TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewBorn Thailand สตาร์ตอัพสายเกษตรมุ่งมั่น Scale up ศักยภาพชุมชนก่อนเม็ดเงิน "ชุมชนต้องสำเร็จก่อนเราจึงจะสำเร็จ"

Born Thailand สตาร์ตอัพสายเกษตรมุ่งมั่น Scale up ศักยภาพชุมชนก่อนเม็ดเงิน “ชุมชนต้องสำเร็จก่อนเราจึงจะสำเร็จ”

เมื่อพูดถึงสตาร์ตอัพ คนมักจะนึกถึงธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีล้ำ ๆ แต่น้อยคนจะรู้จัก Agri-Tech Startups หรือ สตาร์ตอัพสายเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจทั่วโลก และประเทศไทยก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในธุรกิจการเกษตรไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการ สต็อกสินค้า การบริหารจัดการเรื่องราคา หรือช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเกษตรกร มีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมการเกษตรเติบโตต่อไปได้ 

อิสรีย์ นิตยสมบูรณ์ จากบัณฑิตอักษรศาสตร์ สู่ผู้บริหารฝ่ายการตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง Born Thailand สตาร์ตอัพสายเกษตร กับภารกิจช่วยยกระดับ สร้างยอดขายและรายได้ให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างมีระบบ เชื่อมสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภคอย่างตรงความต้องการ ขับเคลื่อนธุรกิจ Born Thailand จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สู่นิเวศบริการ และสร้างสรรค์หลักสูตรในการประเมินชุมชนและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้เปิดตัวออกสู่ตลาดได้จริง 

11 ปีการเป็นสุดยอดลูกจ้างกับธุรกิจแรกที่จบลงภายใน 2 ปี

6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 11 ปี ที่อิสรีย์เริ่มงานในบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก สินค้าจำพวกไวน์และวัตถุดิบในการทำอาหาร เงินเดือนเริ่มต้นเพียง 8 พันบาท กุญแจในการเติบโตของเธอ คือการสนุกที่จะเรียนรู้ไม่หยุด จากตำแหน่งเลขานุการผู้บริหาร เธอยังขยับไปเรียนรู้การทำกราฟฟิค ท้าทายกับงานด้านการตลาด จนไปสู่การเป็น Key Account Manager ที่ดูแลรับผิดชอบลูกค้ารายใหญ่หรือโมเดิร์นเทรด ทำยอดขายระดับ 10 ล้าน 

ที่จุดสูงสุดของของชีวิตการเป็นลูกจ้าง ด้วยอัตราเงินเดือนที่แทบสูงสุดในบริษัท เธอรับหน้าที่ดูแลการสร้างโรงงานผลิตอาหารและเบเกอรี่ เพื่อผลิตออเดอร์ส่งสายการบิน รายได้กว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน อิสรีย์ทำงานจนไม่มีเวลาใช้เงิน ความมั่นใจในความสำเร็จเธอสูงลิ่ว จนในที่สุดได้ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตนเอง ด้วยชุดความคิดที่ว่า การประสบความสำเร็จในการทำงานบริษัท และด้วยความรู้ด้านการตลาดที่มี ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ย่อมสำเร็จอย่างแน่นอน

ก้าวแรกของการเป็นผู้ประกอบการ อิสรีย์เทเงินที่มีทั้งหมดลงทุนกับการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ “สบู่” โดยใช้วิธีจ้างผลิต และทำการตลาดเองด้วยความมั่นใจเต็มร้อยในความรู้ด้านการตลาดที่มี แต่เมื่อลงตลาดจริง ความเป็นจริงที่เจอคือ การแข่งขันในตลาด ซึ่งเจ้าใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูง ทุ่มตลาด ตัดราคา จนเจ้าเล็กอยู่ไม่รอด ธุรกิจที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอย่างเธอก็เช่นกัน ที่ต้องหยุดธุรกิจลงในปีที่สอง ทุนที่มีหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านการตลาด การออกบูธ แต่การขายไม่สามารถสู้ราคาได้

อิสรีย์กลับมาทบทวนบทเรียนจากธุรกิจแรก ว่าความล้มเหลวครั้งนี้เกิดจากอะไร และได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ประสบการณ์ว่า การจ้างผลิตสินค้านั้นมีความเสี่ยง หนึ่ง ธุรกิจไม่ได้เป็นเจ้าของสูตร ซึ่งนำไปสู่ข้อผิดพลาดข้อที่สอง คือ ทำให้สินค้าขาดความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ย่อมเป็นธรรมดาที่จะโดนตัดราคา

“เราเหมือนโดนทุบลงมา จากความมั่นใจร้อยทะลุปรอทแตก โดนตบลงมา เงินก็ไม่มี ทุนก็ไม่มี ความคิดก็ไม่มี เหมือนโดนรัดเอาไว้ด้วยข้อจำกัด มีเวลา แต่ไม่รู้จะทำอะไร นั่งคิดว่าควรจะทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่คิดจะไปสมัครงาน ต้องเอาชนะสิ่งที่กำลังพลาดอยู่ให้ได้ ตั้งหลักใหม่” อิสรีย์ทวนความหลัง

มัลเบอร์รี่บางกอก เริ่มต้นใหม่จากความสนใจและความชอบ

วันหนึ่งระหว่างที่อิสรีย์ ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี เธอเห็นคุณแม่ของเธอเก็บผลไม้อะไรสักอย่างมากินด้วยความเอร็ดอร่อย และยังคุยให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า มันอร่อยและมีประโยชน์มากนะ ด้วยความเป็นห่วงแม่ เธอรีบไปค้นหาข้อมูลถึงขั้นอ่านงานวิจัย ปรากฏว่า มัลเบอร์รี่ หรือ ลูกหม่อนที่แม่ชอบ มีคุณสมบัติบำรุงสมองและเส้นประสาท มีไฟเบอร์สูงช่วยเรื่องขับถ่าย มีงานวิจัยระบุถึงประโยชน์ของมัลเบอร์รี่ไว้มากมาย

อิสรีย์เริ่มเกิดความสนใจที่จะทำน้ำผลไม้จากลูกมัลเบอร์รี่ แต่จากการสำรวจตลาดน้ำมัลเบอร์รี่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าโอทอป ที่ตำแหน่งในตลาดถูกจัดเกรดเป็นแค่น้ำผลไม้บ้านๆ ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานบริษัทนำเข้า-ส่งออก พบว่าน้ำผลไม้จากต่างประเทศ มีจุดเด่นคือจะมีเนื้อผลไม้อยู่ในน้ำผลไม้ ทำให้มีเนื้อสัมผัสและรสชาติชัดเจน ดื่มแล้วรู้ว่ากินน้ำผลไม้อะไรอยู่ มีความเป็นธรรมชาติและมีประโยชน์ของไฟเบอร์ 

น้ำมัลเบอร์รี่ ผสมเนื้อมัลเบอร์รี่พร้อมดื่ม จึงถูกพัฒนาขึ้นที่บ้านของอิสรีย์เอง เป็นระบบโฮมเมด เพราะจากการค้นหาผู้ผลิตพบว่าไม่มีโรงงานไหนสามารถทำได้ เพราะเป็นการยากที่จะใส่เนื้อบดละเอียดลงไปในระบบเติมลงขวด มักมีปัญหาเรื่องการอุดตัน ส่วนใหญ่จะเติมเนื้อลงไปภายหลัง และมักเป็นเนื้อผลไม้แช่อิ่ม แต่เธอต้องการคงความเป็นธรรมชาติของเนื้อผลไม้สด 

อิสรีย์ทดลองผลิตแบบโฮมเมดจนได้กระบวนการผลิตที่ลงตัว หลังจากฆ่าเชื้อแล้ว น้ำผลไม้ยังมีความสดใหม่ เนื้อไม่สุกจนเกินไป เมื่อทดลองขายในแบรนด์ Mully ก็ได้รับนิยมจากลูกค้า พร้อมเสียงตอบรับว่า รสชาติอร่อย ให้เนื้อสัมผัสดี และช่วยเรื่องการขับถ่าย ยอดสั่งซื้อทยอยเข้ามาจนเธอไม่สามารถผลิตแบบโฮมเมดได้ทัน จนกระทั่ง ต่อมาอิสรีย์ได้รู้จัก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 

ในขณะนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ กำลังริเริ่มตั้งโรงผลิตอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีระบบมาตรฐานการผลิตรองรับ มัลเบอร์รี่บางกอก จึงเข้าไปเป็นลูกค้ารายแรก โดยให้โจทย์ในการผลิตน้ำผลไม้พร้อมเนื้อ แชร์ข้อมูลประสบการณ์จากการทำแบบโฮมเมด ลองผิดลองถูก จากลอตแรกที่เสียทั้งแบทช์ จนกระทั่งผลิตออกมาได้ ค่าจ้างผลิตก็ไม่ได้แพง เหมาะกับเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นโปรเจคใหม่ ๆ  

จากความคิดที่ว่า มีการตลาดจะทำอะไรก็ได้ เมื่อชุดความคิดนี้พังจากประสบการณ์การจ้างผลิตสบู่ ที่ไม่มีจุดเด่นเป็นของตนเอง การกลับมาตั้งหลักกับสิ่งที่เป็นความสนใจของตัวเธอเองจริง ๆ อย่างน้ำลูกหม่อน จากการทดลองปลูกต้นหม่อนนับร้อยต้น จนหน้าบ้านเดี่ยวในหมู่บ้านจัดสรร กลายเป็นป่าต้นหม่อนรกทึบ เธอจึงเกิดไอเดียว่าต้องหาเพื่อนมาช่วยปลูก โดยเริ่มจากใช้พื้นที่หน้าบ้านคนละเล็กละน้อย 

และคราวนี้เธอไม่ตั้งเป็นบริษัท แต่ใช้วิธีรวบรวมสมาชิกตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มลงแปลงปลูก เข้าหาผู้คน ขยายจากการผลิตแบบโฮมเมดเป็นจ้างโรงงานผลิต จนถึงจุดเปลี่ยนที่ขยับมาจดทะเบียนเป็น บริษัท มัลเบอร์รี่บางกอก แอนด์ ออกานิคฟาร์ม จำกัด ในปี พ.ศ. 2559 คือ การเข้ารับทุนโครงการวิจัยของจุฬา, โครงการของ สวทช. และต่อด้วยเข้าร่วมโครงการอบรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 

“Born” จากกัลยาณมิตร ก่อกำเนิดพันธมิตรเพื่อชุมชน

การเข้ากิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้อิสรีย์ได้เปิดสู่โลกของธุรกิจอื่น ๆ และได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ การทำกิจกรรมร่วมกันนับปี กล้าที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เห็นข้อดีข้อด้อยของกันและกัน พบว่าจุดอ่อนของเอสเอ็มอี คือ No Team No Time No ทุน หมายถึง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมักทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด ทำให้ไม่มีเวลา ธุรกิจไม่ขยาย ก็นำไปสู่การขาดทุน และทุกคนไม่เข้าใจเรื่องการตลาดเลย

เช่นเคย ความเป็นนักค้นคว้าของอิสรีย์ เริ่มทำงานอีกครั้ง โดยตั้งใจหาข้อมูลในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร เธอพบว่า การที่จะพัฒนาธุรกิจให้เหนือกว่าคู่แข่ง จะต้องยกระดับพัฒนาวัตถุดิบให้เป็นสารสกัดสมุนไพร ซึ่งมีตลาดรองรับใหญ่มากในต่างประเทศ ที่ผ่านมามีแบรนด์ใหญ่ระดับโลกซึ่งมาซื้อวัตถุดิบสมุนไพรของไทย ไปสกัดด้วยเทคโนโลยีของเขา กลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริม กลับมาขายให้ผู้บริโภคบ้านเรามูลค่านับหมื่นล้าน 

ด้วยแนวคิดนี้จึงเกิดการชักชวนกันรวมกลุ่มพันธมิตร ตั้งเป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่มุ่งแก้ปัญหาของเอสเอ็มอี นั่นคือ Born RDI Center อิสรีย์ อธิบายความหมายของชื่อนี้ว่า “Born เป็นจุดกำเนิดสิ่งใหม่ๆ เหมือนเป็นการปฏิวัติความคิดของตัวเอง RDI Center คือ Research Development Innovation เพราะเราตั้งใจจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ให้กับเอสเอ็มอี” 

ทีมงาน Born RDI เริ่มต้นด้วยการตระเวนสำรวจทั้งตลาดต่างประเทศ และสำรวจพื้นฐานภายในประเทศโดยลงพื้นที่แปลงปลูก ชนิดพืช สารสำคัญ เก็บข้อมูลวิถีเกษตรของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่การดูแลจนการเก็บเกี่ยว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถขายวัตถุดิบเป็นฤดูกาลได้เพียงปีละครั้ง แต่มีส่วนของสินค้าแปรรูปที่เป็นรายได้หล่อเลี้ยงทั้งปี จากข้อมูลที่ได้ ทำให้ทีมงานตกผลึกกันว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็น Natural Organic และเป็นของไทยให้ต่างชาติยอมรับ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การอุบัติขึ้นของไวรัสโควิด-19 และนำมาสู่การปิดประเทศ จากเป้าหมายการไปสู่ตลาดต่างประเทศ Born RDI จึงปรับแผนมาเป็นการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรทดลองตลาดในประเทศ โดยยึดหลักการทำสิ่งที่เป็นความต้องการของตลาด และสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่แล้ว และเริ่มต้นโดยการสร้างแพลตฟอร์มและทดสอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการมากๆ ในขณะนั้นคือ แอลกอฮอล์ 

หนึ่งในหุ้นส่วนเป็นเจ้าของโรงงานและผลิตแอลกอฮอล์อยู่แล้ว Born RDI จึงริเริ่มโปรเจคขายแอลกอฮอล์ที่ลิตรละ 250 บาท ผ่านทางแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น โดยตั้งเป้าบริจาคทุกแกลลอนๆ ละ 50 ให้โรงพยาบาล มูลนิธิ ผลตอบรับจากโปรเจคได้เงินหลักล้าน และสามารถบริจาคเงินแสน ให้ 3 มูลนิธิใหญ่ ทุกคนได้ของคุณภาพดีในราคาไม่แพง และที่สำคัญเป็นโอกาสให้คนเข้าถึงแพลตฟอร์ม  โดยภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Born Thailand และจดทะเบียนบริษัทใหม่ ในนาม Born Cooperation (Thailand) Co., Ltd. เมื่อปี 2562 และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน 

สู่ HERBS STARTER ดาวรุ่งสตาร์ตอัพสายเกษตร

จากการเริ่มต้นใหม่ ที่จุดกำเนิดของ Born RDI มาสู่อีกหนึ่งจุดเปลี่ยน ในปี 2563 คือการเป็น 1 ใน 10 สตาร์ตอัพสายเกษตร เข้าร่วม “โครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “AgTech4OTOP ” จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA

Herbs Starter แพลตฟอร์มที่ Born RDI พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรครบวงจร ซึ่งเกิดจากความต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้สามารถ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน แปรรูปสินค้าได้ตามต้องการ จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล 5 กลุ่มชุมชน อัตลักษณ์ OTOP ทำให้พบปัญหาของเกษตรกรที่คล้ายๆ กัน คือ ผลิตเก่ง แต่ยังขายไม่เก่ง และไม่รู้ความต้องการของตลาด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ตรงความต้องการของตลาด

จึงเป็นภารกิจของ Herbs Starter ในการเป็นผู้ช่วยพัฒนา ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดนวางรูปแบบบริการไว้ 4 ด้าน คือ การประเมินศักยภาพและความพร้อมในการทำธุรกิจ การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำข้อมูลและสร้างเรื่องราวของชุมชนให้มี อัตลักษณ์ที่น่าสนใจ  การตลาดประชาสัมพันธ์ และช่องทางการจัดจําหน่าย ไปจนถึงแนะนำกระบวนการรับรองมาตรฐานในประเทศและต่างประเทศได้

5 กลุ่ม OTOP สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ Herbs Starter ดูแล ได้แก่ กาแฟดูแลป่า กาแฟเทพเสด็จ GI กลิ่นหอมดอกไม้ป่า จ.เชียงใหม่, มะดันแช่อิ่ม พันธุ์พื้นเมือง “เขียวส่องหล้า” จากสวนมะดัน 100 ปี จ.นครนายก, น้ำส้มมะปิ๊ด ส้มเอกลักษณ์ท้องถิ่นประจำจังหวัดจันทบุรี ที่มีวิตามินสูงกว่ามะนาวถึง 10%, ไวน์จากหมากเม่า ซูเปอร์ฟรุ๊ต สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แห่งเทือกเขาภูพาน สกลนคร และ ลำไยสีทอง แห่งเมืองลำพูน 

การทำการตลาดแบบ Storytelling ผ่าน Herbs Starter และขายผ่านแพลตฟอร์ม Health Harvest แยกออกเป็น 4 แพลตฟอร์มย่อยได้แก่ Herb Starter, Inno Starter, Fruit Starter เพื่อแยกกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน และตามมาด้วย Craft Starter ซึ่งมีเทวาภิรมย์ สินค้าภูมิปัญญาชาววัง มาเข้าร่วมเพิ่มเติม เป็นผลิตภัณฑ์ น้ำอบ น้ำปรุง เทียนร่ำห้อง ยาดมส้มมือ สีผึ้งโบราณ ฯลฯ ที่มีออเดอร์ถล่มทลาย ธุรกิจโตไว และมีลูกค้าเป็นกลุ่มพรีเมี่ยม ที่มีความภูมิใจในการใช้และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ของใช้ที่มีความเป็นไทยอย่างแท้จริง

Herbs Starter ทำยอดขายพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็น Rising Star ใน Ag-Tech 4 OTOP ทั้ง ๆ ที่แพลตฟอร์มไม่ได้มีซับซ้อนด้านเทคโนโลยี แต่เน้นกระบวนการพัฒนาสินค้าเข้าตลาดให้เร็ว ดูฟีดแบคให้ไว และรีบปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตัวอย่างความสำเร็จ อย่างสวนมะดัน 100 ปี ที่กำลังคิดจะโค่นต้นมะดันทิ้ง แต่เมื่อชวนลองสู้ดูสักตั้ง ก็ได้สูตรมะดันแช่อิ่มที่มีเท่าไหร่ก็ขายไม่พอ จนคนทำตั้งรับแทบไม่ทัน ยอดพุ่งเป็น 1 แสนบาทต่อเดือนทันที แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นกรณีศึกษาของความไม่พร้อมรับมือกับความสำเร็จ ทำให้ผู้ประกอบการเกือบถอดใจ

“หลังจากจบโครงการ เรากลับมาวิเคราะห์ ถอดบทเรียน เราเข้าไปที่ NIA ครั้งแรก เป้าหมายคือทำยอดขาย และคิดว่าทุกคนพร้อม แต่ปรากฏว่าพอถึงเวลาจริงๆ เขาไม่พร้อมหลายๆ อย่าง สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่คือ การประเมินชุมชนก่อนเข้าแพลตฟอร์ม และการเสริมองค์ความรู้ในสิ่งที่ขาด จึงเกิดเป็นหลักสูตรพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ตลาด หรือ Business Development to Market Program หรือ BDM Program ขึ้นมา”

หลักสูตร BDM Program จึงเป็นโปรแกรมที่ ออกแบบมาเพื่อชุมชนโดยเฉพาะ สามารถใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการจากทุกกลุ่ม ทุกชุมชนได้พร้อมๆ กัน เป็นการพัฒนาคน พัฒนาสินค้า พัฒนาตลาด อบรมแล้วทำแผนธุรกิจของตนเองขึ้นมา กลุ่มใดมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำจริง ประเมินแล้วว่าเป็น สินค้าที่มีศักยภาพ หรือก็จะได้รับการให้คำปรึกษาเชิงลึกและการสนับสนุนเพื่อทดสอบตลาดออนไลน์ต่อไป 

คลัสเตอร์ออริจิน่าน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ประกอบการชุมชนที่มีศักยภาพ และทาง Born Thailand ได้ใช้ BDM Program – Business Development to Market Program การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติติการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน  พัฒนาศักยภาพสมาชิก จ.น่าน จากอัตลักษณ์ของคลัสเตอร์ หรือ Cluster Identity รวมกลุ่มเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดออนไลน์ 

ปัจจุบันคลัสเตอร์ออริจิน่านยังพัฒนาไม่หยุดยั้ง Born Thailand พยายามผลักดันให้เกิดศูนย์บริการชุมชนเพื่อดูแลสมาชิกจำนวนมากขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันต่อในการขอทุน Social Innovation Driven นวัตกรรมภาคเหนือตอนบน ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจัดตั้งศูนย์บริการชุมชน Social Innovation Driven พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ กาแฟ เกลือ ผลไม้ต่างๆ ฯลฯ  สมาชิกสามารถส่งสินค้ามาสต๊อกไว้ที่ศูนย์ และคลัสเตอร์ทำหน้าที่เป็น Packing Center คิดค่าบริการ คือ ค่ากล่องและบับเบิ้ลตามจริง และขอหัก 3% จากยอดขายของทุกคนลง ไว้ตรงกลางเพื่อใช้ในการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป และมีการผลักดันให้เกิด”พี่เลี้ยง” คือกรรมการและสมาชิกรุ่นแรก มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกใหม่อีกด้วย

Born Thailand ระบบนิเวศบริการสำหรับชุมชนสปริงบอร์ดเข้าสู่ตลาดออนไลน์

อิสรีย์ นิยามว่า Born Thailand ในปัจจุบัน คือ นิเวศบริการสำหรับธุรกิจชุมชน และเป็นดังสปริงบอร์ดเพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 4 หมวดหมู่ ได้แก่ Born Agri, Born Herb, Born Craft และ Born Innovation ทำงานกับวิสาหกิจชุมชน ด้วยอีโคซิสเต็ม หรือ นิเวศบริการ หนึ่งคือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ฝั่งขาย สองคือ ฝั่งเซอร์วิส ที่รวมเอาแพลตฟอร์มบริการด้านต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการชุมชน 

รายได้ของ Born Thailand เกิดจากส่วนต่างของสินค้าที่ชุมชนขายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และรายได้จากการให้บริการดำเนินการบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจชุมชน ที่ได้รับจากการที่ภาครัฐอุดหนุนชุมชน เช่น ค่าบริการ ค่าวิทยากร ค่าดำเนินการทำการตลาด ทำคอนเทนต์ และยังเป็นผู้เชื่อมต่อหน่วยบริการด้านต่างๆ มาให้บริการกับชุมชนและมีส่วนแบ่งค่าบริการให้กับ Born Thailand เช่น โรงงานผลิต ออกแบบ การทำบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Born Thailand มีลูกค้าที่เป็นวิสาหกิจชุมชน กว่า 30 ชุมชนจาก 13 จังหวัด มีสมาชิกผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์ม กว่าหมื่นราย ในแต่ละเดือนเกิดการปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1,000 รายการ รายได้ 5-8 แสนบาทต่อเดือน และในอนาคตอันใกล้มีแผนจะขยับไปสู่ตลาดต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม Cross Boarder E-Commerce ในรูปแบบ B2C โดยกำลังทำระบบร้าน Born Thailand Official กับเว็บไซต์ Amazon เป็นจุดเริ่มแรก นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกับตัวแทนในประเทศซาอุดิอาระเบีย และรอจีนเปิดประเทศ เพื่อจะลุยการค้ากับจีนอีกครั้ง

อิสรีย์ เผยเป้าหมายในอนาคตของ Born Thailand ว่า  ระยะกลาง ต้องทำให้คนรู้จักแพลตฟอร์ม Born Thailand ให้มีลูกค้าเพิ่มทั้งสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่ง consumer ให้มีมากพอ และเพื่อจะเพิ่มฝั่ง customer คือ พัฒนาสินค้าจากชุมชนเข้ามาขาย  ส่วนเป้าหมายระยะยาว ต้องการให้มีศูนย์บริการชุมชนเหมือนคลัสเตอร์ออริจิน่าน ให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย 

การใช้กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนในรูปแบบของ Born Thailand ถือเป็น นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่สามารถทำซ้ำได้กับทุกชุมชนทั่วประเทศ ขอเพียงทุกชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง  และนี่คือการ Scale up ของ Born Thailand ที่ไม่ใช่การเสกลเรื่องรายได้ แต่เป็นการขยายศักยภาพของชุมชน ด้วยพลังของชุมชนเอง 

จากสุดยอดลูกจ้างสู่ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพเพื่อชุมชน (ที่ไม่ใช่ SE)

อิสรีย์ สรุปความแตกต่างระหว่างความสำเร็จของเธอในอดีตกับปัจจุบันว่า การเป็นผู้บริหารในบริษัทของคนอื่นแล้วประสบความสำเร็จนั้นมาจากความพร้อมขององค์กร แต่การออกมาเป็นผู้ประกอบการคือการสร้างใหม่ทั้งหมด ถ้าไม่มีประสบการณ์หรือไม่เข้าใจโครงสร้างธุรกิจ การออกมาทำธุรกิจเองมีความเสี่ยงสูงที่จะพลาด สิ่งหนึ่งที่ทำให้ไปต่อได้คือ เครือข่าย มองหาความต่างที่ลงตัว เติมเต็มในส่วนที่ขาด รายเล็กให้รวมตัวกันเป็นพันธมิตร อย่าแยกกัน 

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน การที่เราจะออกสนามใหญ่ สำคัญมากต้องมีทีม มีทุน มีเวลา คนจะเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ ขอให้คำนึงถึงนิเวศหรือองค์ประกอบที่จะทำให้ธุรกิจโตไปได้ ไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิดว่า การตลาดคือสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเกิดปัญหา อย่าท้อ เอาทุกปัญหา ทุกประสบการณ์ที่เจอ กลับมาถอดบทเรียน ว่ามันดี มันไม่ดีเพราะอะไร แล้วต้องแก้ไขอย่างไร

สิ่งที่ Born Thailand ทำดูเหมือนจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Entreprise แต่ความจริงแล้วเราก็คือธุรกิจภาคเอกชนที่เป็น Start Up และไม่ได้จดทะเบียนเป็น SE

แม้เราจะไม่ได้จดทะเบียนเป็น SE แต่ธุรกิจของเราก็เป็นธุรกิจที่เกื้อกูลสังคมเรายอมลงทุนลงแรง เราจะเข้มแข็งต่อเมื่อชุมชนเข้มแข็งก่อน

‘ชุมชนต้องสำเร็จก่อนเราจึงจะสำเร็จ’ วันนี้ ทั้งภูมิใจ ดีใจ และปลื้มใจ รู้สึกตัดสินใจไม่ผิด ชีวิตนี้ทั้งชีวิต ถ้าไม่ได้ทำ Born ก็ไม่รู้จะมีโอกาสได้ทำแบบนี้หรือเปล่า การทำธุรกิจอะไรก็ตาม มันดีนะถ้าทำแล้วได้ช่วยคนด้วย การทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ โตไปด้วยกัน มันมีน้อย เราเลยอยากทำให้เห็นว่า มันทำได้จริง ๆ” อิสรีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามเรื่องราวของหลากหลายชุมชนกับ Born Thailandได้ที่ เพจ Born Thailand แหล่งรวมสินค้าชุมชนเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วไทย


STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ