TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“วัคซีน-ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ-นโยบายการคลัง-การปรับปรุงธุรกิจ” ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

“วัคซีน-ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ-นโยบายการคลัง-การปรับปรุงธุรกิจ” ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ผู้เชี่ยวชาญจากภาคการเงิน การลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟันธง เศรษฐกิจไทยฟื้นท่ามกลางความเสี่ยงที่บริหารจัดการได้ รัฐ-เอกชนต้องเข้าใจและเตรียมตัวให้ทัน “วัคซีน-นโยบายการคลัง-การปรับปรุงธุรกิจ” คือ ปัจจัยสำคัญที่จะโตต่อไป

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum” จัดโดย เดอะวิสดอมกสิกรไทย ว่า 2 เดือนแรกของ 2564 เป็น 2 เดือนที่เต็มไปด้วยไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิดรอบใหม่ 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดรอบใหม่มีผลซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2563 พอก้าวเข้าสู่ต้นปี 2564 การระบาดของไวรัสก็กลับมาอีกครั้งทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ภาพเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างก็กว้างขึ้นกว่าในครั้งแรก โดยขยายออกไปสู่ภาคการผลิตซึ่งเชื่อมโยงกับผลต่อการส่งออกด้วย” 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมกิจการในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ที่รายรับส่วนใหญ่ลดลงหรือหายไปนานกว่า 10-12 เดือนแล้ว จากนี้ไปในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่ยังรอความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทั่วโลกและประเทศไทยจะควบคุมการระบาดของไวรัสได้เมื่อใด การฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจนถึงขั้นที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือที่เรียกว่า Herd Immunity จะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน ประเทศไทยจะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไร แม้ว่าจะยังไม่สามารถตอบคำถามทั้งหมดได้อย่างมั่นใจเต็มที่ แต่ภาพที่เห็นตอนนี้ คือ ระดับของความพร้อมของแต่ละประเทศในการที่จะจัดการและรับมือกับความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสในอนาคตมีไม่เท่ากัน”

ถ้าพิจารณาจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศ ประเทศแกนนำของโลก จะพบว่าสหรัฐฯ มีความก้าวหน้ามากกว่าหลายประเทศในฝั่งเอเชีย การมาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะทำให้จุดสนใจของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีนี้อยู่ที่การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ 

ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ทยอยปรับเพิ่มมุมมองต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของโลกในปีนี้ขึ้น ซึ่งมีผลต่อทิศทางของผลตอบแทนของธนบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะยาวปรับขึ้น และมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทยอยออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินภายในปี 2565 

ส่วนราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ควบคู่ไปกับการลดกำลังการผลิตของประเทศในตะวันออกกลาง ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้กลับไม่ได้ส่งผลดีเลยกับราคาทองคำ ทิศทางดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาการของเศรษฐกิจ ประเด็นวัคซีน การผลักดันมาตรการต่าง ๆ ของไทย ย่อมมีผลต่อแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าเช่นกัน 

“THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ธนาคารเห็นว่ามีสัญญาณฟื้นตัวจากลูกค้าที่สามารถนำเงินมาจ่ายคืนเงินกู้ได้ในสัดส่วนที่มากกว่าที่คาดไว้ ตั้งแต่ปลายปี 2563 มาจนถึงต้นปี 2564 ทั้ง ๆ ที่โควิดกลับมา ลูกค้าก็ยังชำระได้ดีอยู่ และแน่นอนว่าสถานการณ์ข้างต้นจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคงเป็นโจทย์ที่นักลงทุนจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะว่าจะมีอิทธิพลต่อทิศทางราคาสินทรัพย์ในแต่ละประเภทต่าง ๆ กัน ทำให้การจับจังหวะการลงทุนมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น

แบงก์ชาติชี้ “วัคซีน-มาตรการฟื้นศก.ของแต่ละประเทศ” ปัจจัยขับเคลื่อนศก.โลก

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยกาอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะที่ผ่านมาและในระยะต่อไป คือ วัคซีน และมาตรการที่แต่ละประเทศที่ออกมาเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งสูงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุกประเทศมองว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาก่อน ซึ่งนโยบายการคลัง มีบทบาทสำคัญมาก เพราะว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ใช้เพียงนโยบายการเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมาช่วยรับภาระความเสี่ยงด้วย

ชญาวดี ชัยอนันต์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะโต ซึ่งการส่งออกของประเทศไทยน่าจะได้ผลดีสำหรับปีนี้ แต่ปี 2022 นโยบาย Build Back Better จะทำให้สหรัฐฯ มุ่งเน้นสร้างเสริมเศรษฐกิจของตัวเองภายในประเทศมากกว่า บริโภคเองและผลิตเองในประเทศ การซื้อของหรือลงทุนนอกประเทศอาจจะน้อยลง 

สหรัฐฯ ในระยะสั้นนี้จะเน้น “Reshoring, 5G, Green” ในอนาคตธุรกิจไทยอยากจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะผ่านช่วงยากลำบากนี้ไปได้ ธุรกิจไทยจึงต้องปรับตัวไปในแนวทางนี้

เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นและไม่แย่เท่าปี 2563 การระบาดระลอก 2 พิสูจน์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีภูมิคุ้มกัน ภาครัฐออกมาดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเร็ว ประชาชนเองปรับตัวได้มากขึ้น หากมีการระบาดเพิ่มเติมเราพอจะรับมือได้ โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ K-Shape Recovery ขาขึ้นจะขึ้นมาก อะไรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างดีและดีต่อเนื่อง แต่ภาคบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยวไปไม่ได้ เริ่มเปิดเมืองแม้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่มีนักท่องเที่ยวไทย แต่เจอโควิดระลอก 2 นักท่องเที่ยวไทยก็หาย เหมือนกลับไปยืนที่เดิม จะมีบางธุรกิจได้รับผลกระทบซ้ำเติม บางธุรกิจได้รับผลกระทบชั่วคราว บางธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ 

ตัวเลขล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 3.2% แต่หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาและผ่านมาตรการหลายมาตรการทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยโตกว่าที่คาดไว้เยอะมาก เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้น โดยอาจจะมี “ลมต้าน” อยู่ 2-3 เรื่อง คือ เรื่องแรก คือ มาตรการของพรก. 1 ล้านล้านบาท จะหมดลงในเดือนกันยายนนี้ ต้องดูว่ารัฐบาลมีนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมมากระตุ้นให้โตได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าการท่องเที่ยวสะดุด เป็นความเสี่ยง รัฐบาลเองในช่วงเศรษฐกิจแย่มาก ๆ ก็เก็บรายได้ได้น้อยลงด้วย ฉะนั้น การตั้งกรอบงบประมาณปี 2565 จะน้อยลงไปด้วย และอาจจะไม่สามารถตั้งกรอบงบประมาณได้สูงเท่าเดิม 

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือ ภาระหนี้เก่ากับสภาพคล่องใหม่ภาระหนี้เก่า มีตั้งแต่ พักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ การรวมหนี้ และไกล่เกลี่ย ซึ่งส่วนมากสำหรับรายย่อย ส่วนรายใหญ่หรือรายที่มีหลักประกันที่ไม่ได้สร้างรายได้เท่าที่ควร เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือโรงแรม ยังไม่มีมาตราการที่ชัดเจน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยทำงานใกล้ชิดกับบสย. เพื่อสนับสนุนให้ออกมาตราการมาช่วย SME ได้ ในอนาคตจะมีกลไกการค้ำประกันที่ทำได้มากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงที่สูงขึ้น 

จำนวนรายย่อยที่ขอเข้ามาพักชำระหนี้ลดลง 60% มีคนชำระหนี้ได้มากขึ้น แต่มีกลุ่มที่แย่และยังฟื้นตัวได้ไม่ดี กลุ่มนี้ต้องเร่งช่วยเหลือ และออกนโยบายไปแก้ได้ตรงจุด ซึ่งล่าสุดแบงก์ชาติแถลงตัวเลข NPL อยู่ที่ 3.2 หากคุณพักชำระหนี้อยู่ ปรับโครงสร้างหนี้ดีกว่า เพราะจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ยั่งยืนขึ้น และไม่กลายเป็น NPL ในระยะต่อไป 

ธุรกิจปรับตัวรับมือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวว่า มีการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ประมาณ 25% ที่อังกฤษ 30% ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ คาดว่าจะถึง Herd Immunity ได้ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ในขณะที่จีน GDP ที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก เพิ่งฉีดไปเพียง 3% ญี่ปุ่นเพิ่งฉีดไม่ถึง 1% เยอรมันฉีดไป 7%. อินเดียยังไม่ถึง 1%

ธิติ ตันติกุลานันท์

ข่าวดีเรื่องวัคซีนยังมาไม่ถึงเอเชียและยุโรป ดังนั้น สภาวะปกติน่าจะต้องรอครึ่งปีแรกของปีหน้า ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าคนไทยสามารถอยู่กับโควิดได้หรือไม่ ปีที่แล้วอยู่ไม่ได้ แต่ปีนี้เหมือนจะอยู่ได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนไม่ถึง Herd Immunity ก็อาจจะต้องเปิดประเทศ หากจะปิดประเทศ 2 ปี ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวถึงมากกว่า 10% ของ GDP จะเสียหายอย่างมาก

หลังจากมีวิกฤติการเงินในปี 2008 Balance Sheet ของเฟด เพิ่มขึ้นมา 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในช่วง 12 ปี) แต่ช่วงที่มีโควิดภายใน 1 ปี Balance Sheet ของเฟด ก็เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่า เฟดมีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาด แล้วปล่อยเงินออกมาก จำนวนเงิน Balance Sheet ของเฟดที่เพิ่มขึ้น คือ จำนวนเงินที่ปล่อยเข้ามาในระบบ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ทั่วโลกลดลง แต่ราคาหุ้นไม่ลดลง เพราะสภาพคล่อง 

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ขึ้น เพราะยังไม่มีเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บอกว่า ต้องมีเงินเฟ้อ อย่างน้อย 2% ก่อนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไหม แต่ดอกเบี้ยระยะยาวเฟดไม่ได้ควบคุม ขึ้นกับอุปสงค์อุปทานของตลาด ดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ขึ้นมาค่อนข้างมาก ตลาดจึงมีการ Panic และปรับพอร์ต ดอกเบี้ยขึ้น เพราะสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยขึ้น 15% เพราะว่าข่าวดีในตลาดสหรัฐฯ ที่มีการฉีดวัคซีน บวกกับการที่เฟดอัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เข้ามาในระบบ บวกกับดีมานด์ของคนที่อยากจับจ่ายใช้สอย ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น 

“ช่วงนี้เป็นการลงทุนที่ลำบากมาก เพราะว่าต้องแยก Fundamental ซึ่งทุกที่แพงหมดเลย ที่สหรัฐฯ PE Ratio อยู่ที่ 18 ตอนนี้อยู่ที่ 26 ไม่ได้ถูกกว่าบ้านเรา แต่คนก็ยังซื้อเพราะคนไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนอะไร เพราะดอกเบี้ยต่ำ ประกอบกับสภาพคล่องในระบบยังสูงอยู่เยอะมาก”

กระแสบิทคอยน์เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าสภาพคล่องเหลืออยู่เยอะมากและคนไม่มีที่จะลงทุน คือ 1 ปี บิทคอยน์เพิ่มขึ้นมา 540% เพราะมีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา ตามโมเมนตัมการลงทุนในบิทคอยน์ยังไปได้อยู่ แต่ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงทุนเนื่องจากเงินดิจิทัลไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงและผันผวนสูง ผู้ลงทุนต้องสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับสินทรัพย์ที่มองว่ายังสามารถหาจังหวะลงทุนได้ คือ ทองและน้ำมัน

ททท.คาดเปิดประเทศไตรมาส 3 เพื่อได้นักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคนในปีนี้

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนจะเป็น Game Changer ในการกลับมาของเศรษฐกิจในประเทศไทยและในโลก 

รายได้จากนักท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยถึง 39-40 ล้านคน รายได้ 2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ​ 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศ เจอโควิดได้รับผลกระทบมหาศาล นักท่องเที่ยวเหลือแค่ 6.7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา รายได้ในภาพรวมลดลง 73% 

ยุทธศักดิ์ สุภสร

สิ่งที่ททท.ทำ คือ ตรวจสอบดีมานด์จากต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมามีดีมานด์จำนวนมาก นักท่องเที่ยวอยากจะมาประเทศไทย แต่ติดเงื่อนไขเรื่องวัคซีนและการกักตัว 14 วัน 

ททท. คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในไตรมาส 3 เพื่อจะได้นักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปก่อน รายได้โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ปี 2565 คาดจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเท่าครึ่งหนึ่งของปี 2562 คือ 20 ล้านคน แต่รายได้อยากได้สัก 80% ของปี 2562 หรืออยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท 

นักท่องเที่ยวจากระยะไกล อาทิ ยุโรป อเมริกาเหนือ สแกนดิเนเวีย น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เข้ามาด้วยปริมาณที่พอสมควร ซึ่งจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย ยังพอใจกับการท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ ไทยต้องหาตลาดและแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นคุณภาพไม่เน้นจำนวน 

ตัวกำหนดดีมานด์การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว คือ มาตรการสาธารณสุข กักตัว ไม่กักตัว ส่วนที่สอง คือ ความรู้สึกของคนไทย ในบางพื้นที่อยากให้เปิดบางพื้นที่ยังไม่อยากให้เปิด ส่วนที่สาม คือ การฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจในหลายเรื่อง ส่วนที่ 4 คือ ความง่ายในการเดินทาง ส่วนสุดท้าย คือ นโยบายอนุญาตให้ออกนอกประเทศ เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเป็นใจด้วยถึงจะทำการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ 

ซึ่งท่องเที่ยวไทยต้องแยกเป็นสองส่วน คือ ในเมืองท่องเที่ยวหลักที่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวในระดับสูงประมาณ 70-80% มีปัญหาเรื่อง Over Supplies อยู่แล้ว ก่อนที่จะเกิดโควิดด้วยซ้ำไป กลุ่มเหล่านี้ต้องการการปรับตัว ขณะที่กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองไม่มีปัญหา ททท.กำลังแก้ปัญหาว่าหากในจังหวัดหลักที่ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเยอะแล้วยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ จะต้องปรับตัวให้มีคุณภาพมากขึ้น การเป็น High Value Tourism มีการใช้จ่ายระดับสูง มีการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ปี 2565 ตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาประมาณ 80% ของระดับรายได้ของปี 2562 ถ้าปีนี้ 1.2 ล้านล้านบาท (ไม่เพิ่ม Spending per Trip) ปีหน้า 2.5 ล้านล้านบาท (Spending per Trip ของนักท่องเที่ยวต้องขยับจาก 53,500 บาท เป็น 62,000 บาท หรือเพิ่มประมาณ 30%) จะกลับไปในระดับที่เกินปี 2562 ได้ก็ราว ๆ ปี 2566-2567 ซึ่งตอนนั้นไม่สนใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับตัวหลังโควิด คือ ต้องการเปลี่ยนวิธีคิดสู่ Less for More แต่แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มมากขึ้น หากจะได้ทั้งคุณภาพ (รายได้)​ ได้ทั้งปริมาณ ​(จำนวนนักท่องเที่ยว) ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี

ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้ามองเชิงภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ น่าจะมีประเด็นที่คนทำการค้าในประเทศไทยในช่วงปี 2021-2023 จะต้องกังวลอยู่ 4+1 ประเด็น ประเด็นแรก คือ รับมือกับ Global Value Chain ที่เปลี่ยนไปได้ดีแค่ไหน ประเด็นต่อมา คือ การเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจในประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ จีน และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ที่ไทยพึ่งพา ในดุลอำนาจมี +1 คือ สถานการณ์ในเมียนมา ประเด็นที่ 3 คือ Disruptive Technology รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ประเด็นที่ 4 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

Global Value Chain ที่เปลี่ยนไป เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี Global Value Chain ปี 2015-2019 ก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2020 ตกฮวบ และจะกลับไปยืนที่จุดเดิมได้ในปี 2023 ตอนนี้ 2021 คือ จุดต่ำสุด ปี 2022 เริ่มหักหัวขึ้น และปี 2023 น่าจะกลับไปยืนที่เดิมได้ ในเชิงมูลค่า แต่ปัญหาคือ รูปแบบมันเปลี่ยน รูปแบบเดิมในช่วงปี 2015-2019 Global Value Chain เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ สหรัฐอเมริกาเหนือ-ใต้ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งในเอเชียแบ่งเป็นอีก 4 ก้อนใหญ่ ๆ คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอาเซียน 

ที่ผ่านมาลูกศรที่เชื่อมโยงการค้าระหว่าง 3 ส่วนนี้ ขยายตัวมาโดยตลอด แต่คาดการณ์ว่าปี 2023 ที่จะกลับมาแตะอยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลูกศรระหว่างจีนกับยุโรป จีนกับอเมริกา หรืออเมริกากับยุโรป อเมริกากับจีน จะกลายเป็นสีแดงขนาดใหญ่ คือ ติดลบก้อนใหญ่ ในขณะที่ลูกศรที่ยังสีเขียวอยู่ คือ ลูกศรระหว่างอาเซียนไปจีน ไปยุโรรป ไปอเมริกา แล้วประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์นี้ไหม ซึ่งขึ้นกับโอกาสบวกความพยายามและการเตรียมพร้อม 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ