TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyผลการศึกษาเผย องค์กรเกือบ 4 ใน 10 ใน APJC รับมือกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้อย่างเหมาะสม

ผลการศึกษาเผย องค์กรเกือบ 4 ใน 10 ใน APJC รับมือกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้อย่างเหมาะสม

ผลการศึกษาเผย 36 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APJC) สามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการทำงานนอกสถานที่ โดยอาศัยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการใช้งานซอฟต์แวร์และคลาวด์เป็นหลัก รายงานผลการศึกษาของซิสโก้เกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านความปลอดภัย (Security Outcomes Study) สำหรับภูมิภาค APJC ประจำปี 2564 ระบุว่า องค์กรที่อัปเดตเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จด้านการรักษาความปลอดภัยมากที่สุด

รายงานผลการศึกษาทั่วโลกดังกล่าว ซึ่งอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นแบบอำพราง (Double-blind Study) โดยเป็นการศึกษาที่ปิดข้อมูลเพื่อป้องกันความเอนเอียงของข้อมูลทั้งสองทาง และมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างอิสระ โดยสอบถามความคิดเห็นของบุคลากรด้านไอที ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และผู้เชียวชาญด้านความปลอดภัย จาก 13 ประเทศในภูมิภาค APJC รวมถึงประเทศไทย ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้บุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้สามารถดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยในส่วนใดเป็นพิเศษในปีนี้

-ไมโครซอฟท์ชูแนวคิด “Zero Trust” ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ให้เท่าทันภัยคุกคาม
-‘รัฐบาล ธนาคาร ภาคการผลิต และ ธุรกิจสุขภาพ’ โดนโจมตีทางไซเบอร์มากสุด

องค์กรทั่วไปในภูมิภาค APJC ที่มีกลยุทธ์การอัปเดตเทคโนโลยีในลักษณะเชิงรุก มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จด้านการรักษาความปลอดภัยมากกว่า 15% ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดเมื่อเทียบกับแนวทางอื่น ๆ ส่วนในจีน ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยองค์กรในจีนที่ใช้แนวทางดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จด้านการรักษาความปลอดภัย 31% รองลงมาคือประเทศไทย (30%), ออสเตรเลีย (23%) และญี่ปุ่น (20%)

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะมีงบประมาณหรือความเชี่ยวชาญที่มากพอสำหรับสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า “Security Bottom Line” การโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ และการใช้โซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบ SaaS จะช่วยลดปัญหาช่องว่างดังกล่าวได้

ผลการศึกษายังระบุอีกด้วยว่าโครงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในภูมิภาค APJC ประสบปัญหาในเรื่องการขอความร่วมมือจากพนักงานมากที่สุด โดยมีองค์กรเพียงหนึ่งในสาม (33%) ที่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้สำเร็จ ส่วนปัญหาท้าทายที่สำคัญรองลงมาได้แก่ การลดปริมาณงานที่ไม่ได้วางแผนไว้ (สำเร็จ 34%), การรักษาบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัย (สำเร็จ 36%), การจัดการความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด (สำเร็จ 37%) ความสามารถในการเลี่ยงปัญหาด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ๆ (สำเร็จ 38%) และการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (สำเร็จ 38%)

ข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่พบในภูมิภาค APJC จากรายงานฉบับดังกล่าวมีดังนี้:

-ชุดเทคโนโลยีแบบครบวงจรที่บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม (A well-integrated technology stack) เป็นปัจจัยสำคัญอันดับที่สองในการสร้างความสำเร็จด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยส่งผลดีในเกือบทุกผลลัพธ์ที่มีการประเมิน และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จโดยรวมที่อัตราเฉลี่ย 7% และที่น่าสนใจก็คือ การใช้ระบบแบบครบวงจรช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพราะทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัยต้องการใช้งานเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงาน

-ระบบที่ครบวงจร (Integration) คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร แทนที่จะดำเนินการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยในรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งไม่ได้เกื้อหนุนการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เหมาะสม องค์กรที่เลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวสูงสามารถสร้างผลลัพท์ที่ดีต่อการรักษาความปลอดภัยโดยรวมได้มากกว่า

-“การทำงานร่วมกัน” ของทีมงานฝ่ายไอที และฝ่ายรักษาความปลอดภัยมีความเกี่ยวโยงน้อยมากในการสร้างความสำเร็จ ประเด็นนี้ดูเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่อาจเป็นเพราะว่าการรักษาความปลอดภัยถือเป็นงานส่วนหนึ่งของฝ่ายไอทีภายใต้การดูแลของซีไอโอ (CIO) ในหลาย ๆ องค์กร ซึ่งบ่งบอกว่าความร่วมมือของทีมงานทั้งสองถือเป็นเรื่องปกติ และไม่จำเป็นต้องได้รับการประเมินหรือการจัดการเพิ่มเติมเป็นพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังอาจเป็นไปได้ว่าหลาย ๆ องค์กรมองว่าโครงการไอทีขนาดใหญ่ เช่น Zero Trust หรือการติดตั้งระบบ SASE/SD-WAN ถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและความรับผิดชอบของฝ่ายรักษาความปลอดภัย และโดยมากแล้วเป็นการทำงานที่ cross-domain ระหว่างฝ่ายไอทีและฝ่ายรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว

เคอรี่ ซิงเกิลตัน กรรมการผู้จัดการฝ่ายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำภูมิภาค APJC ของซิสโก้ กล่าวว่า “บุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจอย่างฉับไว เพื่อรองรับรูปแบบ ‘การทำงานจากทุกที่’ ซึ่งแพร่หลายภายในเวลาอันรวดเร็ว และในขณะเดียวกันยังต้องรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมุ่งที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบ”

“เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้มีทรัพยากรมากพอสำหรับการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงเทคโนโลยีหรือวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย รวมถึงการว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติม หรือการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ รายงานฉบับนี้จึงเสนอแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เคอรี่ ซิงเกิลตัน กล่าว

ประเทศในภูมิภาค APJC ที่กล่าวถึงในรายงาน Security Outcomes Study ประจำปี 2564 ของซิสโก้ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ