TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyTrue Corp เปิด 3 กลยุทธ์หลักปี 2024 ดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส

True Corp เปิด 3 กลยุทธ์หลักปี 2024 ดึงพลัง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสร้างประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส

ในการแถลงกลยุทธ์ปี 2024 ของทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากควบรวมกิจการทรู-ดีแทคครบ 1 ปี ผู้บริหารประกาศเดินหน้านำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการและลดความซับซ้อนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมถึงสรรหาการผสานความร่วมมือตลอดจนทรานสฟอร์มองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล

3 เสาหลักเน้นพลัง AI

มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความก้าวหน้าของทรูในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า มีพัฒนาการที่สำคัญทั้งในด้านการทรานสฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม-เทคโนโลยีเต็มรูปแบบ  เพื่อส่งมอบประสบการณ์การสื่อสารและนวัตกรรมบริการดิจิทัลแบบไร้รอยต่อให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงการปรับโครงสร้างการดำเนินการสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์จากการผสานรวมกัน

และในปี 2024 นี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทุกส่วนธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิบัติการ ดึงพลังเทคโนโลยี AI ผสานความเข้าใจลูกค้าเชิงลึกมาใช้ในการปฏิวัติพัฒนาบริการ โดยได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจ มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส  ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเติมเต็มวิถีชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน และพลิกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะยกระดับขีดความสามารถของทรู คอร์ปอเรชั่น ในการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่สามารถสร้างประโยชน์จากการผสานรวมกัน

มนัสส์ แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำกำไรในปี 2024 ได้ พร้อมกับประกาศงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท 

ลูกค้าทรูจะได้อะไร

ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูจะส่งมอบบริการแบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง (Omni channel) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยจะนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้ทีมงานบริการลูกค้าสามารถแนะนำบริการที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะยกระดับผู้ช่วยอัจฉริยะ Mari AI โฉมใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากการผนวกเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ (Humanoid) เข้ากับเทคโนโลยี Generative AI เพื่อให้ข้อมูลและแนะนำบริการได้อย่างรวดเร็วแบบอัตโนมัติโดยจะเปิดตัวในไตรมาส 2  รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นหนึ่งเดียว (One Application) ที่จะครอบคลุมทั้งข้อมูลและบริการหลังการขายต่าง ๆ ซึ่งจะประกาศในไตรมาส 3

สำหรับการดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเติมเต็มวิถีชีวิตคนไทยนั้น กลุ่มทรูได้เริ่มเปลี่ยนการสื่อสารบนมือถือสู่การเติมเต็มไลฟ์สไตล์ (Mobile to Lifestyle) ผ่านบริการดิจิทัลที่หลากหลายและสิทธิประโยชน์ที่ตรงไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคล อาทิ TrueID การเปลี่ยนบรอดแบนด์สู่การเติมเต็มชีวิตอัจฉริยะในบ้าน (Broadband to Smart Living) สร้างประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ผ่านTrueX  การเปลี่ยนระบบทีวีแบบเดิมๆ เป็นสตรีมมิง (Linear TV to Streaming) ผ่าน TrueID ทรูวิชั่นส์นาว รวมถึงบริการดูแลสุขภาพครบวงจร (Well-being) ได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชัน หมอดี (MorDee)

นอกจากนี้ ทรูยังนำดิจิทัลโซลูชั่นที่หลากหลายในการทรานสฟอร์มองค์กรธุรกิจ  ด้วยโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อพัฒนาและยกระดับบริการมาตรฐานสากล โดยผสานเทคโนโลยีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น AI, Machine Learning (ML) และ IoT  พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อจัดเก็บและนำไปใช้วิเคราะห์เชิงลึก (Data Analytics) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนรากฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทรานสฟอร์มองค์ธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร โรงงาน ธุรกิจค้าปลีก และที่พักอาศัย  พร้อมตั้งเป้ารายได้จากบริการดิจิทัลโซลูชันเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจในการดำเนินการและบริการแบบใหม่ อาทิ การให้บริการด้านต่างๆ ผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง (Everything-as-a-Service) และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Data Platform) 

คนไทยใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น

มนัสส์ แชร์ข้อมูลว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยมีการใช้บริการดิจิทัลทั้งการจ่ายเงินและเพื่อความบันเทิงมากขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2023 ผู้ใช้ 1 คนมีการใช้บริการดิจิทัล 4.40 ชั่วโมง ส่วนเดือนมกราคม 2024 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 5.38 ชั่วโมง ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีความจำเป็นในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นที่มาของการที่ค่าบริการแพงขึ้น

“ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้า คนมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลด้านความบันเทิงมากขึ้นเพื่อลดความเครียดหรือใช้ในการทำงาน การประชุมนอกสถานที่” มนัสส์กล่าว

ที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งรัดให้สำนักงาน กสทช. ทำรายงานความคืบหน้ามาตรการกำกับดูแลกิจการหลังทรูควบรวมดีแทค ส่งให้ภายใน 7 วัน เพื่อชี้แจงเรื่องคุณภาพการให้บริการ ค่าโทร ราคาและแพ็กเกจ เพื่อบอร์ดจะได้นำข้อมูลมาพิจารณาและรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงแก่สาธารณชนต่อไป

คำสั่งของ กสทช. เกิดขึ้นหลังจากที่การแถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 ปี 2023 และภาพรวมปี 2023 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับพบว่าภายหลังการควบรวมกิจการแล้ว ค่าบริการรายเดือนของโทรศัพท์มือถือปรับตัวเพิ่มขึ้นและบางโปรโมชั่นยังถูกลดนาทีค่าโทรลง เช่น แพ็กเกจราคา 349 บาท ปรับราคาขึ้นเป็น 399 บาท พร้อมทั้งมีการลดปริมาณและความเร็วอินเทอร์เน็ตลง เช่น แพ็กเกจราคา 499 และ 599 บาท ถูกลดนาทีค่าโทรลงจาก 300 นาที เหลือ 250 นาที

อีกทั้ง ผู้บริโภคยังเริ่มประสบปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณมากขึ้น จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 81% พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาโดยเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบมากที่สุด คือ ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า รองลงมาเป็นปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย เป็นต้น โดย 91% ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปยังคอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ