TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“DW ราคาลอย” สิ่งที่นักเทรด DW ต้องระวัง

“DW ราคาลอย” สิ่งที่นักเทรด DW ต้องระวัง

เดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่ตลาดการลงทุน Derivative Warrant (DW) ในบ้านเราถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง จากการได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมาก ทั้งจากราคาลอยที่มีประสบการณ์การลงทุนใน DW โดยตรงอยู่แล้ว และจากนักลงทุนที่อาจยังไม่เคยลงทุน DW โดยตรงเลย

ปัจจุบันความนิยมของการลงทุน DW ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับเฉพาะมูลค่าซื้อขาย DW ทั้งอุตสาหกรรมรวมกัน ก็คิดเป็นถึงเกือบ 1 ใน 10 ของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งระบบแล้ว โดยมูลค่าซื้อขายของ DW ทั้งอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 184,998 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 9.31% ของตลาดหลักทรัพย์ทั้งระบบ

สำหรับเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงและส่งแรงกระเพื่อมต่อความร้อนแรงของตลาด DW โดยตรงในช่วงที่ผ่านมา คงต้องพูดถึงการที่มี DW ใกล้หมดอายุรุ่นหนึ่งที่อ้างอิงกับ DJIA มีการเปิด ATO กระโดดจากราคาวันก่อนหน้ามากกว่า 100,000% ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ซึ่งสาเหตุนั้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งคงไม่สามารถฟันธงได้ว่า เพราะอะไร แต่ต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องปกติของการเทรด DW พูดง่าย ๆ คือ ความเป็นไปได้ในเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

ไม่ใช่การเก็งกำไรปกติ ผ่าน DW แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ราคา DW รุ่นดังกล่าวปรับตัวลงมา แต่ปรากฏว่ามีแรงเก็งกำไรซื้อกลับในวันเดียวกัน เกิดการ “เปลี่ยนมือซื้อขาย” กันค่อนข้างมาก แม้ในภาพรวมแล้วราคาจะปรับตัวขึ้นมาจากวันก่อนหน้าอย่างมหาศาลแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ หลังจากเหตุการณ์นั้น DW รุ่นอื่น ๆ ที่ใกล้หมดอายุที่อ้างอิงกับหุ้นไทยรายตัวก็มี อาการคล้าย ๆ กัน คือ ราคา DW ปรับตัวสูงขึ้น 1,000 – 5,000% จากวันก่อนหน้า อะไรทำให้ราคา DW เหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมหาศาล เป็นโอกาสหรือควรหลีกเลี่ยง วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟัง

โดยปกติแล้วราคาของ DW แต่ละรุ่นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก คือ ราคาของหลักทรัพย์อ้างอิง ถ้าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงปรับตัวสูงขึ้น ราคา Call DW ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม (แต่จะปรับตัวลดลงใน Put DW) โดยนักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราทดของ DW ในการเพิ่มพลังเงินในการลงทุนได้ ยกตัวอย่าง เช่น สมมติราคาหลักทรัพย์อ้างอิงมีการปรับตัวสูงขึ้น 5% ตัว Call DW ที่มีอัตราทด 7 เท่า จะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 35% นี่คือ ผลของการ leverage ที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดใช้ DW เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งแปลว่าหากคาดการณ์ทิศทางราคาหลักทรัพย์อ้างอิงได้ถูกต้องจะสามารถสร้างโอกาสทำกำไรได้คำใหญ่ขึ้น ด้วยเงินต้นเท่า ๆ เดิม เหตุผลนี้เอง คือ เสน่ห์ที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นใน DW มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การปรับตัวของราคา DW นั้น โดยปกติจะเป็นไปตามกลไกข้างต้น โดยนักลงทุนสามารถใช้ “ตารางราคา” เพื่อดูว่าเมื่อหลักทรัพย์อ้างอิงขึ้นไปที่ราคานั้น DW ตัวนี้จะขึ้นไปตรงไหน ดังนั้น ตารางราคา คือ อาวุธหลักในการสร้างแผนเทรด DW ของนักลงทุนทุกสไตล์เทรด เปรียบเสมือนแผนที่การลงทุน DW เลยก็ว่าได้ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงตารางราคา DW แต่ละรุ่นได้ ผ่านเว็บไซต์ของผู้ออก DW รุ่นนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม บางครั้งราคา DW ในกระดานอาจวิ่งไปสูงกว่าราคาที่แสดงในตารางราคาอย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่ง DW ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นหลัก 1,000% ขึ้นไปต่อวัน ส่วนมากจะมีราคาในกระดานสูงกว่าราคาที่แสดงในตารางราคา โดยลักษณะแบบนี้ในวงการ DW เรียกกันว่า “DW ราคาลอย”

ยกตัวอย่าง เช่น ในกรณีที่พบว่า ราคา DW ในกระดานปรับตัวสูงขึ้นจากวันก่อนหน้ามาก ๆ โดยซื้อขายกันอยู่ที่ 0.80 บาท แต่ในขณะที่ราคาในตารางราคา คือ ที่ 0.10 บาท หากมองในมุมผู้บริโภค ซึ่งในบริบทนี้ คือ นักลงทุนจะเห็นว่าหากเราเข้าไปซื้อที่ 0.80 บาท เราจะซื้อแพงกว่าราคาที่แท้จริงถึง 700%

หากเรารู้แบบนี้ก็คงไม่ไปซื้อตรง 0.80 บาท ในทางกลับกันถ้าเรามีของอยู่บนมืออยู่แล้วก็อาจพิจารณาขายออกมาที่ราคาตลาดเลย เพียงแต่นักลงทุนบางท่านอาจไม่ได้ดูตารางราคาประกอบการลงทุน ทำให้ไม่ทราบว่าราคาจริง ๆ DW ตัวนี้ควรอยู่แค่ 0.10 บาท เท่านั้น จึงเข้าไปซื้อเพื่อเก็งกำไร อาจเพราะเห็นว่า ปรับตัวขึ้นมาสูง และคาดหวังว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก แต่บางครั้ง DW ที่มีลักษณะ “ราคาลอย” ภายในเวลา 5 นาที ราคาอาจปรับตัวลงมาจาก 0.80 บาท เป็น 0.40 บาท ได้เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วพอฝุ่นหายตลบ DW จะวิ่งเข้าสู่ราคาที่ควรจะเป็น ซึ่งในกรณีนี้ คือ 0.10 บาท

นี่คือภาพฉายที่สะท้อนว่า หากเราใช้ตารางราคาในการเทรด DW จนเป็น “นิสัย” จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการซื้อ DW ที่ราคาลอยได้ เพราะเราจะรู้มูลค่าที่แท้จริงของ DW และไม่ให้น้ำหนักไปกับวอลลุ่มและการเปลี่ยนแปลงของราคาในวันที่สูงเกินความเป็นจริงจนไม่มองราคาที่แท้จริงของ DW

ในส่วนเหตุของ “DW ราคาลอย” อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากแล้วอาจเกิดจากการที่ระหว่างวัน นักลงทุนซื้อ DW รุ่นนั้นจนจำนวน DW ที่มีในตลาดไปอยู่ในมือนักลงทุนมากกว่าอยู่ในมือของผู้ออก ทำให้เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือระหว่างนักลงทุนด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ราคา DW เคลื่อนไหวตาม “อุปสงค์และอุปทาน” ของนักลงทุน ในตลาด ณ ขณะนั้น ไม่ใช่เคลื่อนไหวตามตารางราคาอย่างที่ควรจะเป็นในภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณี DW ราคาลอย ผู้ออกส่วนมากมักจะวางรับซื้อ DW คืนที่ราคาในตารางราคา เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะสามารถขาย DW คืนได้ที่ราคาตาม “ตารางราคา” เป็นอย่างน้อย

จะเห็นได้ว่า “DW ราคาลอย” เป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้และถือเป็นสิ่งที่นักเทรด DW ต้องรู้เท่าทัน ต้องเข้าใจภาพใหญ่ให้ครบวงจรว่า เกิดจากอะไรและต้องรับมือให้ได้แบบมืออาชีพ ดังนั้น จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรใช้ในการวางแผนการลงทุน DW คือ “ตารางราคา” ที่จะเป็นตัวกำหนดจังหวะและราคาที่ถูกต้องที่เรียบง่าย และมีประสิทธิภาพที่สุดของ DW ทุกรุ่นในตลาด เพื่อให้เราหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเล่นกับไฟเวลาเจอเหตุการณ์ “DW ราคาลอย”

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วัยที่น่าสงสาร (ที่สุด)

น้ำมัน-น้ำท่วม-โควิด …วิกฤติของ “คนตัวเล็ก”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ