TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“Character Building” ภารกิจหลักของครูปัจจุบัน

“Character Building” ภารกิจหลักของครูปัจจุบัน

หากพูดถึงสถาบันกวดวิชาที่เป็นบิ๊กโฟร์ของไทย คงไม่มีใครไม่นึกถึง “Enconcept” สถาบันสอนภาษาอังกฤษของบริษัท เอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่เปิดทั่วไทยถึง 27  สาขา ใน 22  จังหวัด ซึ่งมีให้เรียนตั้งแต่คอร์สเด็กระดับมัธยมและอุดมศึกษา โดยมีการขยายโรงเรียนในเครือเพื่อการสอนเฉพาะทางอีกมากมายในปี 2564  ที่ผ่านมา โดยรายได้รวมในเครืออยู่ที่ 357.69  ล้านบาท

ล่าสุดเอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น ได้รับรางวัลเกียรติยศ “Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 17” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับยกย่องผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจาก Enconcept ที่ได้รับรางวัลแล้ว ยังมีอีก 2 โรงเรียนในเครือที่ดูแลนักเรียนเต็มเวลาเลย คือ โรงเรียนหลักสูตรระบบอังกฤษ The Newton Sixth Form School และ The Essence School โรงเรียนที่สอนด้วยหลักสูตรไทย คว้ารางวัลนี้ด้วยเช่นกัน

จุดเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ

ธานินทร์ เอื้ออภิธร หรือ ปิง ซีอีโอ คอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น เล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้มุมมองการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษาของ Enconcept ซึ่งเป็นสถาบันกวดวิชาต่างไปจากเดิมคือ การได้รู้จักกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปัจจุบันเป็น Head Master ของ The Newton Sixth Form School  และ The Essence School

“ผมได้รู้จักคุณหมอธีระเกียรติ เมื่อ 8-9  ปีก่อน ตอนนั้นคุณหมอชวนทำโครงการ Peer Tutoring ร่วมกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ เป็นการมอบทุนติวฟรีให้เด็กยากจนได้เข้าถึงโอกาส และได้ทำงานร่วมกันลักษณะนี้บ่อย ๆ ที่ผมเล่าตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องของการเข้าไปทำนะ แต่ผมรู้สึกว่า การได้รู้จักคุณหมอมันเป็นจุดเปลี่ยน รู้สึกช็อคว่าพวกเราไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเลย เรารู้แต่เทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษ เทคนิคการทำข้อสอบ ทำให้เด็กคะแนนสอบเข้าหมอได้ แต่พอผมรู้จักคุณหมอพูดง่าย ๆ คือ ผมเห็นของที่มันดีกว่า แล้วผมก็บอกน้องชายที่เป็น GM ของ Enconcept ว่า ผมไม่อยากทำกวดวิชาแล้ว พูดแบบตรงไปตรงมา ผมอยากจะทำโรงเรียนที่มันเป็นโรงเรียนจริง ๆ ที่สร้างคุณค่าให้กับคนจริง ๆ”

เขายกตัวอย่างว่าเด็กที่มาเรียนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันกวดวิชาแบบ ‘Give and Take’ ซึ่งสถาบันกวดวิชามีวิธีการโฆษณาชวนเชื่อว่า แพทย์ 90% เรียนที่นี่ แต่ในความเป็นจริงสถาบันรู้อยู่แล้วว่าถ้ามีเด็กเรียนกวดวิชา 100,000 คน จะสอบติดคณะแพทย์เพียง 1,000 คน เพราะมหาวิทยาลัยรับจำนวนแค่ 1,000 คนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจริงที่ว่าเด็กที่เรียนจากสถาบันกวดวิชา 80-90% จะติดแพทย์ แต่จริงแค่เพียงส่วนเดียว ซึ่งกวดวิชาทุกที่ก็ทำเหมือนกันหมด โดยในความเป็นจริงสถาบันกวดวิชารู้อยู่แล้วว่าเด็ก 90% ที่เรียนจะไม่ติดแพทย์ ซึ่งเป็นการทำแบบเอาธุรกิจนำ

“ความรู้สึกแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกที่ ถ้าเรายิ่งขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ธุรกิจก็ใหญ่ขึ้นได้ แต่ถามว่ามันเป็น Goodness ของสังคมหรือเปล่า มันไม่เป็น เราอยู่ในช่วงที่ต้องตัดสินใจว่า เราจะทำยังไงกับธุรกิจที่ทำมา 20 กว่าปี ซึ่งเรายังไม่เคยเจออะไรที่ดีกว่า เพราะคนที่มาเรียนกวดวิชา พอเขาได้เรียนกับครูดี ๆ ก็จะแฮปปี้มาก เขารู้สึกว่า เรียนภาษาอังกฤษ มันสนุก มันง่ายถ้าเทียบกับโรงเรียน เราก็สร้างผลลัพธ์อะไรบางอย่าง แต่มันไม่ได้ทำให้เข้าไปสู่ความเป็นเลิศ พอผมเจอคุณหมอ ผมก็เปลี่ยนวิธีคิด” ธานินทร์ กล่าว

เขาเล่าว่า TCAS เปลี่ยนวิธีการคิดเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แทนที่เด็กจะสอบแข่งขันกัน แต่เปลี่ยนเป็นวัดผลกันที่สมรรถนะของเด็ก ภาษาอังกฤษรู้จริงหรือเปล่า เทรนด์นี้มีมาตั้งแต่ 4  ปีที่แล้ว 

“เราเริ่มปรับตัวแล้ว ถ้าเราไม่ disrupt ตัวเอง โลกจะ disrupt เราแน่นอน อันดับแรกที่เราทำ คือ เราลองทำโรงเรียนใหม่ โดยใช้คอนเซ็ปต์ใหม่ 100% ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Enconcept คือ ทำ Newton กับ Essence แล้วผมก็ไปชวนคุณหมอธีระเกียรติมาทำ เราไม่ใช้ติวเตอร์ที่มีอยู่ในสถาบันเลย เราสร้างบุคลากรใหม่หมด แล้วคิดใหม่หมด พอเรากลับมาดู Enconcept ซึ่งเป็น cash cow ของเรา ก็มองเห็นว่า มันเป็นกวดวิชาในรูปแบบเก่า มันไม่สามารถช่วยเด็กได้ เราอยู่กับเด็กทุกวัน เราเห็นความทุกข์ของเขา การเรียนแบบ input-based คือให้เขาดูวีดีโอสอนไม่สามารถช่วยให้เด็กเก่งได้”

ซีอีโอ คอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น เล่าว่า ได้ปฏิญาณไว้ต่อไป Enconcept จะต้องเปลี่ยน จะต้องไม่เป็นกวดวิชาที่เอาธุรกิจนำและการศึกษาตาม แต่ต้องเอาการศึกษานำ ธุรกิจต้องตามมาทีหลัง ซึ่งตนเองได้แนวคิดนี้มาจาก นพ.ธีระเกียรติ ในปีนี้จะมีการเริ่มเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ คือจะเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน Enconcept แบบใหม่ที่เป็น class-based  ติดตามเด็กไปตลอด ทำความรู้จักเด็ก ช่วยเหลือเด็กได้ ไม่ใช่แค่เป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ขายคอร์ส เด็กที่มาเรียนจะได้สร้างความสัมพันธ์กับครู ซึ่งความสัมพันธ์จะทำให้เด็กรักภาษาอังกฤษแล้วก็เก่งภาษาอังกฤษขึ้น

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิดแบบนี้ เราทำตามกระแสโลก เราคิดเรื่องกวดวิชาในฐานะที่เป็น Mass Education เพราะว่าเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนออนไลน์ เด็กนักเรียนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงติวเตอร์เก่ง ๆ ได้ กวดวิชาทำอย่างเดียวคือเอาติวเตอร์เก่ง ๆ มาอัดวีดีโอ แล้วบอกว่าเป็นการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงสุด ให้เขาเรียนเนื้อหาเดียวกัน ใครเข้าถึงได้ก็จะได้เรียน ก็จะได้เปรียบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมุมมองคุณหมอที่เคยบอกกับผมว่า การศึกษา คือ inherit goodness ถ้าเราไม่สนิทเราจะ inherit goodness ได้ยังไง การศึกษาคือ supervise”

Character Matters เด็กเก่งต้องมีอุปนิสัยดี

‘นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์’ เล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า The Newton Sixth Form School และ The Essence School มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือแนวคิดในการสร้างเด็กเก่งที่มีอุปนิสัยดี โดยโรงเรียนให้ความสำคัญกับ Character ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณหมอเคยร่วมกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา จัดตั้งโรงเรียนสัตยาไส ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการพัฒนาจริยธรรมในวัยเรียน

“ตอนที่คุณปิงเขามาชวนผม เราต่างคนต่างมีประสบการณ์ทางการศึกษาคนละอย่าง คุณปิงอยู่ใน Enconcept ทำเรื่องกวดวิชามา 25 ปี ผมเริ่มจากโรงเรียนสัตยาไส ที่ลำนารายณ์ กับดร.อาจอง เมื่อ 30  ปีที่แล้ว จนกระทั่งผมเดินทางไปอยู่อังกฤษ กลับมาเป็นรัฐมนตรีได้เห็นการศึกษาทั้งหมด พอเรามาเจอกันก็เรียนรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของวงการศึกษา แล้วก็เริ่มจาก Newton” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

โดยนพ.ธีระเกียรติ เล่าว่า โรงเรียน The Newton Sixth Form School เน้นสร้าง Character หรืออุปนิสัยที่ดี มีความเป็นผู้นำ โดยปรัชญาการศึกษาคือการถ่ายทอดมรดกทางความคิดจากผู้นําสู่ลูกศิษย์ มีการดูแลนักเรียนด้วยระบบของมหาวิทยาลัยระดับโลก Ox-Bridge Supervision ซึ่งหลักสูตรที่ใช้สอนมี 3 สายอาชีพที่ชัดเจน คือ AI & Tech, Medicine & Dentistry และ Business & Humanities 

“ปรัชญาของ The Newton ที่สำคัญ คือ ครูทุกคนที่นี่นอกจากจะต้องรู้เรื่องที่ตัวเองสอน ต้องพิสูจน์ด้วย ครูเองก็ต้องไปสอบจะได้รู้ว่าเด็กจะต้องทุกข์ยังไงกับการสอบ ผมเองบอกว่าเด็กต้องเก่งอังกฤษ ตัวผมก็ไปสอบอังกฤษ ผมพาคณะครูไปสอบ ผมสอนคอร์ส Harvard Justice ผมก็ต้องไปเรียน ผมก็ต้องไปสอบ คุณปิงต้องสอนวิชา Business ก็ต้องไปสอบ ซึ่งครูมีหน้าที่เป็น supervisor ที่จะต้องดูแลทุกภาพรวมทุกอย่างเป็นระบบที่มหาวิทยาลัยอย่าง Oxford และ Cambridge ใช้ supervise วางแผนกับเด็ก เป็นเพื่อนกับเด็ก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

เขายกตัวอย่างว่า เด็กทั่วโลกประมาณครึ่งหนึ่งอยากเป็นแพทย์ โรงเรียนจะต้องดูว่าการที่เป็นแพทย์ต้องทำอะไรบ้าง โรงเรียนแพทย์เลือกจากอะไรบ้าง แล้วโรงเรียนก็ทำหลักสูตรที่สอดรับ เช่น การสอบเข้าแพทย์ที่สำคัญที่สุด คือ ข้อสอบบีแมท (The BioMedical Admissions Test : BMAT) ของอังกฤษ แพทย์จะต้องเป็นคนที่ Critical Thinking และมี Principle ที่ข้อสอบจะถามแบบนี้ทั้งหมด เด็กเรียนที่นี่ก็จะได้เตรียมตัวในด้านนี้ให้ดีที่สุด 

ส่วนหลักสูตร AI มีพันธมิตรคือ Carnegie Mellon ซึ่งมาเปิดที่เมืองไทย มีการเตรียมเด็กร่วมกันเพื่อจะให้ไปถึงฝันที่ดีที่สุดทางด้าน Computer  Science หรือ AI และสำหรับ business มีหลักสูตร A level ของอังกฤษ ครูที่สอนจะมีประสบการณ์จริงในการทำธุรกิจ 

“หลังจากเปิด The Newton Sixth Form School ที่เป็นหลักสูตรแบบอังกฤษ ซึ่งเปิดรับเด็กในช่วงอายุตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 3  จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6  เป็นการเปิดรับเด็กกลางคัน เรียนเฉพาะที่จำเป็น ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างมาก ซึ่งต้องบอกว่าเด็กที่เรียนเป็นเด็กต่างชาติ 70% ผมกับคุณปิงก็เริ่มคิดว่า แล้วเด็กไทยจะมีโอกาสไหม เราก็เลยทำโรงเรียน The Essence School เพื่อเด็กไทย ในแง่ธุรกิจการใช้หลักสูตรไทยไม่ต้องใช้บุคลากรและไม่ต้องใช้หลักสูตร ก็สามารถที่จะใช้ปรัชญาเดียวกันแล้วราคาลดลงมาได้ ซึ่ง The Essence เด็กที่เรียนจะเป็นเด็กไทยทั้งหมด” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

เขาเล่าว่า The Essence School เน้นวิชาภาษาอังกฤษ แต่ใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมีอิสระในการตัดวิชาที่ไม่จำเป็น ให้เด็กได้เรียนเท่าที่จำเป็นที่เด็กจะเอาไปใช้จริงทั้งใช้ในการสอบและใช้ในอนาคต ตอนนี้มีนักเรียนประมาณ 200  คน ส่วน The Newton มีนักเรียนประมาณ 500 คน

“การทำธุรกิจด้านการศึกษา ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรนำ คือผมก็ไม่ได้ทำให้ขาดทุน แต่ก็มีโอกาสขาดทุน เราก็ไม่ได้ทำ charity แต่เรา generous มาก เราไม่มีค่าแรกเข้า เรารับเด็กเข้ามาเรียนแบบสัมภาษณ์ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ถ้าปริมาณนักเรียนมากพอ เราก็อยู่ได้ สามารถลงทุนเพิ่ม เราไม่ได้เอากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย แต่ก็ต้องอยู่ได้” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

โดยนพ.ธีระเกียรติ มองว่า ต้องการให้เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งในที่สุดทั้ง 3 โรงเรียน คือ Enconcept, The Newton Sixth Form School และ The Essence School จะเติบโตในแนวคิดเดียวกัน คือ การสร้างอุปนิสัยที่ดีพร้อมกับการฝึกเด็กให้เก่ง ความสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็กจะเห็นได้มากขึ้น

ส่วนเรื่องปริมาณนักเรียนที่โรงเรียนจะขยายเพื่อรองรับได้ในอนาคต 5  ปี ประมาณไว้ที่ Enconcept กับ The Essence School อยู่ที่ 2,000 คน ส่วน The Newton Sixth Form ประมาณ 1,500–2,000 คน ซึ่งปัญหาอยู่ที่การหาครูให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น

“ธุรกิจการศึกษาขยายเร็วมากไม่ได้ เราทำ The Newton ช่วง 2  ปีแรก ทำแบบค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ดู เราไม่รีบก้าวกระโดด การเลือกครูต้องเตรียม Facilities เตรียมครูก่อน ส่วนของ Enconcept บอกชัดเจนไม่ได้ ถ้าดีก็อาจจะกลับมาเหมือนเดิมขยายเป็นแสนคนก็ได้” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างคือตัวชี้วัดหนึ่งของการทำการศึกษาในระบบการเรียนเฉพาะทางแบบนี้ โดยเขายกตัวอย่างว่า ถ้าแพทย์ในประเทศไทยจำนวนหลักร้อยคน มาจาก The Newton จะสร้าง Impact แน่นอนต่อผู้ปกครอง ต่อสังคม เพราะที่นี่เป็นที่เดียวที่สอนเรื่อง Critical Thinking ให้คิดเป็น คิดดี ที่เป็นรูปธรรม 

“Impact มันต้องตามหลังจาก Outcome เวลาเราทำอะไรมันจะมี Output, Outcome และ Impact คนส่วนใหญ่ก็ยึดติดอยู่กับ Output  ว่าจะผลิตนักเรียนกี่คน ถ้าเราพูดถึงผลลัพธ์ มันมีทั้งผลลัพธ์ ผลกระทบ เพราะฉะนั้น Output คือ Outcome และ Impact เพราะฉะนั้นผลกระทบมาหลังจากผลลัพธ์”

เมื่อถามถึงมุมมองที่ว่าระบบการเรียนแบบนี้จะช่วยให้ผลิตคนเข้าตลาดงานได้เร็วขึ้น นพ.ธีระเกียรติ มองว่า เป็นเรื่องของอายุ อย่างเช่น ทำไมเด็กต้องเข้าประถมตอน 6 ขวบ เพราะว่า Biology ของระบบประสาทสมองทำให้เด็กนิ่ง เรียนได้ประมาณ 6 ขวบ เด็กทุกประเทศ เร่งไม่ได้ เหมือนต้นไม้ ถามว่าทำไมต้อง 5 ปีถึงโต ใส่ปุ๋ยเร่งได้ไหม บางต้นมันก็ไม่ได้

“เรามีความตั้งใจผลักดันให้เกิดจุดเปลี่ยนของการศึกษาไทยในระยะยาว เปิดโอกาสสำหรับนักเรียนทั้งไทยและอินเตอร์ที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของการศึกษา ได้เรียนกับครูผู้เชี่ยวชาญที่เก่งเฉพาะด้าน และหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นสากล เพื่อผลักดันให้นักเรียนทุกคนไปให้ถึงมหาวิทยาลัยระดับประเทศและระดับโลก และกลับมาสร้างคุณประโยชน์ที่ดีให้แก่ประเทศชาติต่อไป” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นัจกร สุทธิมาศ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Vulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล และ ‘Skooldio’ บทบาท “เรือจ้าง” ในยุคดิจิทัล กับพันธกิจ Professional Education

“แจ็คกี้ หวาง” กับพันธกิจและบทบาทของ Google Thailand

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ