TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewจาก Krungthai Innovation Lab สู่ อินฟินิธัส (Infinitas)

จาก Krungthai Innovation Lab สู่ อินฟินิธัส (Infinitas)

ที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทของทีมเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ​ Krungthai Innovation Lab ของ ธนาคารกรุงไทย ในโครงการภาครัฐหลายโครงการมาก ตั้งแต่ “ชิมช้อปใช้” “เราไม่ทิ้งกัน” “เราเที่ยวด้วยกัน” จนมาถึง “คนละครึ่ง”

ปีกว่าที่ผ่านมา Krungthai Innovation Lab ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นทีมงานที่มีประสบการณ์การสร้างแพลตฟอร์มที่รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก และหลายโครงการประสบความสำเร็จค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “คนละครึ่ง” มีการใช้งานต่อวันสูงมาก ซึ่งคิดว่านโยบายที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนและเป็นนโยบายที่เรียกว่า Co-Pay เป็นโครงการที่ได้ประโยชน์มาก ๆ ร้านค้าที่ร่วมโครงการชอบโครงการนี้ และอยากให้ภาครัฐยืดโครงการไปอีก

ล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้ Spin-off ทีม Krungthai Innovation Lab ออกมาเป็นบริษัทลูกชื่อ อินฟินิธัส (Infinitas) ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้แพลตฟอร์มที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว ขยายวงให้ใหญ่ขึ้น ขยายบริการให้หลากหลายมากขึ้น และนำไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งที่ทำมา ประสบการณ์ และทีมงานที่สร้างขึ้นมามีความสามารถเพียงพอที่จะสร้างแพลตฟอร์มเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้

สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องออกแบบพอสมควรเพื่อให้ไปสู่โลกของดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ การออกแบบตรงนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ระดับแพลตฟอร์ม และระดับระบบนิเวศ

3 โครงสร้างพื้นฐาน

ระดับโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีองค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ Digital ID, Digital Currency และ Digital Paper ซึ่ง Digital ID จะเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกรรมหรือรู้จักตัวตนของลูกค้าที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนเลย โดยไม่ต้องให้มาให้เห็นหน้าแต่สามารถที่จะรู้จักตัวตนของเขา รู้จักหน้าตา และรู้ว่าเขาเป็นใครผ่านโลกดิจิทัลได้

ข้อดีของ Digital ID คือ ช่วยทำให้การเติบโตของธุรกรรมที่เป็นธุรกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศไทย หรือออกนอกประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายขึ้น และทำให้บริษัทเล็ก ๆ ที่มีความคิดดี ๆ มีบริการดี ๆ สามารถเติบโตได้ง่ายขึ้น

ส่วน Digital Currency จะเห็นได้ว่าหลายประเทศให้ความสำคัญ อาทิ จีนมีดิจิทัลหยวน ทดลองมาแล้วเกือบปี ส่วน Facebook มี Libra ที่เริ่มต้นจะทำเป็น Global Currency แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น Currency แต่ละประเทศ 3-4 Currency หลัก

หาก Digital Currency ในแต่ละประเทศเกิดขึ้นมา ประเทศไทยเองก็ควรจะต้องมี Digital Currency เพื่อให้สามารถยึดโยงกับคนไทยว่า ไม่จำเป็นต้องไปเปิดกระเป๋า Digital Currency ของประเทศอื่น เพราะไทยมี Digital Currency ของตัวเอง และสามารถแลกเปลี่ยนกับ Digital Currency ของประเทศอื่นได้

การมี Digital Currency ของตัวเอง ทำให้ประเทศไทยสามรถเชื่อมต่อกับ Digital Currency ของประเทศอื่นได้ สามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น

สำหรับ Digital Paper จะทำให้ประเทศไทยสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้โดยลดขั้นตอน ลดระเบียบ ลดวิธีการ ลดลายเซ็นต์ที่ต้องเซ็นต์ด้วยมือ ลดเอกสารที่จะต้องส่งไปมา ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายต่างจากวิธีการแบบเดิมเป็นหลายสิบเท่า

4 แพลตฟอร์ม

ขั้นที่ 2 คือ เรื่องของแพลตฟอร์ม จะต้องมีแพลตฟอร์มอย่างไรที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้ที่เป็นลูกค้าและผู้ใช้ที่เป็นพันธมิตร และผู้ที่จะมาร่วมอยู่ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มที่มองตอนนี้มี 4 แพลตฟอร์มหลัก

แพลตฟอร์มแรก คือ Digital Asset ซึ่งมีการทดลองทำโครงการคล้าย ๆ การซื้อขาย Digital Asset ผ่านพันธบัตรรัฐบาลที่เรียกว่า “1 Baht Bond” ผ่าน Wallet ที่ชื่อ สบม. วอลเล็ต

แพลตฟอร์มที่ 2 คือ Digital Commerce ซึ่งกำลังเริ่มทำอยู่ คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ให้มีการซื้อขายกันได้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรง ผู้ขายเป็นใครก็ได้ อาทิ เอสเอ็มอี โอท็อป สามารถนำสินค้าเข้ามาขายใน Digital Commerce ได้ และในอนาคต Digital Commerce น่าจะสามารถขยายให้ออกไปนอกประเทศไทยได้ ไปสู่ประเทศข้างเคียง คือ ลาว เขมร เวียดนาม เมียนมา ถ้าระบบขนส่งดีพอและ Digital Currency ไปถึงได้ การที่จะทำ Digital Commerce ให้ข้ามประเทศจะเป็นเรื่องที่เหมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน

แพลตฟอร์มที่ 3 คือ SME Platform คือ การเอื้อประโยชน์ให้เอสเอ็มอี โดยที่เอสเอ็มอีไม่ต้องทำระบบของตัวเอง สามารถมาใช้ระบบของอินฟินิธัสและต่อยอดเพื่อให้บริการลูกค้าเขาโดยที่ไม่ต้องการกังวลกับระบบหลังบ้าน

แพลตฟอร์มที่ 4 คือ Government Services ซึ่งทำอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมาในโครงการหลาย ๆ โครงการของรัฐบาล แต่อยากจะขยายมากขึ้นให้ครอบคลุมบริการต่าง ๆ ของภาครัฐที่จะทำให้ภาครัฐเป็น Digital Government มากขึ้น

ระบบนิเวศ (Ecosystem)

ระดับบนสุดเรียกว่า ระบบนิเวศ​ (Ecosystem Layer) ซึ่งหากมองในทางเทคนิค คือ อยากทำบริการต่าง ๆ ที่ทำบนแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น Open API ที่ให้คนนอกเข้ามาเรียกใช้ได้ อาจจะเป็นบริษัทเล็ก ๆ สตาร์ตอัพ หรือลูกค้าของธนาคารเข้ามาใช้บริการผ่านทง Open API นี้ได้

“ทั้ง 3 ส่วน ถ้าประกอบกันได้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้สมบูรณ์มากขึ้น และเชื่อว่าถ้าร่วมมือกันประเทศไทยจะสามารถที่จะนำเศรษฐกิจดิจิทัลออกไปสู่ภูมิภาคใกล้เคียงได้”

“ที่สำคัญ คือ อยากเห็นสตร์ตอัพในประเทศไทยไปถึงจุดที่เรียกว่า เป็นยูนิคอร์นได้ ถ้าร่วมมือกันจริง ๆ มีความเชื่อมาก ๆ ว่า คนไทยเก่งพอที่จะไปถึงจุดที่เรียกว่า ยูนิคอร์นได้”

สร้าง Impact ใน 2 ปี

หลายเรื่องมีความพร้อม หลายเรื่องต้องต่อยอดไปเรื่อย ๆ จากสิ่งที่ทำเป็นลำดับชั้น ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่อง Digital ID และ Digital Currency คิดว่าไทยมีความพร้อมมากกว่า 70% เพราะว่าระบบที่ทำสามารถต่อยอดอีกไม่มากเพื่อที่จะทำ Digital ID และ Digital Currency ได้

“แต่ว่าการจะทำตรงนี้ได้สำเร็จต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงาน อยู่ในระหว่างที่พูดคุยกัน”

ส่วน Digital Paper คิดว่าทางเทคนิคทำได้ แต่ในทางความคิด (Mindset) ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องใช้เวลาคุยกับหน่วยงานที่เห็นความสำคัญและทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ตรงนั้นคิดว่าอาจจะใช้เวลามากพอสมควร

สำหรับแพลตฟอร์มด้าน Digital Asset คิดว่ามีความพร้อม 80% สามารถต่อยอดไป Digital Asset ประเทศต่าง ๆ ได้ ส่วนแพลตฟอร์ม Digital Commerce เริ่มต้นทำแล้ว คิดว่าต้นปี 2564 จะสามารถเริ่มเปิดตัวได้ ความพร้อมจะสมบูรณ์มากขึ้นภายในสิ้นปี 2564

ส่วนเรื่องของแพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีกำลังหาพันธมิตรมาทำร่วมกัน ส่วน Government Services คงต้องต่อยอดไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะหน่วยงานภาครัฐเยอะมาก และต้องคุยกับหลายหน่วยงานเพื่อให้มาร่วมมือกัน ส่วนเรื่องระบบนิเวศ เริ่มพยายามนำบริการออกมาเป็น Open API ปี 2564 คงได้เห็นผลมากขึ้น

“ด้วยความที่เป็น Open API ใครก็ได้มาต่อเชื่อมกับแพลตฟอร์มของอินฟินิธัสแล้วสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานได้จริง ๆ ไม่ใช่ให้เขียนโปรแกรมมาทดลองต่อเชื่อมเล่น ๆ เชื่อว่าถ้าเป็นบริการที่เกิดประโยชน์กับคนไทย เกิดประโยชน์กับธุรกรรมด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็ยินดีที่จะร่วมมือด้วย”

พันธกิจและภารกิจเหล่านี้ทั้งหมดขับเคลื่อนโดยอินฟินิธัส

ขยายทีมและพันธมิตร

ทีมที่สร้างมาตั้งแต่ตอนที่เป็น ​Krungthai Innovation Lab มีทีมที่เก่งระดับระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Data Science หรือเทคโนโลยีที่ใช้บนมือถือ จะเห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะอยู่ “เป๋าตัง”​ “ถุงเงิน” หรือ “Krungthai NEXT” ที่เพิ่งเปิดตัวตัวใหม่มา และเรื่อง Business Innovation ซึ่งทีมเทคโนโลยีกับทีมธุรกิจทำงานสอดคล้องกันได้ดีเหมือนเป็นทีมเดียวกัน

“มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว เริ่มเติบโตเห็นผล แต่ยังต้องการคนอีกมากพอสมควรที่อยากจะมาทำภารกิจนี้ร่วมกันให้สำเร็จ อาจจะมาร่วมทำที่อินฟินิธัส หรือมีบริษัทของตัวเอง มีสตาร์ตอัพของตัวเอง คิดว่าภารกิจนี้อยากจะร่วมการเดินทางด้วยก็สามารถมาพูดคุยกันได้”

“หรือคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ทำงานอยู่ที่ Silicon Valley อยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นคนไทยเก่ง ๆ ถ้าใครอยากกลับมา ก็มาลองคุยกันดู หรือใครคิดว่าอยากทำงานอยู่ต่างประเทศ แต่ยังพอมีเวลาและอยากช่วยเหลือ อยากร่วมงานในบางส่วน เราก็ยินดี เพราะการเป็นอินฟินิธัส เรามีความยืดหยุ่นมากพอสมควรในการร่วมงานกับส่วนต่าง ๆ”

อินฟินิธัสอยากให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอินโดจีน อยากทำให้เศรษฐกิจอของภูมิภาคอินโดจีนเติบโตสูงขึ้นทำให้การเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และไม่มีพรมแดน

สร้างแรงจูงใจให้ Talent มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระดับประเทศ จะช่วยประเทศได้ค่อนข้างมาก เพราะโครงการเกี่ยวกับภาครัฐ​หลายโครงการ การที่จะช่วยโครงการเกี่ยวกับภาครัฐ​และโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเข้าสู่โลกดิจิทัล จะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปแข่งขันในโลกอนาคตได้

“เพราะถ้าเราไม่ทำตรงนี้ จะเห็นว่าทุกคนก็แยก ๆ กันอยู่ ทำส่วนของตัวเอง แต่ว่าไม่สามารถรมารวมกันทำเรื่องใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถทำเรื่องใหญ่ ๆ ได้ ไม่สามารถมีแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ประเทศไทยจะถูกกลืนโดยแพลตฟอร์มใหญ่ของประเทศอื่น และจะถูกกลืนไปอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และแม้กระทั่งการเมือง”

พันธกิจของอินฟินิธัส

พันธกิจของอินฟินิธัส คือ การสร้าง Thailand Digital Economy Platform ซึ่งจะเริ่มเห็นผลของแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่ปี 2564 และภายใน 2 ปีจะต้องเห็นผล ถ้าแผนที่วางไว้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ จากพันธมิตรต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมทำงานด้วย

“มาช่วยดูเรื่องแพลตฟอร์ม ไอเดียว่าจะเดินอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีที่ใช้ สถาปัตยกรรมที่ออกแบบมา แพลตฟอร์มที่ทำ เกิดประโยชน์จริง”

เทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ประเด็นใหญ่ คือ การออกแบบให้เทคโนโลยีทำงานได้ดี ออกแบบให้เทคโนโลยีเอื้อกับบริการใหม่ ๆ ให้เทคโนโลยีไปช่วยเหลือคน ประชาชนน เอสเอ็มอี ถ้าไม่ช่วยเหลือคนตัวเล็ก ๆ เชื่อว่าประเทศจะเดินหน้าลำบาก

ไอเดียในการออกแบบสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยทำ ที่ผ่านมาทีมก็ทำกันอยู่แล้ว การออกแบบเป็นเรื่องท้าทายที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

แต่เรื่องที่จะต้องสร้างพลัง สร้างความร่วมมือ สร้างการสนับสนุน จากระบบนิเวศ และจากคนรอบข้าง สิ่งนี้ยากและท้าทายกว่า

กลยุทธ์ในการดึงดูดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พันธมิตรทั้งหลายมาร่วมมือกับอินฟินิธ้ส คือ ต้องทำให้เขาเห็นว่าภารกิจและพันธกิจที่ทำอยู่ เขาสนใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าไหม

“อยากเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ประเทศมีอนาคตที่แข่งขันได้ไหม และสนใจในแนวทางที่อินฟินิธัสทำไหม ถ้าเขาเชื่อแบบนั้น และสนใจในแนวทางแบบนี้ แล้วมาร่วมมือกัน มาเสริมพลังกัน คิดว่ามีหลายคนที่อาจจะสนใจ”

ความร่วมมือนี้นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในส่วนต่าง ๆ ในภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ รายที่มีความคิด มีไอเดีย แต่อาจจะไม่มีทรัพยากรมากพอ หรืออาจจะไม่มีกำลังที่จะไปสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง หรือมีไอเดียสร้างบริการแล้ว แต่ขาดความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากตรงนี้ อินฟินิธัสสามารถช่วยได้

“อินฟินิธัส เป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนมาร่วมมือกัน บางเรื่องอาจจะเป็นพี่เลี้ยงได้ บางเรื่องอาจจะเป็นพี่เลี้ยงไม่ได้ บางเรื่องเขาเก่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยพี่เลี้ยง แต่ว่าเขาต้องการแพลตฟอร์ม การ Springboard ที่เขาจะสามารถกระโดดได้สูงขึ้น

อินฟินิธัสจะเป็น Springboard และเป็นแพลตฟอร์มให้กับเขา

หน่วยงานหลัก ๆ มีทีมเทคโนโลยี ทีมด้านธุรกิจ และทีมที่คิดโลกอนาคต ภายใต้อินฟินิธัสมีหน่วยงานที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ และทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ มีคุณสมโภชน์ (จันทร์สมบูรณ์) มาช่วย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและสายสัมพันธ์ที่ดีกับสตาร์ตอัพ

“หวังว่าสิ่งที่คุณสมโภชน์มีกับสิ่งที่อินฟินิธัสมี ผนวกเป็นทีมเดียวกัน จะสร้างความแข็งแรงในการที่จะเชื่อมต่อกับสตาร์ตอัพ และในการดึงดูดสตาร์ตอัพมาทำงานร่วมกับเรา”

เชื่อว่าบริษัทนี้มีความตั้งใจที่ดีมากที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าแบบมีอนาคต ก้าวไปสู่โลกของดิจิทัลแบบสมบูรณ์มากขึ้น และเชื่อว่าด้วยสิ่งที่คิด ออกแบบ พันธกิจที่อยากทำ ภายใน 2-3 ปี ถ้าทำได้สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นแนวหน้าของโลกยุคดิจิทัล

“ชีวิตผมไม่ได้ทำงานก็อยู่ได้ เพราะผมเกษียณแล้ว แต่ที่อยากทำตรงนี้ เพราะเห็นพลังของน้อง ๆ หลายคน ที่อยากทำเรื่องดี ๆ ให้เกิดขึ้น เห็นความตั้งใจที่ดีของผู้บริหารหลายคน ทั้งของกรุงไทย อินฟินิธ้ส และจากภาครัฐ และราชการ ที่มีความตั้งใจ การที่แยกออกมาเป็นอินฟินิธัส สามารถช่วยทะลุข้อจำกัดของราชการได้ การที่เด็กทำงานแล้วมีผู้ใหญ่เข้าไปช่วยดู เขาก็อุ่นใจมากขึ้น ผมก็สร้างความอุ่นใจให้เขาเท่านั้นเอง”​

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ