TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเปิดวิสัยทัศน์ “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” แม่ทัพบล.บัวหลวง หนุนคนไทยลงทุน

เปิดวิสัยทัศน์ “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” แม่ทัพบล.บัวหลวง หนุนคนไทยลงทุน

การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลทำให้คนหันมาสนใจตลาดทุนมากขึ้น ธุรกิจเองที่มีปัญหาด้านเงินทุนที่ลงทุนไม่ได้ ส่วนหนึ่งหันกลับมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนคนที่ไม่เคยลงทุนและได้แต่ฝากเงินไว้กับธนาคารก็เริ่มอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการนำเงินไปฝากเลยนำเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน  

การเปิดบัญชีเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ และมีซื้อขายที่โตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีมีการซื้อขายเฉลี่ยในระดับสูงต่อวันถึง 90,000 ล้านบาท 

พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง กล่าวกับ The Story Thailand ว่า บทบาทสำคัญของหลักทรัพย์บัวหลวง คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนอย่างถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะลงทุน

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2019 ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด -19 สถานการณ์ตลาดทุนไทยก็ไม่ค่อยดีนัก ก่อนจะเริ่มแย่ลงอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 ที่ไวรัสโควิด-19 ลามไปถึงสหรัฐอเมริกาและระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทตื่นตระหนกหนัก จนพาลทำให้ทั่วโลกตื่นตกใจตามไปด้วย โดยที่ตลาดหุ้นของไทยประสบกับภาวะเซอร์กิต เบรกเกอร์ ถึง 2 รอบภายใน 1 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม ตลาดกลับสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วจากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย  3-6 เดือน แต่กลายเป็นว่าใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ ตลาดก็กลับมาเหมือนเดิม 

พิเชษฐ กล่าวถึง สาเหตุว่าเป็นผลจากการที่ตลาดมีสภาพคล่องสูงมาก คือทั้งคนและเงินไม่มีที่ไป คนจึงกลับมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลกระทบทางบวกต่อตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจโบรกเกอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายฟื้นกลับขึ้นมาจากเดิม

“เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า เราเห็นปริมาณการซื้อขายต่อวันแตะระดับแสนล้านบาทอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่สมัยก่อนนาน ๆ ทีจึงจะได้แสนล้าน แถมการถึงระดับแสนล้านก็ไม่ได้เกิดจากข่าวดีเท่าไร แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าแสนล้านบาทเป็นเรื่องปกติไปแล้ว” 

ปี 2009 บล.บัวหลวงมีลูกค้าหลักอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นราย วันนี้มีประมาณ 5 แสนราย 10 ปีผ่านไปโตขึ้นถึง 20 เท่า เป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูง

“นักลงทุนในบ้านเราตอนนี้มีทั้งหมดประมาณ 2-3 ล้านคน​ หากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน สัดส่วนดังกล่าวไม่ถือว่ามาก แถมยังมีคนที่สนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้อีก เห็นได้จากช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา”

พิเชษฐ มองว่า โควิด-19 ทำให้ตลาดทุนไทยคล้ายจะคึกคักขึ้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนที่เข้ามามากขึ้น หุ้นไอพีโอเข้ามามากขึ้น มีคนที่เตรียมตัวเข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นทำให้ บล.บัวหลวงจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องระบบการบริหารจัดการ ทั้งของโบรกเกอร์และตัวตลาดหลักทรัพย์ 

“ในฐานะโบรกเกอร์ เราต้องเตรียมระบบให้ดีขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับปริมาณการซื้อขายมากขึ้นโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และออนไลน์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า”

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งช่องทางที่ทางบัวหลวงยังคงเดินหน้าพัฒนาและให้บริการบรรดาลูกค้านักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ของไทยมาอย่างต่อเนื่องก็คือการเป็น “คนกลาง” ในการลงทุนในตลาดต่างประเทศ 

Global Investing เป็นหน่วยงานใหม่ ที่เริ่มเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สำหรับบัวหลวงมองเป็น 2 เส้นทาง คือทำให้ทุกคนในตลาดสามารถเทรดตราสารต่างประเทศได้ผ่านตัวดีอาร์ และพานักลงทุนรายใหญ่ไปซื้อขายโดยตรงในต่างประเทศ 

“อันนี้เป็น 2 เส้นทางที่บัวหลวงวางไว้  สอดคล้องกับจังหวะช่วงเวลาของโควิดได้อย่างเหมาะสมพอดีที่มีกระแสการลงทุนในตลาดต่างประเทศเข้ามา นักลงสนใจไปลงทุนในธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้เป็นนักลงทุนที่มีความรู้ในระดับดีมาก เลือกหุ้นเอง ดูข่าวเอง เราเป็นตัวเสริมช่วยแนะนำหุ้นใหม่ ๆ นอกเหนือจากหุ้นที่ได้รับความนิยมในตลาด”

ตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ในขณะนี้ เติบโตได้ดีและเป็นช่องทาง “ทำเงิน” สำคัญ ทั้งสำหรับคนที่ต้องการลงทุนและต้องการระดมทุน 

สำหรับในส่วนของคนที่ต้องการระดมทุน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ต้องการเงินทุนก้อนหนึ่งในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งนอกจากยื่นเรื่องของกู้เงินจากธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำแล้ว การขอระดมทุนจากตลาดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกและทางรอดไม่ต่างกัน 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทไอพีโออื่น ๆ ที่อาจไม่ได้มีผลกระทบโดยตรง หรือไม่ได้รับผลกระทบเลย จะมองว่ามีหน้าต่างของการระดมทุน เมื่อเห็นว่ามีคนเข้าไปเล่นหุ้นกันเยอะ หรือเข้าไประดมทุนกันมากขึ้น 

“สมัยก่อนจะพูดถึง พีอี หรือ Price/Earning Per Share หรือ P/E Ratio (ราคาหารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น) ระยะยาวเฉลี่ย 10 ปีพูดกันที่ 15 เท่า ทุกวันนี้ เราพูดกัน 17-18-19 เท่า เพราะพีอยู่เท่าเดิม แต่ อี หรือ earning มันน้อย มันไม่มี เท่ามันก็สูงขึ้น ทำให้คนที่อยากระดมทุนเห็นโอกาสไงว่ามันมีพื้นที่อยู่แล้วราคาโอเค”

ย้ายมาที่ฝั่งคนลงทุนบ้าง เมื่อสถานการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนมองเห็นแล้วว่า ไปลงทุนอย่างอื่นก็ไม่ได้รับผลตอบแทนสักเท่าไร หรือหากจะไปลุยทำธุรกิจเลยก็ไม่ง่าย ดังนั้น เมื่อเห็นทุนที่มีอยู่ในตลาดพอสมควร คนส่วนใหญ่จึงเริ่มเล็งเห็นว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทิศทางที่คนหันมาสนใจลงทุนในตลาดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะคนมองเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะใช้หาผลตอบแทนที่สูงขึ้น 

การลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง 

สำหรับแนวทางการลงทุนหรือช่วยบริษัทระดมทุนในยุคนิวนอร์มัล พิเชษฐ กล่าวว่า สิ่งสำคัญประการแรกสุดที่ต้องทำ คือ การบอกลูกค้าให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยนักลงทุนต้องรู้แล้วว่านอกจากจะลงทุนในไทยแล้ว ต้องรู้จักที่จะลงทุนในตลาดต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง 

โดยสำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มลงทุนอย่างไร ให้ลองหันมาใช้บริการลงทุนผ่าน Global Investing ของบล.บัวหลวงก่อนได้ หรือจะลงทุนผ่านบริษัทลูกของบัวหลวงอย่าง บลจ.Bangkok Capital ที่เพิ่งจะมีการออกกองทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของจีน (China Tech) ที่มุ่งลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในจีน หรือ BCAP-XHealth ซึ่งเป็นตัวที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ 

“อันนี้ก็เป็นกระแสใหม่ที่อยากแนะนำให้นักลงทุนไปลงทุน เห็นได้ว่าเทรนด์ คือ กระจายความเสี่ยงให้นักลงทุนไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว” 

สำหรับในส่วนของหุ้นความยั่งยืน พิเชษฐ ยอมรับว่ากระแสของ ESG (Environment, Social, Governance) กำลังมา แต่ไทยยังถือว่าค่อนข้างช้าและไปเน้นเรื่อง CG หรือ Corporate Governance เสียเยอะ ขณะที่เรื่อง E กับ S ยังน้อย โดยคะแนนเรื่อง G ของไทยถือได้ว่าเยอะและเด่นมากในอาเซียน ไทยไม่เป็นสองรองใคร แต่ E กับ S อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งทั้งตลาดทุนตอนนี้ก็พยายามจะช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้พนักงานหรือบุคลากรในตลาดทุนทุกระดับก่อน ทั้งผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์  หรือแม้แต่ ไอซี  

“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเทรนด์เริ่มมาดี หลายปีก่อนพูดเรื่อง Green หลายคนไม่รู้จัก ทุกวันนี้กลับมีบริษัทที่ออกตัวนี้ออกมาเยอะแล้ว ดังนั้น E กับ S ในเรื่องหุ้นจะเริ่มมามากขึ้น ถามว่าตอนนี้เยอะไหม ส่วนตัวมองว่ายังไม่พอ แต่มันจะมามากขึ้น”

ไม่ละเลยเทคโนโลยี  

นอกจากการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในตลาดต่างประเทศแล้ว บัวหลวงก็ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงานและการให้บริการด้านการลงทุนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุนมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงการทำแพลตฟอร์ม ผ่านการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น การร่วมมือกับโบรกเกอร์ของเกาหลีใต้เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน 

“ถามว่าทำไมต้องเป็นเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีใต้มีลักษณะอย่างหนึ่งที่คล้ายบ้านเรา คือ มีลูกค้าที่เป็นรายย่อยเยอะ ซึ่งแปลว่า โบรกเกอร์ที่เกาหลีใต้มีความสามารถและความถนัดในการพัฒนาเทรดดิ้งแพลตฟอร์มที่ดี ดังนั้น บัวหลวงจึงร่วมมือกับ ไดชิน ซีเคียวริตี้ ที่เป็นโบรกเกอร์รายย่อยที่เกาหลีใต้ พัฒนาเทรดมาสเตอร์ เป็นการเอาเครื่องมือดี ๆ ที่มีประสิทธิภาพมาเสริมในตลาดไทย”

ขณะเดียวกัน พิเชษฐ ยอมรับว่าทางหลักทรัพย์บัวหลวงยังไม่ได้ทำอะไรกับฟินเทคมากนัก มีการพัฒนาภายในมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ iProgram Trade เป็นแพลตฟอร์มที่ให้นักลงทุนเข้าไปเลือกกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการที่จะลงทุนแบบอัตโนมัติ โดยหลักทรัพย์บัวหลวงจะคอยบอกว่า มีกลยุทธ์อะไร การทำงานของกลยุทธ์เป็นอย่างไร มีสูตรอย่างไร แล้วนักลงทุนก็จะเข้าใจ แล้วก็เลือกใช้กลยุทธ์ตามความต้องการของตนเองในการลงทุน

มือใหม่หัดลงทุน ควรเริ่มที่กองทุน

ในส่วนของมือใหม่ที่เพิ่งจะก้าวเข้าในตลาดทุน ในฐานะผู้รู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงการลงทุนมาอย่างยาวนาน พิเชษฐ แนะนำว่า ในระหว่างที่กำลังศึกษาเรื่องการลงทุน อย่าเพิ่งข้ามขั้นไปเล่นหุ้นรายตัว ให้ลองเริ่มก้าวแรกที่กองทุน  คือ ซื้อกองทุนแล้วให้มืออาชีพไปบริหาร 

“คุณต้องศึกษากองทุนต่าง ๆ ว่ามีตัวเลือกอะไรบ้างที่สอดคล้องกับความต้องการลงทุนของตนเอง ในระหว่างนั้นคอยศึกษาไปว่า การลงทุนโดยตรงซึ่งหมายถึงการเปิดบัญชีกับตลาดหลักทรัพย์ทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ ต้องรู้ว่าตนเองเป็นคนแบบไหน”

ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นคนที่ชอบเทรดหุ้น ชอบซื้อขายเร็ว ๆ ก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่งที่ต้องดูตำราอีกแบบหนึ่ง หรือหากเป็นพวกมนุษย์เงินเดือน ประชุมจันทร์-ศุกร์ เช้าจรดเย็น ไม่มีเวลาไปเฝ้ากระดานเทรด ก็อาจจะต้องมีกลยุทธ์อีกแบบหนึ่ง โดยในมุมมองของ พิเชษฐ การศึกษาความต้องการตนเองและค้นหาแนวทางหรือสไตล์การลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

ทั้งนี้ บางคนอาจจะเข้าใจสำคัญตัวผิด หรือว่า ไปเชื่อเพื่อนเยอะ โดยลืมคิดไปว่า เพื่อนกับตนเองมีวิถีชีวิตและความคิดไม่เหมือนกัน เพื่อนบอกซื้อก็ซื้อ แต่ลืมไปว่าตนเองที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานเช้า-เย็น กับเพื่อนที่เป็นพ่อค้าซึ่งดูหุ้นได้ทั้งวัน ตอนนี้ซื้อเขาบอกแต่ตอนขายไม่เคยบอกสักที หุ้นขึ้นไปแล้ว เพื่อนขายเรียบร้อย แต่ตนเองไม่สนใจเลย หายไป 3-5 วันก็ตกขบวนแล้ว ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าวิถีชีวิตของตนเป็นอย่างไร แล้วก็หาสิ่งที่ตรงกับตัวเองมากที่สุด 

“คุณเป็นแบบไหน เน้นเทคนิค หรือ พวกที่เทรดบ่อย กับเน้นพื้นฐาน (fundamental) คือ เทรดน้อย ถือยาว  เน้นพื้นฐานเป็นหลัก เราต้องถามดูว่าใจเราเป็นแบบไหน คุณจะจัดระบบการลงทุนของตนเองอย่างไร พิจารณาตนเองให้ถี่ถ้วนว่าแท้จริงตนเองเป็นคนแบบไหน ถ้าเกิดเป็นคนไม่หวือหวาแต่ดันไปเทรดเยอะ อาจจะเจ็บตัวได้”

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น คือว่า จะลงทุนอย่างไร ก็อยู่ที่ลักษณะของแต่ละคนแล้ว แต่ว่าทั้งหมดก็ต้องศึกษา หรือถ้าหากไม่อยากลงลึกในรายละเอียดมาก ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ คือ มุ่งไปที่กองทุน ให้มืออาชีพจัดการ อย่ากระโดดลงไปเล่นเอง โดยแต่ละคนต้องรู้ความเสี่ยงของการลงทุนว่าสามารถแบกรับได้มากน้อยแค่ไหน 

เป้าหมาย คือ ความน่าเชื่อถือและสังคมการลงทุนคุณภาพ

ด้วยความที่หลักทรัพย์บัวหลวงเป็นหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งยังเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ ดังนั้น สิ่งที่บัวหลวงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและพยายามดำเนินการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้มากที่สุด ด้วยสถานะของบัวหลวงที่เป็นลูกค้าธนาคารกรุงเทพ ที่มีจุดแข็งอยู่ที่ความมั่นคง บัวหลวงจึงเปรียบเสมือนเงาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงน่าเชื่อถือว่าต้องมาก่อน 

ขณะที่สิ่งต่อไปที่บล.บัวหลวงมอง คือ การที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมแห่งการลงทุนที่มีคุณภาพ ดังนั้น สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ที่บล.บัวหลวง มองว่าต้องทำอย่างไรจึงสามารถที่จะให้การศึกษานักลงทุนรายย่อยกลุ่มนี้ หลังตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาทำไมนักลงทุนรายย่อยถึงเข้ามาแล้วออกไป โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเข้ามาแล้วขาดทุนก็เลยออกไป 

“จากสถิติของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า 100 คนที่มาเปิดบัญชี ผ่านไป 1 ปี หายไป 1 ใน 3 เพราะขาดทุน ผ่านไปอีก 1 ปีหายไปอีก 1 ใน 3 แปลว่า 100 คน ผ่านไป 2 ปีเหลือเพียงแค่ 30 คน สิ่งที่เราพยายามทำ คือ การจัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ลูกค้า ตั้งแต่ยุคที่บล.บัวหลวงมีห้องค้า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยบัวหลวงเริ่มปรับห้องค้าให้กลายเป็นห้องเรียน มีการจัดการสัมมนาบ่อย ๆ มีวิทยากร มีผู้จัดการมาเล่าให้ฟัง เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนที่เข้ามาในตลาดใหม่ ๆ ไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ต้องมานั่งเรียนกัน มาถึงวันนี้เวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป รูปแบบการเรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลง คนเดินทางมาไม่ได้ต้องหันไปเรียนออนไลน์กันหมด กลายเป็นว่าเราเริ่มนำเสนอ สิ่งที่เป็นออนไลน์คลาสมากขึ้น ผมคิดว่าการให้ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณต้องมีความรู้ก่อน ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่บล.บัวหลวงพยายามปูให้กับนักลงทุน”

ขณะที่ อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องของ innovation หรือ นวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอุปกรณ์เครื่องมือให้กับนักลงทุน เช่น iTracker ซึ่งเกิดจากกรณีที่นักลงทุนเข้าแล้วหายไปทำให้บัวหลวงตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ แล้วก็ถามตัวเองต่อว่าทำไมบัวหลวงไม่ช่วยนักลงทุน โดยสิ่งที่ iTracker ทำก็คือ เวลาลูกค้าเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบัวหลวง ลูกค้าจะมีเครื่องมือที่เหมือนกับสมุดพกที่จะคอยรายงานว่า สิ่งที่ซื้อ ถูกหรือผิด

“ลูกค้าจำนวนมากที่ซื้อหุ้นเก่ง เลือกหุ้นเก่ง แต่กลับไม่สามารถตัดสินใจได้เวลาที่หุ้นมันตก หลาย ๆ คน พอหุ้นลง 10% ยังไม่ขาย ยังมั่นใจว่าจะถือต่อ หายไปอีก 20% ก็ยังมั่นใจ พอคิดอีกทีตอนจะ cut loss ก็หายไปแล้ว 50% จากหุ้น 10 บาท เหลือ 5 บาท ไปต่อไม่ถูกแล้ว แต่ตอนที่หุ้นขึ้น 10 บาทไป 11 บาท กำไรบาทเดียวก็ขายแล้ว กลายเป็นว่า ขาขึ้นได้กำไรนิดเดียว ขาลงขาดทุนบานเลย แต่พอมีเครื่องมือรายงานให้เห็น ก็ทำให้ตัวคุณเองตระหนักว่าตนเองต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปล่า คือขาขึ้นให้มันวิ่งยาว ๆ หน่อยได้ไหม แล้วขาลงก็แป็บเดียวรีบออกมาเลยได้ไหม อันนี้ คือ สิ่งที่เราพยายามจะสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ อย่างที่ผมบอก iTracker อัลกอริธึมออกคำสั่งซื้อขาย ทั้งหมด คือ เครื่องมือที่บล.บัวหลวงอยากให้นักลงทุนมีใช้ เพื่อสามารถทำให้ตนเองลงทุนได้ดีขึ้น” 

ทิศทางของบล.บัวหลวง คือ การเป็นโบรกเกอร์ที่ได้รับความเชื่อถือจากการเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ ในขณะเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์และเครื่องมือใหม่ ๆ ให้ลูกค้าตลอด รวมถึงมีการให้ความรู้ ทำอย่างไรลูกค้าจึงจะสามารถลงทุนได้ดี 

ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงตัวเลขเป้าหมายการเติบโตของบัวหลวงในปี 2564 พิเชษฐ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะว่าปริมาณซื้อขายปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว 

ในธุรกิจหลักทรัพย์มักจะไม่ค่อยบอกเป้าเท่าไร เหตุผลเพราะชีวิตของโบรกเกอร์มักแขวนอยู่กับปริมาณการซื้อขาย (volume) ของตลาด ซึ่งเป็นอะไรที่คาดการณ์พยากรณ์ไม่ได้ หรือจะเรียกว่าคาดการณ์ได้ แต่ไม่เคยตรงสักครั้ง แน่นอนว่า ทางทีมวิจัยย่อมมีหลักการคำนวณที่มีเหตุมีผล แต่พอถึงเวลากลับไม่เคยเป็นจริงสักที

“ชิวิตเราค่อนข้างแขวนกับไว้เรื่องของปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่บุคลากรส่วนมากในตลาดจะทำ คือ พยายามทำให้ดีที่สุด (try best) คือต้องลุย ลุยตลอดเวลา เพราะคุณไม่รู้ว่า ปริมาณซื้อขายจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นอะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ อย่างช่วงที่ผ่านมา ต่างชาติขายแหลกเลย เทขายหนักมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการถือครองในบ้านเราลดลง ปัจจุบันไม่น่าถึง 30% แล้ว ถามว่าวันดีคืนดีเกิดมันพุ่งขึ้นมาล่ะ งานนี้ก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น จะบอกว่าตั้งเป้าสูงไว้ที่เท่าไร ผมคงให้ตัวเลขไม่ได้ แต่บอกได้ว่า เราคิดว่าปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาดูจากปริมาณการซื้อขายในตลาด”    

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

ในส่วนของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังมาแรงแซงทางโค้งอยู่ในขณะนี้ พิเชษฐ มองว่าบล.บัวหลวงสนใจและกำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้เข้าไปลงทุน โดยคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ที่นักลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ชั้นนำเริ่มเข้าไปลงทุนมากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในวงการการเงินและการธนาคาร สิ่งที่ต้องการเห็นมาก ๆ ในอนาคตคือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีตัวทรัพย์สินที่มูลค่ารองรับอยู่ เหมือนอย่างที่มีคนส่วนหนึ่งพยายามจะทำอยู่ในเวลานี้ ด้วยการนำเงินหรืออสังหาริมทรัพย์เข้ามารองรับสินทรัพย์ดิจิทัล

อีกหลากหลายบทบาท 

ขณะเดียวกัน ในฐานะนายกสมาคมหลักทรัพย์ไทยที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม พิเชษฐ กล่าวว่า การบริหารสมาชิกของสมาคมที่มีอยู่กว่า 40 รายจึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยกว่าเดิม เพราะแต่ละรายก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงเหมือนเดิม ไม่ต่างกันเท่าไร เพียงแค่ต้องมีการบริหารความสัมพันธ์ ทั้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ 

“เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ได้เข้าไปช่วย โดยผมพยายามประสานทุกฝ่ายให้ตลาดทุนมันขับเคลื่อนต่อไปได้ อย่างแรกในเรื่องของสัดส่วนนักลงทุน มันคงไม่มีใครตอบได้ว่า สัดส่วนของนักลงทุนต่อตลาดของเราต้องมีสัดส่วนเหมาะสมที่เท่าไร เพราะต้องไม่ลืมว่า บ้านเรายังคงมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง เราไม่ได้มีสังคมที่มีคนชนชั้นกลางเป็นหลักเหมือนอย่างญี่ปุ่น ซึ่งตรงกลางเขาใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเราคงหวังไม่ได้ว่า เราต้องมีบัญชีลงทุนเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรคงไม่ใช่ วันนี้ มันแค่ 3 ล้านจาก 60 ล้านนิดเดียว แต่แน่นอน เรามีประชากรที่เป็นเกษตรกรมาก  ซึ่งความหวัง คือ ถ้าเกษตรกรเหล่านี้จะมีความมั่งคั่งแล้วนำมาลงทุนกับทางเราก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ความคิดนี้เป็นมุมมองที่มองในระยะไกล”

การให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางซึ่งควรจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ความรู้ในเรื่องการลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนในปัจจุบัน 

ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าถ้าเป็นสมัยก่อน คนทำงานเกษียณอายุ 60 ปี พออายุสัก 70 ปีก็ไปแล้ว ก็เรียกว่าเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อใช้อีก 10 กว่าปีก็เพียงพอ แล้วสมัยก่อนคือช่วงประมาณ 20 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 10% สมมติเรียนจบ 20 ปี ทำงานอีก 40 ปี แล้วก็เกษียณ 60 ปี ใช้เวลา 40 ปีเก็บเงินสัก 10 ล้านบาท สมัยก่อนเก็บ 10 ล้านบาทได้ดอกเบี้ยปีละ 1 ล้านบาท 1 เดือน 1 แสน คืออยู่ได้สบาย 

สิ่งที่คนไทยจะต้องมอง คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้ตนเองมีความรู้ด้านการเงินมากพอที่จะเริ่มสามารถเก็บเงินได้ตั้งแต่ก่อนเรียนจบตอนอายุ 20 กว่าปี จากนั้นเมื่อเรียนจบแล้วมาทำงานจะไปหาเงินอย่างไรต่ออีก 40 ปี

“อันนี้เป็นโจทย์ข้อใหญ่เลยนะ สำหรับคนทั้งประเทศ ในฐานะคนที่อยู่ในตลาดทุน เรามองว่า ตลาดทุนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมสามารถที่จะผ่านโจทย์ข้อนี้ไปได้อย่างลุล่วง ส่วนจะด้วยวิธีใดนั้นแต่ละคนก็ย่อมต้องไม่เหมือนกัน อันนี้ก็แล้วแต่บุคคล ใครจะเทรดยาว เก็บยาว ว่ากันไป”

นอกจากบทบาท ด้านการบริหารการลงทุนแล้ว พิเชษฐ ยังรับบทบาทในฐานะนายกสมาคมอเมริกันฟุตบอลแห่งประเทศไทย และทำธุรกิจร้านอาหารจีน-ฮ่องกง “โฮ คิทเช่น” ซึ่งทั้งสองบทบาท ถือเป็นงานอดิเรกที่ทำด้วยใจรัก แต่ก็คงไว้ซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างจริงจัง

โดยเรื่องของอเมริกันฟุตบอลมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเนื่องจากการได้ลงเล่นขณะเรียนปริญญาโทในต่างประเทศ แถมพอกลับมาในไทยยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ NFL บริษัทธุรกิจอเมริกันฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังโปรโมทกีฬาชนิดนี้อยู่ จึงอาสาเข้าไปช่วย และสามารถพัฒนาต่อยอดจนสร้างทีมนักกีฬาของไทยไปคว้าแชมป์สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเวทีการแข่งขันระดับโลกได้

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารเป็นกิจการที่สืบต่อจากคุณพ่อ เพราะรักในการกินอาหารที่อร่อย เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะลำบากมากหน่อย เพราะเจอโควิดเข้าไป ก็เลยหนักหน่วงเช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารอื่นๆ ทำให้ต้องดำเนินกิจกรรมลดแลกแจกแถม เพื่อประคองให้อยู่รอดไปก่อน แล้วค่อยว่ากัน

“ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า อาหารที่เราทำรสชาติดี จริง ๆ เทรนด์การรับประทานอาหารของคนไทยรุ่นใหม่จะกินอาหารจีนน้อยลง เด็ก ๆ ชอบกินเกาหลี -ญี่ปุ่น ซึ่งพบก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ผมก็จริงจังกับธุรกิจร้านอาหารนี้ เพราะอาหารร้านเรารสชาติดี ก็เลยอยากให้อยู่กันไปนาน ๆ” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ