TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistบทเรียน 1 ปี ของวงการกีฬาไทย

บทเรียน 1 ปี ของวงการกีฬาไทย

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา วงการกีฬา องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ (World Anti-Doping Agency: WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตาม 2021 WADA Code อธิบายง่าย ๆ คือ วาด้าจะไม่รับรองประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีปหรือระดับโลก รวมถึงห้ามใช้ธงชาติไทย รวมถึงประดับธงไทยที่อกเสื้อนักกีฬา ในการแข่งขันเกมของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และรายการที่ WADA เป็นผู้ดูแลจัดการแข่งขัน เป็นระยะเวลา 1 ปี

WADA เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เกิดจากความร่วมมือกันโดยตัวแทนของรัฐบาล องค์กรระหว่างรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) สหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศ (IFs) คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (NOCs) ได้มีการลงนามในปฏิญญาโลซาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542 เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา โดยมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้สารต้องห้ามในกีฬา ต้องถือว่าการใช้สารต้องห้ามขัดต่อจรรยาบรรณด้านกีฬา และถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยขบวนการโอลิมปิก และเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่การใช้สารต้องห้ามส่งผลต่อสุขภาพของนักกีฬาและเยาวชนโดยทั่วไป ดังนั้น ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติ ตามกฎของ WADA

ก่อนหน้านี้ราวเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 วิโทลด์ บันกา ประธานองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกได้แจ้งเตือนให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนแก้ไข กฎ ระเบียบ ที่ไม่สอดคล้องกับ WADA โยเฉพาะ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ซึ่ง WADA ได้ทำการตรวจสอบพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พบว่า มีข้อกำหนด ในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ฉบับ ค.ศ.2021 กำหนดไว้ จึงให้ทางประเทศไทยดำเนินการแก้ไขโดยเฉพาะหมวดเรื่องบทลงโทษนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมให้นักกีฬาใช้สารต้องห้ามจนถูกตรวจพบนั้น ยังเบาเกินไป

2. WADA ต้องการให้แยกหน่วยงานตรวจสารกระตุ้น บริหารงานเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการใด ๆ ซึ่งสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทย อยู่ภายใต้การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

WADA ได้กำหนดเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน คือ ราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ซึ่งในส่วนของการกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีการเจรจากับ WADA ว่า เนื่องจากการแก้กฎหมายต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทาง WADA ได้ผ่อนปรน ให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 23 หรือโตเกียวเกม 2020  ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อและใช้ธงประเทศไทย 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 โดย มติ ครม.รับทราบว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกที่บังคับใช้ทั่วโลกทุกชนิดกีฬา 

นับเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ WADA ได้เตือนประเทศไทย และจึงเป็นที่มาของการที่ WADA ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลอันใกล้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022  ที่กรุงปักกิ่ง ของจีน ระหว่าง 4-20 กุมภาพันธ์ 2022 นักกีฬาไทยจะไม่สามารถใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันได้  แต่ต้องใช้ธงโอลิมปิกไทย และแข่งในนามคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Olympic Committee (TOC)  

ส่วนในระยะยาวนั้น ประเทศไทยมีแผนจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 กำหนดการแข่งขันวันที่ 10-19 มีนาคม 2565 ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี บรรจุกีฬาแข่งขัน 29 ชนิด ซึ่งกำหนดเดิมก่อนหน้านี้สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ได้กำหนดจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2564 ระหว่างวันที่ 21-30 พฤษภาคม พ.ศ.2564 แต่ต้องเลื่อนเนื่องจากภาวะการณ์แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เผยว่า ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยมีการแก้กฎหมายลูก และย่อย ๆ มาโยตลอด แต่ การแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาพ.ศ.2555 ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราต้องรอบคอบมีรายละเอียดมาก มีคณะกรรมการดำเนินการ ก่อนจะส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน และแปลภาษาอังกฤษ ส่งไปให้ WADA ตรวจสอบกันอีกครั้ง โดยหากจะดำเนินการให้เร็ว เป็นไปได้ 2 ทาง คือ เสนอเป็นร่างพระราชกำหนด (พรก.) หรือ พระราชบัญญัติเหมือนเดิม แต่ทำเป็นการปฏิรูปกฎหมาย 

ท่ามกลางการที่ WADA ถามหาความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวของประเทศไทย เพราะระยะเวลาที่ออกจดหมายเตือนประเทศไทยมานาน แต่ไม่เห็นผลการปรับปรุงแก้ไข การเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในรูปแบบ พระราชกำหนดสามารถทำได้และเร็ว ซึ่งในแง่ของหน่วยงานมีความจำเป็นให้ดำเนินการแต่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา ดังนั้นหากพรก. ถูกตีตก ก็จะมีความเสี่ยงสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน

การถูกแบน 1 ปี ครั้งนี้มีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีของคนกีฬาประเทศไทย แต่เป็นความรู้สึกของคนในชาติ เพราะในการแข่งขันตลอดระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ นักกีฬาไทยไม่สามารถใช้ธงชาติติดบนเสื้อแข่งกีฬา และจะไม่มีโอกาสได้เห็นธงไตรรงค์ไทย โบกสะบัดในการแข่งขันกีฬา

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ