TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistทางที่ต้องเลือก (ไหม?) เปิดประเทศภาย ใน 120 วัน

ทางที่ต้องเลือก (ไหม?) เปิดประเทศภาย ใน 120 วัน

วันนี้เดินมาถึงครึ่งทางที่นายกรัฐมนตรี มีดำริ “ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน” หากจำกันได้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2021 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

โดยหนึ่งใจความที่เป็นประเด็นร้อนแรงคงหนีไม่พ้น “ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายใน สำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ครับ”

โรดแมป ที่แถลงระบุชัดว่า หลังการเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนว่า หากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนตามแผนและฉีดเข็มแรกได้อย่างน้อย 50 ล้านคนหรือ 100 ล้านโดสในเดือนตุลาคม คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากร ถึงเวลาแล้วที่จะมองเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

จากวันนั้น (16 มิถุนายน) ถึงวันนี้ ไม่ต้องพูดถึงจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดต่อวันที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้น 10 เท่า จากตัวเลข 1,000 – 2,000 คนในวันนั้น วันนี้ 20,000 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 100-200 ศพ แถบทุกวัน ไม่นับรวมจำนวนผู้ที่นอนรักษาตัวที่บ้าน หรือผู้ที่ยังไม่ได้ตรวจ และไม่ทราบว่าตัวเองติดโควิดหรือไม่ 

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีคำสั่ง มาตรการคุมการระบาดโควิด-19 ที่ใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ พื้นที่ควบคุม  29 จังหวัด  ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมื่อถึงกำหนดสิ้นเดือนสิงหาคมจะมีการต่อมาตรการควบคุมหรือไม่ 

ในขณะที่จังหวัดนำร่องอย่างภูเก็ต ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เมื่อครบ 1 เดือนของการเปิดโครงการมีจำนวนมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ กระจายทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล ซึ่งเข้าข่ายของถูกระงับหรือยกเลิกโรงการได้

ส่วนตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนตั้งแต่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 พื้นที่ 77 จังหวัด มียอดสะสม จำนวน  24,101,631 โดส คิดเป็น 24.10% ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 58 วันที่เป็นกำหนดเปิดประเทศ หรือหากจะขยายระยะเวลาการฉีดไปจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2564 จะเห็นว่า เหลือเวลาเพียง 137 วัน แต่เหลือวัคซีนที่จะต้องฉีดให้ครบตามจำนวนอีกเยอะ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีวัคซีนมากเพียงพอที่จะฉีดประชาชนที่รอคอย

ในขณะที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยตัวเลขเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการสู้รบกับการแพร่ระบาดกับไวรัสโควิด–19 โดยระบุว่า พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปีพ.ศ. 2563 และได้ออกพรก.เงินกู้อีก  5 แสนล้านบาทในปพ.ศ. 2564 โดยมีแผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขในพรก.ทั้งสองฉบับ 6.4 หมื่นล้านบาทและ 3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีงบกลางในปีงบประมาณ 2564 อีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังพอมีเงินเหลือบางส่วน และยังจะมีงบกลางในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งสามารถใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีก พรก.เงินกู้ทั้งสองฉบับและงบกลางดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีเงินเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้อย่างน้อย 1.34 แสนล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับสู่ปกติหรือเกือบปกติโดยเร็ว

รัฐบาลควรใช้เงินดังกล่าวในการ “ลงทุน” ด้านสาธารณสุขใน 5 ด้าน ต่อไปนี้

1. ประเทศไทยควรเร่งลงทุนในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงโดยเร็วที่สุด และกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุดและโปร่งใส

2. ในระหว่างที่การจัดหาวัคซีนยังทำได้ช้า ควรลงทุนเพิ่มศักยภาพในการตรวจเชิงรุกขนานใหญ่ เพื่อกักตัวผู้ติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะลดความสูญเสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

3. กักแยกตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดและผู้ไร้บ้าน

4. เพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและครอบครัว

5. เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และในสถานที่แยกกักผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) 

หากนายกรัฐมนตรียังคงยืนยันปณิธานที่จะเปิดประเทศให้ได้ ตามที่เคยประกาศไว้ รัฐบาลควรจริงจังกับการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่านี้  จริงอยู่ว่าแม้ภาครัฐจะเตรียมการป้องกันรัดกุมเพียงใดก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาและจะสามารถเปิดประเทศได้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แล้วจึงค่อยมาคิดว่า ความเสี่ยงที่จะพบเจออยู่ในระดับที่พอจะรับได้ หากต้องเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ