TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyCISCO – AWS วางกลยุทธ์ความยั่งยืน รับมือสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลง

CISCO – AWS วางกลยุทธ์ความยั่งยืน รับมือสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลง

เมื่อสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนไป ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake holders) แตกต่างจากเดิม ความยั่งยืน (Sustainability) กลายเป็นข้อบังคับสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างวางกลยุทธ์ความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดอันนำไปสู่ความเสี่ยงที่ประเมินค่าไม่ได้ในอนาคต

บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับโลกต่างเดินหน้าสู่ความยั่งยืน โดย CISCO เปิดตัว “The Plan for Possible” กลยุทธ์ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมรอบด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอนาคตใหม่ มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด พัฒนาธุรกิจแบบหมุนเวียน และการลงทุนในอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่น ส่วน AWS ชูความยั่งยืนระบบคลาวด์ช่วยลูกค้าลดการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องเกือบ 80%

แมรี เดอ ไวซอคกี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของซิสโก้ ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและโซลูชันเครือข่าย เกริ่นถึงสภาพอากาศโดยรวมว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง โดยตอนนี้อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ โลกต้องการอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงอนาคตที่ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การจัดการกับมลพิษที่สะสมมานานนับศตวรรษ มอบโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลก และปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับขอบเขตทางกายภาพของโลก ความก้าวหน้าที่ทำในช่วงทศวรรษนี้จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

“โลกเชื่อมถึงกัน แต่เราอาจประสบปัญหาจากการขาดการเชื่อมต่อรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจากเราด้วยกันเอง สุขภาพของเรา และสุขภาพของโลกเรา (health of the planet) โชคดีที่เทคโนโลยีช่วยให้เราได้คิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินงานและโมเดลธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลและคาร์บอนต่ำ โดยยังสามารถปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนและสร้างโอกาสให้แก่ชุมชนได้ด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ระบุ

กลยุทธ์ The Plan for Possible

จากการรับทราบถึงปัญหาเร่งด่วนดังกล่าว ซิสโก้ได้พัฒนาก้าวไปไกลกว่าแนวทาง “ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม” โดยได้กำหนดกลยุทธ์แบบรอบด้านเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “The Plan for Possible” ครอบคลุมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท แนวทางการมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์ และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและชุมชนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้วยเทคโนโลยีของซิสโก้ ได้ดำเนินการช่วยขับเคลื่อนโลกด้วยพลังงานสะอาดที่หาได้ง่ายผ่านสมาร์ทกริดและอาคารอัจฉริยะ ซึ่งออกแบบการทิ้งขยะด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่จากของใช้แล้ว และกำลังใช้ไอโอทีเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ซิสโก้ กำหนดภารกิจสำคัญเชิงกลยุทธ์ 3 ด้าน เป็นการปลูกฝังการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในการดำเนินงานของบริษัท โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย 1. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนโลกด้วยพลังงานทดแทน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมต่อแหล่งพลังงานสะอาดที่หลากหลายและไม่รวมศูนย์ ซึ่งซิสโก้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2583 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ครอบคลุมทุกส่วนของห่วงโซ่มูลค่ารวมถึงการใช้พลังงานของทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้า

การแก้ไขปัญหานี้ ซิสโก้จัดหาโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีให้แก่องค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านี้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น ชิป Silicon One ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครือข่ายของซิสโก้สำหรับการประมวลผล เอไอ ช่วยลดการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มแบนด์วิธ และ Universal Power Over Ethernet (PoE) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอาคารอัจฉริยะ และช่วยให้ซัพพลายเชนของบริษัท กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

พัฒนาธุรกิจแบบหมุนเวียน

2. การพัฒนาธุรกิจแบบหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์และให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับใช้และปรับขนาดโมเดลธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลงทุนอย่างจริงจังในการบ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อก้าวให้ทันวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าทางดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะบรรลุเป้าหมาย 100% ภายในปี 2568

บริษัทได้เปิดตัวโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนภายในห่วงโซ่มูลค่า ได้แก่ โครงการ Cisco Takeback and Reuse Program ช่วยให้ลูกค้าส่งคืนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่หมดอายุการใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, โซลูชัน Green Pay เป็นการชำระเงินด้านไอทีแบบหมุนเวียน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เสนอการชำระเงินที่คาดการณ์ได้เป็นเวลา 5 ปี และส่วนลดพิเศษ 5% โดยซิสโก้จะกู้คืนผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และโครงการ Cisco Refresh ปรับสภาพอุปกรณ์ให้ใกล้เคียงของใหม่ (Remanufacturing) ชุบชีวิตอุปกรณ์สำหรับการใช้งานเพื่อธุรกิจและโลก

ลงทุนในอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่น

3. การลงทุนในอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่น เป็นการช่วยเหลือชุมชนเพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถสำหรับเศรษฐกิจฟื้นฟู และการใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องและฟื้นฟูอีโคซิสเต็ม โดยเมื่อปี 2564 Cisco Foundation ได้ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลากว่า 10 ปีในโซลูชั่นสภาพอากาศที่ช่วยลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลาย

ซิสโก้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 ซัพพลายเออร์ด้านคอมโพเนนท์ การผลิต และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของซิสโก้ 80% จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสัมบูรณ์ ซึ่งปี 2565 บรรลุความสำเร็จที่ 78%

วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ของซิสโก้ กล่าวว่า ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีของธุรกิจในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของลูกค้า และช่วยให้ธุรกิจมีทางเลือกพร้อมอนาคตที่ยั่งยืน

AWS มุ่งความยั่งยืนผ่านคลาวด์

ขณะที่ วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS) กล่าวถึงความยั่งยืนบนคลาวด์ว่า เมื่อลูกค้าใช้งานอยู่บนคลาวด์ จึงเป็นหน้าที่หลักของ AWS ที่จะทำให้มีความปลอดภัย และยั่งยืน ซึ่งชิปเซ็ตรุ่นที่ 3 ที่บริษัทสร้างขึ้นเอง คือ AWS Graviton3 มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากขึ้นจากอินสแตนซ์ของ Elastic Cloud Compute ที่ใช้ Graviton3 ใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 60% ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอินสแตนซ์ Amazon EC2

นอกจากนี้ เมื่อโมเดล Generative AI ใช้งานอย่างแพร่หลาย ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเรียกใช้โมเดล และการทำ Inferentia ชิปแมชชีนเลิร์นนิงมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากขึ้น 54% และลดค่าใช้จ่ายลงได้ 90% เมื่อเทียบกับอินสแตนซ์ที่เทียบเท่ากัน รวมถึง การลด Uninterruptible Power Supply (UPS) ส่วนกลางขนาดใหญ่ออกจากดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัท มาใช้ชุดแบตเตอรี่ขนาดเล็กและแหล่งจ่ายไฟที่ปรับแต่งให้เหมาะสมในทุกเซิร์ฟเวอร์ เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งจ่ายไฟที่เซิร์ฟเวอร์ รวมแล้วช่วยลดการสูญเสียพลังงานลงประมาณ 35%

ทั้งนี้ Amazon มุ่งมั่นการลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านความยั่งยืนในทุกธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

บริษัทวิจัยระหว่างประเทศ 451 Research ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global Intelligence พบว่าการย้ายปริมาณงานในองค์กรไปยัง AWS สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปริมาณงานได้เกือบ 80% และสูงสุดถึง 96% เมื่อ AWS ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2568 และผลการสํารวจบริษัทและองค์กรภาครัฐในออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ พบว่าศูนย์ข้อมูลคลาวด์ประหยัดพลังงานมากกว่าศูนย์ข้อมูลในองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 5 เท่า

ลดการใช้พลังงานเกือบ 80%

เหตุผลของการย้ายปริมาณงานจากศูนย์ข้อมูลในองค์กรไปยัง AWS มีหลากหลาย เช่น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อทําให้การดําเนินงานมีความยั่งยืนมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ความยั่งยืนของระบบคลาวด์ เมื่อเทียบกับการใช้งานทั่วไปที่อยู่ในองค์กรช่วยให้ลูกค้า AWS ลดการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องได้เกือบ 80% แต่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนร่วมกันจะช่วยให้ประสบความสําเร็จมากขึ้น

ดังนั้น AWS ได้เปิดตัว Sustainability Pillar ใหม่ในกรอบ AWS Well-Architected Framework เพื่อช่วยให้องค์กรปรับปรุงความยั่งยืนในระบบคลาวด์ โดย Sustainability Pillar ช่วยให้องค์กรพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของปริมาณงาน วัดความคืบหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านไอทีและสร้างโมเดลที่วัดได้โดยตรงไม่ได้

เศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มอายุใช้งาน

การรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นอีกเป้าหมายหลักของ Amazon ที่นำมาใช้ในทุกส่วนขององค์กร ตั้งแต่การผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงศูนย์ข้อมูล เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583

AWS นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ประการมาใช้สำหรับเซิร์ฟเวอร์ ได้แก่ ออกแบบระบบแร็คแบบใช้ซ้ำได้และคาร์บอนน้อยกว่าเดิม ให้อุปกรณ์ทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกู้คืนมูลค่าจากอุปกรณ์ที่ถูกปิดการทำงานอย่างปลอดภัยผ่านการนํากลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซม และรีไซเคิล จากการเพิ่มอายุการใช้งานของ production rack จาก 4 ปีเป็น 5 ปี และอุปกรณ์เครือข่ายจาก 5 ปีเป็น 6 ปี และ มีเป้าหมายการใช้อุปกรณ์ทั้งหมดให้เกิดประสิทธิภาพนานที่สุดจนกว่าจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังใช้ศูนย์โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistic Hubs) เพื่อประเมินและนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปใช้โดยบุคคลที่สาม

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บีโอไอเคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ดันไทยสู่ฐานผลิตชั้นนำระดับโลก

คนไทยใช้เวลาบน LINE เฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน แนะภาครัฐใช้เป็นช่องทางบริการประชาชน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ