TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability“ESG” ความจำเป็นที่ธุรกิจไทยต้องมี

“ESG” ความจำเป็นที่ธุรกิจไทยต้องมี

ประเด็น ESG ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) มีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างมากในปัจจุบัน ด้วย ESG เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคาร, เป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน และเป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค หากองค์กรธุรกิจทุกขนาดสามารถทำ ESG ได้ครบทั้ง 3 มิติ จะช่วยสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับธุรกิจและเกิดเป็นมูลค่าด้านรายได้

จากการเปิดเผยผลสำรวจสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ ESG Disclosure โดยสถาบันไทยพัฒน์ขององค์กรธุรกิจไทยจำนวน854 ราย ในปี 2565 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน 763 รายกองทุนและองค์กรอื่น ๆ อีก 91 ราย พบว่ามีคะแนนรวม ESG โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.46 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จากการสำรวจกิจการ 826 ราย ที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 คะแนน สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 1.36 คะแนน ด้านสังคม 2.11 คะแนน และด้านธรรมาภิบาล 3.92 คะแนน แสดงให้เห็นว่ากิจการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG อย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสที่กิจการส่วนใหญ่สามารถพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ได้อีกมาก

สถาบันไทยพัฒน์ (THAIPAT) เป็นหนึ่งในองค์กรสาธารณประโยชน์ของไทยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 โดยมุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของ องค์กรธุรกิจ ด้วยการวิจัย การฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน เส้นทางของสถาบันไทยพัฒน์ดำเนินเรื่อยมาจนในปี 2555 ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนหลักสากล 10 ประการ ว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องการต้านทุจริต ผ่านการดำเนินงานของสถาบันฯ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ได้รับการรับรองจากองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ให้เป็น GRI Certified Training Partner ตั้งแต่ปี 2556 โดยปัจจุบันสถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนางานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Service) ต่อรายงานแห่งความยั่งยืน ตามมาตรฐาน AA1000AS (Assurance Standard) ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐาน ACCOUNTABILITY ให้เป็นผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นรับอนุญาตในประเทศไทย

รับมือเศรษฐกิจชะลอตัว แบบ LEAN-CLEAN-GREEN

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สําหรับในปี 2566 นี้ สิ่งที่จะได้เห็น คือ บรรดากิจการที่ต้องการผันตนเองเข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืนจะใช้ ESG เป็นใบเบิกทางเพื่อยกระดับจากการจัดการความเสี่ยงด้วยการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อกิจการไปสู่การระบุโอกาสทางธุรกิจด้วยการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการ พัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2566 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2566 : LEAN  CLEAN  GREEN สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่จะใช้ ESG เป็น กรอบในการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน โดยในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาค ธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมหลัก ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มี สุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคํามั่นสัญญา

LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย

ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565 เผยแพร่โดยธนาคารโลกระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยประมาณการขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ในปี 2566 ขณะที่การขยายตัวของบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ 4% เนื่องจากแรงกระตุ้นจากการกลับมาเปิดประเทศเริ่มแผ่วลงและการชะลอตัวในการเติบโตของการส่งออกสินค้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย

โดยสภาพัฒน์ฯ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับ 7.5% ในปี 2565 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% เทียบกับ 3.9% ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก

ดังนั้นในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนจำเป็นต้องมองหาความคุ้มค่ามากกว่า มูลค่าจากการดำเนินงาน การตั้งเป้าหมายรายรับจากการเน้นตัวเลขมูลค่างานที่สูงท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการตั้งเป้าหมายหรือทำให้มีตัวเลขสุทธิในบรรทัดสุดท้ายเป็นบวก ด้วยการดูแลควบคุมรายจ่ายหรือต้นทุนของกิจการให้คุ้มกับมูลค่างานที่ได้รับ

สำหรับแนวทางการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสถาณการณ์ ได้แก่ 1.การบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยให้กิจการพัฒนาปรับปรุงไปสู่การเป็น Lean Enterprise สำหรับรองรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ และ 2.การลงทุนสร้างสมรรถนะให้แก่ธุรกิจในระยะยาวด้วยการปรับให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ต่อกลยุทธ์การปรับตัวหลังโควิด-19 องค์กรกว่า 2 ใน 3 ระบุว่า การมีแผนการปรับตัว (Resilience) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรและไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนนี้ โดยในบรรดาองค์กรที่มีแผนการปรับตัวได้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ด้านพนักงาน 90.7% ด้านลูกค้า 58.1% และด้านสิ่งแวดล้อม 53.5%

CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ

ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวต่อว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสื่อมถอยทางจริยธรรมในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การรับสินบนและการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทุกระดับ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามต้องเผชิญกับการขาดความเป็นอิสระและได้รับอิทธิพลแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการสมรู้ระหว่างฝั่งผู้ที่ถูกกล่าวหากับฝั่งผู้ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงาน เพื่อร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

ตัวอย่างในภาคธุรกิจ มีกรณีกลุ่มทุนจีนสีเทา การฉ้อโกงกรณีแชร์ลูกโซ่ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาคการเมือง มีกรณีการจ้างหรือซื้อตัวส.ส.ในการลงมติ ในภาคราชการมีกรณีเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอธิบดี ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่วิญญูชนสามารถรับรู้ได้ โดยจากข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติหรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่ 101 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศ ในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ปี 2565 อยู่ที่ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตกจากอันดับดีที่สุดที่เคยได้คืออันดับ 76 จากทั้งหมด 168 ประเทศ ใน ปี 2558

ทั้งนี้ในภาคเอกชนมูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่าและมีความยากต่อการตรวจสอบ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวเลขได้แน่ชัด ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตจะถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการที่ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า และยังไปบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การให้คำมั่น (Commit) ประกอบด้วยการเปิดเผยคำมั่นที่จะ ดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร 2.การลงมือทำ (Establish) ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจเพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต

อีกทั้งการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงาน ในทุกระดับการสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแสและกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำการวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้าน การทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

และ 3.การขยายวง (Extend) ประกอบด้วยการจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดาเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

GREEN ที่มากกว่าคํามั่นสัญญา

สําหรับประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยจำนวนมากกว่า 40,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเทียบเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการประจำปี 2555 พบว่าคะแนนด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 ราย อยู่ที่ 1.36 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สัดส่วนการใช้พลังงาน (Energy Mix) ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) และความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions intensity)

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศในช่วงหลังปี 2562 ยังมีสัดส่วนที่ต่ำและลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 16.5% ลดลงมาอยู่ที่ 15.5% ในปี 2563 และเหลืออยู่ 14.6% ในปี 2564 จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ไทยมีเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงาน ขั้นสุดท้ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580

และจากผลการสำรวจของบริษัท Meta ร่วมกับ Yale University ในรายงาน International Public Opinion on Climate Change 2022 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจ คิดเป็น 40% และมีเพียง 28% ที่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการลดสาเหตุการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบว่า 35% เห็นว่าควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งผลการสำรวจสะท้อน ถึงความตระหนักและความใส่ใจของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีสมาชิกสหประชาชาติที่เข้าร่วมในความตกลงปารีส ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2573 แบ่งเป็นการดำเนินการได้เองในประเทศ 30% และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 10% และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2590 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ให้ได้จริงนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากกว่าการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เจตนารมณ์

ในส่วนของภาคธุรกิจในประเทศไทย จากผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ต่อการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2565 พบว่า มีเพียงหนึ่งในสี่ของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 ราย ที่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยยอดรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลมีสัดส่วน 20.73% มีปริมาณ 384.41 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

ขณะที่ปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสมภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึง 31 มกราคม 2566 มีจำนวน 13.97 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งแนวโน้มที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส องค์กรธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการและเป็นผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จะขับเคลื่อน ESG แบบ ‘ห่วงเรา’ หรือ ‘ห่วงโลก’

ESG for SME

6 ทิศทางพาองค์กรสู่ ESG

ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงการเดินหน้าส่งเสริม ESG ให้กับองค์กรธุรกิจไทยใน 6 ทิศทางสำคัญว่า เรื่อง ESG เป็นเรื่องที่สำคัญมากในโลกธุรกิจปัจจุบัน ซึ่ง 6 ทิศทางที่สถาบันไทยพัฒน์ต้องการแนะนำได้แก่

ทิศทางที่ 1 ESG as an Enabler From ‘Risk Management’ to ‘Opportunity Identification’

การสร้างคุณค่ากิจการโดยมีข้อพิจารณาด้านต้นทุนและการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นแกน มักจะถูกผลักดันจากมาตรการจูงใจและภาษีสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านบุคลากรและนโยบายต่อต้านการฟอกเงินและการติดสินบน ขณะที่การสร้างคุณค่ากิจการ โดยมี ESG เป็นแกนมักจะขับเคลื่อนจากพันธกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลที่คำนึงถึงความหลากหลาย และแผนงานการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ในปี 2566 ธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ จะนำเรื่อง ESG มาใช้ เป็นโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อตลาดตามทิศทาง และกระแสโลกที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความ หลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) บนพื้นฐานการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

ทิศทางที่ 2 Industry-specific Taxonomy From ‘ESG in General’ to ‘ESG in Sectoral’

แม้การกำหนดประเด็น ESG สําหรับดำเนินการ อย่างเรื่องการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การไม่เลือกปฏิบัติ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลกับทุกกิจการ แต่ประเด็นอย่างเรื่องการใช้ที่ดิน การจัดการของเสียอันตรายในภาคอุตสาหกรรม การเข้าถึงบริการในภาคการแพทย์และการดูแลสุขภาพ จะนับเป็นประเด็น ESG ที่เกี่ยวเนื่องกับลักษณะธุรกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสาขา ทำให้การดำเนินงานเรื่อง ESG ของกิจการจึงต้องครอบคลุมทั้งประเด็นทั่วไปที่เป็นพื้นฐานสำคัญและประเด็นที่จำเพาะเจาะจงตามบริบทของอุตสาหกรรม

ในปี 2566 หน่วยงานกํากับดูแลในประเทศไทยจะริเริ่มจัดทำแนวทางและการแบ่งหมวดหมู่ประเด็นด้าน ESG จําเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล เช่น ธนาคาร ตลาดทุน ประกันภัย พลังงาน โทรคมนาคม เป็นต้น ตามความพร้อมของหน่วยงาน และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ทิศทางที่ 3 ENERGY Double Materiality From ‘Outside-in’ to ‘Inside-out’ Approach

หลักการทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Principle) เป็นการระบุประเด็นสาระสำคัญที่นำเกณฑ์ผลกระทบทางการเงินอันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ (Outside-in) มาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ผลกระทบ อันเกิดจากการกระทำขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Inside- out) สำหรับนำไปใช้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยสารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบจะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม

ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSR Directive) ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทขนาดใหญ่ เปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามหลักการทวิสารัตถภาพ ซึ่งจะมีบริษัทประมาณ 50,000 แห่ง ที่ต้องเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนตามข้อกำหนดใหม่นี้ ซึ่งในปี 2566 กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต้องแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) รวมทั้งความคาดหวังของ ผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพ เชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ควบคู่กัน

ทิศทางที่ 4 Climate Action From ‘Voluntary Practices’ to ‘Mandatory Requirements’

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ยกระดับการดำเนินงานจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้

สำหรับภาคเอกชนไทยที่ทำการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และเป้าหมาย Net Zero จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวในเรื่องการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจาก ภาคสมัครใจมาสู่ภาคบังคับ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกในรูปของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ทิศทางที่ 5 Lean Operation From ‘Doing more with best’ to ‘Doing more with less’

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนมกราคม 2566 คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ อยู่ที่ 2.9% ลดลงจากอัตราการเติบโตในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3.4% โดยเป็นผลพวงจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงและผลกระทบจากสถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ขณะที่สภาพัฒน์ฯ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 ว่าจะขยายตัวในช่วง 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่การส่งออกสินค้ายังชะลอตัวในปีนี้ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากการส่งผ่าน ต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนสูงต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังมีการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลที่หลากหลายและบริการดิจิทัล นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนพนักงาน อาคาร และสถานที่ โดยจะพร้อมรับคำขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในปีนี้

โดยธุรกิจที่เดิมยึดหลักแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้านจะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการกระชับต้นทุนและขนาดของกิจการสู่การเป็น Lean Operation ภายใต้หลัก “Doing more with less” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ขององค์กรอีกทางหนึ่ง

ทิศทางที่ 6 Proof of Governance From ‘Responsibility at the Workplace’ to ‘Accountability at the Board Level’

จากข้อมูลดัชนี BTI (Bertelsmann Transformation Index) ที่บ่งชี้ถึงสถานะการพัฒนาและธรรมาภิบาลของประเทศกำลังพัฒนาต่อกระบวนการปริวรรตเศรษฐกิจและการเมืองใน 137 ประเทศ พบว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลอยู่ที่ 4.02 จาก 10 คะแนน โดยดัชนีธรรมาภิบาลของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 92 จาก 137 ประเทศ ขณะที่การสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านธรรมาภิบาลของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 ราย อยู่ที่ 3.92 คะแนน จาก 10 คะแนน

สำหรับในแง่ขององค์กรธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการเป็นบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ในฐานะผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่จะกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ถือหุ้น และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการที่เหนือจากความรับผิดชอบในที่ทำงานของผู้ปฏิบัติงาน หรือฝ่ายบริหารในองค์กร

อีกทั้งในปี 2566 นี้ ธุรกิจที่ประกาศแนวทางการดำเนินงานโดยยึดกรอบ ESG นอกจากการ แสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์ธรรมาภิบาลด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาท ฐานะของผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

คณะวิทย์ มธ. เปิดตัว ‘Oryzwel’ ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช เติมหวานได้ แคลอรี่ต่ำ

มูลค่าการส่งออกไทย หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 4 แต่ยังพอมีแรงหนุนจากจีนเปิดประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ