TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewFutureTales Lab กับพันธกิจสร้างโลก ด้วยอนาคตศาสตร์

FutureTales Lab กับพันธกิจสร้างโลก ด้วยอนาคตศาสตร์

FutureTales Lab by MQDC เป็นศูนย์วิจัยด้านอนาคตศาสตร์ ที่มองไปในอนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรื่องราวของแนวคิดด้านอนาคตศาสตร์​ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และบริษัทแม่ ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น (DTGO)ให้ความสำคัญมานานหลายปีแล้ว

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เป้าหมายของ MQDC คือ การสร้างเมืองเพื่อความเป็นอยู่อาศัยที่ดีของคนทุกคน ซึ่งไม่ได้มองแค่คนเท่านั้น แต่มองทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิต มองทั้งระบบนิเวศ ดังนั้น การสร้างเมืองจึงเอาแนวคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) เป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่วิถีการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การพักผ่อน การเดินทาง และกระบวนการสร้างความยั่งยืนในอนาคต หรือที่เรียนกว่า Live, Work, Learn, Play, Move และ Sustain เป็นมิติที่มองไปถึงอนาคตว่า สิ่งที่คนต้องอยู่กับมัน มันคืออะไรบ้าง

“จากที่เราเคยต้องการอัปเดตการมองไปทีละ 10-20 ปีข้างหน้า ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร วันนี้จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ต้องเป็นหน้าที่อย่างจริงจังเป็นประจำของใครสักคน FutureTales Lab จึงก่อตั้งมาในแนวคิดแบบนี้”

การเปลี่ยนแปลงทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ มองด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก สิ่งแวดล้อม ระบบการเมือง รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึงความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตของคน ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ากว่าจะมาบอกได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการในอนาคตเป็นอย่างไร จะต้องมองในองค์รวมทั้งหมดที่อยู่รอบตัว

“สิ่งที่เราทำทุกวัน คือ Horizon Scanning คือ การตรวจสอบว่าในอนาคตจะมีอะไรบ้าง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย อาทิ Machine Learning เข้ามาดูกระบวนหน้าข่าว หรือ Invention รอบโลก ว่ามีสัญญาณอ่อน ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอะไรบ้าง

สัญญาณอ่อน ๆ (Weak Signal) สำคัญมากกับการคาดการณ์อนาคตว่า แล้วการเกิดแบบนี้ มันเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเราอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น 40% ของเด็กอายุไม่ถึง 4 ขวบ ใช้การสั่งด้วยเสียง (​Voice Command) ในการเสิร์จข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แม้ว่าสิ่งนี้ยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ถือว่าเป็นสัญญาณอ่อน ๆ ว่า กลุ่มคนที่อายุ 4 ขวบปัจจุบัน ในอีก 20 ปีข้างหน้าเขาจะมีมิติความคิดอย่างไร และจะต้องการอะไรมาเติมเต็มสิ่งที่เขาไม่ได้ (Unmeted need) ในอนาคต

เฟรมเวิร์คที่ใช้ในการจับสัญญาณอ่อน ๆ เหล่านี้ เรียกว่า STEEPV ​

  • S- Social สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป
  • T – Technology เทคโนโลยี
  • E – Environment สิ่งแวดล้อม
  • E- Economic เศรษฐกิจ
  • P -Politic การเมืองการปกครองของไทยของโลกรวมถึงภูมิรัฐศาสตร์
  • V – Value ความเชื่อ คุณค่า

FutureTales Lab มี Future Radars ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าโลกในวันนี้มีสัญญาณอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถามว่าเลือกอย่างไรกับสัญญาณอ่อน ๆ เหล่านี้ หลักการ คือ มีมากที่สุดคือดีที่สุด

แต่เมื่อต้อง Take Action หรือปรับเปลี่ยนออกมาเป็นแผนหรือยุทธศาสตร์องค์กร จะต้องมีการคัดเลือก ผ่าน 2 มิติ คือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิด ความแน่นอนของสิ่งนี้ที่จะเกิดขึ้น คืออะไร (บางอย่างแน่นอนที่จะเกิด แต่มันเกิดการแกว่งมากในกระบวนการที่จะเกิด) กับอีกหนึ่งมิติ คือ ผลกระทบของสิ่งที่จะเกิด หากสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไรได้บ้าง

ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสูง และมีผลกระทบสูง คือ สิ่งที่ FutureTales Lab ให้ความสำคัญก่อนเป็นลำดับแรก แต่สิ่งที่จะมีความเป็นไปได้ในการเกิดน้อย ผลกระทบก็น้อย สิ่งนี้เป็นเพียงแต่จ้องมองไว้จะกลับมาดูไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน

การดูเรื่องอนาคตศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี เป็นการอยากรู้ว่าการเติบโตหรือการพัฒนาที่อยู่ในห้องวิจัยต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังไปในทิศทางใด เรื่องเทคโนโลยี แม้ประเทศไทยอาจจะเป็นผู้ใช้มากกว่าผู้คิดค้น แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ใช้ธรรมดา แต่ควรเป็นผู้ใช้ที่ชาญฉลาด เอามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

“เทคโนโลยีไม่ได้เพียงแค่เทเลคอม หรือ 5G เท่านั้น แต่เรามองเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อาทิ Robotic และ Automation สิ่งนี้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตมหาศาล มองไปถึงการเติบโตของ Serviced Robot หุ่นยนต์ใช้ในงานบริการแทนที่คน การทำงานที่จะหลอมรวมสังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่จะมาตอบ Pain Point สำคัญ ๆ ของสังคมโลก เช่น สังคมผู้สูงอายุ หรือ ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น”

อาทิ การใช้เครื่องมือเครื่องจักรประกอบกับร่างกายคน ทำให้คนสามารถทำในสิ่งที่พลังร่างกายธรรมดาทำไม่ได้ เทคโนโลยีนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยที่ทหารอเมริกันเข้าไปรบ ทำอย่างไรให้ทหารเดินยาว เดินได้เร็ว ในที่ที่อากาศร้อนและแห้งในทะเลทราย เป็นต้น

เทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ FutureTales Lab ติดตามมาหลายปี วันนี้เริ่มเข้ามาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเอามาใช้ช่วยให้ผู้พิการสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานที่คิดว่าไม่น่าจะทำงานได้แล้ว ช่วยให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถทำงานหนัก ๆ ใหญ่ ๆ ได้ ถ้าเทคโนโลยีนี้เข้ามามีบทบาทจริง ๆ ในฐานะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร หากคนทั่วไปมีความเท่าที่เทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีจะดีมาก

“ในฐานะนักวิจัย ทุกครั้งที่เราวิจัย เราจะภูมิใจกับผลงาน และนั่งรอว่าใครจะเอาของเราไปใช้สักที แต่ที่นี่เติมเต็มความเนิร์ดของนักวิจัยมา เราวิจัย คิด และคุยกับทีม เราเห็นสิ่งที่เราคาดคิดได้รับการ Implement ทันทีในระดับโครงการของเรา เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจยิ่งกว่า เพราะ DTGO และ MQDC มองว่า ความรู้ของอนาคตไม่ใช่เรื่องของความลับทางการค้า ถ้ามีความตั้งใจจะสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน ที่อยู่ร่วมกัน องค์ความรู้นี้จะต้องถูกแชร์ และแบ่งปันให้ได้มากที่สุด เมื่อคิดแล้วต้องถูกนำไปใช้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีที่เห็นร่วมกัน

Extreme Scenario

การมองไปในปี 2050 ดร.การดี กล่าวว่า มองเห็นสถานการณ์สุดขั้ว (Extreme Scenario) แค่ 2 สถานการณ์เท่านั้นในโลก สถานการณ์แรก มนุษย์ยังอยู่บนโลกนี้ แต่บนวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้อยู่ในตึกอาคารแบบเดิม การเดินทางไม่ใช่ลักษณะเดิม

อาทิ หากมองกรุงเทพฯ จะเกิดอะไรได้บ้าง ตั้งแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปจนถึงการอยู่อย่างไรบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

FutureTales Lab เป็นศูนย์ที่ 2 ของ MQDC ศูนย์วิจัยแรกคือ Research Innovation for Sustainability Center (RISC) ซึ่งทำงานร่วมกัน FutureTales Lab ส่งสัญญาณแห่งอนาคต ทีม RISC จะทำนวัตกรรม

“ถ้าเรารู้แล้วว่าจะเกิด เรามีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองหรือป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทีม RISC ทำหอฟอกอากาศในระดับเมือง ซึ่งไม่เคยเป็น pain point ของเรามาก่อนใน 10 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าเราปิดแอร์ อยู่ในรถแล้วเราจะปลอดภัย แต่วันนี้เราพูดถึง PM2.5 ที่หนักขึ้น ยาวขึ้น แรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คิดและสานต่อจนเกิดเป็นนวัตกรรมจริงที่เกิดขึ้น”

สถานการณ์ที่ 2 คือ เกิดการอพยพขนาดใหญ่ (The Great Migration) อาจจะเป็นการอพยพจากถิ่นร้อนไปถิ่นหนาว จากตะวันตกไปตะวันออก จากประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ FutureTales Lab กำลังจับตามอง คือ การเกิด Space Migration หรือการย้ายถิ่นฐานของมนุษยชาติที่จะต้องไปหาที่อยู่ใหม่ มนุษย์อาจจะต้องหาโลกใบใหม่ (Alternative Earth) หรือการสร้างสถานีอวกาศ​ (Space Station) ซึ่งสองสิ่งนี้ FutureTales Lab ​ไม่มีหน้าที่จะบอกเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่มีหน้าที่เตรียมพร้อมว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีได้กับมนุษยชาติ ที่สำคัญคือ สร้างการเข้าถึงโอกาสการรอด โอกาสการสร้างชีวิตที่ดีให้กับทุกคน

“เมื่อเรามีความตั้งใจดีต่อการเป็นอยู่ร่วมกัน จึงมีพันธมิตรมาร่วมกันหลากหลาย เราเป็นศูนย์วิจัยแบบเปิด การทำงานของศูนย์ FutureTales Lab และ RISC เราจะไม่ทำคนเดียว ตัวอย่างเช่น วันนี้เรากำลังทำอนาคตศาสตร์ของกรุงเทพฯ ของย่านนี้ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานครสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และเอกชนอื่น ๆ เป็นต้น เรามีองค์ความรู้มากมาย ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก สตาร์ตอัพที่ทำเรื่องอวกาศก็มีไม่น้อย เราอยากเป็นตัวเชื่อมสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต”

เรื่องการมองคาดการณ์ไปในอนาคต กำลังคน กำลังสมอง มีเท่าใดก็ไม่พอ แต่โชคดีที่ไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว แต่มีการทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ตอนนี้มีทีมหลัก 7 คน แต่การทำงานผ่านเครือข่ายต่าง ๆ มีเป็น 100 คน

“เราจริงจังกับงานวิจัยมาก การที่เราเอาองค์ความรู้ที่อยู่ใน MQDC ทั้งหมด มาแปลงสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย อาทิ ​​​​Gamification ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะสิ่งที่เรารู้เรื่องการวางแผนชุมชนเมือง (Urban Planning) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การจัดการขยะที่มีผลต่ออนาคต เราไม่เคยแปลงตรงนั้นมาเป็นตัวเงิน แต่แปลงมาเป็นแพลตฟอร์มในการแชร์องค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด และหากเราสามารถสร้างอนาคตที่เราพึงประสงค์ได้จริง เงินที่ลงทุนไปนี้มันเล็กน้อยมาก”

ใครได้ประโยชน์จาก FutureTales Lab

คนที่จะได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของ FutureTales Lab คือ คนที่เกี่ยวข้องกับกาารพัฒนาเมือง พัฒนาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การออกแบบบริการเพื่ออนาคต การออกแบบพื้นที่ใหม่เพื่อชุมชน เป็นต้น ข้อมูลที่มีอยู่ในห้องวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

ดร.การดี กล่าวว่า อีกโครงการหนึ่งที่กำลังทำและเป็นความฝันมาก คือ ความพยายามพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าได้ ที่นอกเหนือสิ่งที่จะเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งโลก จากงานวิจัยที่ทำมาพบว่าหากสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในด้านหนึ่งของโลกจะส่งผลกระทบต่ออีกฟากหนึ่งของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

FutureTales Lab เริ่มจับรูปแบบของสัญญาณอ่อน ๆ ตรงนี้ได้ สิ่งที่พยายามทำ คือ พยายามทำนายวิกฤติสภาพอากาศให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยการจับข้อมูลที่สำคัญ คือ ข้อมูลทะเล แผ่นดิน อากาศ น้ำแข็ง (Sea-Air-Land-Ice) เพื่อที่จะดูรูปแบบว่าจะสามารถที่จะป้องกันล่วงหน้าในเรื่องของภัยพิบัติธรรมชาติได้อย่างไร เป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนุกมากและได้ขอความร่วมมือกับจากภาครัฐเช่นเดียวกัน

การทำวิจัยที่นี่มีหลายศาสตร์มาก ทั้งศาสตร์การคาดการณ์ล่วงหน้า การย่อยข้อมูลจำนวนมาก การคิดเชิงวิเคราะห์ไปข้างหน้า (Design Thinking) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists) ซึ่งทำงานร่วมกันสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันได้โดยมี FutureTales Lab เป็นจุดเชื่อมที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานเหล่านี้ขึ้นมา

เป้าหมายและความท้าทาย

เป้าหมายสูงสุด คือ การเปลี่ยนอนาคตให้ดีขึ้น ตอนนี้พอเห็นภาพว่าหากเดินทางแบบนี้ด้วยวิธีคิดและการตัดสินใจเชิงนโยบายแบบนี้ จะพบจุดจบอนาคตแบบไหน FutureTales Lab อยากเป็นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ว่า ไม่ต้องรอให้สิ่งนั้นมันเกิด แต่ถ้าเกิดจากการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

“เราอยากให้การคาดการณ์ของเราที่เกิดในแง่ทางลบผิดให้หมดเลย เราคาดการณ์หลากหลายของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งสถานการณ์ที่ดีที่สุดและแย่ที่สุด เรายอมเป็นคนที่คาดการณ์ผิดพลาดในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน ณ วันนี้”

ความท้าทาย คือ เรื่องของแพลตฟอร์มของข้อมูล อยากได้เพื่อน ข้อมูลจะมีมูลค่าและมีประโยชน์มากถ้าได้แบ่งปัน วันนี้หลายองค์กรเป็นเจ้าของข้อมูลแต่ไม่สามารถมาประกอบกันได้ ด้วยหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความลับทางการค้า หรือกฎหมาย แต่ถ้ามากำหนดด้วยกันว่าอยากจะแชร์ข้อมูลที่จะสามารถสร้างประโยชน์เพื่อการเห็นอนาคตของเมืองในอนาคตข้างหน้า

“อยากให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น วันนี้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อยากเปิดประตูตรงนี้ให้กว้างยิ่งขึ้น เรื่องของอนาคต แรกเริ่มอนาคตจะเกิดขึ้นในจินตนาการ ทั้งในจินตนาการและการวิเคราะห์ร่วมกัน ถ้าอนาคตที่ดีจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจของเรา ถ้าเห็นอนาคตแล้ว มีความตั้งใจแล้ว จะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นหน้าที่ของใครคนหนึ่งที่จะทำสิ่งนี้ให้มันเกิดขึ้น และเราขอเป็นคนนั้น” ดร.การดี กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ