TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyNIA - ม.บูรพา สร้าง "Tech Inno Hub" เมืองศูนย์กลาง EEC

NIA – ม.บูรพา สร้าง “Tech Inno Hub” เมืองศูนย์กลาง EEC

ขนาดเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีสัดส่วนเป็น 17% ของเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม 62.6% ภาคบริการ 30.2% และภาคการเกษตร 7.2%

จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกคือพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การก้าวสู่โลกยุคใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ คงไม่อาจดำเนินการทางเศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่เป็นการซื้อมาขายไป หรือใช้แรงงานเป็นข้อได้เปรียบเช่นเดิมอีกต่อไป เพราะจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไปอย่างช้าๆ ขณะที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่สุดแล้วจะกลายเป็นตามไม่ทัน

การก้าวให้ทันโลกที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญนั้น ล่าสุด เอ็นไอเอ ได้ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยบูรพา และ 10 หน่วยงานในพื้นที่ EEC ผลักดันและส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมและสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBE) ควบคู่กับการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองศูนย์กลางนวัตกรรมให้เป็นเมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT (EEC Tech Inno Hub)

โดยมี 10 หน่วยงานร่วม ได้แก่ เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูง (EECh) นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ มหาวิทยาลัยบูรพา คูโบต้าฟาร์ม ที่โดดเด่นด้าน FoodTech & AgTech เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้างฉาง (EEC STP) เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อธิบายถึงการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่และภูมิภาคของ NIA ว่า เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่มุ่งนำสินทรัพย์ทางนวัตกรรมผนวกกับศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ มาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ 

ปัจจุบัน NIA กำหนดขอบเขตการศึกษา 3 ระดับ ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (City Innovation) และย่านนวัตกรรม (Innovation District) ที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ส่งเสริมการการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ

NIA มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ จำนวน 10 จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม และ 10 ย่านนวัตกรรม ในปี 2570 ซึ่งพื้นที่ EEC เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาที่มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมในการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ด้าน Smart IoT ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 ได้ และสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของ NIA 

นวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย 1. FoodTech & AgTech 2. TravelTech 3. MedTech 4. Climate Tech และ 5. Soft Power 

Groom – Grant – Growth: 3 กลไกหนุน

อย่างไรก็ตาม หากดำเนินงานเพียงหน่วยงานเดียวจะไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้กลายเป็นชาตินวัตกรรมได้ จึงเกิดความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 10 หน่วยงานดังกล่าว โดย NIA มีกลไกสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาทักษะด้านกำลังคนและเพิ่มจำนวนองค์กรนวัตกรรม (Groom) การสนับสนุนด้านการเงิน (Grant) และการทำให้ธุรกิจนวัตกรรม สินค้าและบริการนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับและรู้จัก (Growth) 

ทั้งหมดจะเป็นแรงผลักดันในการยกระดับ SMEs / Startup / Social Enterprise (SE) ให้เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Base) ที่จะสามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และเกิดการลงทุนทางด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น 

ผู้อำนวยการ NIA ให้ข้อสังเกตว่า เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าธุรกิจไหนมีนวัตกรรมจะอยู่รอด ธุรกิจไหนที่ mindset รองรับการเปลี่ยนแปลงได้ จะสามารถสร้างหรือบ่มเพาะ skillset เหล่านี้ได้

“ถ้ามีพื้นที่แบบนี้ในหลาย ๆ พื้นที่ ก็จะทำให้เป็นไทยเป็นที่ยอมรับและรู้จักในฐานะการเป็นชาตินวัตกรรม ซึ่ง Tech Startup ช่วงเริ่มต้นจะเสี่ยงสูงมาก ภาครัฐต้องเข้าช่วยเยอะ ทั้งเงินทุน โอกาส การทดลอง พอถึงช่วงโตจะโตเร็วมาก จากที่เป็น Deep Tech ทำให้การลอกเลียนแบบทำได้ยาก และความต้องการสูง ดังนั้น ต้องทำกลไกให้เขาโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นตัวอย่างให้ในอนาคตจะได้มีน้อง ๆ หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ เห็นความสำเร็จ จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวออกจาก Comfort Zone” ดร.กริชผกา ชี้ให้เห็นผลที่จะเกิดต่อไป

ผอ.กริชผกา กล่าวถึงความท้าทายของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมว่า ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้ ถือว่ามีแต้มต่อมาก แต่ถ้ามองทั้งประเทศจะมีผู้ประกอบการหลาย ๆ รายกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค ฉะนั้น กลไกช่วง 3-4 ปีนี้จะพยายามเน้น localization สร้างเมือง สร้างพื้นที่ สร้าง ecosystems ดึงผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรม ให้มาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการให้ทุนจะกระจายสู่ภูมิภาค

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมทั้ง 3S ที่กล่าวข้างต้น Startup จะเป็นกิจการด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วน SME มีหลายบริษัทที่ทำนวัตกรรม แต่จำนวนยังไม่มากพอถ้าเทียบกับ SME ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่ง SME ที่จะเป็นบริษัทนวัตกรรมได้จะต้องมีความพร้อมในตัวเอง มีศักยภาพ

แม้ไม่ใช่ผู้สร้างนวัตกรรม แต่ก็เป็นผู้ใช้นวัตกรรมได้ นำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้ระบบของสำนักงานดีขึ้น โดยการทรานส์ฟอร์มโรงงานต่าง ๆ ที่มีฐานเป็น automation IoT หรือองค์กรที่มีแนวคิดบนฐานนวัตกรรมได้

กลไกที่ NIA มีให้คือการบ่มเพาะองค์ความรู้ผ่านสถาบันการศึกษา ผ่านโครงการบ่มเพาะ หรือผ่านโครงการสร้างความเติบโตต่าง ๆ รวมถึงด้านการตลาดที่ส่งเสริมการส่งออกต่างประเทศด้วยเพื่อปักธงผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศด้วยเรื่องของเทคโนโลยีให้ได้

ม.บูรพา: ศูนย์กลางสร้างผู้ประกอบการ

ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าว่า การจัดทำกลไกส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของเทคโนโลยีเชิงลึกในเขตพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Deep Tech Ecosystem) เริ่มเมื่อปี 2565 

ทั้งนี้ พื้นที่ EEC มีศักยภาพพร้อมรองรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความโดดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทั้งสถาบันวิจัยและการศึกษาชั้นนำทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึก ตลอดจนความพร้อมด้านการแพทย์ การคมนาคม และนโยบายสนับสนุนจากรัฐ นำไปสู่พื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงลึกชั้นนำระดับโลก 

ดังนั้น จึงเหมาะแก่การจัดตั้งศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลไกและเครื่องมือสนับสนุนการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และเป็นพื้นที่ทดลอง (Sandbox) แก่ผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้ามาใช้บริการและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม 

ปี 2566 มีหน่วยงานพันธมิตรร่วมที่พร้อมให้บริการ ดังนี้

  1. โครงสร้างพื้นฐานภายในมหาวิทยาลัยบูรพา: EEC Genomic Center/ EEC NET: Tourism Innovation Lab/ EEC Automation Park/ EEC EV Conversion/ EAST PARK BUU เปิดพื้นที่เป็น Co-working Co-office และ Co-lab รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของบริษัทด้าน Smart IoT พร้อมด้วยการบ่มเพาะธุรกิจแบบเร่งอัตราการเติบโตที่เข้าไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้
  2. คูโบต้า ฟาร์ม: แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจร ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน FoodTech & AgTech มีบริการพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) ในการเพาะปลูกพันธุ์พืชเพื่อศึกษาและวิจัยต่อยอดการพัฒนา
  3. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA): บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบดาวเทียมในสภาวะต่างๆ
  4. เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi): ศูนย์กลางนวัตกรรมในการช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่

จากงานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์

ต้นทางของนวัตกรรมคือความรู้ และความรู้จากการทำวิจัยจะเป็นการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจ เข้าถึง และสิ่งที่จะนำมาเชื่อมต่อไปได้คือ การวิจัยจะทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์หรือบริการ เมื่องานวิจัยนำมาต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้ในรูปแบบของนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้นทุนของการประกอบธุรกิจ ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ดร.ณยศ อธิบายพร้อมระบุว่า

ปัจจุบันงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนำสู่ตลาดใช้เวลาลดลงจากอดีตที่เคยใช้เวลาหลายสิบปีมาก จากการตอบสนองต่อตลาดที่มีต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งทุกอย่างมีราคา หากปล่อยงานทิ้งไว้นาน มูลค่าจะค่อย ๆ ตกลง ยิ่งนำงานวิจัยมาทำให้เป็นนวัตกรรม และเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เร็วเท่าไรจะยิ่งเพิ่มมูลค่า และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

มหาวิทยาลัยบูรพามีอาคารที่เตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้ให้ใช้งานเป็นพื้นที่ธุรกิจ น้ำ ไฟ ให้ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีทั้งเทคโนโลยี, Incubator, Accelerator รวมทั้งการเชื่อมต่อกับนักลงทุนไว้พร้อม จนกว่าจะถึงจุดที่พร้อมจะไปได้ด้วยตัวเอง ถึงค่อยออกไป และส่งต่อให้แก่รุ่นต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการอยู่บนเวทีโลกที่มีการแข่งขัน

“เราไม่ได้พูดแค่เวทีอาเซียน แต่พูดถึงเวทีโลก ไอเดียของคนไทยไม่ได้แพ้ใครเลย จะต้องมองตลาดโลก ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่” ดร.ณยศ ย้ำ

ภานุวัฒน์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด ตัวแทนของบริษัทเอกชนที่ได้แยกตัว (Spin-off) ออกจากมหาวิทยาลัยบูรพา โดยให้บริการในการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ จากการใช้ AI Machine Vision ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับ Smart Living, Smart Care, Smart Health เพื่อการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วย โดยการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่อย่างทันถ่วงที ชื่อ “กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม”แพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร เล่าว่า มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่วิเคราะห์ทดสอบ และเชื่อมโยงองค์กรขนาดใหญ่ในการนำแพลตฟอร์มไปใช้งาน

ปัจจุบัน นอกจากแพลตฟอร์มของบริษัทจะใช้งานในประเทศแล้ว ยังมีลูกค้าต่างประเทศสนใจจะนำไปใช้ด้วย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

CISCO – AWS วางกลยุทธ์ความยั่งยืน รับมือสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลง

KTC ส่งไม้ต่อ ทีมบริหารรุ่นใหม่ DNA เดิม โฟกัส “คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี” ลุยใช้ AI + RPA ต่อยอดเติบโต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ