TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewทศวรรษที่ 3 ของครี-ฟูล นำเทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดของลูกค้า

ทศวรรษที่ 3 ของครี-ฟูล นำเทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดของลูกค้า

ครี-ฟูล อินทีเรีย บริษัทรับเหมาตกแต่งภายใน ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 ภายใต้การดูแลของ ‘วสันต์ เต็มแสวงเลิศ‘ ประธานบริษัท ในช่วงแรก เริ่มต้นเป็นธุรกิจภายในครอบครัว รับทำงานไม้เล็ก ๆ แต่ด้วยโอกาสที่เข้ามา เขาจึงเริ่มรับงานก่อสร้างอินทีเรียสเกลและพื้นที่ใหญ่ขึ้น จนมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 25 ปี ครี-ฟูลถือเป็นพี่ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมตกแต่งภายในของประเทศไทย สามารถขยายโรงงานและมีคลังสินค้าขนาด 4,000 ตร.ม. เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของออฟฟิศ สำนักงานบริษัทระดับโลก ที่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยอย่าง Apple, Amazon, Google, Facebook และบริษัทชั้นนำของไทยอีกมากมาย

เอิ๊ก – ปัญญาพล ศรีตั้งศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครี-ฟูล จำกัด ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับไม้ต่อจาก ‘วสันต์’ ซึ่งเป็นอาได้ประมาณ 5 ปี เล่าให้ The Story Thailand ฟังถึงความสำเร็จของครี-ฟูลในวันนี้ว่า จากประสบการณ์ที่ยาวนาน การทรานส์ฟอร์มธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงาน รวมถึงมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานให้บริษัทต่างชาติ ทำให้วันนี้มีนักลงทุนให้ความสนใจ เข้ามาเสนอเงินลงทุน เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตของบริษัท รวมถึงโมเดลธุรกิจที่ครี-ฟูลใช้

“มีนักลงทุนเข้ามาขอติดต่อ สนใจ อยากจะส่งเสริมเรา อยากให้เราเติบโตในอุตสาหกรรมนี้อย่างชัดเจนขึ้น ด้วยเงินทุนที่ค่อนข้างเยอะ เขาเชื่อว่าเราจะสามารถโตได้อีก 2-3 เท่า เราก็สำรวจความเป็นไปได้ และรับฟังการเติบโตของธุรกิจในมุมมองของนักลงทุนมากขึ้น”

อยู่แบบเดิมก็รอด แต่ทรานส์ฟอร์มแล้วโดดเด่นกว่า 

นับตั้งแต่เอิ๊กเข้ามาทำงานให้กับครี-ฟูลได้ประมาณ 5 ปี ช่วงแรกทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 20-30 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรับเหมาตกแต่งภายในแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือทรานส์ฟอร์มธุรกิจเท่าใด ทุกอย่างยังเป็นการพึ่งพาแรงงาน การทำบัญชี การส่งแบบยังต้องใช้กระดาษ ทำให้เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ที่เขาต้องลงมาทำงานร่วมด้วย

เอิ๊กบอกว่า ธุรกิจรับเหมาตกแต่งหากไม่ทรานส์ฟอร์มก็อยู่ได้ แต่หากทรานส์ฟอร์มจะมีโอกาสที่โดดเด่นขึ้นมา ทำให้ช่วง 2-3 ปีหลัง เขาค่อนข้างเขาสนุกกับการทรานส์ฟอร์มบริษัท ในรูปแบบที่เขาเชื่อ คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้กับงานรับเหมาตกแต่ง

“เมื่อก่อนเราค่อนข้างยึดติดว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องใช้แต่แรงงาน ใช้คนเยอะ คนต้องดี วันนี้เราเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างได้ดีขึ้น โลกเปิดกว้างขึ้น เห็นตัวอย่างของต่างประเทศ เห็นการเปลี่ยนแปลงของที่อื่นมา ทำให้เราเริ่มต้นได้ง่ายมาก สิ่งที่เราเห็น เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาช่วยเราแค่ขั้นตอนการผลิต มาช่วยในการสื่อสารให้ลูกค้าเห็นภาพในภาษาที่เขาไม่เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยี ช่วยเพิ่ม “ประสบการณ์”

ในอดีตที่ผ่านมา การรับงานรับเหมาก่อสร้างจะมีรูปแบบคล้าย ๆ กัน คือลูกค้าส่งแบบมาให้ผู้รับเหมา จ่ายเงิน ทำเสร็จ ลูกค้าเข้ามาดู ขอให้ทำเสร็จตามเวลา แต่ ณ วันนี้โลกเปลี่ยนไป การใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ลูกค้าได้เห็นภาพชัดขึ้น มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์งานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าต่างประเทศที่ไม่สะดวกบินมาดูหน้างานในเมืองไทยได้

“วันนี้ฟิลลิ่งลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะ เขาอยากมีส่วนร่วมกับช่วงเวลาก่อสร้างของเรา ฉะนั้น หากเรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เขาเห็นเป็นภาพ เป็นโมเดล จับต้องได้ และรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับกระบวนการทำงานตลอดเวลา ลูกค้าจะได้ประสบการณ์ที่ดีและอยากจะมีประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ในครั้งต่อ ๆ ไป เราเองก็รู้สึกสนุกกับโปรดักส์ที่เราทำ เพราะลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

สำหรับเทคโนโลยีที่ครี-ฟูลนำมาเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้านั้น คือการใช้งานโปรแกรม BUILK 360 ที่พัฒนาร่วมกับโลคอล พาร์ตเนอร์อย่าง โบ๊ท-ไผท ผดุงถิ่น แห่ง BUILK ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคล้าย ๆ Google Street View ทำให้ลูกค้าเห็นภาพงานก่อสร้างจริง เกือบเรียลไทม์สามารถเดินเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของโปรเจกต์ก่อสร้างซึ่งเป็นพื้นที่ของเขาได้แบบเวอร์ชวล

“จากเดิมที่เมื่อก่อน เราใช้วิธีการถ่ายรูปเป็นช็อต ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการที่คนที่ไม่เข้าใจงานก่อสร้าง ต้องมาดูรูป พอเป็น 360 เหมือนลูกค้าเดินดูงานของเราใน Google แผนที่ เข้าใจงานตัวเองมากขึ้น สนุกกับโครงการเขา ส่งผลมาถึงเรา รู้สึกว่าการที่เราเอาเทคโนโลยีมาทำใช้สื่อสารกับลูกค้า ทำให้เขามีประสบการณ์ที่ดี เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์”

ลูกค้าส่วนใหญ่ของครี-ฟูลจะเป็นบริษัทอินเตอร์ อย่าง Facebook, Google, Amazon, Apple ที่ไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้ในช่วงปีที่ผ่านมา โปรแกรม BUILK 360 จึงเป็น tool ที่ลูกค้าค่อนข้างได้รับผลประโยชน์ที่ชัดเจน ช่วยให้เข้าใจกระบวนการหน้างาน ผ่านการสื่อสารแบบเวอร์ชวล ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ เขายังส่งต่อแนวทางนี้ให้กับลูกค้าในประเทศไทย สามารถเดินทางมาได้ แต่ยังอยากเห็นขั้นตอนการทำงาน โดยไม่ต้องเดินทางมาที่หน้างานจริง ลดความเสี่ยงระหว่างการเดินทาง โดยเขาสามารถใช้งานโปรแกรมผ่าน web-based application เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงโปรแกรมและดูงานที่บริษัทต้องการนำเสนอ

เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว เอิ๊กบอกว่าเขายิ่งสนุกในการคิด และเดินหน้ามองหน้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งของไทย และที่ต่างประเทศใช้กัน  เพื่อนำมาเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในไทยต่อ ๆ ไป

เพิ่มคุณภาพการผลิตชิ้นงาน 

นอกจากนี้ เขายังนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการผลิต โดยเป็นการเชื่อมกันระหว่างระบบอนาล็อกกับดิจิทัล เขายกตัวอย่างการผลิตในรูปแบบเดิมว่า เริ่มทำงานจากการวาดลงกระดาษ สื่อสารให้ช่างขึ้นแบบ 1:1 วันนี้เทคโนโลยีล้ำสมัยขึ้น ต้นทุนถูกลง ทำให้บริษัทสามารถทำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นำการออกแบบที่เป็นโมเดลมาใช้ประโยชน์ตั้งต้นได้หลายทาง ทั้งการเอาโมเดลไปสื่อสารกับเครื่องจักรให้ตัดชิ้นงานตามโมเดล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ ที่ออกแบบงานยาก ๆ มา และใช้เทคโนโลยีช่วยตัด เพื่อให้ได้แบบได้ตามความต้องการ

“เพราะเมื่อก่อนมีข้อจำกัดที่คนยังทำได้ไม่ถึง ไม่มีความแม่นยำพอ พอเราทำให้มันเป็นดิจิทัล เครื่องจักรมาช่วยเรา เราตอบโจทย์ความต้องการของดีไซน์เนอร์ได้มากขึ้น เขาก็สนุกในการทำงานกับเรา”

เขายกตัวอย่างงานที่ทำให้กับออฟฟิศ Google ประเทศไทยว่า ลูกค้าต้องการทำให้ผนังห้องเป็นแผนที่กรุงเทพ ต้องทำถนนเหมือนแผนที่จริงมีแม่น้ำ มีตึก จึงใช้เครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ซึ่งควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ มาตัดให้ตามแผนที่ ทำให้ได้ชิ้นงานที่ละเอียดมาก ซึ่งหากใช้แรงงานคนทำก็ไม่สามารถทำได้ละเอียดขนาดนี้ 

“ถ้าเป็นแบบเดิม ดีไซน์เนอร์ออกแบบมา พริ้นต์ส่งให้ช่างเป็นกระดาษ ให้ช่างทำตามกระดาษเราเป็นแมนนวล ซึ่งจะไม่ละเอียดเท่านี้”

เทคโนโลยีดังกล่าว จริง ๆ แล้วมีมานานแล้ว แต่ทำในขั้นตอนง่าย ๆ วันนี้เราแอดวานซ์ขึ้น จึงนำมาตอบโจทย์ลูกค้าในมุมกว้างขึ้น ให้มีศักยภาพมากขึ้น แบบยากขึ้น มีความซับซ้อนมาก และผลออกงานออกมาราบรื่นขึ้น 

“เมื่อก่อนตัดไม้แผ่นนึง ที่เหลือเราก็ทิ้ง การที่เอาเครื่องจักรมาวางแผน มันจะจัดเรียงชิ้นงานให้ ให้เหลือพื้นที่ว่างบนไม้น้อยที่สุด ช่วยลดต้นทุน ลดเวลา เป็นการช่วยรักษาโลกในระดับหนึ่ง”

นอกจากนี้ การใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนคน ยังทำให้ครี-ฟูลควบคุมเวลาการทำงานและละชิ้นได้ รวมถึงการควบคุมคุณภาพการผลิต ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

“กระบวนการที่เราทำ คือเราเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้เครื่องจักรเข้าใจภาษาที่ดีไซน์เนอร์เขียน เพียงนำโมเดลที่ลูกค้าต้องการมาใส่รายละเอียด ว่าจริง ๆ แล้วต้องใช้ไม้กี่แผ่น ใช้น๊อต ใช้สกูลตรงไหนบ้าง ใช้ฟิตติ้งตรงไหน ออกมาเป็นโมเดล จากนั้นส่งไปที่เครื่องตัด เครื่องก็จะตัดเป็นชิ้น ๆ  ช่างผมวันนี้ มีหน้าที่ประกอบตามแบบที่กำหนด เสร็จปุ๊บก็ยกไปติดตั้งที่โรงงาน เก็บความละเอียด ความเรียบร้อย”

ในส่วนของคำสั่งต่าง ๆ ว่าจะใช้ไม้กี่แผ่น น๊อตกี่ชิ้น จะมีทีมเขียนแบบ โปรแกรมมิ่งเป็นคนเซ็ตมาตรฐานให้ มีหลักในการเลือกว่าถ้าต้องการต่อแบบนี้ ควรใช้อุปกรณ์ยี่ห้ออะไร น็อตรุ่นอะไร ล็อกรุ่นไว้เลย เพราะแต่ละรุ่นจะมีระยะห่างต่างกัน ตัวโปรแกรมจะ Auto Generate ในระดับหนึ่ง 

“สมมติเราจะเอาบานพับ กดปุ๊บมันจะออโต้ตามที่เราเลือกมา ตู้ตัวหนึ่งจะมีคำสั่งออโต้ค่อนข้างเยอะ คนก็จะรีวิว ว่าโอเค ถูกต้อง ก็ส่งไปให้เครื่องผลิต”

เมื่อก่อนขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ในการอธิบายแบบให้ช่างเข้าใจ วันนี้เขาใช้เวลาคิดแบบอธิบายแบบในคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาน้อยกว่า ที่สำคัญลดความผิดพลาดจากแรงงานคนได้เยอะมาก 

“การที่รีวิวบนโมเดลไม่มีต้นทุนสูงเท่าใด แต่การที่เราไปลองทำจริงแล้วเจอข้อผิดพลาดหมดต้นทุนสูง เราได้ทั้งเรื่องเวลา ลด Humen error เครื่องจักรทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว”

ความสำเร็จจากการทรานส์ฟอร์ม

จากที่เขาเคยบอกว่าหากไม่เปลี่ยนก็อยู่ได้ แต่เปลี่ยนแล้วจะดีกว่า วันนี้เอิ๊กพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในตามแนวคิดของเขาประสบความสำเร็จจริง ๆ วัดได้จากขนาดของบริษัท ที่ก่อนหน้าเอิ๊กจะเข้ามาบริหาร สามารถสร้างรายได้ประมาณ 5-600 ล้านต่อปี วันนี้เติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่าในระยะเวลา 5 ปี มีรายได้ต่อปีประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท

“เราเลือกแนวทางในการเปลี่ยน และเชื่อว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการที่เราเปลี่ยนมา เราทำตามแนวคิดนี้มาอย่างน้อย 3 ปี ระหว่าง 3 ปี เราประสบความสำเร็จในการที่ลูกค้าแฮปปี้กับเราเยอะขึ้นเยอะมาก ลูกค้าเข้ามาหาเราอย่างต่อเนื่อง ช่วงโควิดที่ผ่านมา เราไม่ได้เจอปัญหาลูกค้าน้อยลง แต่เจอปัญหาลูกค้าเข้ามาหาเราจนเต็มศักยภาพ”

เขาบอกว่าสิ่งที่บล็อกไม่ให้บริษัทไม่สามารถทำงานได้จริง ๆ คือเรื่องมาตรการณ์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้หยุดทำงาน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขาและทีมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การบริหารจัดการทีม และการทำงานที่ดี ทำให้บริษัทสามารถรับงานได้มากขึ้น ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ จนไปแนะนำลูกค้ารายอื่นต่อ และทำให้เขามีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็ตามไป

สำเร็จแต่ไม่หยุด

เมื่อถามว่าทรานส์ฟอร์มมา 4 ปีแล้ว สำเร็จหรือยัง พอใจหรือยัง เขาบอกว่าแม้ส่วนตัวจะมองว่าวันนี้ประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่การทรานส์ฟอร์มสามารถทำได้ตลอด วันนี้เขามีเทคโนโลยี 2-3 ตัว ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะทำให้เสร็จในช่วงเวลาไหน และเขาก็เชื่อว่ายังมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ ที่ครี-ฟูลจะค่อย ๆ ศึกษาและนำมาเติมเต็มในแต่ละพื้นที่ของบริษัท 

“พูดถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง คนคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการก่อสร้าง จริง ๆ แล้วยังสามารถนำมาจัดการเรื่องบัญชี จัดซื้อ และโลจิสติกส์ พวกนี้มีเทคโนโลยีรองรับหมด ทุกวันนี้ต้นทุนพวกนี้มีราคาถูกลง พาร์ตเนอร์น่าสนใจเยอะขึ้น น่าร่วมมือด้วยเยอะมาก วันนี้หากเราจัดระเบียบความคิดดี ๆ เราจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ในหลาย ๆ พื้นที่ของธุรกิจจริง ๆ”

respect คือตัวเชื่อมโยง

อย่างที่ทราบดี ว่าเอิ๊กเพิ่งจะเข้ามารับไม้ต่อจากผู้บริหารรุ่นก่อนหน้าซึ่งมีศักดิ์เป็นอา จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 25 ปี ตอนที่เอิ๊กเข้ามาเป็นการเปลี่ยน generation ผู้บริหาร เขาเข้ามาเปลี่ยนทิศทางและวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่ทำให้บริษัทมีความทันสมัยขึ้น

และเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ ที่ทีมผู้บริหารชุดเก่า รวมถึงพนักงานส่วนใหญ่มีอายุไม่น้อยกว่า 45 ปี มีทั้งคนคุมงานในออฟฟิศ มีทีมคิดราคา มีทีมดูแบบ ทีมช่าง เป็นพนักงานที่มีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปทรานส์ฟอร์มองค์กรได้

“เนื่องจากเป็นธุรกิจในครอบครัว การที่รุ่น 2 เข้ามารับช่วงต่อ สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจเขา ดูแลเขา เพื่อให้เขาเปิดใจยอมรับ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน หลังจากที่ผ่านตรงนี้มาได้ ทีมงานและเรารู้สึกเป็นส่วนเดียวกันเยอะ เราสนุกกับการทรานส์ฟอร์มมาก”

6 เดือนแรกที่เข้ามา เขาได้รับแรงเสียดทานเยอะมาก ถูกมองว่าเพิ่งเรียนจบมา จะมีความรู้อะไรไปสอนพนักงานรุ่นเก่าที่ทำงานมา 20 ปี ซึ่งเขาคุยกับที่บ้านเพื่อคำขอแนะนำในการสื่อสารตลอด ส่วน 6 เดือนหลังเป็นช่วงหาวิธีสื่อสาร 

หลังจากผ่านไป 1 ปี เขาเริ่มทรานส์ฟอร์มหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องโปรแกรมควบคุมทั้งหมด จากแมนนวลเป็นดิจิทัล พอเริ่มเข้าใจกันได้ดี การทรานส์ฟอร์มก็สนุกขึ้น ไม่ใช่แค่ทรานส์ฟอร์มครั้งแรก แต่มีมาให้ตลอด

เมื่อถามว่าอะไรทำให้เขาซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 ที่มีอายุเพียง 30 ปี สามารถเอาชนะใจพนักงานรุ่นเก๋าได้ และยอมเดินไปในทิศทางกับเขา เอิ๊กบอกว่า “คุณอา” ซึ่งเป็นผู้บริหารคนก่อนหน้าค่อนข้างระวังเรื่องนี้ เขาจึงปลูกฝังเอิ๊กมาโดยตลอดว่า “ต้องเชื่อใจ” ในคนแต่ละเจนเนอเรชัน ว่าทุกคนมีข้อดีต่างกัน ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน 

“เจนเนอเรชันผมมีข้อดีคือเก่ง และเรียนรู้ไว เพราะเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่พี่ ๆ พนักงานมีประสบการณ์เยอะ ผ่านอะไรมาเยอะ เราต้องคุยกันโดยเอาข้อดีของแต่ละฝั่งขึ้นก่อนเสมอ แล้วเราจะเข้าใจกันมากขึ้น”

ยกตัวอย่างเวลาเจอปัญหา เอาข้อดีของแต่ละคนมาคุยกัน ใครเหมาะสมกว่า ค่อย ๆ คุย ปรับแนวทางร่วมกัน 

“สิ่งที่เจนเนอเรชันก่อนหน้ามีและภาคภูมิใจมากคือ เขามีคอนเนกชันในการคุยกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ ให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งรุ่นผมอาจไม่แข็งแรง เพราะเราไม่รู้จักเขามาก่อน ถ้าให้เราคุย อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

เพราะฉะนั้น วันนี้แม้เอิ๊กจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท แต่ตัวเขาเองยังต้องให้พื้นที่ที่เหมาะสมกับพนักงานรุ่นก่อน ที่มีประสบการณ์มากกว่า และช่วยกันคิด วางแผน ทำให้หลาย ๆ อย่างดีขึ้น 

“ปีแรกเราใช้เวลากับการปรับความเข้าใจระหว่างเจนเนอเรชัน พอผ่านมาได้ ปีต่อ ๆ มา ก็ลุยกันได้ สนุกมาก”

เอิ๊กบอกว่าการทรานส์ฟอร์มทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้บริษัทดีขึ้น เขายกตัวอย่างว่า จากการที่เราเป็นธุรกิจในครอบครัวมาก่อน มีไซต์งานอยู่ 5 ที่ บัญชีก็ต้องจด 5 ไซต์ พอเติบโตขึ้นเป็น 10 ไซต์ ทำบัญชีระบบเดิมไม่ไหว ต้องทรานส์ฟอร์มเอาระบบเข้ามาช่วยคุมงานทั้งหมด ช่วยควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย

“พี่ ๆ พนักงานเขาก็รู้สึกพอใจ มีระบบช่วยจำ ไม่ต้องจำ จด นึก หรือเก็บกระดาษเอง สามารถทำ 10 ไซต์ได้โดยใช้พนักงานแค่ 1-2 คน เขาก็รู้สึกว่าเขาช่วยพัฒนาองค์กรได้”

เทคโนโลยีช่วยยกระดับความพึงพอใจลูกค้า

เอิ๊กให้คำนิยามของครี-ฟูลว่าเป็นบริษัท interior constructor technology เพราะเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำพื้นที่ข้างใน ใช้สำหรับงานตกแต่งภายใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ construction tech

ปัจจุบันมีบริษัทรับเหมาตกแต่งภายในหลาย ๆ แห่ง เริ่มสนใจและกำลังศึกษา ทดลองนำเทคโนโลยีมาช่วยธุรกิจกัน ซึ่งการที่จะทรานส์ฟอร์มจากรุ่นสู่รุ่นได้ ต้องใช้พลังและศักยภาพ เพื่อให้ไปในทิศทาง รูปแบบที่คล้ายกัน

“ผมเชื่อว่าวันนี้เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเข้าถึงง่ายขึ้น ราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก ถ้าเราเปิดใจเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาการทำงาน เราจะเห็นประโยชน์เยอะมาก ผมคิดว่าหลาย ๆ บริษัทก็หาแนวทางอยู่ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าของเขาให้ดีขึ้น มันเป็นจุดแข็งทางอ้อมที่เขาจะชนะใจลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้าสบายใจ และเชื่อใจบริษัทมากขึ้น”

เขามองว่าความต้องการของลูกค้า ขั้นต้นมาจาก 3 อย่าง คือ 1. ทำให้ได้ตามเวลา 2. ทำให้ได้ตามงบประมาณ และ 3. ทำให้ได้คุณภาพที่ดี ซึ่งไม่มีไม่มีคำจำกัดความชัดเจนว่าต้องทำเท่าไรถึงจะพอ เพราะความต้องการลูกค้ามีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“คุณใช้เวลาหนึ่งเดือน ทำให้เหลืออาทิตย์เดียวได้ไหม คุณเคยใช้เงิน 100 บาท ใช้แค่ 95 บาทได้ไหม คุณทำสวยแล้ว แต่ทำให้สวยขึ้นอีกได้ไหม ลูกค้ามีความต้องการมากขึ้นในโจทย์ที่เปลี่ยนไป ตัวช่วยที่ทำให้เราไปถึงตรงนั้นได้ง่ายขึ้นคือเทคโนโลยี”

ไม่เพียงแต่ประสบการณ์ที่ดี การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรับเหมาตกแต่งภายในสามารถทำได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพงานที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น การสร้างชิ้นงานที่มีรายละเอียด และรูปแบบที่ยากขึ้น ซึ่งหากใช้คนทำอาจทำไม่ได้ หรือช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่ลูกค้า 

“เราใช้เทคโนโลยีเพื่อมาตอบโจทย์ Customer Centric (การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง)”

การพัฒนาที่ไม่มีวันสิ้นสุด

แม้ครี-ฟูลจะป็นอินทีเรียระดับแนวหน้าของประเทศ แต่เอิ๊กมองว่าจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นอีกแรงกระตุ้นที่ทำให้เขาและทีมงานต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา 

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า นี่เป็นเหตุผลทางอ้อมที่ส่งเสริมให้ครี-ฟูลเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น ๆ

“วันนี้เราเติบโตด้วยด้วยความคิดที่ว่า เราสนุกกับการที่เราอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ และทำให้ลูกค้าสนุกไปกับเรา ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุดจากเรา เราเริ่มจากแนวความคิดนี้ จนเราหยุดพัฒนาไม่ได้ ลูกค้าบอกว่าคุณทำ 360 ให้ดูอาทิตย์ละครั้ง มา 3 อาทิตย์ครั้งได้ไหม เป็นเรียลไทม์ได้ไหม ลูกค้าบอกว่าเคยทำชิ้นนี้มาให้สวย แต่ทำมาครึ่งเดียว ตั้งต่อไปอยากได้แบบเต็มอันได้ไหม” 

ขยายตลาดไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี กลุ่มลูกค้าหลักของครี-ฟูล คือ คนที่เข้ามาสร้างออฟฟิศในกรุงเทพ มีทั้งลูกค้าบริษัทไทย และบริษัทต่างชาติ ปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่มนี้ยังเหมือนเดิม เพียงแต่มีความต้องการมากขึ้น ซึ่งหากต้องการออฟฟิศที่มี functional และ full-function ส่วนใหญ่จะนึกถึงครี-ฟูล

วันนี้ครี-ฟูลเติบโตขึ้น มีศักยภาพในการรองรับลูกค้าที่มากขึ้น แต่ตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างใหญ่ ปีหนึ่งประมาณหลายหมื่นล้านบาท  ครี-ฟูลมีศักยภาพในการรองรับประละประมาณพันกว่าล้านบาท เพราะฉะนั้น ยังมีช่องทางทางการเติบโตอีกมาก ครี-ฟูลยังเป็นแค่สัดส่วนเล็ก ๆ 

เขามั่นใจว่าด้วยเทคโนโลยีและความสามารถที่ครี-ฟูลมี สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอื่นได้ ทั้งบ้าน รีเทล โรงแรม วันนี้เขามองธุรกิจตัวเองเปลี่ยนไป เริ่มมีการคุยกับผู้บริหารท่านอื่น เพื่อขยายบริการออกไป นอกเหนือจากการตกแต่งออฟฟิศ ที่อยู่ใน CBD Area (ศูนย์กลางการทำธุรกิจในกรุงเทพ)

“วันนี้ระบบการขนส่งสื่อสาร การติดตามงานเราทำได้ดีขึ้น ในระยะยาวเราเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายตลาดไปถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หัวหิน พัทยาได้”

“ผมเชื่อว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและตกแต่ง เป็นพื้นฐานของการสร้างเศรษฐกิจที่ดี วันนี้เราทำตัวเองให้แข็งแรง และเพิ่มศักยภาพในการดูแลพื้นที่อื่น ๆ ในระยะยาว”

พื้นที่เขตเศรษฐกิจที่เอิ๊กสนใจ จะเริ่มจากสำนักงานลูกค้าก่อนเป็นอันแรก เนื่องจากเป็นจุดแข็งที่ครี-ฟูลมี ถัดมาคือ residencial area หรือห้าง รีเทล เชื่อว่าตลาดใหญ่มากเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของเขาได้อีกหลายเท่า

WFH ดัน co-working space โต

ตัวเลขหมื่นบ้านบาทมาจากการที่มีการลงทุนสร้างตึกในกรุงเทพจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือจะมีความต้องการตกแต่งภายในเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการรื้อถอนสำนักงานเดิม เพื่อคืนพื้นที่ ปรับเปลี่ยนเลย์เอาต์ออฟฟิศ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรที่เปลี่ยนไป รวมถึงการ work from home หรือนโยบายการลดพื้นที่ออฟฟิศ ซึ่งเป็นเทรนด์ให้ครีฟูลต้องปรับตัว

“แม้บริษัทจะมีนโยบาย work from home  แต่ในอีกขาหนึ่ง ลูกค้าขอให้เราไปทำพื้นที่ที่บ้านเขา ให้เป็นพื้นที่ออฟฟิศ ในทางกลับกัน ลูกค้ากลุ่มหลักที่บอกว่า work from home ได้ เขาก็อยากมีพื้นที่ที่เป็น co-working space ในบรรยากาศที่เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน”

“วันนี้มีกลุ่มที่ลดพื้นที่เพื่อให้พนักงาน work from home แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่สนับสนุนให้ลูกค้าออกมาทำงานในสถานที่กลางที่ไม่ใช่บริษัทตัวเอง หรือ co-working space ทำให้ co-working space ผุดขึ้นมาเยอะมาก ก็ความต้องการการตกแต่งภายในเพิ่มมากขึ้น”

สัดส่วนลูกค้าที่เปลี่ยนไป ลูกค้าต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

หลังจากที่เขาเข้ามาทรานส์ฟอร์มบริษัท ส่งผลให้วันนี้สัดส่วนลูกค้าของครี-ฟูลเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีลูกค้าต่างชาติเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ด้วยโอกาสที่เข้ามา ประสบการณ์การทำงานและเรียนรู้งานจากต่างชาติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ ทำให้ครี-ฟูลถูกจับตามองจากลูกค้าต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อง ๆ 

“ออฟฟิศ Apple, Facebook, Google ในประเทศไทย มีความต้องการใหม่ ๆ ที่เราไมเคยเจอมาก่อนในไทย ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้ และทำงานนั้นให้ดี เราก็มีความรู้เพิ่มขึ้น”

เขายกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง ที่เคยลงทุนทำออฟฟิศให้สวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า และพนักกงาน วันนี้เขาเลือกที่จะให้ครี-ฟูลทำห้องที่มีฟังก์ชันที่รองรับการทำงานของ Metaverse เพื่อให้พนักงานเลือกออกแบบ ตกแต่งห้องทำงานของเขาเองได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความท้าทายใหม่ของครี-ฟูล ที่ต้องคิดและทำออกมาให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

อีกมุมหนึ่งที่เขาค่อนข้างสนใจคือ เขามองว่าธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายใน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ไม่น้อย เป็นธุรกิจไม่กี่ประเทศ ที่สามารถผลักดันให้เกิดห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้นในประเทศไทย แรงงานที่ใช้เป็นคนไทย 

“การที่เราเป็นบริษัทไทย และเข้าไปดูแลลูกค้าบริษัทต่างชาติ ทำให้เราได้รายได้จากต่างประเทศ มาสร้างเศรษฐกิจในเมืองไทย”

ทุกวันนี้เขาค่อนข้างอยากให้เด็กรุ่นใหม่มาพิจารณา แลเะให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้ เพราะมองว่า หากเด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่ช่วยกัน โอกาสนี้จะตกเป็นของผู้รับเหมาชาวจีน สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ที่จะเข้ามาตั้งบริษัท และทำพื้นที่ในไทยแทน สุดท้ายรายได้พวกนี้จะไหลออกสู่นอกประเทศ

เมื่อถามกลัวการมีคู่แข่งที่เป็นบริษัทไทยไหม เขาไม่เคยกลัว ยินดีแชร์ประสบการณ์และความรู้ให้ ยินดีให้คำปรึกษาด้านการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ หากเป็นโปรดักส์ที่ครี-ฟูลใช้อยู่ เขาก็ยินดีแนะนำ และขอส่วนลดให้

“ผมไม่ได้รันธุรกิจนี้ เพราะต้องการให้เขายิ่งใหญ่คนเดียวในตลาด เราต้องร่วมกันสร้างอิมแพกที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ เราจะสนุกกับการสร้างสิ่งดี ๆ ร่วมกัน สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมนี้ร่วมกัน”

เอิ๊กยกตัวอย่างบริษัทของเขา ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ รายได้ที่เข้ามาสามารถกระจายลงไปสู่คนทำงานในพื้นที่เดียวกันในทุกระดับ ที่แต่ก่อนมีพนักงานเพียง 100 คน ปัจจุบันมี 300 คน พนักงานมีงานทำ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวเขาได้ แม้ช่วงโควิด ที่หลายบริษัทต้องปิดตัวลง กลับมาพนักงานของครี-ฟูลเข้ามาขอบคุณเขา ที่ทำให้เขายังมีรายได้ และผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

เขาบอกว่าอุตสาหกรรมรับเหมาตกแต่งภายใน คิดเป็น 30-40 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทุกตึกที่สร้างขึ้นมา แม้แต่คลังสินค้าต่าง ๆ ล้วนจำเป็นต้องตกแต่งภายใน

“ผมคิดว่าวันนี้ประเทศเราก็ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการก่อสร้างในระดับใหญ่ เรามองเห็นว่าประเทศเรามีการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ CBD แล้ว รวมถึงตึก ชอปปิ้งมอล์ สิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์การแสดงสินค้าใหญ่ ๆ ทำให้สุดท้ายแล้ว งานรับเหมาตกแต่งภายในก็ยังรีไวน์ที่จะรองรับการเติบโต เพื่อมารับรองรับเติบโตของประเทศอยู่ดี โตตามอุตสาหกรรมการก่อสร้าง”

บริษัทสีเขียว

ไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญกับพนักงาน ลูกค้า และพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ แต่เอิ๊กยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของเขาด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้กับประเทศสูงสุด ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมตกแต่งภายในของครี-ฟูล ที่เอิ๊กบอกว่าตนให้ความสำคัญเต็มที่ เพราะต้องการรับผิดชอบในสิ่งที่สร้างมา และจะพยายามไม่สร้างมากขึ้น

“เราให้ความสำคัญกับวัสดุที่ผ่านกระบวนการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ SCG ในการที่จะใช้สินค้าและทำงานร่วมกัน ร่วมมือกับผู้ผลิตในสนับสนุนใช้สินค้าที่ลดการใช้คาร์บอนฟุ๊ตปริ้นให้มากที่สุดเป็นตัวเลือกแรก”

ยกตัวอย่างการเลือกใช้ ไม้อัด MDF (Medium Density FiberBoard) จะเลือกใช้ตัวที่มีสารที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์น้อยที่สุด ในพื้นที่ตกแต่งภายใน ไม้เกรดถูกสุดจะมีสารปนเปื้อนเยอะสุด วันนี้ครี-ฟูลยินดีที่จะใช้วัสดุที่ดีขึ้น

นอกจากนี้เอิ๊กยังสนับสนุนให้พนักงานในบริษัทใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยติดตั้งเครื่องชาร์จไว้ที่โรงงานให้พนักงานได้ใช้ฟรี และยินดีติดตั้งเพิ่มหากพนักงานมีการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

“วันนี้มีพนักงานเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าแล้ว 3-4 คน รวมถึงทีมผู้บริหารด้วย จริง ๆ เรากำลังต่อรองดอกเบี้ยให้กับพนักงานที่สนใจซื้อรถไฟฟ้า โดยใช้เครดิตของบริษัท เราพร้อมให้การช่วยเหลือ เพราะหลายครั้งเขาต้องมาเบิกค่าเดินทางกับเรา ถ้าใช้รถไฟฟ้า เขาไม่ต้องมาเบิกค่าเดินทาง เราให้เขาชาร์จฟรี”

นอกจากนี้ ครี-ฟูลยังมีความต้องการจะเปลี่ยนรถโฟล์คลิฟท์ ไปใช้แบบไฟฟ้า แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นแต่คุ้มค่า แต่สำหรับรถฟลีต ที่มีข้อจำกัดด้านกำลังที่ต้องขนของหนักขึ้น อาจทำให้รถไฟฟ้ายังไม่ตอบโจทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ใช่แค่รถกะบะอย่างเดียว แต่ด้านหลังยังมีไฮดรอลิก ซึ่งจะช่วยผ่อนแรง และลดความเสียหายจากการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงงานคน

“วันนี้ เราวางแผนติดโซล่าห์เซลล์ทั้งแผง เพื่อให้เครื่องจักรใช้งานจากโซล่าเซลล์ให้มากที่สุด ออฟฟิศจะใช้แอร์จากโซล่าเซลล์ให้มากที่สุด เราศึกษากันมาระดับหนึ่งว่ามันคุ้มทุน ผมคิดว่าอีกไม่กี่ปี ครี-ฟูลจะมีที่ชาร์จเรียงที่มาจากโซลาเซลล์ให้ทุกคนได้ใช้กัน”

ไม่เพียงเท่านั้น เอิ๊กยังวางแผนการทำงานของบริษัท โดยจะ generate ออกมาเป็นรายงานให้ลูกค้าเห็นภาพมากขึ้นว่า ถ้าหากลูกค้่าให้ครี-ฟูลทำงานให้ บริษัทสามารถช่วยลูกค้าลดสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เขาเชื่อว่าหากทำสำเร็จ ลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะสนใจอยากจะมาร่วมงานกับครี-ฟูลมากขึ้น 

เตรียมสร้างสตาร์ทอัพ

ในอนาคต เอิ๊กวางเป้าหมายของครี-ฟูลไว้ว่าจะเป็นบริษัทรับเหมาตกแต่งภายในที่ดิจิทัลในทุกขั้นตอนการทำงาน เพราะเขามองเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาดิจิทัลสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตัวเขา พนักงาน ลูกค้า และพาร์ตเนอร์ได้มากแค่ไหน

“เราพูดคุยกันง่ายขึ้น เห็นภาพง่ายขึ้น สร้างโมเดล และชิ้นงานออกมาง่ายและเร็วยิ่งขึ้น ดีขึ้น ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ทั้งหมดนี้ทำได้โดยแค่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้”

สำหรับธุรกิจของครี-ฟูล วันนี้เขามั่นใจว่าบริษัทเติบโตในแนวทางที่ชัดเจน ทำให้วันนี้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลุงทุนกับครี-ฟูลค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นวันนี้เขาจึงเดินหน้าสร้างธุรกิจที่เขาได้เข้ามาช่วยครอบครัวบริหารให้แข็งแรง รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับธุรกิจหลักของเขา ในการที่จะเข้าไปทำให้ห่วงโซ่ หรือระบบนิเวศน์ของครี-ฟูล แข็งแรงยิ่งขึ้น

“เนื่องจากเรามีความเข้าใจในธุรกิจหลัก เห็นช่องโหว่ว่าธุรกิจหลักได้รับผลกระทบอะไรจากห่วงโซ่ เราสามารถเข้าไปช่วยเขาได้ อาจเอาเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพ หรือสร้างบริษัทเล็ก ๆ เพื่อเติมช่องโหว่ให้กับห่วงโซ่ในวงการนี่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ในมุมของเขา คิดว่าอนาคตครี-ฟูลจะไม่ใช่บริษัทรับเหมาตกแต่งภายในอย่างเดียว เขาวางแผนมีบริการรูปแบบอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง และรับเหมาตกแต่งภายในทั้งหมด เพื่อรองรับการเติบโตของครี-ฟูลในอนาคต

“วันนี้ครี-ฟูลเติบโตมาด้วยรายได้หลักช่องทางเดียว เรามีบุคลากรที่แข็งแรงขึ้น มีทรัพยากรที่ดีขึ้น มีความเข้าใจในห่วงโซ่เรามากขึ้น ผมคิดว่าเราสามารถแตกไลน์ไปดูแลในพื้นที่อื่น ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งเราก็เริ่มบ้างแล้ว”

การสร้างสตาร์ทอัพ เป็น venture builder เป็นอีกแผนหนึ่งที่เอิ๊กตั้งใจจะทำ เพื่อผลักดันให้ครี-ฟูลมีการเติบโตมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้แก่พนักงานคนอื่น ๆ 

“เราวางแผนให้พนักงานเข้าไปถือหุ้น เพื่อที่เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในรูปแบบของเขา วันนี้บริษัทลงทุนให้ก่อน ทำโมเดลชัดเจนเมื่อเรา เตรียม rais fund เราจะเติบโตให้รูปแบบนั้น”

ปัจจุบันครี-ฟูลนำโมเดลนี้มาสร้างบริษัทใหม่แล้ว 1 แห่ง ซึ่งครี-ฟูลเป็นบริษัทแม่ ที่เอาเงินไปลงทุนให้เพื่อเริ่มเจนเนอเรชันถัดไป

“จะ rais fund เมื่อไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับพนักงาน ว่าเขาจะลุยกันเต็มที่ขนาดไหน เพราะเราตั้งใจให้โอกาสพนักงาน วันนี้ตัวผมเองร่วมงานกับเจนเนอเรชันใหม่ ๆ อยากให้พนักงานก้าวไปเป็นเจ้าของบริษัทบ้าง โดยที่เราช่วยผลักดันเขา ผมยินดีเราอยากให้พนักงานเติบโตในรูปแบบนี้”

สำหรับบริษัทใหม่นี้ เป็นบริษัทที่ดูแลด้านบัญชีให้กับผู้รับเหมารายง่าย ที่เขาพยายามผลักดันให้พนักงานของเขาขึ้นเป็นซีอีโอ ในขณะที่ตัวเขาเองทำหน้าที่แบคอัพ เป็นกรรมการช่วยดูแล

“เราทำงานกับผู้รับเหมารายย่อย เรารับรู้มาตลอดว่าเขาต้องเจอกับปัญหาเยอะมาก เพราะทำบัญชีไม่เป็น มีปัญหากับสรรพากร ฉะนั้นทีมของเรามีความเข้าใจต่าง ๆ อย่างเต็มที่ จึงเข้าไปจัดการให้เป็นเรื่องง่าย เขามีผู้รับเหมาที่อยู่กับเรา 40 ราย เราดูแลเขาจนเป็นเรื่องง่าย เขาได้ภาษีคืน เราจึงอยากให้บริษัทรับทำบัญชีนี้ สามารถไปดูแลลูกค้ารายอื่น ๆ นอกเหนือจากผู้รับเหมาที่ทำงานกับเราด้วย”

เขาบอกนี่เป็นเป้าหมายสูงสุดที่เขาและทีมผู้บริหารตั้งใจไว้นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วยังยินดีที่จะผลิตสตาร์ทอัพเพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแข็งแรงขึ้นและตัวบริษัทเองก็ต้องเติบโตในทางและวิธีของครี-ฟูลเองด้วย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ก้าวใหม่ ‘ดอนเมืองโทลเวย์’ ให้บริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มุ่งส่งมอบคุณค่า สู่องค์กรเพื่อความยั่งยืน

เปิดเคล็ดลับการทำงานของ “อ้อ-พรทิพย์ กองชุน” ผู้หญิงคุณภาพของวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพไทย

“โอบอุ้ม-จิรัฏฐ์ณิชชา กิติยาณัณท์” นักธุรกิจนวัตกรรม ผู้คิด “อุโมงค์ฆ่าเชื้อ Smart Handy” กับเป้าหมาย “ไทยทำ ไทยใช้ เพื่อคนไทย”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ