TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistปาล์มน้ำมันไทย ถึงเวลาขับเคลื่อน การพัฒนาอุตสาหกรรม

ปาล์มน้ำมันไทย ถึงเวลาขับเคลื่อน การพัฒนาอุตสาหกรรม

ปาล์มน้ำมันพืชไม้ยืนต้น เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยมานาน ประเทศไทยปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 3 รองจาก มาเลเซีย อินโดนีเซีย นอกจากนั้นปาล์มน้ำมันยังเพาะปลูกในอีก 43 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 5,878,127 ไร่ และปลูกกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณ 5,068,989 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85.5 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดประมาณ 1.23 ล้านไร่ จังหวัดกระบี่จำนวน 1.12 ล้านไร่ และจังหวัดชุมพร 1.01 ล้านไร่ นอกเหนือจากนั้นก็ปลูกกระจายอยู่ใน จังหวัดภาคกลาง 516,691 ไร่ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 203,694 ไร่ และภาคเหนือ 88,753 ไร่ 

แม้ประเทศไทยจะปลูกปาล์มน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 แต่มีสัดส่วนเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก

มีข้อมูลในปี 2562 ว่าประเทศไทยผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 10 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ปาปัวนิวกินี โคลัมเบีย กัวเตมาลา เยอรมนี ฮอนดูรัส และเนปาล ข้อมูลการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทย เมื่อปี 2563 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุปริมาณการส่งออก 297,939.27 ตัน มูลค่า 6,619.35 ล้านบาท

ในขณะที่ปี 2562 อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผลผลิตน้ำมันปาล์มกว่า 28 ล้านตัน และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม และปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก มีมูลค่ากว่า 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 44.8 ของการส่งออกน้ำมันปาล์มโลก อันดับ 2 คือ มาเลเซีย มีผลผลิตน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 18.46 ล้านตัน มีมูลค่าการส่งออกกว่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 36 ของโลก รวม 2 ประเทศนี้สัดส่วนส่งออกรวมกัน 80.8% 

ก่อนหน้านี้ มีความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เพื่อที่เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 3 ประเทศ 1 ในแผนดังกล่าวมีโครงการความร่วมมือด้านปาล์มน น้ำมันและน้ำมันปาล์ม (IMT-GT Cooperation on Oil Palm and Palm Oil) ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกในการกำหนดมาตรฐานราคาน้ำมันปาล์ม เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในตลาดโลกและสร้างเสถียรภาพด้านราคา

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้ให้ข้อมูลอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งการตลาดของ IMT ว่า อินโดนีเซียมีส่วนแบ่งสูงสุด ถึง 57% รองลงมาคือมาเลเซีย ที่ 28% และประเทศไทย ประมาณ 4% ซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยเติบโตช้าและน้อยมากตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2504-2513 ส่วนแบ่งทางการตลาดปาล์มน้ำมัน 0.04% พ.ศ.2534 -2538 สัดส่วน 2% ในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นเป็น 3.89% )

ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียดำเนินอุตสาหกรรมนี้แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลูก สกัด กลั่น รวมถึง อุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพ และโอเลโอเคมีคอล ส่วนอินโดนีเซียก็มุ่งอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ขณะที่ประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ผู้ประกอบการ 48 รายรายได้รวมประมาณ 50,000 ล้านบาท มีส่วนกลางน้ำอย่างอุตสาหกรรมอาหาร ประมาณ 34,000 ล้านบาท มีอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่าง PTT Global Chemical เพียงประมาณ 11,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความท้าทายในเชิงโครงสร้างการจัดการ เนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายส่วน ไม่ได้บูรณาการกัน เช่น กระทรวงเกษตรดูเรื่องผลทะลายปาล์ม กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเรื่องโรงสกัด โรงกลั่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องลานเท ควบคุมการขนส่ง ควบคุมน้ำมันพืชภายใน ราคานำเข้าส่งออก 

ในขณะที่มาเลเซีย มีการทำงานรวมศูนย์ตั้งแต่ปี 2520 มี สถาบันน้ำมันปาล์มแห่งชาติ และสำนักงานใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนปาล์ม ต่อมาปี 2543 เปลี่ยนมาเป็น MPOB: The Malaysian Palm Oil Board ประกอบไปด้วย 6 ส่วนงานวิจัย และ 2 ส่วนงานบริการ 

ยังมีความท้าทายในเชิงนโยบายอีกมากมาย เช่น ความชัดเจนต่อสถานะอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ  การพัฒนาความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ การเป็นสมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม หรือ Council of Palm Oil Producing Countries (CPOPC) 

เรื่องมาตรฐานปาล์มน้ำมันของประเทศอินโดนีเซียมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มเรียกว่า ISPO (Indonesian Sustainable Palm Oil) ส่วนประเทศมาเลเซียมีมาตรฐานปาล์มน้ำมันที่มีการผลิตอย่างยั่งยืน (Malaysian Sustainable Palm Oil: MSPO) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีการยอมรับและปฏิบัติจริง แต่ประเทศไทยมีมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับและไม่มีการปฏิบัติ

ดังนั้น หากประเทศไทยอยากพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง ต้องดำเนินการ เช่น ควรมีกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพลังงาน และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันใน ประเทศให้ชัดเจนและสอดคล้องกัน การเข้าเป็นสมาชิก CPOPC การกำหนดมาตรฐาน การกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการ

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง ไม่ใช่เฉพาะการนำมาทำน้ำมันเพื่อการบริโภค ในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่บทบาทยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานได้

ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับความร่วมมือ IMT-GT  หากตกขบวนเป็นเรื่องน่าเสียดาย ปลายปีนี้รัฐบาลมาเลเซียจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน IMT-GT ณ รัฐกลันตัน หวังว่าประเทศไทยจะมีแผนกลยุทธ์ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ