TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessดีป้า ผนึกกลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เสนอมุมมอง ดันไทยเป็นมหาอำนาจด้าน Soft Power

ดีป้า ผนึกกลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เสนอมุมมอง ดันไทยเป็นมหาอำนาจด้าน Soft Power

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจข้อมูลการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี 2565 จับมือกลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ จัดเสวนาในหัวข้อ “การผลักดันประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจด้าน Soft Power ด้วยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์”

ภายในงาน มีสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) ผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) และ บริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด ร่วมเสนอมุมมองต่อความเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทย

กฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์กลับมาสู่ภาวะปกติ เนื่องจากในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ที่จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในทางที่แตกต่างกัน ในช่วงโควิด อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 30% แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ คนกลับไปทำงานมากขึ้นก็ส่งผลให้จำนวนคนเล่นเกมลดน้อยลง ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมลดลง แต่ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไปที่กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ แอนิเมชัน หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็เริ่มกลับมามีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น และจะยังคงเติบโตไปเรื่อย ๆ

ส่วนเรื่องของ Soft Power ต้องเริ่มจากการทำอุตสาหกรรมคอนเทนต์ด้านความบันเทิงให้แข็งแรง เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมด้านบันเทิงของไทยยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้น จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากภาครัฐ เพื่อมาสร้างเสริมด้าน Soft Power ให้กับประเทศไทย

ดีป้า ผนึกกลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เสนอมุมมอง ดันไทย เป็นมหาอำนาจด้าน Soft Power

สุมิตร สีมากุล นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กล่าวว่า ในช่วง Covid-19 อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ต่ำลง แต่ในทางกลับกันมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาทดแทนมากขึ้น ทำให้หลังจบสถานการณ์ Covid-19 ถึงแม้ทางอุตสาหกรรมเกมจะลดลง แต่ในอุตสาหกรรมอื่นๆจะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติบวกกับได้แพลตฟอร์มที่เพิ่มมากขึ้น มีช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสในการเติบโต นอกจากนี้ ธุรกิจด้านดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยยังมีขนาดค่อนข้างเล็กอยู่และมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก

“ดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวแอนิเมชัน, คาแรคเตอร์, เกม หรือสื่อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการผลักดัน Soft Power ภายใต้ความคิดของทางองค์กรว่าจะสามารถนำมาใช้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้คนเห็นผลผลิตของประเทศไทยเยอะขึ้น”

สันติ เลาหบูรณะกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิธิตา แอนิเมชัน จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้านความบันเทิง และรอบตัวเรามีการพัฒนาของ device เยอะมาก ดังนั้น device หรือมีเดียที่ทันสมัยขึ้น ก็ต้องการคอนเทนต์ที่แปลกใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตการบริโภคสื่อประเภท digital entertainment ไม่ว่าจะเป็น E-book, แอนิเมชัน, เกม ก็จะเติบโตขึ้นอีกมาก

อุตสาหกรรมบันเทิงมียอดสูง 3-4 หมื่นล้าน แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนของประเทศไทยกลับมีแค่ 2% ที่เหลือเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ หนัง ซีรี่ย์ต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตของประเทศไทยกลับมีสัดส่วนที่น้อยลง ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากในจุดนี้ ประเทศไทยยังถือว่าห่างไกลจากการเป็น Soft Power ประเทศไทยปล่อยเสรีด้านการนำเข้า แต่กลับไม่มีคนมาปกป้องหรือฟูมฟัก IP Owner ของไทย

สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยไปยึดติดกับ Soft Power เรื่องของมวยไทยมากเกินไป แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้ามีการเพิ่มปริมาณของสื่อ นิยาย ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้มากขึ้น หากสามารถรณรงค์หรือมีการจัดกิจกรรมที่จะเข้ามาทำให้เกิดปริมาณ Soft Power ที่หลากหลายมากขึ้น ความเติบโตและความสำเร็จของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ประเทศไทยก็จะตามมาเอง

กวิตา พุกสาย COO บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไม่มีวันตายแต่อยู่ที่ว่าจะสามารถเติบโตไปได้ในทิศทางไหน พอพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในช่วงโควิด ส่งผลให้เข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้มากขึ้น และอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เขาก็ทำได้ดีในส่วนนี้ ดังนั้น อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยก็ยังคงสามารถเติบโตขึ้นไปได้อีกเยอะ

แม้ว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในประเทศไทยจะยังสามารถเติบโตไปได้ แต่หากจะผลักดันให้ก้าวเข้าไปเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ก็อาจจำเป็นจะต้องเปลี่ยน mind set ของบุคคลที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ ทั้งคนทำงาน ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากและสำคัญที่สุด

และอย่างที่เห็นว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมแบบ Cycle ถ้าสามารถต่อ IP ให้เข้าด้วยกันแบบครบวงจรได้ ยังไงทุกฝ่ายที่เกี่ยวในอุตสาหกรรมก็จะเติบโตและประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ดีป้า ชี้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ขยายตัวต่อเนื่องถึงปี 68 แนะรัฐเร่งยกระดับฝีมือแรงงานทัดเทียมสากล

อุตสาหกรรมเกม ช้างใหญ่แห่งอุตสาหกรรมดิจิทัล ฉุดอัตราเติบโตต่ำลง 4%

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า เผยว่า จากผลการสำรวจของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยประจำปี 2565 มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ประมาณ 258 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านแอนิเมชัน, เกม, คาแรคเตอร์ และอีบุ๊ก และใน 258 บริษัทมีรายละเอียดของ Ecosystem ที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของอุตสาหกรรมย่อย โดยภาพรวมมูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2565 ที่ทางสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ร่วมกันตรวจสอบพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลงประมาณ 4%

จากการตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของอุตสาหกรรมเกม ในช่วงโควิดอุตสาหกรรมเกมเกิดการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในที่พัก ส่งผลให้มีจำนวนผู้เล่นเกมเพิ่มมากขึ้น แต่หลังกลับสู่สภาวะปกติประชาชนเริ่มออกจากที่พักอาศัยไปทำงานข้างนอกมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้เล่นเกมลดน้อยลง อุตสาหกรรมเกมจึงเกิดการหดตัวลง อีกทั้งอุตสาหกรรมเกมมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของมูลค่ารวมในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ส่งผลให้ตัวเลขลดลงอย่างกะทันหัน ในขณะที่ทางด้านของอุตสาหกรรมแอนิเมชันและอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ ยังคงอยู่ในเชิงบวก เมื่อนำไปเทียบกับตัวเลขประจำปี 2564

แต่ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง อุตสาหกรรมเกมยังคงมีโอกาสในการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยให้ประสบการณ์การเล่นเกมดีขึ้น ค่านิยมของการเล่นเกมที่เปลี่ยนจากการเล่นเพื่อความสนุก สู่การสร้างอาชีพใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐและเอกชนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาจากการขาดแคลนบุคลากรจากกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เงินลงทุน รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนของบรรดาผู้ประกอบการ ที่ส่งผลต่อการฉุดรั้งทางภาคอุตสาหกรรม  

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เคทีซี โชว์ ‘บัตรเครดิตโปร่งแสง’ ครั้งแรกในไทย ชู 3 จุดเด่น ‘ปลอดภัย – สบายใจ – รวดเร็ว’

“5 แสนล้านบาท”… ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ