TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityปลูกชา ปลูกชีวิต พัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่น สู่ชุมชนต้นแบบสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

ปลูกชา ปลูกชีวิต พัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่น สู่ชุมชนต้นแบบสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

จากกรุงเทพมหานครที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 1 เมตร มุ่งตรงสู่จังหวัดเชียงใหม่ ออกจากตัวเมืองบนเส้นทางกว่า 174 กิโลเมตร สู่เขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว มีดอยผ้าห่มปกที่มีความสูง 2,285 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นอันดับสองรองจากดอยอินทนนท์ และมีดอยปู่หมื่นกับความสูง 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นหนึ่งในยอดดอยสำคัญและเป็นที่ตั้งของชุมชนดอยปู่หมื่น ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีผู้ชุมชนที่เข้มแข็ง ชาวบ้านยังคงรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ลาหู่และมีวิถีในการปลูกและผลิตใบชากันทุกครัวเรือน และเป็นต้นแบบชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน

จากกองกำลังแนวกันชนตะเข็บชายแดน สู่ “ชาหยุดฝิ่นต้นแรก”

จิราวรรณ ไชยกอ หรือ หยก ผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัด อาปาที ออร์แกนิค และ โรงแรมภูมณี ลาหู่ โฮม โฮเทล ผู้สร้างสรรค์และผลักดันการท่องเที่ยวดอยปู่หมื่นในรูปแบบ Tea Tourism และนำชาดอยปู่หมื่นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ อาปาที  ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชุมชนดอยปู่หมื่นและความเป็นมาของบรรพบุรุษของเธอว่า

“พวกเราเป็นชนเผ่าลาหู่ (ออกเสียงว่า ลา-ฮู) เดิมอยู่ในทิเบตตอนใต้และอพยพเข้ามาอยู่ที่จีน พม่า และเข้ามาในไทยประมาณ 120 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากมีบันทึกประวัติศาสตร์น้อยมาก เราจึงนับตั้งต้นประวัติศาสตร์ชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ซึ่งมีนายแตงเต้า หรือ ปู่หมื่น เป็นผู้นำชุมชนรุ่นแรก ด้วยความที่หมู่บ้านเราใกล้ตะเข็บชายแดนพม่า  ทำให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นกองกำลังแนวกันชน ในยุคการต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ช่วยป้องกันตะเข็บชายแดนทางฝั่งเหนือ ชื่อ “ปู่หมื่น” จึงเกิดจากการที่นายแตงเต้าได้รับยศ “หมื่น” จากรัฐบาล กลายเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อดอยในที่สุด”

ลึกเข้าไปในป่าต้นน้ำบนดอยปู่หมื่น มีต้นชาป่าอายุนับพันปีอยู่มาก่อนการตั้งถิ่นฐานชุมชน จึงเป็นจุดประกายแนวคิด “ชาหยุดฝิ่น” ที่ริเริ่มโดย จะฟะ ไชยกอ ผู้นำชุมชนรุ่นที่สองที่มีบทบาทสำคัญในสู้สงครามฝิ่นด้วยการส่งเสริมการปลูกชาแทนการปลูกฝิ่น จากชาต้นแรกที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง ร.9 ในปี พ.ศ.2513 จนกระทั่งกลายเป็นไร่ชา พื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ที่ต้องสร้างสมดุลของวิถีชีวิต ภายใต้เงื่อนไขการอยู่ร่วมกับธรรมชาติป่าต้นน้ำให้ได้อย่างสมดุล

ชาอัสสัม (Camellia Sinensis Assamica) คือ สายพันธ์ุชาใบใหญ่ที่ส่งเสริมปลูกกันบนดอยปู่หมื่น สามารถปลูกร่วมกับต้นไม้อื่น ๆ ในป่า รากของต้นชาอัสสัมจะอิงอาศัยกับต้นไม้อื่น และรากจะลงลึก 3-5 เมตร สอดคล้องกับการปลูกบนพื้นที่ภูเขา ป้องกันดินถล่ม สามารถโตเป็นต้นไม้ใหญ่สูงได้ถึง 6-8 เมตร แต่การที่ผู้นำจะส่งเสริมการปลูกชาในช่วงแรกนั้นมีความยากมาก จิราวรรณถ่ายทอดประสบการณ์การบุกเบิกของ จะฟะ ซึ่งเป็นคุณพ่อของเธอว่า

“คุณพ่อเริ่มทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็น นำกล้าชาไปให้ชาวบ้านปลูก ก็มีกระแสต่อต้านว่า ปลูกทำไม จะไปขายที่ไหน กี่ปีกว่าจะได้รายได้ ไม่เหมือนปลูกฝิ่นนี่ได้เงินเลย ผู้นำจึงต้องเริ่มก่อน เริ่มเพาะ เริ่มปลูก ระยะเริ่มต้นสามปีแรกยังเก็บผลผลิตไม่ได้ ท่ามกลางการต่อสู้กวาดล้างการปลูกฝิ่น จนกระทั่ง คุณพ่อเสียชีวิตในเดือนธันวาคม ปี 2526 อายุประมาณ 60 ปี” 

อาปาที “ชาที่พ่อปลูกไว้ ลูกจึงยิ้มได้”

ไร่ชาส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันจึงถูกปลูกมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่นกลายเป็นไร่ชา จากผู้นำที่เรียกว่าพ่อ จนต้นชากลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนในชุมชน และจิราวรรณได้นำวัตถุดิบชาจากดอยปู่หมื่นนี้ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชาภายใต้แบรนด์ อาปาที ซึ่งหากดูฉลากบนบรรจุภัณฑ์จะเป็นภาพวาดทั้งสีน้ำและลายเส้นที่แสดงถึงวิถีชีวิตชุมชนและธรรมชาติของดอยปู่หมื่น ความผูกพันกับวิถีการทำชา และวัฒนธรรมการดื่มชา

ต้นชาอัสสัมถูกปลูกตามความลาดชันของพื้นที่สันเขา เป็นหย่อม ๆ สลับกับพื้นที่ชุมชนและป่าไม้ บ้านบางหลังปลูกชาเป็นรั้วหน้าบ้าน ไม่ได้ปลูกเป็นพื้นที่กว้างสุดลูกหูลูกตาเหมือนพื้นที่ที่ปลูกเพื่อป้อนเข้าระบบอุตสาหกรรม พุ่มต้นชาสูงระดับเองไม่เกินอก บางต้นมีตัวหนอนบุ้งเกาะอยู่ บางต้นมีไลเคนส์เกาะผิวลำต้น บ่งบอกให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของอากาศและการผลิตในวิถีเกษตรอินทรีย์

สมนึก วัชรนิธิกุล แกนนำคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชน ในชุดแต่งกายแบบชายชาวลาหู่ สะพายตะกร้าสาน สาธิตวิธีการเก็บชาพร้อมทั้งอธิบายว่า ส่วนที่ดีที่สุดคือยอดชา การเก็บชา มีทั้งการเก็บเฉพาะยอดเดียว (Silver Needle) นำมาทำชาขาว ซึ่งมีราคาสูงสุด มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ชงแล้วได้น้ำชาสีใส รสชาตินุ่มนวล หอมกลิ่นดอกไม้

สมนึกเด็ดยอดชาที่ประกอบด้วย “หนึ่งยอดกับสองใบ” บอกว่าเป็นชาที่มีคุณภาพครบถ้วนที่สุด ยังมีการเก็บ “หนึ่งยอดหนึ่งใบ” และเก็บใบอ่อนสี่ถึงห้าใบ เป็นการแบ่งแยกคุณภาพและราคาของชาไปในตัว เมื่อนำมาแปรรูปด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างก็จะได้ชา Single Tea ที่ต่างชนิดกันไป เช่น ชาเขียว คือชาที่ผ่านการคั่วและนวดก่อนจะนำมาตากแห้ง มีรสชาติเข้มข้น ชาแดง  คือ ชาที่ผ่านการหมักบ่ม มีรสชาติเข้มหวานหอม นอกจากนี้ยังชาป่า จากต้นชาโบราณกลางป่าลึกที่อยู่คู่ดอยปู่หมื่นมานับพันปี ที่ชาวบ้านจะเก็บผลผลิตกันเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ให้รสชาติเบาอมเปรี้ยวแบบผลไม้

“ชาแต่ละต้นจะออกยอดประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง จึงเก็บได้เดือนละ 2 ครั้ง แต่เราหมุนเวียนเก็บ ปัจจุบัน รายได้จากการทำชา เฉลี่ย 6-7 พันบาทต่อครัวเรือน เพราะแต่ละคนเก็บชาใบสดได้เต็มที่ 20-25 กก. เอามาทำแห้ง เหลือ 5 กก. ขายได้ประมาณ 100-120 บาท ต่อ กก. เป็นรายได้ที่ยังไม่ถูกเพิ่มมูลค่า” สมนึกอธิบายเพิ่มเติม

จิราวรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การทำชามีอยู่ 2 ตลาด คือ ตลาดที่ใช้การผลิตโดยใช้เครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนของระบบอุตสาหกรรม กับ ตลาดที่ Hand Process ซึ่งใช้การตากแบบธรรมชาติ ใช้เวลา ใช้อุณหภูมิ ใช้แดด ค่อยๆ แห้ง ซึ่งจะมี aftertaste ที่ยาวกว่า เราจึงขอเดินทางในสายที่เป็นการทำชาแบบดั้งเดิม โดยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ปัจจุบัน แบรนด์อาปาที มี 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ชาขาว ชาเขียวคั่ว ชาแดง และชาป่า โดยใช้วัตถุดิบหลักจากชุมชนดอยปู่หมื่น และมีการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวลาหู่บ้านเด่นหลวง ซึ่งเป็นชุมชนพี่น้องกับชุมชนดอยปู่หมื่น ในการปลูกชาในพื้นที่ราบและปลูกสมุนไพรในระบบอินทรีย์ เช่น กุหลาบ ตะไคร้ เก็กฮวย อัญชัน เป็นต้น เพื่อเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชาเบลนด์กับสมุนไพร”

Tea Tourism โปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนดอยปู่หมื่น

ปลูกชา ปลูกชีวิต พัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่น สู่ชุมชนต้นแบบสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

ณ ระดับความสูง 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของดอยปู่หมื่น มองลิบไปไกลตาเป็นตัวอำเภอแม่อาย ใกล้เข้ามาเป็นไร่ชากระจายตามแนวเขา บ้านเรือน โบสถ์หลังน้อยของคริสตจักรดอยปู่หมื่น เหนือขึ้นมาจากชุมชนและไร่ชาเป็นที่ตั้งของห้องเรียนชาที่ผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้ศาสตร์แห่งการชงและชิมชาชนิดต่าง ๆ ตามหลัก Tea Flavor Wheel พร้อมชิมของว่างที่มาเสิร์ฟพร้อมชา คือ “ข้าวปุก” ขนมพื้นถิ่นที่ทำจากข้าวเหนียวนึ่งตำในครกไม้จนเหนียวคลุกผงงาคั่ว ปั้นก้อนปิ้งเตาถ่านให้ผิวกรอบเล็กน้อยส่งกลิ่นหอม และเพิ่มความสดชื่นด้วยผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาล

จิราวรรณ จบการศึกษาสาขาการโรงเเรมและการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ริเริ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว โดยมีภูมณี ลาหู่โฮมโฮเทล ซึ่งปรับปรุงจากอาคารที่เคยเป็นโรงงานชาของคุณพ่อ  มีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ชุมชนดอยปู่หมื่น สร้างงานให้คนชนเผ่ารุ่นใหม่ได้มาทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยว และในปี 2562 จิราวรรณมีโอกาสได้ไปศึกษาเพิ่มเติมในศาสตร์การเป็นผู้เชียวชาญเรื่องชา หรือ Tea master ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้นำความรู้กลับมาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตชา  สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชา และโปรแกรมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Tea Tourism

“ชุมชนดอยปู่หมื่นมีอาชีพปลูกและทำชาเป็นอาชีพหลัก เราเก็บชาได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีเว้นช่วงให้ต้นชาพักในฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน ถึง มกราคม และชาวบ้านจะทำการตัดแต่งกิ่งต้นชา และเป็นช่วงเวลาเริ่มต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อนจะเริ่มเก็บชาอีกครั้ง โดยช่วงที่ชาที่แตกยอดดีที่สุดคือ เดือนมีนาคมถึงเมษายน เราเริ่มต้นโปรแกรมการท่องเที่ยว โดยใช้โฮมโฮเทลเป็นฮับต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อนจะเดินทางสู่ชุมชนเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิต วัฒนธรรม การเดินป่า การเก็บและแปรรูปชาแบบดั้งเดิม รวมถึงห้องเรียนชิมชา และกระจายงานให้ชุมชนในหลายๆ พื้นที่ ไม่ใช่แค่ชุมชนปู่หมื่น” จิราวรรณกล่าว

อุดม ชิดนายี รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ เผยถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชนดอยปู่หมื่นว่า แม้จะมีจุดอ่อนเรื่องความห่างไกลซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่เกือบ 3 ชั่วโมง แต่จุดแข็งคือ พื้นที่ยังเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และชุมชนยังมีความดั้งเดิม

“เราไม่สามารถมีดอยใหม่ น้ำตกใหม่ ได้ตลอด แต่เราสามารถมีกิจกรรมใหม่ที่น่าสนใจ การท่องเที่ยวแบบ BCG กำลังมาแรง นักท่องเที่ยวต้องการเรียนรู้ทำความเข้าใจในวิถีชุมชนและธรรมชาติ และเรามีทั้งธรรมชาติและวิถีชุมชนควบคู่กับการผลิตชา มี Tea Classroom ซึ่งการดื่มชาเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Wellness & Gastronomy Tourism ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบ สมุนไพร ส่วนผสมจากท้องถิ่นมาใช้ ทำให้ชุมชนมีรายได้แบบกระจายไม่ใช่กระจุกแต่ในเมือง ซึ่งชุมชนดอยปู่หมื่นสามารถเป็นโมเดลในการพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้” อุดมกล่าว

FWD ประกันชีวิต มุ่งส่งเสริมพัฒนาห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

เดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

เดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยว่า หลังจากที่ FWD ประกันชีวิต ได้คัดเลือกชุมชน ลงพื้นที่และเริ่มทำงานร่วมกับชุมชนลาหู่ ใน “โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ให้สังคมสามารถเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล

การทำงานผ่านกรอบแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพัฒนาโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า โครงการพัฒนาคุณภาพชา และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม

โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น เริ่มต้นจากการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน อาจดูน่าแปลกใจว่าแค่ต้นกล้าชาเกษตรกรทำเองไม่เป็นหรือ แต่ความเป็นจริงคือ การเพาะเมล็ดชาและดูแลจนต้นกล้าชาสูง 10-15 ซ.ม. พร้อมนำไปปลูกลงดินนั้นต้องใช้เวลาถึง 1-2 ปี เกษตรกรในปัจจุบันเพียงอาศัยเก็บยอดชาจากต้นชาที่ถูกปลูกไว้ในรุ่นพ่อแม่เมื่อ 30-50 ปีที่แล้ว ทำให้ขาดองค์ความรู้ในการเพาะกล้าชา

โครงการธนาคารต้นกล้า จึงเกิดขึ้นในปี 2565 เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องจำนวนต้นกล้าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการเพิ่มผลผลิตชาในระยะยาว ชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการต้นกล้าอย่างเป็นระบบร่วมกัน มีการเลือกนายธนาคารจากคนในชุมชนเพื่อการดำเนินการ การออกแบบแบบฟอร์มบัญชีรับต้นกล้า การลงทะเบียนสมาชิก ไปถึงการตรวจสอบการนำต้นกล้าไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เกิดการเพาะพันธุ์อย่างมีคุณภาพ และการติดตามการใช้คืนต้นกล้า โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 33 ราย

โครงการพัฒนาคุณภาพชา เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ต่อมาคือ ทำอย่างไรให้ใบชาทำได้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเตรียมการต่อยอดสู่การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย หรือ Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร โดย อาจารย์สุมิตร วิลัยพร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ อำเภอฝาง

สมคิด จะนะ อีกหนึ่งทีมงานคนรุ่นใหม่ เผยถึงการเตรียมการเพื่อขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ว่า “เป็นงานที่ผมมุ่งมั่นสุดๆ ของปีนี้ ต้องขึ้นลงดอยตลอดเลยเพื่อที่จะติดตามเรื่องการขอมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ข้อดีของชุมชนดอยปู่หมื่น คือ  ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเราไม่ใช้สารเคมี ซึ่งในการสมัครขอรับรองจะต้องได้หนังสือรับรองจากอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

ผมอธิบายให้ทางหัวหน้าอุทยานได้ฟังว่า การที่เราขอมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าเราอยู่ในต้นน้ำ ถ้าเราใช้เคมี คนกลางน้ำปลายน้ำจะเป็นอย่างไร ซึ่งเขาก็เห็นภาพ และออกหนังสือรับรองให้ เมื่อยื่นใบสมัครไปแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจรับรอง โดยเรานำร่อง 10 ครัวเรือนเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้าสมาชิก 10 ท่านได้รับการประเมินผ่าน สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขกติกาที่มาตรฐานกำหนด เราก็จะเพิ่มไปเรื่อย ๆ ให้ครอบคลุมเกษตรกรทุกราย”

ในส่วนของกลางน้ำคือ การแปรรูป พบว่าชุมชนมีปัญหาเรื่องพื้นที่ตากชา ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชา ซึ่งทางโครงการได้ประสานความร่วมมือร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ผศ.ดร.ธีรนุช จันทโสภีพันธ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ปรึกษาโครงการอธิบายว่า

ปลูกชา ปลูกชีวิต พัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่น สู่ชุมชนต้นแบบสร้างสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

“การออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ (SMART)” ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เป็นการต่อยอดจากโรงอบชาเดิมในชุมชนบ้านเด่นหลวง ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติและกระทรวงพลังงาน ทำให้ชุมชนลดปัญหาการตัดไม้ฟืนจากป่า และมีที่ตากชาเป็นพื้นที่ปิด สะอาด มีมาตรฐานมากขึ้น จากเดิมที่ชาวบ้านนิยมตากชาที่พื้นทำให้ชาไม่ได้มาตรฐาน แต่โรงอบชาเดิมยังมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ที่สามารถตากชาได้เพียง 60 ถาด ตากใบชาสดได้ 200 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้ 40 กก./รอบ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และไม่สามารถตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นได้

จึงมีการออกแบบพื้นที่ตากชาโดยเพิ่มจำนวนเป็นสองชั้น ตากชาได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 100 ถาด ตากใบชาสดได้ 300 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 กก./รอบ นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งระบบ SMART Device เพื่อแสดงผลฐานข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นของโรงอบชา ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ สามารถอ่านข้อมูลตรวจสอบย้อนหลังได้ ทุกที่ทุกเวลาโดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาโรงอบชาให้สามารถครอบคลุมการใช้งานของชุมชนต่อไป”

ในส่วนปลายน้ำของการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ได้มีการเก็บชาตัวอย่างแต่ละชนิดที่ได้จากการตากในโรงอบชามาวิเคราะห์สารฟีนอล ซึ่งเป็นสารให้ประโยชน์ในชา พบว่าชาดอยปู่หมื่นมีสารประกอบฟีนอลเทียบได้กับชาที่ทำการวิจัยในต่างประเทศถือได้ว่าเป็น ชาคุณภาพดี ซึ่งการเก็บข้อมูลผ่านแอพพลิเคชันทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแต่ละล็อตการผลิต ว่าอบในอุณหภูมิ ความชื้นและระยะเวลาเท่าไหร่ จึงได้สารสำคัญปริมาณสูง เพื่อใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูงสุดต่อไป

FWD ประกันชีวิต เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น ปี 3

โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม ที่ผ่านมาการปลูก การทำชา และการจำหน่ายชาของชาวบ้านชุมชนดอยปู่หมื่น เป็นไปในรูปแบบใบชาสด และชาตากแห้ง จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผลผลิตของชาวบ้านจำหน่ายได้ในราคาที่ถูก และไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง จึงมีแนวคิดในการยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ต่อยอดปลายน้ำ ผ่านการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจาก เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลิน 2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบ Fine Dining

เชฟชุมพล ได้ลงสำรวจวัตถุดิบจากชุมชนดอยปู่หมื่น และนำใบชามารังสรรค์อาหาร ได้เป็นอาหารคาว 3 เมนู คือ ยำยอดชาปลาทอดสมุนไพร เกี๊ยวซ่ายอดชาปูหมื่น ข้าวอบหมูตุ๋นชาแดงอัสสัม เครื่องดื่ม 2 เมนู คือ ยอดชาขาวพีชเลมอนโซดา ยอดชาขาวมิกซ์เบอร์รีโมจิโต้ ขนม 1 เมนู คือ คราฟต์ช็อกโกแลต FWD ยอดชาปู่หมื่น สอดไส้ผสมชา 4 ประเภท (ชาดำ ชาแดง ชาเขียว ชาขาว) กับตัวชูรสที่เป็นผลไม้ 4 ตัว พร้อมวางขายเมนูพิเศษในร้านหวานไทย เป็นพลังซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้ชาของดอยปู่หมื่นเป็นที่รู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สุวัฒน์ วัชรนิธิกุล ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวถึงความรู้สึกต่อโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่นว่า “ชีวิตของพวกเราชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่นที่ผ่านมาเราอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด เราอยู่บนพื้นที่สูง ต้องซื้อของกินของใช้จากข้างล่างในราคาแพง แต่เราขายใบชาของเราในตลาดล่างได้ราคาต่ำ รายได้น้อย การเข้ามาของ FWD ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ช่วงโควิด เราก็ได้ความช่วยเหลือเรื่องยาและข้าวสารอาหารแห้งกันทุกหลังคาเรือน ปีนี้เราได้ต้นกล้าชา ได้เมล็ดพันธุ์ ได้ความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก ความรู้ในการปลูกชาและทำชาให้ดีขึ้น และยังสอนให้เรารู้จักขายเป็นอีกด้วย”

ปัจจุบัน แผนการพัฒนาชุมชนที่ FWD กำลังดำเนินการร่วมกับชุมชน คือ การแนะนำวิธีการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ ช่องทางออนไลน์ และต่อยอดสู่การออกบูธแสดงสินค้าของชุมชนได้ในอนาคต ส่งเสริมให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำธุรกิจออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ ตลอดจนการเล่าเรื่องราว เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของชุมชน

“นอกจากนี้ ในการทำงานขั้นตอนต่อไป ทางทีมงานพร้อมนำข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับผลผลิตใบชาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยเรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หลังจากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ FWD ประกันชีวิต จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป” เดวิด กล่าวทิ้งท้าย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์” ส่งต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักถึงคนรักสัตว์ด้วยหัวใจ

นักวิจัยไบโอเทค สร้างมูลค่า 5 พืชสมุนไพรเศรษฐกิจ เชื่อมโยงพันธมิตรสู่เกษตรสมัยใหม่

7 เทรนด์เปลี่ยนเกมความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ