TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessแบงก์กรุงศรีฯ เปิดเกมรุกมุ่งตลาดอาเซียน เล็งอัปเกรดระบบนิเวศดิจิทัล ตั้งเป้ารายได้โต 10%

แบงก์กรุงศรีฯ เปิดเกมรุกมุ่งตลาดอาเซียน เล็งอัปเกรดระบบนิเวศดิจิทัล ตั้งเป้ารายได้โต 10%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจัดแถลงออนไลน์ กางแผนกลยุทธ์ปี 2565 ซึ่งมาในธีม “Go ASEAN with Krungsri : เดินหน้าสู่อาเซียนกับกรุงศรี” ตั้งเป้าขยายธุรกิจมุ่งสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างชัดเจน และสร้างระบบนิเวศการเงินที่แข็งแกร่งภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตร ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและดิจิทัล ด้วยงบลงทุน 8,000 ล้านบาท คาดเพิ่มรายได้ให้กับธนาคารได้ 10% ภายใน 2 ปี พร้อมเป็นสถาบันการเงินชั้นนำให้บริการโอน-ชำระ เงินระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียน

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ว่าเป็นการทำตามแผนระยะกลาง 3 ปี ระหว่างปี 2564-2566 ของธนาคาร ซึ่งสำหรับแผนปีนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นเดินหน้าเข้าสู่อาเซียนตามแผน Go ASEAN with Krungsri หรือ เดินหน้าสู่อาเซียนกับกรุงศรี ภายใต้ 3 แกนหลักคือ 1) การขยายและเชื่อมโยงตลาดในภูมิภาคอาเซียน 2) การจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของทุกฝ่าย และ 3) การพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในไทยและอีก 8 ชาติอาเซียน

ทั้งนี้ สำหรับเป้าหมายแรกในการขยายและเชื่อมโยงตลาดอาเซียน อาคิตะกล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งเป้าการเติบโตให้สัดส่วนรายได้ของธนาคารจากอาเซียนแตะระดับ 10% ภายใน 2 ปีจากนี้ จากสัดส่วนเดิมในปี 2564 ที่ผ่านมาที่ 6% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2563 ก่อนหน้า

ขณะที่การสร้างระบบนิเวศและพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ (Ecosystems and Partnerships)  จะขยายต่อยอดจากระบบนิเวศยานยนต์ ที่อยู่อาศัย และการพาณิชย์ (Mobility, Living, Commerce) ซึ่งเป็น 3 ระบบนิเวศหลังที่ทางธนาคารกรุงศรีฯ พัฒนาขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตของลูกค้าในปัจจุบัน

ส่วนการพัฒนายกระดับด้านดิจิทัลและนวัตกรรม อาคิตะกล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าลงทุนด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นราว 7,000-8,000 ล้านบาทในปี 2565 เพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลอินโนเวชัน โดยจะเน้นขยาย API เชื่อมโยงกับธนาคารพันธมิตรในอาเซียน และเดินหน้าสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอัจฉริยะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเตรียมผนึกกำลังกับทางพันธมิตรอย่างเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ร่วมกันสร้าง AI Tech lab ตลอดจนร่วมมือกับ Grab ในการนำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น โดยอาคิตะกล่าวว่า ขณะนี้ทางธนาคารกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในด้านพลังงาน อีคอมเมิร์ซ และการประกัน เพื่อเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตของธนาคารในอนาคต

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน ทางธนาคารกรุงศรีฯ ยังตั้งเป้าดำเนินการตามแนวทางการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งหนึ่งในแนวทางดังกล่าวคือ การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ภายในปี 2030 และการเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยในการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รวมถึงตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงกับแนวทางความยั่งยืน

ขณะที่เป้าหมายการเติบโตทางการเงินในปีนี้ ธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งเป้าการเติบโตด้านสินเชื่อที่ 3-5 % ให้กระจายทั่วถึงทุกภาคส่วนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยสินเชื่อรายย่อยโต 3-4% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ 4-5% และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ 3-4% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.1-3.3%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล แถลงการณ์ของธนาคารกรุงศรีฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ 2.2% โดยเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ มาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะหมดลงในสิ้นปีนี้ ทำให้ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลืออาจกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลบางส่วน แต่กรุงศรีฯเชื่อว่าคงไม่เยอะมาก เมื่อพิจารณาจากลูกค้าที่เข้ารับความช่วยเหลือในโครงการ ซึ่งจากเดิมที่ 530,000 ล้านบาท ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 170,000 ล้านบาท บวกกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

อาคิตะ ยังใช้โอกาสนี้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปี 2565 นี้ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ระดับ 3.7% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลการการฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจทั้งและต่างประเทศทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง อันเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย ในส่วนของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนต่าง ๆ ทางธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งเป้าระงับไว้ชั่วคราว และจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในปี 2566

ในส่วนของก้าวต่อไปภายในปี 2022 ของธนาคารกรุงศรีฯ ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร เปิดเผยว่า ธนาคารฯ มีเป้าหมายขยายเครือข่ายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน จากปัจจุบันที่มีการเข้าไปดำเนินธุรกิจแล้ว 5 ประเทศ โดยในส่วนของลูกค้าไทยธนาคารยังคงเดินหน้าเสนอโซลูชันการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Cross-border value chain) เน้นการโอนเงินและชำระเงิน

“ปัจจุบัน เรามีเครือข่ายมากที่สุดในอาเซียน และมีการขยายธุรกิจสู่อาเซียนแล้ว 5 ประเทศ ซึ่งในระยะถัดไป ธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งเป้าขยายตลาดให้ครอบคลุม 8 ประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้บริการลูกค้าในอาเซียนขณะนี้ มีจำนวนลูกค้ารวมมากกว่า 500,000 บัญชี” ไพโรจน์กล่าว ก่อนเสริมว่า ธนาคารกรุงศรีฯ จะขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศในสิงค์โปร มาเลเซีย เกาหลี ลาว เวียดนาม ให้สามารถโอนเงินได้เรียลไทม์ภายในปี 2565 นี้ จากเดิมที่มีให้บริการใน 3 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการปล่อยสภาพคล่องแล้วกว่า 64,000 ล้านบาท โดยธุรกรรมการโอนเงินชำระเงินระหว่างประเทศอาเซียนผ่านกรุงศรี ปัจจุบันมีมากกว่า 5 แสนครั้ง หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของกลยุทธ์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม ธนาคารตั้งเป้าเป็นผู้นำในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอัจฉริยะและแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ให้กับตลาดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และเดินมุ่งหน้าสู่การทำมากกว่าเทคโนโลยี (Beyond Tech) ด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้า รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับบรรดาสตาร์ตอัพและสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ ๆ

“การเชื่อมโยงอาเซียน การเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ และการนำด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม เป็นกุญแจสำคัญของเราในปี 2565 เราพร้อมที่จะพาลูกค้าไปมีประสบการณ์ Beyond Thailand, Beyond Banking และ Beyond Tech ด้วยกัน ทั้งในมุมธุรกิจและเชื่อมโยงกับลูกค้าในอาเซียน” ไพโรจน์กล่าว

ในส่วนของภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 นี้ ธนาคารกรุงศรีฯ สรุปว่า เศรษฐกิจระดับโลกจะมีทยอยฟื้นคืนกลับสู่ภาวะปกติในปีนี้ ขณะที่ภายในภูมิภาคอาเซียนจะมีสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาเช่นกัน เพียงแต่การฟื้นตัวของแต่ละประเทศในอาเซียนจะไม่เท่ากัน โดยในส่วนของประเทศไทยถือได้ว่ามีการฟื้นตัวได้เร็วและดีอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค เพียงแต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า แต่ละอุสาหกรรมของไทยก็ยังมีการเติบโตที่ลดหลั่นเหลื่อมล้ำกันอยู่

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กรุงเทพประกันชีวิตลุยตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ กางแผนกลยุทธ์ 3 ปี มุ่งเน้นเติบโตอย่างยั่งยืน

ทบทวนวางแผนการลงทุนปีเสือ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ