TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBook Reviewเสน่ห์งานเขียนที่ยืนยงของ "ไมเคิล ไครช์ตัน"

เสน่ห์งานเขียนที่ยืนยงของ “ไมเคิล ไครช์ตัน”

ในบรรดานักเขียนนวนิยายที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ต้องขอยกนิ้วให้ “ไมเคิล ไครชตัน” นักเขียนสัญชาติอเมริกัน

ผลงานของเขาเกือบทุกเล่มสอดแทรกไปด้วยความรู้ใหม่ ๆ บางอย่างแบบเหลือเชื่อ แต่เขาเขียนชัดจนเราเชื่อว่าเป็นจริง ทุกตัวอักษรให้ความตื่นเต้นน่าติดตามว่ามันจะพาไปสู่อะไร

ผู้รีวิวมารู้จักผลงานเขาตอนชีวิตนักเขียนพุ่งสู่จุดสูงสุด นั่นคือ ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ที่มาจากหนังสือของเขาจะเข้าโรงในปี 1990 หนังสือเล่มหนาเตอะ แต่ทำให้เราใช้เวลาหลังเลิกงานอ่านจบได้ใน 3 วัน เพื่อติดตามเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ในการโคลนไดโนเสาร์จากเลือดไดโนที่ถูกเก็บไว้ในอำพันมาหลายสิบล้านปี จนได้ไดโนเสาร์หลายพันธุ์หลายร้อยตัวที่ใช้ชีวิตอิสระภายในรั้วไฟฟ้าบนเกาะแห่งหนึ่งกลางมหาสมุทร

จากเรื่องนี้ทำให้เกิดการค้นหาว่าไครช์ตันเคยเขียนเรื่องอะไรมาก่อนหน้านี้ และเกิดการตามหาหนังสือพวกนั้นมาอ่าน

Congo คือ เล่มที่ 2 ซึ่งก็ไม่ผิดหวังกับเรื่องราวของกอริลล่าพูดได้ชื่อเอมี่ เอมี่พูดโดยใช้ภาษามือโดยมีถุงมือที่แปลภาษามือออกมาเป็นเสียงดิจิตัล การตามหาเพชรในป่าลึก และกอริลล่าสีเทาที่เฝ้าระวังเหมืองเพชรในเมือง Zinj ที่สาปสูญ

ตอนอ่านน้ำตาซึมหลายรอบ ซาบซึ้งกับความสัมพันธ์ของเอมี่กับปีเตอร์นักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลเธอ ภาพยนตร์จากนิยายเรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 1995 และบันดาลใจให้นักประดิษฐ์สร้างถุงมือแบบนี้ขึ้นมา

Disclosure (1994) คือ เล่มที่อ่านต่อมา เรื่องราวของการลวนลามทางเพศของคนในที่ทำงาน แต่ที่น่าสนใจคือคนที่ถูกกระทำคือฝ่ายชาย และเคสนี้เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการและการเขี่ยคนออก การดำเนินเรื่องเร้าใจเพราะมีการหักมุมไปมา ภาพยนตร์จากนิยายเรื่องนี้ออกฉายปลายปี 1994 นำแสดงโดย Michael Douglas และ Demi Moore สนุกไม่แพ้หนังสือ ทำให้ภาพยนตร์งบ $51 ล้านเหรียญได้เงินไปกว่า $200 ล้าน

และแล้วก็เกิดการตามล่าเล่มเก่า ๆ และติดตามเล่มใหม่ที่ไครช์ตันเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง พูดได้ว่าอ่านทุกเล่มที่เขาเขียนในชื่อตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อในการติดตาม เพราะไครช์ตันไม่ใช้พล็อตซ้ำ

เช่น Prey ตีพิมพ์ในปี 2002 ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีนาโน ที่ตอนนั้นยังใหม่มาก ๆ เพราะเขาสนใจว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนโลกไปอย่างไร เพราะตอนที่เขียนก็มีบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตกระจกที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ในนิยายเขาวาดภาพนักวิทยาศาสตร์ที่ผลิตหุ่นยนต์นาโนที่สามารถเรียนรู้ (AI) ออกลูกออกหลานได้ และโปรแกรมมาให้เป็นนักฆ่า มันสามารถเข้าไปในร่างกายคนและตัดเส้นเลือดขาดได้โดยที่เราไม่รู้สาเหตุ แต่นักฆ่าที่เรามองไม่เห็นหลุดออกไปจากห้องทดลอง และนักวิทยาศาสตร์พวกนี้ต้องหยุดมัน

Sphere (1987) เรื่องราวของวัตถุนอกโลกที่ตกลงไปก้นมหาสมุทร กลุ่มนักวิทยาศาสตร์หลายแขนงได้ลงไปสำรวจเพื่อที่จะพบว่าวัตถุกลมใหญ่ชิ้นนี้สามารถทำให้สิ่งที่เราคิดเกิดขึ้นได้จริง ไครช์ตันเขียนเรื่องนี้จากหลักจิตวิทยา และสรุปเรื่องได้น่ากลัวมากว่ามนุษย์บนโลกไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรจากมัน (เพราะในใจทุกคนมีแต่ความกลัว)

Next (2006) หนังสือเล่มสุดท้ายที่ตีพิมพ์ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพันธุกรรม (genome) ไครช์ตันได้แนวคิดเรื่องนี้มาจากการไปนั่งฟังสัมมนา และเขียนหนังสือแนวประชดประชันนี้ขึ้นมาจากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องของแฟรงก์ที่เข้ารับการทดลองรักษาลิวคีเมียที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจนหาย ต่อมามหาวิทยาลัยขายเซลล์เขาให้บริษัทที่ทำวิจัยด้านพันธุกรรม แฟรงก์ไม่ยอมแต่ตามกฎหมายสหรัฐ ถือว่าเซลล์ของเขาตายแล้ว ไม่ใช่กรรมสิทธิของเขาอีกต่อไป อีกเรื่องคือ การฉีดดีเอ็นเอมนุษย์ให้ชิมแปนซีและนกแก้ว ลิงพูดได้ นกแก้วจดจำเรื่องราวได้ ไครช์ตันเชื่อมสามส่วนเข้าด้วยกัน ถ้าคิดว่าเป็นนิยายก็จะเป็นนิยายที่ไม่ค่อยสนุก แต่ถ้าคิดว่าถ้าเป็นเรื่องจริง เราก็คงสยองนิดหน่อยว่าโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร

Micro (2011) เรื่องนี้ไครช์ตันเขียนยังไม่จบเพราะเสียชีวิตก่อน มีคนมาเขียนให้ต่อจนจบ จาก Jurassic Park ที่มีไดโนเสาร์ตัวใหญ่ ๆ เรื่องนี้ว่าด้วยหนุ่มสาว 5 คนได้ไปทำงานกับบริษัทไบโอเทคที่เกาะฮาวาย และกลายเป็นมนุษย์จิ๋วที่ต้องเอาตัวรอดจากสรรพสัตว์ที่มนุษย์คิดว่าเล็กแต่กลายเป็นเหมือนยักษ์สำหรับมนุษย์จิ๋ว ไครช์ตันเขียนไว้บนเว็บไซต์ทางการของเขา (www.michaelcrichton.net) ว่า

“ผมไม่รู้ว่าทำไมถึงทำโน่นนี่และไม่พยายามจะไล่เรียงตรงนี้เท่าไหร่ เท่าที่รู้ คือ ผมพยายามทำอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก คือ พยายามไขปัญหาในการเขียนอธิบายเรื่องราว (เช่น ทำยังไงให้คนเชื่อเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ แม้จะแค่ 2-3 ชั่วโมง) อีกอย่าง คือ พยายามเข้าใจปัญหาในโลกความเป็นจริง (ความสัมพันธ์ของคนลวนลามและเหยื่อในคดีลวนลามทางเพศ) ภายใต้ความพยายามนั้นผมอาจจะเขียนหนังสือได้ซักเล่มหรือบทภาพยนตร์ได้ซักเรื่อง”

ไครช์ตันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และได้ปริญญาเอกทางด้านการแพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ไครช์ตันสนใจงานเขียนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา

โดยผลงานนวนิยายเรื่องแรก ดิ แอนโดรเมดา สเตรน (The Andromeda Strain) ของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่เขาเรียนจบจากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (1969) และในภายหลังเขาก็ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มตัว หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากถึง 36 ภาษา และพิมพ์มากกว่า 150 ล้านเล่ม รวมถึงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์กว่า 13 เรื่องด้วยกัน

ไครช์ตัน ในวัย 66 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2551 (2008)

ลองหาหนังสือเขามาอ่านกันนะคะ แม้จะพิมพ์นานแล้ว แต่ไอเดียเขาและสไตล์การเขียนที่เหมือนเขียนบทภาพยนตร์ น่าจะทำให้สนุกและตื่นเต้นได้เหมือนเคย … RIP

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

The Maestra DominaUltima ซีรีส์อาชญากรรมในวงการศิลปะของ LS Hilton

คุณอยากทำอะไร? เมื่อรู้ว่าเวลาของคุณกำลังจะหมดไป…

Mortality …. มะเร็งระยะสุดท้ายแบบไม่เสียน้ำตา

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ