TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการใช้คอมพิวเตอร์ ช่วงเรียนต่อปริญญาโทที่นิวซีแลนด์ ปี 2531-2533

การใช้คอมพิวเตอร์ ช่วงเรียนต่อปริญญาโทที่นิวซีแลนด์ ปี 2531-2533

ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 หลังจากที่ผมได้รับราชการเป็นอาจารย์ได้สองปี ผมก็ได้รับความกรุณาจากคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่งชื่อผมไปสอบชิงทุนศึกษาต่อปริญญาโทของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่ผ่านมายังกรมวิเทศสหการ และพอต้นเดือนตุลาคมผมก็ทราบว่าสอบได้ไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา Electrical and Electronic Engineering ที่ University of Auckland โดยต้องออกเดินไปพร้อมกับกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้ทุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ประมาณสิบกว่าคนในต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษก่อนเป็นเวลา 4  เดือนที่ Victoria University of Wellington ที่เมื่องเวลลิงตัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศนิวซีแลนด์

-เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคแรก: โปรแกรม Lotus 123 และ เวิร์ดราชวิถี
-จากเครื่องคอมพิวเตอร์เจาะบัตรสมัยนักศึกษา สู่การใช้เครื่อง VAX-11/780 เมื่อเริ่มเป็นอาจารย์

ผมไม่เคยไปนิวซีแลนด์มาก่อน และสมัยนั้นการเดินทางไปต่างประเทศยังเป็นเรื่องใหญ่ แม้ผมอาจเคยตามแม่ไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกามาก่อนเป็นเวลาหนึ่งปี แต่ตอนนั้นก็ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น และก็ไม่ได้ไปต่างประเทศอีกหลายปีหลังจากนั้น ก่อนไปนิวซีแลนด์ครั้งแรกก็จินตนาการแบบการเคยไปอยู่สหรัฐอเมริกาที่เมืองมีความคึกคักและความเจริญมากมาย วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ได้ดูกีฬาต่าง ๆ มากมายทั้งทางทีวีและที่สนามกีฬาเหมือนสมัยอยู่สหรัฐอเมริกา 

แต่พอไปถึงแล้วค่อนข้างจะตกใจเล็กน้อย ไปถึงเมืองหลวงวันเสาร์ก่อนเที่ยง ผู้ที่มารับก็ถามว่าจะซื้ออะไรก่อนเข้าหอพักไหมเพราะเดี๋ยวร้านจะปิดยาวตั้งแต่บ่ายโมงเปิดอีกทีก็วันจันทร์ ตอนแรกไม่เข้าใจเขาหรอกครับว่าทำไมต้องรีบซื้อข้าวของเครื่องใช้อะไร พวกเราเลยไม่ซื้ออะไรกัน ตั้งใจว่าพอเข้าที่พักแล้วค่อยออกมาเดินเล่นซื้อกัน แต่ที่ไหนได้พอเข้าที่พักแล้วสุดสัปดาห์นั้นเมืองหลวงเงียบทั้งเมือง ไม่มีผู้คนออกมาเดิน ร้านค้าปิดหมด โดยเฉพาะวันอาทิตย์ เราสามารถเดินเล่นกลางถนนใหญ่ ๆในเมืองได้เลย ทีวีที่เคยคิดว่าจะมีหลายช่องสมัยนั้นก็มีเพียงแค่สองช่องแถมไม่มีโฆษณา วันอาทิตย์เช้าก็ไม่มีรายการทีวีอะไรให้ดู คงตั้งใจให้เราไปเข้าโบสถ์หรืออยู่หอพักผ่อนไป

สำหรับการใช้คอมพิวเตอร์สมัยนั้นยังไม่ต้องพูดถึง ทุกคนไปกันตัวเปล่าไม่มีเทคโนโลยีอะไรติดตัว สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดที่ผมพกติดตัวไปด้วยจากเมืองไทย ก็คือเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ Casio FX ดังนั้น ในช่วงที่เรียนภาษาอังกฤษอยู่ที่เมืองเวลลิงตันสี่เดือนผมไม่ได้มีโอกาสเล่นเครื่องคอมพิวเตอร์เลย

แต่ในยุคนั้นการห่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ไปหลาย ๆ เดือนก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกอะไร เพราะสมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี Social media 

และคนที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นคนด้านไอทีที่ต้องการใช้ในการทำงานจริง ๆ ในเมื่อช่วงนั้นไม่มีงานที่จะต้องทำโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะไม่ได้สัมผัสเครื่อง

เครื่อง IBM Personal Computer/Advanced Technology ภาพจาก  Wikipedia

แต่หลังจากผมย้ายไปเรียนที่เมืองโอ๊คแลนด์ ผมก็ได้ซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เครี่องแรกในชีวิตผมในเดือนพฤษภาคม 2532 ถ้าจำไม่ผิดเป็นเครื่องรุ่น IBM AT Compatible ใช้ CPU 80286 ไม่มีฮาร์ดดิสด์แต่ใช้ Floopy disk 5¼  นิ้วที่มีความจุข้อมูล 1.2 MB เครื่องที่ซื้อเป็นเครื่องมือสองราคาประมาณ 1,100 เหรียญนิวซีแลนด์ (อัตราแลกเปลี่ยนสมัยนั้นคือ 16 บาทต่อหนึ่งเหรียญนิวซีแลนด์) การใช้งานหลัก ๆ ในยุคนั้นก็เอาไว้ใช้เล่นโปรแกรม WordStar, Lotus และ dBASE III 

(โปรแกรม Wordstar ภาพจาก  Wikipedia)

โดยโปรแกรม WordStar เป็นโปรแกรม Word Processing รุ่นแรกที่เป็น WYSIWYG (What You See is What You Get) กล่าวคือ พิมพ์ข้อความเห็นหน้าจอเป็นอย่างไร ผลลัพธ์จากการพิมพ์ก็ได้อย่างนั้น แต่ภายหลังโปรแกรมนี้ก็โดนคู่แข่งคือ WordPerfect ของบริษัท Corel เข้ามาครองตลาดแทนก่อนที่จะโดน Microsoft Word แย่งตลาดไปเมื่อระบบปฎิบัติการ Windows เข้ามา

ส่วนโปรแกรม dBASE III ใช้ในการทำฐานข้อมูลโดยผู้ใช้ต้องเขียนคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ ในการเขียน  ซึ่งในยุคนั้น ก็ถือว่าเป็นโปรแกรมทางด้านนี้ที่ดังที่สุด โดยมีคู่แข่ง คือ FoxBase และก็ถือว่าเป็นหนึ่งใน Killer App สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งมีการพัฒนาต่อเนื่องและครองตลาดมายาวนาน จนกระทั่งการบริหารจัดการข้อมูลเปลี่ยนมาสู่ยุคของภาษา SQL ถึงจะหมดยุคของโปรแกรม dBase แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีโปรแกรม dBASE วางจำหน่ายอยู่ โดยล่าสุดเป็น dBASE PLUS 11 ที่ออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2017

การมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวในสมัยนั้นทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และสามารถทำงานต่าง ๆ ทางด้านไอทีได้มากขึ้น รวมถึงการใช้ทำงานโปรเจคต่าง ๆ ในการเรียน และก็เริ่มพัฒนาตัวเองจากการเขียนโปรแกรมภาษา Pascal ไปสู่ภาษา C ก็เนื่องจากต้องการประมวลผลให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ สมัยนั้นประสิทธิภาพของการทำงานของโปรแกรมยังขึ้นอยู่กับภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพัฒนาอยู่มาก เพราะประสิทธิภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในวงจำกัดจะหาคอมพิวเตอร์ไว ๆ ในการทำงานก็ลำบาก ซึ่งถ้าอยากให้ทำงานได้เร็วจริง ๆ บางโปรแกรมถึงกับต้องเขียนด้วยภาษา Assembly แต่กรณีผมต้องทำงานทางด้าน Image Processing เลยต้องเขียนด้วยภาษา C เพื่อจะได้ประมวลผลภาพได้อย่างรวดเร็ว

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเล่นประจำ ก็คือ การแกะฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ออกมาเล่น ดูตัว Motherboard เพิ่มการ์ดต่าง ๆ ทั้งจอภาพ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ข้อมูลในแผ่นดิสด์บางทีก็เล่นกับ sector ในการเก็บข้อมูลที่เป็นเลขฐานสองเลยเพื่อที่จะต้องซ่อมแผ่น หลัง ๆ พออยากได้ Harddisk ก็ต้องซื้อเพิ่มมาใส่เอง จำได้ว่ากว่าจะจบปริญญาโทก็ได้เปลี่ยนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มากมาย รวมถึงการซื้อเครื่องใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องเดิมด้วย ก็เลยได้ความรู้ด้านฮาร์ดแวร์มาสมควรอาจเพราะว่าตัวผมเองก็เรียนวิชาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาหลายวิชาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี 

ในปีที่สองที่ผมเรียนปริญญาโท ผมได้ไปทำโครงการให้กับสถาบันวิจัยของประเทศนิวซีแลนด์ที่ชื่อ Department of Scientific and Industrial Research หรือ DSIR โดยได้ไปทำงานในแผนก Machine Vision ร่วมกับนักวิจัยจากหลายประเทศทั้งเยอรมัน เดนมาร์ก สวีเดน และนิวซีแลนด์ โดยเป็นโปรเจคในการเรียนของผมหัวข้อที่ชื่อ An automatic fish trimming system using computer vision

จริง ๆ ก็เป็นโครงการด้านปัญญาประเดิษฐ์หรือ AI ที่ผมได้เริ่มทำเมื่อ 30 ปีก่อน เขียนโปรแกรม C แล้วใช้เทคนิคด้าน Image Processing ในการที่จะตรวจจับชิ้นส่วนของเนื้อปลา ถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้ทำงานกับนักวิจัยเก่ง ๆ ที่สอนผมตั้งแต่รูปแบบการเขียนโปรแกรม ไปจนถึงทฤษฎีด้าน Computer Vision แต่แม้วันนี้เรื่องของปัญญาประดิษฐ์กำลังเป็นที่นิยม ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีความรู้ทางด้านนี้เพียงพอที่จะไปงานวิจัยอะไรใหม่ ๆ ได้

การใช้คอมพิวเตอร์อีกด้านหนึ่งที่ผมต้องเรียนรู้เมื่อต้องทำรายงานการวิจัยต่าง ๆ ก็คือ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh ในช่วงนั้นถ้าอยากจะทำรายงานให้สวยงาม จะวาดภาพกราฟฟิกใส่ในรายงานได้ก็ต้องเลือกใช้โปรแกรมของ Macintosh ซึ่งภาควิชาก็จะมี 3-4 เครื่องให้บริการกับนักศึกษาปริญญาโทและเอก

โดยเราจะใช้โปรแกรม MacWrite และ MacPaint แล้วพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ Laser ที่มีราคาแพงมากสมัยนั้น ทั้งนี้เครื่อง Machintosh จะใช้ CPU ตระกูลที่ต่างกับเครื่องพีซีโดยจะเป็นตระกูล  RISC (Reduced Instruction Set Computer) ของค่าย Motorola ซึ่งเป็น CPU 68020 ความเร็ว 16 MHz มี Harddisk ขนาด 20 MB และใช้ Floppy Disk 3.5นิ้ว ซึ่งราคาจะแพงกว่าเครื่องพีซีมาก

ด้วยความที่ในยุคนั้นไม่มี Trumpdrive หรือ External Harddisk เวลาเราทำงานเสร็จเราก็ต้อง Save งานที่ทำไว้ในแผ่น Floopy disk เราเลยต้องพกพาแผ่นจำนวนมากเวลาเดินทางไปเรียนหรือทำงาน ก็จะมีกล่องหรือซองใส่แผ่นดิสด์ไว้อย่างดี ถ้าเก็บรักษาไม่ดีแผ่นพังไปบางทีงานที่ทำมาเป็นเดือนก็อาจหายไป

แผ่นดิสด์เลยเป็นสมบัติที่มีค่ามากสำหรับพวกเรา จำได้ว่าตอนเรียนจบปริญญาโทในปลายปี 2533 ผมต้องขนแผ่นดิสด์หลายสิบกล่องกลับเมืองไทย

เครื่อง Macintosh ภาพจาก  https://www.moma.org/

จากอดีตมานึกถึงยุคปัจจุบันนี้ ก็ขำ ๆ วิธีการทำงานแบบเดิม สมัยนี้ทุกอย่างขึ้น Cloud ไม่ต้องมีแผ่นดิสด์พกไปไหน ใช้มือถือตัวเดียวยังดึงข้อมูลได้เขียนโปรแกรม บางทียังพูดเล่น ๆ กับเด็ก ๆ สมัยนี้ว่า ตอนนั้นเวลาที่ใช้ในการเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งก็เพียงแค่เอามาจัดระบบคอมพิวเตอร์ ก็อปปี้ข้อมูลไปมา นั่งรอผลลัพธ์ของการรันโปรแกรม ถ้ามาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ยุคนี้เผลอ ๆ ทำไม่กี่อาทิตย์ก็เสร็จแทนที่จะต้องเรียนเป็นปีแบบยุคเดิม แต่ทักษะทั้งหมดที่ได้จากการเรียนปริญญาโทเป็นเวลาสองปีก็เป็นรากฐานในการทำงานในทุกวันนี้เช่นกัน 

แหล่งข้อมูล https://en.wikipedia.org/

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-โซนี่ไทย เปิดตัวทีวีบราเวีย 8K ในไทย รองรับเครื่อง PS5
-เดลล์ Latitude 9000 และ 7000 PCs แล็ปท็อปที่มาพร้อม AI
-Zoho เผยคนใช้ Workplace ทะลุ 15 ล้านคน จากการปรับตัวช่วงวิกฤติโควิด
-ตรวจชีพจรเศรษฐกิจไทย ในวันที่ลมหายใจธุรกิจรวยริน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ