TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyทีมวิจัย มจธ. ส่ง แอปฯ KomilO และระบบตรวจจับการเป็นสัดแม่นยำสูง แก้ปัญหาโคผสมติดยาก

ทีมวิจัย มจธ. ส่ง แอปฯ KomilO และระบบตรวจจับการเป็นสัดแม่นยำสูง แก้ปัญหาโคผสมติดยาก

ทีมนักวิจัย “Tentrack” ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประสบความสำเร็จ หลังใช้เวลากว่า 2 ปี ศึกษาพฤติกรรม อาการ และระยะการเป็นสัดของโคนม หรือ วัวนม สร้างและพัฒนาระบบ IoT ตรวจจับการเป็นสัดของโคนม ด้วยเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รายงานผลผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “KomilO” (โคมิโล) แจ้งเตือนการเป็นสัดไปที่เกษตรกรแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถผสมพันธุ์ได้ทันเวลา แก้ปัญหาโคผสมติดยาก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของผู้เลี้ยงโคไทย ลดการสูญเสียโอกาสในการสร้างผลผลิต และลดต้นทุนในการเลี้ยงโค

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าทีมวิจัย Tentrack (เท็นแทร็ก) ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที ประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. กล่าวว่า แอปพลิเคชัน KomilO และระบบวิเคราะห์การเป็นสัดของโคด้วยเทคโนโลยี IoT ถูกวิจัยและสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา “โคผสมติดยาก” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของฟาร์มโคนม เนื่องจากโคแม่พันธุ์จะไม่ผลิตน้ำนม หากไม่มีการผสมพันธุ์ ตั้งท้อง และคลอดลูกโคนม จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่า ฟาร์มโคนมไทยส่วนใหญ่สามารถตรวจพบโคที่แสดงอาการเป็นสัดและผสมพันธุ์สำเร็จแค่เพียง 60 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

“โดยปกติระยะเป็นสัดของโค จะกินระยะเวลาเพียง 28 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการผสมพันธุ์คือ ชั่วโมงที่ 10-20 ซึ่งมักเกิดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรไทยใช้การคาดคะเน หรือสังเกต ทำให้มีความคลาดเคลื่อนและเมื่อพลาดระยะเป็นสัดไปแล้ว จะต้องเลี้ยงโคท้องเปล่าและรอต่อไปอีก 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ถึงจะเข้าสู่ระยะเป็นสัดรอบใหม่ สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการเลี้ยงโคเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ผลผลิต” รศ. ดร.ราชวดี อธิบายเสริม

ทีมวิจัย Tentrack ศึกษาและเก็บข้อมูลพฤติกรรมช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังระยะเป็นสัดของโค พบว่าช่วงที่โคเริ่มเข้าสู่ระยะเป็นสัด โคจะมีพฤติกรรมกระวนกระวาย งุ่นง่าน กินน้อย มีการผงกหัวขึ้น-ลง และเดินเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จังหวะเริ่มต้นแสดงอาการเป็นสัดอย่างชัดเจนจะเกิดขึ้นตอนที่โคนมเป็นสัดเข้าสู่สภาวะยืนนิ่ง (standing heat) และถูกขึ้นขี่ครั้งแรก (Set Zero) ทีมวิจัยจึงใช้เทคโนโลยี IoT พัฒนาระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของโคนมขึ้นมาเพื่อติดที่โคนมแม่พันธุ์ โดยติดเซ็นเซอร์ 2 จุด จุดที่หนึ่ง คือบริเวณหางของโค เพื่อจับการกระแทกเมื่อมีการถูกขึ้นขี่ และจุดที่สอง คือบริเวณหูของโค เพื่อจับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อทำนายสภาวะการเป็นสัดของโคนม เมื่อโคนมแสดงอาการเป็นสัด จะมีการแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชัน KomilO ซึ่งติดตั้งไว้บนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของเกษตรกรทันที ทำให้เกษตรกรสามารถมาผสมเทียมได้ทันเวลา

ลดต้นทุนการเลี้ยงโคประมาณ 4,200 บาท/เดือน/ตัว

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันฟาร์มโคในประเทศไทย ทั้ง โคนม และโคเนื้อ ใช้การผสมเทียมเป็นหลัก โดยเกษตรกรจะซื้อน้ำเชื้อโคพ่อพันธุ์มาเก็บไว้ และรอจังหวะเป็นสัดเพื่อผสมเทียม แต่พบว่าเกษตรกรสามารถผสมพันธุ์สำเร็จได้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ หรือล้มเหลวมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เช่น หากมีโคที่ควรแสดงอาการเป็นสัด 10 ตัว เกษตรกรสามารถตรวจพบและผสมได้มากที่สุดเพียง 6 ตัวเท่านั้น เท่ากับว่าเกษตรกรจะต้องเลี้ยงโคอีก 4 ตัว เป็นโคท้องเปล่า ต่อไปอีก 21 วัน ถึงจะเข้าสู่ระยะติดสัดรอบใหม่ โดยที่ค่าอาหารในการเลี้ยงโค 1 ตัว ประมาณวันละ 200 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรจะต้องเสียเงินไปเปล่าถึง 4,200 บาท เพื่อเลี้ยงโคท้องเปล่า 1 ตัว”

ระบบตรวจจับสภาวะการเป็นสัด และแอปพลิเคชัน KomilO จากทีมวิจัย Tentrack จะเข้ามาช่วยลดปัญหา “โคผสมติดยาก” และช่วยให้เกษตรกรพบโคที่พร้อมผสมเทียมในแต่ละรอบแม่นยำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ลดต้นทุนจากการเลี้ยงโคในแต่ละเดือนได้อย่างเห็นได้ชัด ด้วยเงินลงทุนต่ำ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาและสร้างโดยฝีมือทีมวิจัยไทย 100 เปอร์เซ็นต์

โครงการวิจัยระบบตรวจจับสภาวะการเป็นสัด และพัฒนาแอปพลิเคชัน KomilO ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), บริษัท เอสดับบลิวดีเทคโนเมชั่น จำกัด และบริษัท ศูนย์รับน้ำนมดิบดอนกระเบื้อง จำกัด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมีดร.วินัย สุวณิชย์เจริญ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพโคนม เป็นที่ปรึกษา และศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. สนับสนุนห้องปฏิบัติการทำวิจัย โดยผลงานวิจัยสำเร็จแล้ว 100% พร้อมที่จะนำไปให้ฟาร์ม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใช้แล้ว คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เสริมศักยภาพให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยสร้าง Smart Farming ที่ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงและผลิตให้สามารถแข่งขันและทำกำไรได้ดียิ่งขึ้น

ตรวจจับสภาวะบาดเจ็บของโค

นอกจากนี้ ทีมวิจัย Tentrack ยังกำลังพัฒนาการตรวจจับสภาวะบาดเจ็บของโค เนื่องจากโคเป็นสัตว์ที่เดินเยอะ ทำให้มักเกิดการบาดเจ็บที่กีบเท้าและเท้า และเป็นโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดโรคหนึ่งของโค โดยทีมวิจัยสร้างระบบตรวจจับแพทเทิร์นการเดินของโค เพื่อค้นหาจังหวะการเดินที่ผิดปกติ และแจ้งเตือนผู้เลี้ยงโคได้ล่วงหน้าตั้งแต่โคเริ่มต้นมีอาการ เพื่อให้รักษาได้ทันเวลา โดยโครงการนี้สำเร็จไปได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าเมื่องานวิจัยสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพ และลดโรคระบาดในโค ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของไทยได้

สำหรับฟาร์ม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ที่สนใจเทคโนโลยีตรวจจับสภาวะการเป็นสัดและแอปพลิเคชัน KomilO สามารถปรึกษา และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [email protected] หรือ เพจเฟซบุ๊ก Innovation Experience

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

AIS 5G ผนึกเซ็นทรัลพัฒนา เปิดรันเวย์ Virtual กับแฟชั่นโชว์ในโลกเสมือนครั้งแรกในไทย

ม.ศิลปากร ร่วมกับสำนักวิจัยฯ หนุนสร้างเกม ‘THE VERSE’ นำเสนอความเป็นไทยสู่ตลาดโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ