TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityFlying Sustainably กับ 'บางจาก' ผู้นำพลังงานทดแทน สู่ ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ด้วยน้ำมันอากาศยานยั่งยืน SAF

Flying Sustainably กับ ‘บางจาก’ ผู้นำพลังงานทดแทน สู่ ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ด้วยน้ำมันอากาศยานยั่งยืน SAF

จากรายงาน World Energy Outlook 2022 โดย องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) เผยอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปของโลก ในปี 2562 ก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 ว่า ในทุก ๆ วัน มนุษย์ทั่วโลก บริโภคพลังงาน 1.2 เอกซาจูลส์ หรือ 1.2 ล้านล้านล้านจูลส์ต่อวัน เทียบเท่ากับเครื่องบินแอร์บัส A220 บินรอบโลกประมาณ 240,000 รอบต่อวัน หากเฉพาะเจาะจงไปในภาคอุตสาหกรรมการบิน เทียบเท่ากับเครื่องบินแอร์บัส A220 บินรอบโลก 8,000 รอบต่อวัน พลังงานที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลังงานมาจากฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 619 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  

ในขณะที่ภาคการขนส่งทางบก กำลังเกิดการตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ จากสถานการณ์ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน แต่การใช้แบตเตอรี่ยังไม่ใช่คำตอบสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของอุตสาหกรรมการบิน เชื้อเพลิงที่เติมเข้าไปในเครื่องบินนั้น ยังคงต้องเป็นของเหลวคือ น้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้น โจทย์ของอุตสาหกรรมการบิน คือ ทำอย่างไรจะลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล ซึ่งมีส่วนในการปลดปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาล

จากผู้นำพลังงานทดแทนก้าวทันสถานการณ์โลกสู่ยุคที่สองของเชื้อเพลิงชีวภาพ 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 4 ทศวรรษแล้วที่บางจากฯ ก่อตั้งขึ้นด้วยภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศและความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการค้าน้ำมัน ได้มีการพัฒนาผ่าน generation ต่าง ๆ จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเริ่มต้น เข้าสู่ยุคที่ 1 เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) โดยการนำเอทานอลหรือไบโอดีเซลมาผสมในเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นรายแรกในประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับในฐานะ ‘ผู้นำพลังงานทดแทน’ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว   

จากข้อมูลการศึกษาโดย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -ICAO) ระบุว่าหากเครื่องบินมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแบบด้านอากาศพลศาสตร์และใช้ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ จะช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ คือ น้ำมันอากาศยาน SAF (Sustainable Aviation Fuel) หนึ่งในเชื้อเพลิงชีวภาพยุคที่ 2 (Synthetic Fuel) สามารถผลิตได้จาก สารตั้งต้นหรือวัตถุดิบได้หลายๆ อย่าง และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 80% เทียบกับการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินจากฟอสซิล 

ทาง ICAO จึงได้รับรองเป้าหมายระยะยาวระดับโลกสำหรับการบินระหว่างประเทศ เพื่อไปสู่ Net Zero โดยกำหนดสัดส่วนการเติม SAF ในน้ำมันเครื่องบิน ทำให้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ SAF เป็นอย่างมากในฐานะเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022 – IRA) สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการกำหนดภาษีในการผลิต 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน

สหรัฐอเมริกากำหนดให้มีการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยาน 10% ในปี 2573 ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรป มีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ที่ต้องผสมอยู่ที่ 70% ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้เครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573

หน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแห่งแรกในประเทศไทย 

กลุ่มบริษัทบางจาก มีการตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ในปี พ.ศ. 2593 (Carbon Neutrality ในปี 2573) ผ่านแผนงาน BCP 316 NET โดยมีแผนเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด ร้อยละ 60 (Proactive Business Growth and Transition) เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ เทคโนโลยี ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการลงทุนในหน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF โดยการต่อยอดน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานนี้  

การลงทุนในหน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF จึงเป็นที่มาของก้าวสำคัญในการลงนามสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว SAF รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด กับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับบางจากฯ มากว่า 20 ปี

หน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ใช้งบประมาณการลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยจะก่อสร้างขึ้นในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-treatment) เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก สารเจือปนที่ติดมากับน้ำมันพืชใช้แล้ว เช่น กำจัดยางเหนียว (Degumming) สารแขวนลอย โลหะหนัก เป็นต้น เป็นเทคโนโลยีของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซีย  

จากนั้นเป็นกระบวนการกำจัดออกซิเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจน เพื่อผลิตเป็น SAF โดยมีผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันแนฟทา และอาจมีน้ำมันกรีนดีเซล (Hydrotreated Vegetable Oil, HVO) ด้วย UOP Eco fining Technology ของบริษัท Honeywell UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยSAF ของ BSGF ได้รับการออกแบบให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล ASTM D7566 สามารถใช้กับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และพร้อมเข้ารับรองด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายของประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ เมื่อเริ่มดำเนินการผลิต 

“ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าที่มีนัยสำคัญยิ่ง การลดการปล่อยคาร์บอนนับเป็นภารกิจสำคัญของทุกภาคส่วน หน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของการดำเนินงานตามแผน BCP 316 NET ของบางจากฯ เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2593 และยังเป็นการบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ทั้ง 3 ด้าน คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน 

นี่คือก้าวที่สำคัญที่สุดไม่ใช่สำหรับบางจาก แต่สำหรับประเทศไทยด้วย ในปัจจุบันทั่วโลกเริ่มใช้ SAF แล้ว อนาคตอันใกล้อาจมีประกาศให้เครื่องบินที่บินในเมืองไทยต้องมีส่วนผสม SAF เพราะฉะนั้นต้องมีผู้ผลิต ถ้าไม่มีก็ต้องนำเข้าซึ่งค่อนข้างแพง ทั้งที่วัตถุดิบอยู่ในเมืองไทย แต่ละวันมีน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วทิ้งกันเป็นล้านลิตร ถ้าเราเอามาเข้ากระบวนการผลิตก็เป็นโอกาส และตอบโจทย์หลายด้าน โรงงานของบางจากเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเป็น 1 ใน 27 โรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีบริษัทผู้ผลิตประกาศเริ่มออกแบบและเตรียมก่อสร้างโรงงาน ต่อไปประเทศไทยจะกลายเป็นแนวหน้าในการดูแลโลกร้อน” ชัยวัฒน์กล่าว

“ทอดไม่ทิ้ง” โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เริ่มได้ง่าย ๆ จากในครัว

โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” โดย BSGF รณรงค์ให้ประชาชน “ไม่ทิ้ง” น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วสู่พื้นที่สาธารณะ ป้องกันปัญหาจากการทิ้งของเสียอย่างไม่ถูกวิธีที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ “ไม่ทอดซ้ำ” ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ จากการเสื่อมสภาพของน้ำมันและเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่อันตรายต่อร่างกายมนุษย์ โดยทุกครัวเรือนสามารถรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว โดยรอให้น้ำมันเย็นก่อนแล้วจึงเทใส่ภาชนะจัดเก็บ กรองกากอาหาร เศษผงจากการทอดโดยใช้ที่กรอง ให้เหลือแต่น้ำมัน แล้วจึงนำน้ำมันบรรจุใส่ภาชนะที่สะอาด มาขายที่ปั๊มบางจากหรือจุดรับซื้อที่ร่วมโครงการ

ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ให้ข้อมูลในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืนว่า

การผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว คนอาจจะสงสัยว่าน้ำมันที่ใช้ทอด มีทั้งน้ำมันพืช น้ำมันหมู น้ำมันทุกชนิดสามารถจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ ซึ่งจากข้อมูลความต้องการใช้เชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศไทยโดยรวม ต้องใช้ SAF ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน และจากการวิจัยของบางจากพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณน้ำมันใช้แล้วประมาณ 700,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มจะรวบรวมได้มากขึ้น โดยการผลิตจะได้ผลผลิตเป็น SAF ประมาณ 80% และได้ผลพลอยได้เช่น ก๊าซหุงต้ม อาจมีน้ำมันกรีนดีเซล (Hydrotreated Vegetable Oil, HVO) และน้ำมันไบโอแนฟทา ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตแก้วไบโอพลาสติกได้ 

ในส่วนสายการบินที่จะมีการใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืนจาก BSGF ในเบื้องต้นมีได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) แล้ว โดยมี บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) เป็นผู้ให้บริการที่จะนำ SAF ไปเติมเข้าเครื่องบิน และยังมีหน่วยงานราชการ อย่าง กองการบินพลเรือน กรมสรรพสามิตร กรมศุลกากร รวมไปถึงสำนักงานอาหารและยา ก็พร้อมใจสนับสนุนโครงการ เพราะนอกจากเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน สิ่งที่ประชาชนจะได้จากเรื่องนี้คือเรื่องของสุขภาพ เพื่อลดการใช้น้ำมันทอดซ้ำ และต้องไม่นำไปทิ้ง แต่สามารถนำมาขายได้มูลค่า ซึ่งในปัจจุบันยังมีการนำน้ำมันไปทิ้งตามท่อระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม มีการเอาไปทอดซ้ำ หรือมีการเอาไปกรองหรือไปขายซ้ำ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปถ้าสามารถรวบรวมมาเข้าโครงการนี้ผลิตน้ำมันเครื่องบินจนหมด 

ในด้านกลไกการระดมเก็บน้ำมัน ตามโครงสร้างของ BSGF เองมีผู้ร่วมทุนที่สำคัญคือ บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเก็บน้ำมันใช้แล้วมากว่า 20 ปี การรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว จะทำการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ เช่น ครัวการบินไทย ที่มีการลงนามความร่วมมือร่วมกันแล้ว ในส่วนของครัวเรือน ผู้ขายอาหารรายย่อย มีการรับซื้อผ่านโครงการทอดไม่ทิ้ง ซึ่งมีจุดรับซื้อในปั๊มน้ำมันบางจาก โดยในอนาคตจะมีแอปพลิเคชัน ที่เปิดโอกาสให้หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือแม้แต่โรงเรียน ที่มีการเก็บรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว ได้ปริมาณ 100 ลิตรขึ้นไป สามารถแจ้งเข้ามาในแอป จะมีผู้ไปรับซื้อให้ทันที โดยปัจจุบันรับซื้อในราคา 20 บาทต่อลิตร อาจมีปรับขึ้นลงแล้วแต่ช่วงเวลา 

ทอดไม่ทิ้ง ให้ถูกที่ นำร่องที่ปั๊มน้ำมันบางจาก 44 แห่ง สามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์บางจาก

  • เขตดอนเมือง-ลาดพร้าว-จตุจักร สาขาวัชรพล สาขา ENCO สาขาจตุจักร สาขาวิภาวดีรังสิต สาขาพหลโยธิน กม. 22 สาขาคู่ขนานเอกมัย-รามอินทรา (4) สาขาคู่ขนานเอกมัย-รามอินทรา (5) สาขา สตรีวิทย์ 2 สาขารามอินทรา 71 สาขาสุขาภิบาล 1 (2)
  • เขตพระโขนง-บางนาสาขาเอกมัย สาขาอุดมสุข 45 สาขาอ่อนนุช 17/1 สาขาสุขุมวิท 101/2
  • เขตบางแค-ทวีวัฒนา สาขาเพชรเกษม 57 สาขาเพชรเกษม 92 สาขากาญจนาภิเษก (บางบอน) สาขาปิ่นเกล้า-นครชัยศรี 2 สาขากาญจนาภิเษก (2) สาขาจรัญสนิทวงศ์
  • เขตหนองจอก สาขาสุวินทวงศ์ 4 สาขาสุวินทวงศ์ 2 สาขาเลียบวารี
  • เขตราษฎร์บูรณะ-ยานนาวา สาขาราษฎร์บูรณะ 1 สาขาประชาอุทิศ สาขาพระราม 3 (2) สาขาเจริญกรุงตัดใหม่ สาขากรุงธนบุรี 2
  • เขตห้วยขวาง สาขาประชาอุทิศ-เหม่งจ๋าย
  • เขตปทุมธานี สาขาสวัสดิการศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตรบางพูน สาขาพหลโยธิน กม.38 สาขาลำลูกกา (คลอง 1)
  • เขตนนทบุรี สาขาประชาชื่น สาขาแคราย สาขาบางบัวทอง 3 สาขากาญจนาภิเษก กม .41 สาขาแจ้งวัฒนะ 22 สาขาราชพฤกษ์ 2
  • เขตสมุทรปราการ สาขาศรีนครินทร์ สาขาบางนา-ตราด กม.13 สาขาเทพารักษ์ กม. 9 สาขาปากน้ำ 2 สาขาบางนา-ตราด กม.16 สาขาเทพารักษ์ กม. 7

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ