TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistATK เดิมพันศึก "สองหมอ"

ATK เดิมพันศึก “สองหมอ”

เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะครบ 2 ปีที่โควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ขณะที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดบ้านเปิดเมือง แต่บ้านเรายังสาละวนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” ไม่มีสิ้นสุด ในห้วงเวลาที่โรคนี้เข้ามาอาละวาดในประเทศไทยใหม่ ๆ ก็มีกรณีทุจริตหน้ากากอนามัยและถุงมือยาง ทุกวันนี้เรื่องยังเงียบหายไปไม่รู้ว่าไปถึงไหน

ก่อนหน้านี้ ไม่ช้าไม่นาน ก็มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดวัคซีนไม่โปร่งใส กลายเป็น “น้ำลดตอผุด” ควันยังไม่ทันจาง ล่าสุดสังคมก็เริ่มตั้งข้อสงสัยกรณีประมูล “ชุดตรวจเร็ว”​ หรือ Antigen Test Kits (ATK) ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขจะให้ใช้เฉพาะการตรวจแบบ RT-PCR แต่ก็ล่าช้ามาก เพราะต้องรอผลตรวจนานถึง 6 ชั่วโมง แถมต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก และราคาเฉลี่ยก็สูงถึง 2,000 บาทต่อชุด

ในการระบาดระลอก 3 จาก “สายพันธุ์เดลต้า” มีความรุนแรงขึ้น และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้การตรวจแบบเดิม ๆ ไม่ทันสถานการณ์ ส่งผลให้จำนวนคนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขโดน “การเมือง” กดดัน จึงยอมเปิดทางให้ใช้การตรวจแบบ ATK ได้

เมื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ ส่งผลให้ราคา ATK ค่อนข้างแพง ชุดหนึ่ง 200-300 บาท กลายเป็นภาระชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีโอกาสเข้าถึง ภายหลังจากชมรมแพทย์ชนบทยกพลบุกไล่ตรวจในชุมชนได้เห็นปัญหานี้ จึงเสนอไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สปสช.” ให้ช่วยจัดหาชุดตรวจเร็วแบบ ATK แจกจ่ายให้ประชาชน และชุมชนฟรี ๆ เพื่อให้ชาวบ้านตรวจกันเองได้ 

ขณะเดียวกันชมรมแพทย์ชนบทได้ศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกว่ามี 2 ยี่ห้อ ที่อยู่ใน list ของยูนิเซฟ ซึ่งองค์การอนามัยโลกรับรอง คือ Standard Q และ Abbott โดยเสนอว่าหากจัดซื้อในปริมาณมาก ๆ ราคาอยู่ที่ราวชุดละ 120-140 บาทเท่านั้น 

ข้อเสนอของแพทย์ชนบทก็ถูกเสนอเข้าบอร์ดสปสช. ทันที และมีมติให้โรงพยาบาลราชวิถีไปจัดซื้อ ATK ผ่านองค์การเภสัชกรรมจำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อความรอบคอบ สปสช.จึงแนบข้อเสนอไปด้วยว่าควรไปซื้อยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ราคาไม่แพงเกินไป และผลการตรวจน่าเชื่อถือ

องค์การเภสัชกรรมที่เป็นเจ้าภาพในการจัดหา จึงได้ทำการจัดซื้อตามระเบียบทุกอย่าง คือ ต้อง “ยื่นซอง” ประกวดราคา โดยเชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองจากอย. มาเสนอราคาจำนวน 19 บริษัท แต่ยื่นประมูลจริง ๆ 16 บริษัท และจะต้องดำเนินการเสร็จภายในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

ในที่สุดเมื่อเปิดซองราคา ผลการประมูลได้ชุดตรวจจากบริษัท LEPU จากจีน ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และไม่ผ่านการรับรองจาก FDA สหรัฐฯ โดยทาง FDA สหรัฐฯ ได้เก็บสินค้านี้ออกจากตลาดก่อนหน้านี้ซึ่งต่อมามีข่าวว่าประเทศฟิลิปปินส์ก็ยกเลิกซื้อ

ยิ่งเข้าไปดูเนื้อในบริษัทที่ประมูลได้ ดูผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี มีรายได้แค่ไม่กี่พันบาท บางปีก็ไม่มีรายได้ เป็นงบการเงินที่ดูแปลก ๆ เมื่อดูราคาของชุดตรวจ LEPU เสนอชุดละ 70 บาท ต่ำกว่าอีกเจ้า ชุดละราว 2 บาทเท่านั้น 

ขณะที่อย. ได้ชี้แจงว่า ชุดตรวจ LEPU ได้คุณภาพ พิจารณาแล้ว ได้มาตรฐานสากลแน่นอน ทั้งจากผลทดสอบเชิงห้องปฏิบัติการ และการติดตามผลหลังจำหน่าย อีกทั้งขั้นตอนการจัดซื้อได้ทำตามกฎหมาย สามารถประหยัดเงินรัฐได้กว่า 400 ล้านบาท โดยประมูลในราคาต่ำสุด 595 ล้านบาทจากวงเงินที่สปสช.ตั้งไว้ 1,014 ล้านบาท แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ก็ยังดังขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดองค์การเภสัชฯ จึงต้อง “ชะลอ” การทำสัญญาจัดหาชุดตรวจไว้ก่อน 

ในฟากชมรมแพทย์ชนบทก็ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรียกร้องให้ 4 หน่วยงาน อภ. อย. โรงพยาบาลราชวิถี และกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบ หากมีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่มาตรฐานยังเป็นข้อกังขา พร้อมเปิดเผย ราคาขายส่งของ ATK ยี่ห้อ LEPU ตามที่บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ชนะการประมูลด้วยสินค้า LEPU ราคา 70 บาทนั้น โดยอ้างว่าได้ของถูกนั้น แต่ในความเป็นจริงพบว่า ราคาขายส่งของ ATK ยี่ห้อ LEPU อยู่ที่ 1 USD หรือไม่เกิน 35 บาทเท่านั้น

ถัดมาไม่กี่วัน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้เผยแพร่เอกสารต่อสื่อมวลชน ว่า บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) เป็นตัวแทนจำหน่าย ชุดตรวจโควิด ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์ฯ และเป็นผู้นำชุดตรวจ ATK เข้าประมูลในโครงการพิเศษของสปสช. ครั้งนี้ ซึ่งบริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) นั้นเป็นบริษัทที่ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ค่อนข้างดี แต่ก็มีคนสงสัยว่าเข้าสู่วงการนี้ได้อย่างไร

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนถึงการทำงานขององค์กรรัฐไม่โปร่งใส ไม่เปิดให้คนทั่วไปรับรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริง และ “ติดกับดักราคา” คือ เน้นราคาถูก (ทั้งที่มีข้อสงสัยว่าถูกจริงหรือไม่) โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ทั้งที่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน ซึ่งควรจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว มากกว่ายึดราคาถูกเป็นสรณะ

คงต้องจับตาดูว่า “หมอในกระทรวง” จะเดินหน้าต่ออย่างไร “หมอชนบท” จะเดินหน้าชนแบบไหน … เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ทวี มีเงิผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ