TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessพันธกิจ พาอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไทย สู่เวทีโลก

พันธกิจ พาอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไทย สู่เวทีโลก

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย มีจำนวนหลายหมื่นราย และเป็นธุรกิจที่มีการเปิดตัวมากที่สุด แต่ก็มีการปิดตัวมากที่สุดเช่นกันในช่วงปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ “เกิดง่ายตายง่าย”

เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องวนเวียนอยู่ในวงจร  “เกิดง่ายตายง่าย” อีกต่อไป BUILK พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง “ฟรี” รายแรกของไทย จึงก้าวเข้ามาโดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบการพัฒนาบริหารจัดการระบบการทำงาน การแบ่งปันองค์ความรู้ การประเมินหาโซลูชันต่าง ๆ การอำนวยความสะดวกให้การทำงานเป็นอย่างรวดเร็ว หรือการปรับเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแต่ไม่ลดคุณภาพประสิทธิภาพงาน

ล่าสุด BUILK ได้ร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ Beacon Venture Capital ของ KBank พร้อมด้วยอีก 3 พันธมิตร อย่าง AddVentures โดย SCG ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และ Rosewood Capital ซึ่งชำนาญด้านการลงทุนในฐานะศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ผู้เร่งรัดพัฒนา (Accelerator) และ CRE-FUL ผู้รับเหมาก่อสร้างออกแบบตกแต่งภายในซึ่งมีประสบการณ์ทำงานให้กับบริษัทข้ามชาติชั้นนำระดับโลก

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ รื้อ สร้าง ปรับ เปลี่ยน พลิกโฉมอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

ไผท ผดุงถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า BUILK คือ เทคสตาร์ตอัพสัญชาติไทยรายแรก ๆ ที่มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยผู้รับเหมาไทยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้างและการซื้อขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ ทำงานของธุรกิจก่อสร้างมากว่า 11 ปี และต่อยอดสู่บริการต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการก่อสร้าง เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างกว่า 3,500 ราย 

จนอาจกล่าวได้ว่า BUILK มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของแวดวงอุตสาหกรรมรับเหมาะก่อสร้างของไทยไปสู่ดิจิทัลเทคโนโลยีได้สำเร็จ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวก็ส่งผลให้ BUILK สามารถขยายตัวเติบโตได้อย่างดีแม้ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด 

“การมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างตัวจริงโดยตรงในวงการทั้งรายเล็กรายใหญ่ทำให้เรามีโอกาสจริงในการพัฒนาของของเราได้มากขึ้น มันเหมือนว่าเรามี sandbox ที่ชัดเจนขึ้นมาก”

ในปีที่ผ่านมา BUILK ได้ใช้ประสบการณ์ในการพัฒนาซอฟท์แวร์ ทำระบบให้เร็ว ออกไปทดสอบแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี 

“ทำไมเราถึงมาขายของดีราคาถูก ทำไมถึงขายของไม่แพง เราทำในราคาถูกเพราะเราต้องการให้ลูกค้าใช้บริการของเรา คือ เรามองว่าถ้าลูกค้าใช้แพลตฟอร์มของเราก็จะสามารถต่อยอดดาต้าเรา ซื้อวัสดุก่อสร้างกับเรา อีกหน่อยใช้บริการทางการเงินกับพันธมิตรเรา เราไม่ได้ไปชาร์จราคาแพงกับของที่บางเรื่องได้ เราทำให้ราคาจับต้องได้ เพราะว่าเป้าหมายของพวกเรา คือ ความสำเร็จ และคำว่า “ความสำเร็จ” ในอุตสาหกรรมของเรา คือ ทำให้คนในอุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนให้ได้ ความยืดหยุ่น คือ หัวใจสำคัญที่เรายังเชื่อว่าถ้า BUILK จะเจอวิกฤติครั้งต่อไป บทเรียนที่เราเจอวัคซีน 2 เข็ม ทั้งเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนภายใน และการมีโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่น ก็น่าจะเป็น กุญแจความสำเร็จของพวกเรา” 

ก้าวข้ามขีดจำกัด 

ปัญญาพล ศรีตั้งศิริกุล กรรมการผู้จัดการ CRE-FUL บริษัทผู้รับเหมาตกแต่งภายในที่สืบทอดธุรกิจมาจากรุ่นพ่อแม่ กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารรุ่นที่สอง สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ อุตสาหกรรมรับเหมานี้ค่อนข้าง “โลว์เทค” ไม่ค่อยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำกันเองแบบบ้าน ๆ 

“ผมมั่นใจว่ามันต้องมีระบบอะไรสักอย่างมาช่วยทำให้ธุรกิจมันแตกต่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราจึงตัดสินใจลงทุน อีอาร์เค ของ BUILK ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทผมจนถึงทุกวันนี้ พอมารวมกับระบบที่ดีแล้ว มันทำให้เรามีความมั่นใจที่จะรับงานของลูกค้ามากขึ้น แล้วก็ควบคุมงานได้เป็นระบบ เราวางแผนงานได้จากตัวเลขได้หมดเลย เมื่อก่อนเราไม่มีข้อมูลเลย ที่บ้านก็ทำเอ็กเซลไฟล์ เซฟแยกคนละไฟล์ หาไม่เจอบ้าง ซึ่งผมมองว่าธุรกิจครอบครัวมักจะเริ่มกันมาแบบนี้มาก่อน พอเรามีไอเดียตั้งต้น ทุกอย่างข้อมูลในระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ การโกง การซื้อของสิ้นเปลืองลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรามีความมั่นใจที่อยากจะขยายธุรกิจด้วยตัวระบบเป็นหลักได้เยอะขึ้น”

ปัญญาพล กล่าวว่า 1 ปี หลังจากที่นำระบบเข้ามาใช้ ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ ทะลุ 1,000 ล้านบาท และเข้าใกล้การใช้ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ปิดบัญชีให้กับทางสรรพากร 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเจ้าตัวมองว่า แม้อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบกับจำนวนงานที่บริษัทได้รับ แต่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้บริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้าในโลกยุคดิจิทัลต่อไป

นอกจากเทคโนโลยีจากสตาร์ตอัพที่มาช่วยเสริมความมั่นใจในการขยายธุรกิจของครอบครัวแล้ว กรรมการผู้จัดการ CRE-FUL ยังมองว่า เทคสตาร์ตอัพ อย่าง BUILK คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของตนก้าวข้ามขีดจำกัด และดียิ่งขึ้นกว่าที่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกทำไว้ได้

“ผมก็มองว่าถ้าเรายังทำธุรกิจในแบบที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ทำมา ตัวผมเองจะไม่มีทางก้าวผ่านสิ่งที่เขาทำมาได้ เขาสร้างชื่อเสียง คุณภาพ เวลา ความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับลูกค้ามาโดยตลอด ถ้าเรายังคงทำงานในแบบเดิม อย่างดีที่สุด ผมก็ทำได้ดีเท่าเขา เพราะฉะนั้น เราเลยเริ่มมองหาช่องโหว่ของธุรกิจนี้ว่าทำอย่างไรให้คนรุ่นผมที่มีความสามารถอะไรบางอย่างที่คนรุ่นก่อนไม่มี มาเติมเต็มและยกระดับธุรกิจของเราขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง ผมมองว่า ต่อให้เรายังคงรักษาสิ่งที่บ้านทำต่อไปไว้ได้ แต่ถ้าเราไม่หาอะไรใหม่ ๆ เลย มันก็จะไม่มีวันก้าวผ่านสิ่งที่เขาทำมา มันก็จะเป็นร่มเงา คืออยู่ภายใต้ร่มเงาของที่บ้านไปเรื่อย ๆ” 

นักลงทุนพร้อมหนุน 

ธนพงษ์ ณ ระนองกรรมการผู้จัดการ Beacon Venture Capital ของธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวว่า ในมุมมองของธนาคาร ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยยังมีความสามารถที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคติดขัดที่สำคัญ คือ ภาวะดิจิทัล ดิสรัปชัน บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยเหมือนเจอทางตัน ไปต่อไปไม่ได้ เพราะรับเหมาก่อสร้างยังมีความจำเป็น ดังนั้น ทางธนาคารเห็นว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดังกล่าวของประเทศไทย และหนึ่งในนั้นก็คือการลงทุนใน “สตาร์ตอัพ”

Beacon VC ร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับเป็นสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในการดำเนินธุรกิจ

“เราก็มองว่าถ้ามีระบบอะไรสักอย่างหนึ่งที่สามารถดึงข้อมูลของผู้รับเหมารายย่อย ๆ ได้ ทำให้เรามั่นใจว่าเขาเป็นคนที่ดี มีความตั้งใจในการทำงาน เป็นการรับเหมาที่มีความรับผิดชอบ ทางเราก็ยินดีที่จะสนับสนุนทางด้านการเงินกับเขา จนได้มาพบกับ BUILK แพลตฟอร์ม”

ทั้งนี้ แต่เดิมซอฟท์แวร์บริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดเป็นของบริษัทต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการลงทุนใช้จ่ายในราคาเหมาปีต่อปีที่สูงมาก ซึ่งเป็นราคาที่ผู้รับเหมารายย่อยสู้ไม่ไหวแน่นอน แต่ BUILK สร้างและพัฒนาซอฟท์แวร์ให้ใช้ฟรี ดังนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้รับเหมาได้รับการบริหารงานที่สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น และเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ธนาคารเข้าถึงข้อมูลหลัก ๆ ผู้รับเหมารายย่อยมากกว่า 30,000 ราย

“เป็นข้อมูลที่ทางแบงก์สามารถดึงเข้ามา เพื่อระบุได้ว่าผู้รับเหมาคนไหนมีศักยภาพในการร่วมงานได้ เราก็ยินดีเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้ผู้รับเหมานั้น ๆ มีเงินทุนหมุนเวียนใช้ในการประกอบการทำงานของเขาได้” 

ด้าน ประกิจ วรวัฒนนนท์ กรรมการผู้จัดการ AddVentures โดย SCG กล่าวว่า ธุรกิจก่อสร้างไม่ได้มีแค่รายใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ยังมีรายเล็กรายย่อยที่โยงใยเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ในระบบซัพพลายเชนที่โยงใยกันซับซ้อน ทำอย่างไรจึงจะทำให้รายย่อยเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสมได้ 

กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ก็คือ การค้นหา เชื่อมต่อ และลงทุน (Explore, Connect and Invest) ในดิจิทัลเทคโนโลยีของบรรดาบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี (​Tech Company) ที่มีอยู่ในไทยและต่างประเทศ และ BUILK ก็คือ หนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนเพื่อจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่ทาง SCG มีความเกี่ยวข้องอยู่มากในฐานะผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ก่อสร้างมากมาย 

อสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้อาจจะชะลอตัวไปบ้าง แต่เดี๋ยวต้องกลับมา แล้วเมื่อถึงวันนี้คนที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว มีความพร้อมในดิจิทัล แล้ว ก็คงแข็งแกร่งย่อมอยู่รอดและทำกำไร ผู้รับเหมาส่วนหนึ่งได้เงินก็มาแล้วก็ย่อมต้องเอามาซื้อวัสดุก่อสร้าง 

ขณะที่ ราเมศวร์ ศิลปพรหม ผู้ก่อตั้ง Rosewood Capital กล่าวว่า หลังจากนี้ สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีของไทยจะมีโอกาสในการเติบโตในฐานะส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย และ BUIK ก็คือหนึ่งในสตาร์ตอัพเหล่านั้น 

“โควิด-19 ทำให้สตาร์ตอัพเหล่านี้ ปรับตัวหันหน้าเข้าหากันมีการแชร์ริ่ง แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีสตาร์ตอัพของไทยก้าวเข้าสู่อีกระดับหนึ่ง จากก่อนหน้านี้ที่ “ขิง” กันมา ทำให้การลงทุนน้อยลง ส่วนการดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และ BUILK ก็เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพที่มีโอกาสเติบโต ทั้งในแนวราบสร้างตัวด้วยการทำ “การพัฒนา” (development) และการทำเซอร์วิส หรือบริการ รวมถึงการดึงเอาสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ ให้ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดล้วน ตั้งเป้าหมายตรงกัน คือ การนำพาอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไทยก้าวเข้าสู่เวทีโลก โดยเริ่มต้นก้าวแรกสู่การขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนก่อน ตั้งแต่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เข้าใจอุปสรรคธุรกิจ สร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ และเข้าใจบริบทปลีกย่อยของพื้นที่ที่จะเข้าไป ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาในการสั่งสมและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป  

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ