TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessกัญชา ... พืชเศรษฐกิจในอนาคต กับความพร้อมของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

กัญชา … พืชเศรษฐกิจในอนาคต กับความพร้อมของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“กัญชา” ถูกคาดหวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยความพร้อมของระบบนิเวศตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก การวิจัยและพัฒนาสารสกัด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ จึงมีเอกชนและนักลงทุนจำนวนมากหันมาลงทุนทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา

และความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ คือ การร่วมมือกันของบริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด (TCI) บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร และกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น Shiodome Inc. ที่จะผลักดันการวิจัยและพัฒนาการผลิตกัญชาทางการแพทย์สู่ตลาดโลก พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาทางการแพทย์ของไทย ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกด้าน Genetech และ DNA Plant Tissue Culture

ดร.สุรศักดิ์ สุวุฒโฑ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ TCI กล่าวว่า TCI เป็นบริษัทที่ ทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของผลิตภัณฑ์กัญชาทั่วประเทศไทย ต้นน้ำ คือ การเพาะปลูก โดยจับมือกับวิสาหกิจ ชุมชนหลายที่ ส่วนกลางน้ำ ได้จับมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมทำการศึกษา วิจัย ทำการสกัดเพื่อทำวิจัย และปลายน้ำได้ร่วมกับบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC เพื่อเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชาต่อไป

TCI ได้ทำบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือทางวิชาการ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการกับโรงพยาบาลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และร่วมช่วยเหลือในการศึกษา วิจัยและพัฒนา “กัญชา” เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย ตามหลักวิชาการของการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก

“เรามองว่ากัญชา คือ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรได้ ณ วันนี้ ถ้าสามารถกำหนด ราคากลางสำหรับซื้อขายกัญชาได้ จะช่วยส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจให้เกษตรกรได้ แต่ต้องส่งเสริมให้ปลูกในระบบปิด การปลูกกัญชาจะกลายเป็นอาชีพเสริมที่มีมูลค่าให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของประเทศได้เป็นอย่างดี”

ในอีก 3-5 ปี กัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ หากส่งเสริมให้เกษตรปลูกจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ราคาการซื้อขายจะเน้นที่สารสกัดจากกัญชาซึ่งมีมูลค่าสูงมาก 

ณ วันนี้ กระแสการปลูก ศึกษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์​กัญชามีจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน จะต้องเน้นที่ กัญชาทางการแพทย์เป็นหลัก ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ขั้นตอนการสกัด การนำไปวิจัย การนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นยาหรือเครื่องสำอาง ต้องอยู่ในระบบออแกนิก เพราะเอาทุกอย่างไปใช้กับคน การปลูกในระบบปิดและเน้นที่ มาตรฐานสำหรับการนำไปใช้ทางการแพทย์ จะทำให้ราคามีมูลค่าสูงกว่า 

การจะให้ได้สารสกัดจากกัญชาที่มีคุณภาพดี มาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade) จะต้องเริ่มตั้งแต่การ คัดเลือกสายพันธุ์ จะต้องมีการใช้นวัตกรรมตัดแต่งสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่นิ่ง และสามารถผลิตสารสกัดได้มาก และต้องควบคุมการปลูกในระบบโรงเรือนแบบปิด จะทำให้กัญชาได้ผลผลิตที่ดีมาก และได้ประโยชน์สูงสุด 

เป้าหมายของ TCI คือ ภายในปีนี้ จะมีแปลงปลูกกัญชากับ TCI 100,000 ไร่ ซึ่งหากปลูกเป็นโรงเรือนปิด พื้นที่ขนาด 6X9 ตารางเมตร ปลูกได้ 84 ต้น ซึ่ง 4 เดือนเก็บเกี่ยว 1 รอบ 4 เดือน ซึ่งเป็นรอบที่ตัวช่อดอกให้สารสกัดที่มีคุณภาพสูงสุด 

ด้าน ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครกล่าวว่า คณะฯ สามารถวิจัยและพัฒนาจนได้สายพันธุ์กัญชาไทย และได้วิธีการเพาะปลูก ที่เหมาะสมสำหรับการแพทย์ โดยได้สกัดสารบริสุทธิ์ CBD หรือ Cannabidiol  ที่มี THC หรือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 0.01 ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอด เชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้ 

“นอกจากนี้เรายังได้นำเทคโนโลยีในการปลูกเรียกว่า Plant Tissue Culture และเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาร่วมพัฒนา การปลูก เมื่อนำมาร่วมกับงานวิจัยของทางเรา พร้อมกับพันธมิตรที่ทางเรามีจะเป็นผลให้เราสามารถควบคุมคุณภาพ และผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังกลางน้ำและปลายน้ำ” ดร.ไพศาล กล่าว

นักลงทุนพร้อมหนุนงานวิจัยกัญชาสู่ตลาดโลก 

พันธุ์คม แก้วเหมือน Chief Investment Officer ของ Shiodome Inc. ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า Shiodome Inc. เป็นบริษัทบริหารการลงทุน โดยเน้นการลงทุนใน 3 กอง คือ Hikari HC, Jurojin และ Taima High ซึ่งทั้ง 3 กองล้วนให้ความสำคัญในการลงทุนในด้าน Healthcare Innovation หรือ Healthcare Ecosystem ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละกองทุน รวมถึงกัญชง (Hemp) และกัญชา (Cannabis) ที่มองว่าเป็นโอกาสอันดี มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีช่องทางในการขยายไปได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยา

“ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่เปิดกว้างมากสำหรับเรื่อง Healthcare ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมผู้สูงอายุ และการปฏิรูปรูปแบบ วิธีการในการรักษาของคนญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก โดยถือเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Healthcare ติด 1ใน 10 ของโลก และเป็นประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Medtech ถึง 40% ซึ่งการที่ Shiodome Inc. มาโฟกัส Healthcare นั้น สาเหตุเกิดจากสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกที่หนึ่งจนระลอกที่สอง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกหา Start Up ด้าน Healthcare Healthtech และ Medtech จึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะพาบริษัท Start Up ไทยไปบุกตลาดญี่ปุ่น และมองว่า Healthcare เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากตราบเท่าที่โควิด-19 ยังอยู่ และกัญชงและกัญชาก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เราสนใจที่จะลงทุน”

ถึงแม้ว่ากัญชงและกัญชาจะยังไม่ตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ ณ ตอนนี้ และการที่รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจกับกัญชงและกัญชาทำให้มองเห็นช่องทางและโอกาสมากยิ่งขึ้น โดยสามารถปลูก และสกัดที่ไทยได้นั้น ก็ทำให้นักลงทุนต่างๆ ให้ความสนใจ และกล้าที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Cannabis ให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนา ผลิตภัณฑ์เพื่อตลาดที่มีความหลายหลายตั้งแต่ Mass ไปยัง High End ซึ่งขึ้นอยู่กับ เทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาด้วย

“ไม่ใช่เราคิดได้คนเดียว คนอื่นเขาก็คิดแบบนี้ แต่ขึ้นกับว่าคุณมีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะเทคโนโลยีการวิจัย และพัฒนาทุกอย่างสนับสนุนด้วยเงินลงทุน ซึ่งในฐานะนักลงทุน เราจะต้องเข้าไปช่วยเขาดูเรื่องรูปแบบธุรกิจ ว่าทำอย่างไรถึงจะออกมามีมูลค่า มีผลตอบแทนทางการลงทุนที่ดี และที่สำคัญจะต้องยั่งยืนด้วย และการกระจายผลประโยชน์ต้องตกถึงทุกภาคส่วน ซึ่งเราเชื่อว่าทุกรูปแบบธุรกิจจะต้อง win-win-win คือ ทุกคนต้องได้รับประโยชน์ เพราะจะทำให้เกิดความร่วมมือกัน เพื่อให้ระบบนิเวศของทั้งระบบมีความยั่งยืน อาทิ ชาวเขาที่ปลูกกัญชงและกัญชา หากไปกดราคาเขา เขาจะอยู่ไม่ได้ บริษัทจะขาดวัตถุดิบในการผลิต ท้ายที่สุดก็จะทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน” 

พันธุ์คม มองว่า กัญชงและกัญชาจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของอุตสาหกรรม Healthcare ของประเทศไทย และเป็นตัวเปลี่ยนเกมของ Shiodome ในฐานะบริษัทบริหารการลงทุนด้วย และจะนำบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Cannabis ไปบุกตลาดที่ญี่ปุ่น โดยคุยกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น Japan External Trade Organization (JETRO) หรือ Rakuten 

“ในโลกแห่งความเป็นจริง ในฐานะนักลงทุน ไม่ได้ง่าย แบบที่ว่าคิดจะพาไปก็พาบริษัทอะไรได้ไปในทันที เราไม่ได้พาบริษัทไปเร่ขายของ เพราะเรามองว่าการทำธุรกิจแบบนี้ ในสมัยนี้ไม่ค่อย Work แต่เราจะเลือกที่จะทำแบบ การเป็นพันธมิตร กับบริษัทใหญ่ เช่น Rakuten ซึ่งบริษัท E-Commerce ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นพันธมิตรของธุรกิจกัญชงและกัญชา ในขณะเดียวกันจะต้องปรึกษากับผู้กำกับดูแล (Regulator) ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทุกประเทศมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อาทิ หากอยากได้รับการลงทุนจาก JETRO บริษัทจะต้องไปตั้งบริษัทที่ญี่ปุ่น ทำศูนย์วิจัยที่นั่น ซึ่งการทำในรูปแบบนี้ จะทำให้ได้ทั้งเงินลงทุนไปพร้อมกับได้องค์ความรู้ และได้ฐานเครือข่ายพันธมิตร การทำศูนย์วิจัยที่ญี่ปุ่น หมายรวมถึง การร่วมมือกันทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เมื่อความร่วมมือเกิดขึ้น ในอนาคตผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาของไทยก็จะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่ง ในการรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคแปลก ๆ ของคนญี่ปุ่นได้” 

“สิ่งที่เราทำ หลายเรื่องเราถามนักลงทุนก่อน เพราะเครือข่ายเขาใหญ่กว่า สิ่งที่กังวลคือเรื่องของทิศทางกฎหมายของไทย ว่าจะไปในทิศทางไหน กระบวนการของแต่ละสินค้าเช่น เครื่องสำอาง ยา ตัวนี้เป็นเครื่องสำอางได้หรือไม่ ถ้าเป็นได้เป็นได้ ต้องใช้ FDA ระดับไหน ประเภทไหน ถ้าเป็นยาจะต้องทำอย่างไร หรือควรเป็นพันธมิตรกับใคร ทั้งหมดนี่ คือ สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนจะให้กับธุรกิจที่เราจะไปลงทุน เพราะลำพังเพียงเงินลงทุน (Fund)  จะไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่เราต้องมองเป็นทั้งระบบนิเวศว่า เขาได้ผลประโยชน์อะไรจากเรา เรานำเสนออะไรให้เขา และเราได้อะไร”

นักลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะและความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างนักลงทุนบุคคลและนักลงทุนสถาบัน อาจจะเป็น ข้อโชคดีที่นักลงทุนหลัก ๆ ของ Shiodome Inc.เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศญี่ปุ่น และกองทุนภายใต้การบริหารของเราทั้ง 3 กองทุนหลัก ทั้งหมดเป็น PE หรือ Private Equity ซึ่งนักลงจะมองที่โครงการเป็นหลัก รวมถึง ​Time Horizon ระยะยาวตั้งแต่ 5 – 15 ปี ขึ้นไป

“ตอนนี้เงินล้นโลก แต่เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้เลย เงินเหล่านี้ไปลงทุนในตลาด Bitcoin ตลาดสินทรัพย์ดิติจัล ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งตลาดหลักและตลาดรอง  ซึ่งเป็นการกระจายและบริหารความเสี่ยง แต่ไม่ได้เป็นผลตอบแทนกลับเข้ามาในอุตสาหกรรม (Real Sector) มากนัก และในไทยเอง ยังไม่มี Business Model ไหนที่สร้างแล้วทำให้เกิด Impact ระดับโลก เพราะว่าจำนวนของทุน เพราะ Start upในไทยค่อย ๆ เริ่มต้นจาก Seed ไป Series A, B และ C Start up ไทยต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ต้องหาพันธมิตรด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราทำ เราโฟกัสที่ Start Up แบบทีละราย และช่วย Spin Off เขาทีละราย ด้วยจำนวนเงิน ที่มากพอที่จะให้เขาสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง และด้วยเครือข่ายที่เรามี เราสามารถลงทุนในสิ่งที่ Start Up ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจได้ ซึ่งบางโปรเจค เราลงทุนทั้งระบบนิเวศ ไม่ได้ลงทุนแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง”

บทบาทของ Shiodome Inc. เป็นนักลงทุนที่มองในภาพใหญ่ ทั้งลึกและกว้าง เลือกว่าจะลงทุนที่ไหน จะลงทุนอย่างไร รูปแบบใด แต่ละธุรกิจมีความต่าง ดังนั้น จะช่วยสร้างรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมที่จะรับเงินลงทุนด้วย เมื่อเลือกที่จะลงทุนแล้ว หน้าที่ของ Shiodome Inc. คือ ช่วยหาพันธมิตรธุรกิจให้ พันธมิตรที่ดีและแข็งแรง จะเป็นการสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจ และยังช่วยดูเรื่อง และ Credit Line และ credit support ในการโครงการใหญ่ ๆ ทำอย่างไรให้เขามีกระแสเงินสดในมือ

“ดังนั้น หากเราสามารถพาบริษัทไทยไปเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาตรฐานสูง มีความยั่งยืน และเป็นตลาดที่ใหญ่ เราจะไปตลาดที่ไหนก็ได้ทั่วโลก”

ตอนนี้บริษัทมีอยู่ 2-3 ดีลที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นดีลกลางๆ บางดีลก็ใหญ่มากเลยทีเดียว ส่วนดีลกัญชงและกัญชาก็มองจำนวนเม็ดเงินเบื้องต้นประมาณ 100 ล้านดอลลาร์

พันธุ์คม มองว่า กัญชงและกัญชา มีโอกาสทางธุรกิจอย่างมาก เพราะจะมาทรานส์ฟอร์มภาพของประเทศเกษตรกรรมของ ประเทศไทยได้ในอนาคต มันคือการยกระดับประเทศไทย เพราะเป็นการนำนวัตกรรมมาสร้างมาตรฐานใหม่ เพราะกัญชงและกัญชาโดยฐานราก คือ เกษตร โดยเทคโนโลยี คือ การวิจัย พันธุกรรม โดยอุตสาหกรรมทางการแพทย์ มันคือ ระบบปิด คือ High-end, High-Grade Quality Control ซึ่งล้วน ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งนั้น

สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องทำให้ระบบนิเวศของธุรกิจกัญชงและกัญชาในประเทศไทยใหญ่พอ ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในประเทศ โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในทุกขั้นตอนของการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก การวิจัยและพัฒนา สารสกัด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม และอื่น ๆ ในอนาคต อานิสงส์ของกัญชงและกัญชาสามารถช่วยสร้างนักวิจัย สร้างธุรกิจที่ต่อเนื่อง สร้างสตาร์ตอัพ เป็นต้น มีโอกาสซ่อนอยู่เยอะมาก

“เรานำพันธมิตรทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และจะพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง ซึ่งเทคโนโลยีสามารถลงไปได้ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เมื่อใดที่เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าคุณภาพที่เทคโนโลยีสนับสนุนได้ ราคาของสินค้าจะสูงขึ้น กำไรจะมากขึ้น ความยั่งยืนจะตามมา และเป็นการสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง สามารถสร้างนักวิจัย สร้างธุรกิจที่ต่อยอดต่อเนื่อง ได้อีกจำนวนมาก สามารถสร้างสตาร์ตอัพเล็กให้สามารถเติบโตได้อีกจำนวนมาก มีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้นเยอะมาก อยู่ที่ว่าจังหวะ โอกาส และพันธมิตร รวมถึงขั้นตอนของกฎหมายด้วย” 

จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชาได้มีการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลานาน แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ อย่างเช่น เครื่องสำอาง หรือเครื่องดื่ม อยู่ที่ว่าใครจะจับตลาดได้เร็ว ได้ไว และยั่งยืนอย่างไร

แต่สิ่งที่เป็นมูลค่าสำคัญของธุรกิจ กัญชงและกัญชา คือ การนำไปใช้ทางการแพทย์  ณ วันนี้การทำวิจัยในสหรัฐอเมริกาสำหรับผลิตยาต้านมะเร็งก็ยังไม่มีรายไหน ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยสามารถเป็นจุดตั้งต้นของตัวยาสำคัญได้ จากการวิจัย และพัฒนายาจากสารกัดจาก กัญชงและกัญชาตราบใดที่มีสิทธิบัตรอยู่ในมือคนไทย

สิ่งที่สำคัญ คือ การวิจัยทางการแพทย์ (Medical Research) การวิจัยปลายน้ำ (อาทิ เครื่องสำอาง) อาจใช้เวลาเพียงปีเดียว แต่ถ้าเป็นยา คือเกี่ยวข้องกับชีวิตคน การวิจัยเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี

“ที่ผ่านมาไทยเรารับเงินทุนวิจัยจากต่างชาติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาหรือวัตถุดิบ ของงานวิจัยได้ ณ ตอนนี้ ไทยเป็นจุดตั้งต้นของตัวยาชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง อยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน”

เงินทุนสำคัญมากสำหรับ การวิจัยและพัฒนา การลงทุนธุรกิจนวัตกรรม ที่ไม่มีการลงทุนด้าน R&D เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะจะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ในขณะที่เรื่อง สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจเปลี่ยนตลาด ซึ่งโควิด-19 ได้เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้น การวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น ในประเทศไทยมีนักวิจัยเก่ง ๆ เยอะมาก แต่ที่ผ่านมาขาดงบลงทุนด้านวิจัย และพัฒนา 

“เราอาจจะมีการทำห้องวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเก่ง ๆ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เกิดการต่อยอดงานวิจัย ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้” 

ชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์  จำกัด (มหาชน) (TACC) กล่าวว่า กระแสของ ผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่มี THC น้อยกว่า 0.02% ซึ่งได้ถูกปลดล็อคจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ.2564 ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็น Mega Trend ของธุรกิจ Health and Wellness และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคในหลายประเทศ

TAAC เล็งเห็นศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD จึงเข้าสู่กรอบการร่วมมือในครั้งนี้ โดยจะร่วมวิจัยและ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร CBD ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อออกสู่ตลาด 

โดยจะใช้สาร CBD ที่ปลูกและสกัดจากความร่วมมือของบริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มทร. พระนคร เป็นการต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ พัฒนาและนำผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่เพื่อเตรียม เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่ TACC เข้าไปสู่ผู้เล่นในตลาด Health and wellness อย่างเต็มตัว

ริชาร์ด ฟง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีโนมิก กล่าวว่า การวิจัยจีโนมิกจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพงานวิจัย เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเทคโนโลยีจีโนมิกส์สามารถช่วยให้ผู้ปลูกใช่นวัตกรรมเพื่อให้ได้สายพันธู์กัญชา ที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อจุลินทรีย์ก่อโรค ทนทานต่อสภาวะโรค และเติบโตให้ผลผลิต (สารสกัด) ที่ดี และที่สำคัญ สะอาดปลอดภัยเป็นออแกนิก 

“เราเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีกับ TCI เราจะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับจีโนมิกและดีเอ็นเอของพืขกัญชามาช่วยยกระดับ ศักยภาพของสายพันธุ์กัญชาไทย รวมถึงกระบวนการเพาะปลูก วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ของไทยให้อยู่ในแถวหน้าของโลก” 

รองศาสตราจารย์ ดร.วินเซนต์ ริเบียร์ ประธานจัดงาน Global MIKE Award และกรรมการผู้จัดการ สถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (IKI-SEA) ได้รับการสบับสนุนจาก Shiodome Inc. และ Middlemarch Capital Japan Co., Ltd. (MMJP) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในธุรกิจกลุ่มนวัตกรรม-สตาร์ทอัพ และกรีนเทคโนโลยี ให้การส่งเสริมเวทีรางวัลการจัดการความรู้และนวัตกรรมระดับโลกที่จะเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยให้บริษัทไทย และบริษัทในภูมิภาคที่เกิดใหม่มีมุมมอง ความรู้ การพัฒนาองค์กรทัดเทียมกับบริษัทระดับโลก

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินเซนต์ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับโอกาสของประเทศไทยที่มีศักยภาพธุรกิจ IoT หรือ Health Technology ที่มากับการริเริ่ม การวิจัยกัญชา กัญชงเชิงพาณิชย์ มองว่าหากบริษัทไทยที่ร่วมทุนวิจัย มีระบบการจัดการความรู้ ​Know-how ตัวนี้ ได้ดีสามารถต่อยอดกับธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่เพียงแต่การจำกัดแค่ผลิตภัณฑ์ ตัวกัญชา เท่านั้น แต่เทคโนโลยียังช่วยตั้งแต่การเพาะปลูก สายพันธุ์ การควบคุมดูแล และแปรรูปผลิตภัณฑ์ จนถึงประเทศผู้รับซื้อ

เมื่อนวัตกรรมส่วนนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้ภูมิภาคและบริษัทเกิดใหม่ในกลุ่ม Health Tech มี Mindset เติบโตไปในระดับโลกได้ ไม่ได้มองแค่เป็นการเพาะปลูกแล้วขายผลผลิตทางการเกษตร

โดยเกษตรกร การที่กลุ่ม Shiodome Inc, Middlemarch Capital Japan Co., Ltd MMJP) เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ทั้งโครงการ MIKE Award ตั้งแต่รางวัลระดับประเทศ ระดับภูมิภาค รวมถึงระดับโลก Global Mike Award ในปีนี้ยิ่งเป็นการแสดงความยั่งยืนและจุดยืนที่จะมาเป็น Global Brand Health Tech Hub ในการบริหารจัดการนวัตกรรมที่มากกว่าการค้นพบสูตรยาและผลิตออกมา เพื่อต่อยอดให้แก่ธุรกิจได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ