TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessสื่อผสมข้ามแพลตฟอร์ม นักการตลาดต้องแม่นยำ

สื่อผสมข้ามแพลตฟอร์ม นักการตลาดต้องแม่นยำ

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคแบบ New Normal ของมายด์แชร์ แสดงให้เห็นว่ามีเพียง 14% ของผู้บริโภคที่สามารถเดินทางไปช้อปปิ้งที่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดต่าง ๆ

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หันมาซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล โดยเพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ 55 ในเดือนมีนาคม มาเป็นร้อยละ 81 ในเดือนกรกฎาคม ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ขยายช่องทางการค้าผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เกิดการผสานข้ามแพลตฟอร์มระหว่างสื่อกับอีคอมเมิร์ซ

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แผนกวิจัยและพัฒนาของกูเกิล ใน 120 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ ชื่อว่า Shoploop นำเสนอวิดีโอสั้น ๆ (ประมาณ 90 วินาที) จากผู้สร้างคอนเทนต์ เป็นการรีวิวและพูดถึงสินค้าต่าง ๆ และเชื่อมต่อกับลิงค์ของสินค้าและบริการโดยตรง ช่วยให้ผู้บริโภดสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทันที

Shoploop ทำหน้าที่คล้ายกับโซเชียล มีเดียอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคสามารถกดไลค์ และแชร์โพสต์ได้เมื่อมีการติดตามผู้สร้างคอนเทนต์ โดยที่ผู้สร้างคอนเทนต์จะได้รับผลประโยชน์จากลิงค์ของพันธมิตร สำหรับไอเดียในการพัฒนา Shoploop มาจากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคที่มักจะฟังคำแนะนำ การรีวิว จนนำไปสู่การซื้อสินค้าในที่สุด

“เป้าหมายของแอปฯ ดังกล่าว เพื่อนำประสบการณ์ช้อปปิ้งมารวมไว้ที่เดียว ทั้งการค้นหาสินค้า การรวบรวม ประเมินผล ตลอดจนการซื้อสินค้า” แผนวิจัยของกูเกิลระบุ

ขณะที่อินสตราแกรม ได้เปิดตัวเซกชั่นร้านค้าใหม่ในหน้าสำรวจ ที่ทำให้ผู้ติดตามร้านค้าหรือผู้สร้างคอนเทนต์ในอินสตราแกรม ซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับที่เปิดตัวในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคม การอัปเดตใหม่ประกอบด้วยคําแนะนําและคอลเลกชั่นที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลจากทีม @shop Instagram มีลูกศรการชําระเงิน ที่สามารถซื้อได้โดยตรงบน Instagram โดยไม่ต้องออกจากแอปฯ

ด้านยูทูบได้มีการปรับปรุงใหม่เช่นเดียวกัน โดยสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยูทูบได้เปิดตัวการโฆษณารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ‘Direct Response’ เพื่อทำให้โฆษณาบนยูทูบนำไปสู่การซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยการเพิ่มรูปสินค้าเข้าไปใต้โฆษณา นอกจากนี้สินค้ายังสามารถเชื่อมกับร้านค้าบนกูเกิลได้ด้วย ยูทูบเชื่อว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยผลักดันการซื้อสินค้าออนไลน์ให้เพิ่มขึ้น โดย 70% ของผู้ซื้อสินค้าเห็นโฆษณาจากแพลตฟอร์ม

การปรับเปลี่ยนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม สะท้อนให้เห็นถึงการผสานกันระหว่างแพลตฟอร์มสื่อและอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบรวมในที่เดียว ช่วยให้ผู้บริโภคค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ง่าย สร้างการเข้าถึง และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การโฆษณาข้ามแพลตฟอร์มจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจากข้อมูลของนีลเส็น สื่อดิจิทัล เป็นสื่อเดียวที่มีการขยายตัว 23% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน มีมูลค่าการโฆษณารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย คาดว่าปีนี้สื่อโฆษณาดิจิทัล จะมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

นีลเส็น เตรียมเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลแบบดิจิทัล โดยนักการตลาดและเจ้าของสื่อสามารถนำมาเปรียบเทียบข้ามแพลตฟอร์มได้

รวมถึงการขยายการครอบคลุม และเพิ่มความละเอียดในการรายงานข้อมูลของอุปกรณ์ส่วนบุคคลและอุปกรณ์เชื่อมต่อ โดยบริการวัดข้อมูลดิจิทัลของนีลเส็นประกอบด้วย Digital Content Ratings Total Content Ratings Digital Ad Ratings และ Tota Ad Ratings โดยจะเริ่มให้บริการในช่วงต้นปี 2021

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติและโอกาสของนักการตลาด ในการหาวิธีการใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความหลากหลายของสื่อ การเชื่อมต่อข้ามแพลตฟอร์ สร้างเส้นทางการเข้าถึงของผู้บริโภคที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีข้อมูลที่แม่นยำในการช่วยการให้การโฆษณามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ