TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเอไอเอส หนุน “อู่ตะเภา” เป็น สนามบิน 5G แห่งแรกในไทย

เอไอเอส หนุน “อู่ตะเภา” เป็น สนามบิน 5G แห่งแรกในไทย

สนามบินอู่ตะเภา สนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เดินหน้าสู่สนามบิน 5G แห่งแรกในประเทศไทยเต็มรูปแบบด้วยความร่วมมือ (MoU) กับเอไอเอส เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบแอปพลิเคชันและโซลูชันสำหรับสนามบินทั้งมิติของความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้บริการสนามบิน 

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการขยายความร่วมมือจาก MoU เดิมที่เคยลงนามกันไว้ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็น MoU ส่วนต่อขยายอีก 2 ปี (2563-2565) 

อาจกล่าวได้ว่า สนามบินนอู่ตะเภา เป็นสนามบิน 5G แห่งแรกในประเทศไทย เพราะมีการติดตั้งเครือข่าย 5G ทั้งภายใน (5G+WIfi 6) และภายนอก (สถานีฐาน 5G)

โดยเฉพาะพื้นที่ใช้สอยภายในตัวอาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2) ที่มีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ที่มีขีดความสามารถในการรรองรับจำนวนเที่ยวบินได้ 17 ล้านเที่ยวบินต่อปี และรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 3 ล้านคนต่อปี

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันยกระดับสนามบินนอู่ตะเภาเป็นสนามอัจฉริยะ (Smart Airport) ด้วยการนำ Digital Infrastructure สำคัญอย่างเทคโนโลยี AIS 5G, WiFi 6 และอื่น ๆ  เข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติม รวมถึงร่วมศึกษาและทดลอง ทดสอบ Digital Solutions ในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ณ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 

พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการให้บริการสนามบินเชิงพาณิชย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการบิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร 

การท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้ร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือของเอไอเอส ตั้งแต่ปี 2561 นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการให้บริการและการบริหารอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้มีความทันสมัย อาทิ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสาร และระบบวิเคราะห์ภาพวิดีโอ หรือ Video Analytics รวมทั้งพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารต่าง ๆ 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นไปตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 แล้วยังเป็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งและยั่งยืน หลังจากเผชิญวิกฤติจากสภาวะการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ความร่วมมือที่จะมีการต่อยอดร่วมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย การร่วมมือกันศึกษา พัฒนาและทดลองการใ้งานแอปพลิเคชันและโซลูชันสำหรับสนามบินจริงร่วมกกัน (Co-Creation) ระหว่างสนามบินอู่ตะเภาและเอไอเอส 

  • การศึกษารูปแบบการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสนามบิน เป็นแนวทางการพัฒนาและยกระดับสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต
  • การทดสอบและทดลอง Digital Solutions เพื่อเสริมขีดความสามารถในการให้บริการของสนามบิน อาทิ ระบบ 5G Autonomous Driving , ระบบ 5G surveillance เพื่อสอดส่องดูแลพื้นที่ ทั้งในบริเวณ Terminal และ พื้นที่โดยรอบสนามบิน  

ทั้งหมดนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นมหานครการบินแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุน และความเจริญต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ EEC มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน

เอไอเอส ตอกย้ำความเป็นผู้นำเครือข่าย 5G ชั้นนำระดับภูมิภาคและอันดับ 1 ในไทยที่มีคลื่นมากที่สุด และครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ฟื้นฟูประเทศต่อเนื่อง 

“เราจับมือการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ต่อยอดความร่วมมือยกระดับการให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา สู่สนามบินอัจฉริยะ (Smart Airport) ไปอีกขั้น หลังได้รับความไว้วางใจในการร่วมพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น สำหรับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561”

สำหรับบริการดิจิทัลที่ได้นำเข้าไปเสริมศักยภาพการบริหารจัดการภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา แล้วประกอบด้วย

1) Smart Video Analytics Solution เสริมระบบบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยีระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพวิดีโออัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลจากเครือข่ายกล้องวงจรปิดทั่วอาคาร และโปรแกรมวิเคราะห์ประมวลผลภาพปัญญาประดิษฐ์ ประยุกต์ใช้เป็นระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคลและสิ่งของ (Face and Object Recognition) ในพื้นที่อาคารสนามบิน เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย เช่น กรณีบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัย (Unattended Object Detection) แจ้งเตือนกรณีมีวัตถุถูกวางทิ้งไว้เป็นเวลานานผิดปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัย และการบริหารจัดการท่าอากาศยานของกองทัพเรือไทย

2) แอปพลิเคชัน Thailand Smart Airport อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารด้วยข้อมูลด้านการบินและสนามบินหลากหลายในแอปพลิเคชันเดียว อาทิ สถานะตารางการบิน การแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับไฟล์ทเดินทาง แผนที่บอกทางภายในสนามบิน และรายละเอียดจุดบริการต่างๆในสนามบินด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality – AR โดยนักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ทาง App Store และ Play Store ได้แล้ววันนี้

3) เทคโนโลยี Thermal Scan ที่จะช่วยตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยว และเชื่อมต่อสู่ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสนามบิน

4) หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE (ROC) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัย AIS Robotic Lab ที่ช่วยคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ดูแลสุขอนามัยนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบินได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ลดการสัมผัสใกล้ชิด และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สร้างและสร้างความตื่นตัวเรื่องการความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยให้กับผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน

5) ติดตั้งเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วและมีความเสถียรสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารและประชาชนภายในสนามบิน ตลอดจนรองรับโซลูชั่นการให้บริการใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา จ.ระยอง6) บริการ Wifi 6 มาตรฐาน WiFi ยุคใหม่ที่มีความเร็วสูงที่สุด พร้อมรองรับการใช้งานมือถือและดีไวซ์ได้จำนวนมาก ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการเชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ