ในอดีตจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย

‘เวลา’ ตัวช่วยลดโอกาสขาดทุน 

แต่หากคุณเป็นนักลงทุนที่ยังคงกลัวในความผันผวนของตลาด เรามีเคล็ดลับง่าย ๆ มาเป็นตัวช่วยให้ครับ … สิ่งนั้นก็คือ ‘ระยะเวลา’

การลงทุนระยะยาวจะช่วยให้คุณลดโอกาสในการขาดทุนจากความผันผวนได้ครับ เช่น หากคุณลงทุนเป็นระยะเวลา 1 ปี คุณก็จะเจอความเสี่ยงที่ในปีนั้นจะเกิดวิกฤติ และทำให้คุณต้องออกจากตลาดไปทั้งที่ยังขาดทุน

แต่หากคุณลงทุนเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็มีโอกาสที่ในปีถัดไปตลาดหุ้นจะฟื้นตัว หรือ ถ้าคุณลงทุนนานกว่านั้น เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี ก็มีโอกาสที่พอร์ตของคุณจะข้ามผ่านวิกฤติไปได้ 

ยิ่งระยะเวลายาวนานขึ้นเท่าไหร่ โอกาสขาดทุนก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น แต่นั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ขาดทุนเลยนะครับ 

การลงทุนยังมีปัจจัยแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย แต่อย่างน้อยระยะเวลาก็ช่วยป้องกันพอร์ตของคุณไว้ในระดับนึงแล้ว 

จากสถิติการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา จนถึงปี 2565 หากคุณลงทุน 1 ปี (คือเข้าไปลงทุน 1 ปี แล้วออกจากตลาดในช่วงใดช่วงหนึ่ง)

ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ +128.96%
ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยที่แย่ที่สุดจะ -55.18%

หากลงทุนนานขึ้นเป็นเวลา 5 ปี
ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ +34.38%
ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยที่แย่ที่สุดจะ -26.80% 

หากลงทุนยาวนานกว่านั้นอีกเป็นระยะเวลา 20ปี
ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ +8.85% 
ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยที่แย่ที่สุดจะ -1.29% เท่านั้น

เห็นได้ชัดว่ายิ่งลงทุนเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โอกาสที่คุณจะขาดทุนก็จะลดลง 

ตลาดหุ้นไทยแม้จะดูเหมือนติดหล่มตกอยู่ในหลุมดำ ไม่ขยับไปไหนสักที แต่หากคุณลองมองดี ๆ ท่ามกลางวิกฤติก็ยังคงมีโอกาส มีบริษัทที่แข็งแกร่งท้าแดดท้าลมอยู่ไม่น้อยครับ

ในช่วงวิกฤติปี 2540 ราคาหุ้นตกลงมาจนถูกมา ๆ แต่หลายบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ในช่วงเวลานั้นมีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวครับที่ร่ำรวยจากการลงทุนในหุ้น

ฉะนั้นอย่าให้ความกลัวมาบดบังโอกาสดี ๆ ใช้ความรู้ และกลยุทธ์การลงทุน เป็นเหมือนไฟส่องทางให้คุณเฟ้นหาหุ้นดี ๆ แล้วให้ระยะเวลามาช่วยเป็นเกราะป้องกันให้คุณสามารถฝ่าหลุมดำ มุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จ

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ลงทุนสไตล์แวมไพร์ พอร์ตโตไม่มีวันตาย

บทเรียนการขาดทุนฝังใจ จาก ISSAC NEWTON อัจฉริยะติดดอย

บทพิสูจน์กลยุทธ์ ‘จับจังหวะตลาด’ ดีจริงไหม…คุ้มค่าแค่ไหน?

เจาะกลโกง แชร์ลูกโซ่ BERNIE MADOFF โคตรปีศาจแห่ง WALL STREET

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ