TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessนักวิจัยโลจิสติกส์ มจธ. แนะ “บริษัทขนส่ง” จัดระบบขนส่งใหม่ลดความสูญเสียเพิ่มโอกาสพลิกสร้างกำไร

นักวิจัยโลจิสติกส์ มจธ. แนะ “บริษัทขนส่ง” จัดระบบขนส่งใหม่ลดความสูญเสียเพิ่มโอกาสพลิกสร้างกำไร

นักวิจัยด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผย ธุรกิจขนส่งในไทยกำลังเผชิญช่วงท้าทายและความยากลำบากของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบโดยตรงให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก ทั้งค่าน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบบริษัทขนส่งทุกราย ขณะที่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้บริษัทขนส่งไม่สามารถเพิ่มราคาได้ ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยบริษัทขนส่งได้ในตอนนี้คือ การจัดการปัจจัยภายใน โดยรื้อกระบวนการขนส่งทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเปล่าได้ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังคงคุณภาพส่งมอบพัสดุและบริการตามที่ผู้บริโภคต้องการ

ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า ธุรกิจขนส่งยังเติบโต เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคและการค้าขายออนไลน์ที่ขยายตัว แต่ทั้งนี้การเติบโตกลับสวนทางกับกำไร เมื่อบริษัทขนส่งหลายรายกำลังเผชิญปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลัก ๆ มาจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างอายุการใช้งานของรถขนส่ง ที่ยิ่งเก่าค่าบำรุงรักษายิ่งสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นทุนที่บริษัทขนส่งต้องจ่ายและควบคุมได้ยาก ขณะที่การเพิ่มราคาค่าขนส่งยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนต่อไป

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนได้ บริษัทจึงนำการจัดการโลจิสติกส์มาใช้ โดยวินิจฉัยความสูญเปล่าหลัก ๆ ของบริษัทว่า เงินรั่วอยู่ที่กระบวนการใดมากที่สุด เพื่อปรับปรุงกระบวนการขนส่งใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ใช้คนให้น้อย เวลาให้สั้น วัสดุให้ต่ำ แต่สามารถส่งมอบคุณภาพของพัสดุและบริการมากที่สุด ส่งถูกเวลา ถูกจำนวน และถูกสถานที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคนและรถขนส่งสูงสุด (Productivity) สูงสุด หรือใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวอย่างเช่น การจัดเรียงพัสดุบนรถขนส่งให้มีอรรถประโยชน์มากที่สุด โดยให้เกิดช่องว่างของอากาศน้อยที่สุด หรือการจัดวางพัสดุให้เต็มคันรถ เรียกว่า Full Truck Load (FTL) แนวทางเหล่านี้คือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็อาจทำให้ต้องใช้เวลาในการรอขนส่งนานขึ้น เนื่องจากต้องรอให้พัสดุเต็มคันรถ บริษัทจึงต้องหาจุดเหมาะสมที่จะเพิ่มจำนวนพัสดุที่ขนส่งในแต่ละรอบให้มากที่สุด ขณะที่กระทบต่อการรอคอยพัสดุของลูกค้าน้อยที่สุด หรือส่งของให้ได้ภายในระยะเวลารอคอยที่ลูกค้ารับได้ ทั้งนี้ หากบริษัทขนส่งนำแนวทางนี้ไปใช้ในการปรับกระบวนการขนส่งได้ จะช่วยลดต้นทุนได้อย่างแน่นอน

อีกปัญหาที่ทำให้บริษัทขนส่งไม่ได้รับกำไรเท่าที่ควรยังมาจากการขนส่งเที่ยวเปล่า (Backhaul) คือ รถขนส่งนำพัสดุไปส่งปลายทาง แต่ตีรถเที่ยวเปล่ากลับมาต้นทาง เป็นความสูญเปล่าในกระบวนการขนส่ง ดังนั้นหากบริษัทขนส่งสามารถบริหารจัดการขนส่งเที่ยวเปล่า (Backhauling Management) หรือก็คือ การสร้างพันธมิตรเพื่อขนส่งแบบรวมเที่ยว (Consolidation) ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการรวมพัสดุหลายประเภทจากพันธมิตรหลายเจ้า วิธีนี้ก็จะช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้บริษัทได้มาก

อีกปัจจัยที่บริษัทขนส่งต้องพิจารณา คือ การกำหนดรูปแบบจุดให้บริการและการกระจายจุดให้บริการ โดยปัจจุบันบริษัทขนส่งแข่งขันกันที่จุดให้บริการที่เข้าถึงผู้บริโภค มีจุดกระจายและรับส่งพัสดุจำนวนมาก (Decentralization) ทำให้ผู้บริโภคสามารถส่ง-รับพัสดุได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ก็เป็นจุดอ่อนในด้านต้นทุน เนื่องบริษัทขนส่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย แตกต่างจากรูปแบบการสร้างจุดให้บริการแบบรวมศูนย์ (Centralization) ที่จุดบริการน้อยลง ต้นทุนของบริษัทก็น้อยลง แต่ความสะดวกในการให้บริการลูกค้าก็ลดลงตามไปด้วย การกำหนดจุดให้บริการจึงเป็นอีกปัจจัยที่บริษัทขนส่งต้องวิเคราะห์และประเมินผลได้ผลเสียให้รอบคอบ

หากบริษัทขนส่งสามารถจัดเส้นทางการขนส่งและลดระยะทางการขนส่งโดยรวมในแต่ละรอบได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มาก เนื่องจากระยะทางลดลง ก็จะใช้น้ำมันน้อยลง ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง ด้วยการทำ Routing Optimization คือการหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด สั้นที่สุด ประหยัดที่สุด ทั้งนี้ การทำ Routing Optimization ที่นิยม คือการจัดโซนขนส่ง (zoning) เช่น ลูกค้ากลุ่ม A อยูใกล้กัน ก็จะมีการจัดรถไปให้บริการลูกค้ากลุ่ม A แล้วก็จะมีการจัดเรียงลำดับในการวิ่งขนส่งลูกค้า เพื่อให้วิ่งส่งพัสดุจากจุดเริ่มต้น แล้ววนกลับมาที่เดิมเป็นวงกลม โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นที่สุดซึ่งเรียกแนวทางดังกล่าวว่า Milkrun

ทั้งนี้ ในมุมนักวิจัยด้านโลจิสติกส์ ผศ.ดร.กานดา มองว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ที่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และปรับกระบวนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ยังจะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อีก โดยการเติบโตเป็นบริษัทขนส่งยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่บริษัทขนส่งต้องให้ความสำคัญและเริ่มลงทุน เช่น Robotic Process Automation (RPA) ที่ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้ทำงานเอกสาร หรืองานที่ไม่ซับซ้อนและมีการทำซ้ำๆ เทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่นักวิจัยด้านโลจิสติกส์กำลังศึกษาและพัฒนาเพื่อให้บริษัทขนส่งสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มความสามารถในการขนส่งได้ด้วยต้นทุนที่จับต้องได้ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ให้บริษัทขนส่งของไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้ต่อไป

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ใช้รถ EV ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ย้ำผู้นำโลจิสติกส์ยั่งยืน

กรุงไทยแนะ จับตาภาคโลจิสติกส์ปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ