TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessFacebook ประกาศพันธกิจ เดินหน้าหนุนธุรกิจ-ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

Facebook ประกาศพันธกิจ เดินหน้าหนุนธุรกิจ-ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director, Facebook ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Story Thailand ถึงแผนกลยุทธ์การทำธุรกิจในประเทศไทย และมุมมมองต่อการแข่งขันของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปีนี้ 

แผนการขยายธุรกิจ และการบริการของ Facebook สำหรับประเทศไทยในปี 2564 คืออะไร :

Facebook ประเทศไทยมีพันธกิจที่ชัดเจนในการเป็นพันธมิตรแถวหน้าสำหรับธุรกิจและชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางธุรกิจและมิชชั่นทางสังคมพร้อมปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มของเรา

เราทุกคนต่างต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อเดินหน้าไปสู่โลกหลังการระบาดโควิด-19 และเป้าหมายหลักของเราในปีนี้ มี 2 ส่วน หนึ่ง Facebook จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดและทุกภาคส่วนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราทุกคนเห็นประโยชน์ของการมีเครื่องมือดิจิทัลเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าและชุมชนผ่านช่องทางดิจิทัลและโซเชียลคอมเมิร์ซ

ในประเทศไทย เราได้สังเกตเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่นี้บนแอปพลิเคชันในเครือของเราเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และเราก็หวังว่าจะได้เห็นการตื่นตัวมากขึ้นใน industry อื่น ๆ เมื่อประเทศเริ่มเดินหน้าฟื้นฟูอย่างเต็มที่

ในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา มีการปรับตัวใช้เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าให้เสมือนจริงและรู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น เช่น ใช้ Messenger ในการรับออเดอร์และปิดการขายเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ Facebook Live ในการช้อปปิ้ง ขายของและทำกิจกรรมทางการค้า หรือการพูดคุยประชุม หรือกลุ่มทาง Facebook ตามแต่ความสนใจของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การแบ่งปันความสนใจ งานอดิเรกที่ชอบ หรือกลุ่มพูดคุยปรึกษาให้คำแนะนำต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้ คือ แนวทางปฏิบัติจริงที่ภาคธุรกิจได้ร่วมกันสร้างสรรค์มิติใหม่ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็ทำให้ Facebook ได้เรียนรู้และนำเสนอโซลูชันทางด้านการช้อปปิ้ง หรือการค้า โดยนอกเหนือจากนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มของ Facebook เอง ยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นแรงเสริมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศได้มากขึ้น 

อย่างที่สอง คือ การทำงานของเราในการส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในประเทศไทยในการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์เชิงสังคมได้ดียิ่งขึ้น 

เทรนด์หลักของผู้บริโภคชาวไทยบน Facebook และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ในปี 2564 นี้คืออะไรบ้าง :

ผู้คนใช้เวลาบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น และด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่แน่นอน ทำให้ความคาดหวังของชุมชนและธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ สำหรับ Facebook แล้ว เราอยู่ตรงกลางระหว่างชุมชนและการค้าขาย โดยเราเชื่อว่าจะยังคงเห็นเทรนด์ที่โดดเด่นต่าง ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2564 นี้ ได้แก่

การสร้างประสบการณ์การค้นพบแบรนด์ (Discovery Commerce) เป็นเทรนด์ที่ผู้คนในทุกช่วงอายุต่างเปิดรับแนวทางใหม่ๆ ในการค้นพบสินค้าและช่องทางการซื้อขาย และ Facebook ถือเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ได้ถูกค้นพบ อันที่จริงแล้ว ร้อยละ 64 ของการซื้อขายออนไลน์นั้นเกิดจากการค้นพบและ โซเชียลมีเดียรวมถึงวิดีโอสั้นถือเป็นแหล่งการสร้างประสบการณ์การค้นพบแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 42) อาจกล่าวได้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นหน้าต่างสู่โลกออนไลน์ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าที่ใดหรือเวลาใดก็ตาม เพื่อค้นหาไอเทมใหม่ๆ และเราคาดว่าจะได้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นในการซื้อของผ่านช่องทางโซเชียล การซื้อของแบบ Click-and-Collect และบริการสมัครสมาชิกต่างๆ

เส้นทางหรือขั้นตอนในการซื้อของจะลื่นไหลมากขึ้น หมายความว่าผู้บริโภคจะยังคงคาดหวังประสบการณ์การซื้อของแบบหลายช่องทาง (omni channel/online-to-offline)จากแบรนด์ ดังนั้นธุรกิจต่างๆ ต้องรู้จักนำเสนอและส่งมอบบริการที่  แบรนด์มีผ่านทางช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้าสู่เส้นทางการซื้อขายที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ตัวอย่างเช่น       การค้นหาผลิตภัณฑ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย การแวะไปเยี่ยมชมสินค้าจริงที่ร้าน ตลอดถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์เพื่อใช้ประโยชน์จากส่วนลด

การส่งข้อความและไลฟ์ตรีมนับเป็นช่องทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุด และการซื้อขายผ่านการทักแชท (Conversational Commerce) และการซื้อของผ่านไลฟ์สด จะยังคงเป็นเทรนด์หลักในปีนี้ขณะที่ผู้คนต่างมองหาการมีปฏิสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่การซื้อขายกับแบรนด์ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นจำนวนบทสนทนาระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์ต่างๆบน Messenger และ Instagram เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ในขณะที่ร้อยละ 38 ของผู้บริโภคในประเทศไทยเคยกดดูการขายของผ่านไลฟ์สด และกว่าร้อยละ 80 ของคนกลุ่มนี้จะเดินหน้าซื้อของผ่านการไลฟ์สดอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยมีการติดต่อพูดคุยกับแบรนด์หลากหลายประเภท ตั้งแต่การซื้อรถรุ่นใหม่ไปจนถึงอาหารทะเลสด

เทรนด์สุดท้ายที่จะพูดถึงคือ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงซึ่งปัจจุบันมีให้เห็นอย่างแพร่หลายมากขึ้นในยุคที่ต้องรักษาระยะห่าง ร้อยละ 81 ของคนไทยที่ร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ กล่าวว่าพวกเขาเคยใช้เทคโนโลยี AR ในปีที่ผ่านมา และร้อยละ 88 ของคนกลุ่มนี้สนใจที่จะได้เห็นการนำฟีเจอร์​ AR มาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆจากแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอลักษณะของสินค้าในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป หรือการ “ทดลองสินค้าใหม่ๆ” ผ่านช่องทางเสมือนจริงที่ปลอดภัย เราเชื่อว่าความสนใจในด้านนี้จะเติบโตขึ้นอีกในปี 2564

การแข่งขันของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในปี 2564 จะเป็นอย่างไร :

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นการลงทุนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ Facebook ได้นำร่องช่วยเหลือธุรกิจและชุมชนในประเทศไทยให้สามารถสานวิสัยทัศน์เชิงสังคมป็นจริง ไปพร้อม ๆ กับความพยายามในการสร้างประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

โควิด-19 ได้ย่นระยะเวลาของเทรนด์ต่าง ๆ ที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอาจมาถึงในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ทั้งหมดนี้ให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนของความบันเทิงและการค้า เนื่องจากว่ามีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่หันมาหาช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย รวมถึงแพลตฟอร์มของเราในการสื่อสารระหว่างกัน 

นวัตกรรมทางการค้าหรือโซลูชันในการช่วยเหลือภาคธุรกิจทั้ง SME หรือว่ากลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเรามองว่าสิ่งเหล่านี้จะยังคงเป็นสิ่งที่โลกยุคหลัง new normal ยังคงมองหา

นอกเหนือจากนั้นก็คือ นวัตกรรมที่เสริมการสร้างสรรค์เนื้อหาที่สนุก มีความหมาย (meaningful) มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ในการสร้างการเติบโตให้กับชุมชนหรือฐานกลุ่มลูกค้า แฟนคลับก็จะยังสะท้อนเทรนด์ของการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการทำให้คนเชื่อมต่อกันได้ใกล้ชิดกันและง่ายมากขึ้น 

เราเชื่อว่าทั้ง Facebook และ Instagram ยังเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์มของเรายังช่วยให้นักโฆษณา นักการตลาด ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา ชุมชนออนไลน์ ธุรกิจ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ สามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์ หรือวิสัยทัศน์ขององค์กรหรือมิชชั่นที่กลุ่มกำลังผลักดันให้มีความชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ในปีนี้ Facebook มีแผนที่จะเปิดตัวฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ ในประเทศไทยบ้าง :

อย่างที่เราได้เน้นไปในเรื่องพันธกิจของโซลูชันด้านการช้อปปิ้ง และส่งเสริมการสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจทั้ง SME และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายการเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การสร้างประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่มีความหมาย เหมาะกับผู้ใช้ชาวไทย การนำเสนอความสนุกไปกับเทรนด์ใหม่ ๆ และการเชื่อมต่อชุมชนด้วยฟีเจอร์และโซลูชันที่อำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้สร้างเนื้อหาและผู้ใช้มากขึ้นก็เป็นภารกิจต่อเนื่องของเรา

ตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน Facebook ประเทศไทยได้ทำการเปิดตัวฟีเจอร์ Live Shopping เพื่อช่วยให้ผู้ขายชาวไทยสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของการเปิดตัวฟีเจอร์ Live Shopping นี้ หลังจากเปิดตัวในสหรัฐฯ และพร้อมให้บริการแก่เพจธุรกิจ (Business Page) ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ โดยผู้ขายสามารถแท็กสินค้าจาก Facebook Shop ก่อนเริ่มต้นไลฟ์สด (Live) ผลตอบรับต่อฟีเจอร์ Live Shopping

รวมถึงการเปิดตัวของ Instagram Shopping ในประเทศไทยนั้น เรียกได้ว่าดีมาก และเรายังคงเดินหน้าที่จะหาวิธีที่จะขยายการสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดและทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เรายังตื่นเต้นกับการค้นพบช่องทางที่จะทำให้ผู้ใช้งานและชุมชนได้แสดงออกและเชื่อมต่อถึงกันผ่านแอปพลิเคชันในเครือของเรา ซึ่งรวมถึงการสร้างช่วงเวลาพิเศษที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมเฉพาะตัวของในประเทศและของผู้ใช้งานชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวการแสดงความรู้สึก (Reaction) และสติกเกอร์กิจกรรมให้ความรู้ผู้ใช้ในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผ่านแคมเปญ Love & Lock: Facebook Privacy Café Virtual Edition ที่เราได้ร่วมงานกับนักวาดภาพประกอบคนไทย Sundae Kids ที่นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่

ส่วนการเปิดตัวฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าตื่นเต้นนั้นมีแน่นอน อยากจะให้ติดตามกันค่ะ

Facebook ยังช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างไรอีกบ้าง :

ส่วนหนึ่งของภารกิจหลักของ Facebook ก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สร้างชุมชนของพวกเขาขึ้นมาเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยนอกจากบทสนทนาที่ถูกส่งถึงกันผ่านแอปพลิเคชันในเครือแล้ว ยังมีผู้คนมากกว่า 45 ล้านคนในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบน Facebook กว่า 6 ล้านกลุ่ม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผู้คนจำนวนกว่า 650 ล้านคนที่เป็นสมาชิกและได้มีส่วนร่วมในกลุ่มบน Facebook อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 โดยกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีความหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มการเลี้ยงลูก ไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มด้านเทคโนโลยีคราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) กลุ่มด้านการศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย

จะเห็นว่าเรามีการลงทุนและโปรแกรมต่าง ๆ ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับ community มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโปรแกรมฝึกอบรมผู้นำชุมชนในระดับภูมิภาคในโครงการ Community Accelerator ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมระยะเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยเหลือผู้นำชุมชนที่มีการเสริมทักษะและมอบเงินทุน  ซึ่งเป็นทีน่าภูมิใจที่เรามีตัวแทนกลุ่มคนไทยที่หลากหลายที่ได้รับคัดเลือก ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี (mental health) กลุ่มผู้ช่วยเหลือผู้สูงอายุ กลุ่มที่มุ่งมั่นในสิทธิของ LGBTQI หรือความเท่าเทียมในกลุ่มผู้พิการ

ล่าสุดเราก็ได้เปิดตัวคอร์สเรียนและสอบประกาศนียบัตรออนไลน์เสริมทักษะให้กับ Community Manager เป็นภาษาไทยด้วย เพื่อช่วยให้ผู้จัดการชุมชน (แอดมินเพจ) ของหน่วยงานต่าง ๆ แบรนด์ สถานศึกษา หรือแม้แต่ NGO ได้สร้าง ขยาย และสนับสนุนชุมชนของตัวเอง

เราได้ปรับรูปแบบโครงการ Boost with Facebook ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงดิจิทัล ให้เข้ากับความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในประเทศไทยในช่วงภาวะโรคระบาดนี้ โดยสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการได้กว่า 2,300,000 คนผ่านรูปแบบคอร์สออนไลน์ฟรี นอกจากนี้ยังอบรมผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 2,183 ราย ผ่านการจัดฝึกอบรมต่าง ๆ ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อให้แน่ใจว่าร้อยละ 38 ที่มาจากกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มประชากรเป้าหมายต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นอกจากนี้เรายังอัปเดตฟีเจอร์การเข้าถึงข้อมูลอยู่เสมอ เช่น ฟีเจอร์ข้อความกำกับภาพ หรือ Automatic Alt Text (AAT) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้งานชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้และท้ายสุด เรายังคงเดินหน้ามอบทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้และเครื่องมือต่างๆ ทั้งสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโปรแกรมเพื่อความรู้เชิงดิจิทัล เช่น We Think Digital Thailand และคู่มือพลิกสถานการณ์เสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อมสำหรับประเทศไทย (Small Business Resilience: Re-emergence Guide) และยังทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม ภาครัฐ และ NGO เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Facebook ประเทศไทย

Facebook ประเทศไทย

  • กว่า 61 ล้านคน ใช้ Facebook ในแต่ละเดือน
  • กว่า 61 ล้านคน ลงชื่อเข้าใช้ Facebook ผ่านอุปกรณ์มือถือทุกเดือน
  • กว่า 44 ล้านคน ลงชื่อเข้าใช้ Facebook ทุกวัน 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ