TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistส่องหุ้น Soft Power ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น หุ้นดี ใกล้ตัวคุณ

ส่องหุ้น Soft Power ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น หุ้นดี ใกล้ตัวคุณ

ยังจำไวรัลข้าวเหนียวมะม่วงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนคนแห่กันซื้อมาทานกันใน ชั่วข้ามคืนหลังหลังจากที่ น้องมิลลิ แรปเปอร์ชื่อดังนำขึ้นเวทีคอนเสิร์ตได้ใช่ไหมครับ

กระแสนี้ก็อารมณ์คล้าย ๆ กับเวลาที่เรานั่งดูภาพยนตร์หรือซี่รี่ส์ที่คู่พระเอกนางเอกกำลังกินมื้อค่ำกัน อย่างมีอรรถรส แล้วอยากขับรถไปซื้อของกินนั้น ๆ ตาม หรือรู้สึกว่าพรุ่งนี้ฉันจะแต่งตัวให้เหมือน นางเอกพระเอกในเรื่องนั้น ๆ

ผมเชื่อว่าต้องมีของใช้ในบ้านของคุณไม่น้อยเลยที่คุณซื้อเพราะได้รับอิทธิพลหรือแรงผลักดันบาง อย่างจากสื่อทางโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย หรือที่ศัพท์ในสมัยนี้เรียกกันว่า ‘การป้ายยา’ จนถึงกับต้องกดใส่ตะกร้า รอสั่งซื้อทันที

สิ่งที่กำลังมีผลกับการตัดสินใจของคุณเช่นนั้น เขาเรียกว่า ‘Soft Power’ ซึ่งเป็นคำที่คุณต้องเคย ได้ยินอยู่บ้างในยุคนี้ แค่อาจสงสัยว่า แล้วมันคืออะไรกันแน่ และที่สำคัญมันเกี่ยวกับเรามากน้อย แค่ไหน รวมไปถึงมันเกี่ยวกับการลงทุนด้วยหรือ

Soft Power คืออะไร

Joseph S.Nye ศาสตร์จารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Harvard เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่พูดถึง ‘อำนาจ’ หรือความสามารถในการโน้มน้าวให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตัวเขาไม่อยากทำ โดย Nye แบ่งอำนาจไว้ 2 ประเภท ได้แก่

  1. Hard Power เป็นอำนาจที่ต้องใช้การบีบบังคับ ต้องอาศัยทรัพยากรเชิงกายภาพ ในการสร้างอำนาจ เช่น กองทัพ อาวุธ กำลังคน
  2. Soft Power เป็นการแผ่ขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงทางความคิด การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของผู้อื่น การทำให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมโดยไม่ใช่อำนาจในการขู่บังคับ

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ Hard Power เป็นอำนาจที่ต้องมีต้นทุนสูง ในขณะที่หัวใจของการใช้ Soft Power นั้นไม่ต้องใช้ต้นทุนเลย เพราะเน้นการใช้เครื่องมือเชิงวัฒนธรรม เช่น การเผยแพร่ ความ เชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ หรือในมิติอื่นๆ จนมีอิทธิพลในชีวิตคุณ โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวเลย ก็ได้  

ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น Hard Power ต้องใช้ทรัพยากรที่จับต้องได้มาแลกเปลี่ยนหรือบีบบังคับ เช่น การใช้อำนาจในการเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกมาบีบบังคับให้คู่ค่าต้องยอมซื้อ น้ำดิบตามราคาตลาดโลกเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งคนที่ใช้อำนาจเองก็ต้องเสียทรัพยากร ให้กับอีกฝ่ายหรือแลกเปลี่ยนกันด้วย

Soft Power เป็นอำนาจที่แทรกซึมมาในวัฒนธรรมและค่านิยม ซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยสิ่งรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แฟชั่น สื่อต่าง ๆ รายการโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง และอีกหลายอย่าง ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตเราโดยที่ไม่มีอำนาจอะไรมาบังคับ จนนานวันเข้า สิ่งเหล่านั้นก็อาจจะกลาย เป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ไปเลยในที่สุด โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรทางกายภาพอะไรมาแลกเปลี่ยนเลย

นั้นหมายความว่า หาก Soft Power ของประเทศไหนมีอิทธิพลมาก ก็ย่อมเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก การค้าขายและธุรกิจจากประเทศนั้นก็จะได้รับผลดีไปด้วย โดยที่ธุรกิจเหล่านั้นอาจจะไม่ต้องเสีย เงินค่าการตลาดอะไรเลยก็ได้

ซึ่ง ‘ญี่ปุ่น’ เป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลสนับสนุนการแผ่ขยายของ Soft Power อย่างสุดความสามารถ มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จนออกมาเป็นนโยบายที่ชื่อว่า Cool Japan

ผลักดัน Soft Power สู่นโยบาย Cool Japan

หากถามว่า ‘ญี่ปุ่น’ ในยุคใหม่ให้ความสำคัญกับ Soft Power มากแค่ไหน ก็คงต้องดูจาก ความจริงจังของนโยบาย Cool Japan

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ยุค 70s ถึง 80s ที่กระแสอเมริกันกำลังเฟื่องฟู ถือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ญี่ปุ่น เริ่มเห็นความสำคัญของพลังของ Soft Power และตัดสินใจดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรมที่ชื่อว่า ‘Cool Japan’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ต้องการผสานวิถีทางวัฒนธรรมเข้ากับสินค้าจากญีปุ่นเพื่อตี ตลาดส่งออกไปทั่วโลก

นโยบาย Cool Japan เริ่มด้วยการสนับสนุนสินค้าและบริการในกลุ่มสื่อบันเทิงที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เช่น การ์ตูน ดนตรี เกม ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ก่อนจะขยายวงกว้างไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องแต่งกาย แฟชั่น อาหาร รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทูตด้วย

และในการจัดอันดับประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ต่อโลกมากที่สุดในโลกในปี 2565 โดย Brand Finance Global Soft Power Index ญี่ปุ่นถูกจัดไว้อันดับที่ 5 ของโลกในด้านนี้เลยทีเดียว

Soft Power ที่แข็งแกร่งช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ในประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจชั้นดี นอกจากนี้ ข้าวของเครื่องใช้ของญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อ เรื่องนวัฒกรรมและคุณภาพ ยังไม่รวมถึงเสื้อผ้าต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเกม เรียกได้ว่า รอบตัวเราเต็ม ไปด้วย ‘ความญี่ปุ่น’ อย่างปฎิเสธไม่ได้

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงเห็นพลังอำนาจของ Soft Power แล้ว พลังที่ดึงดูดให้คุณหลงรัก ชื่นชอบ ชื่นชม กลืนเข้าไปอยู่ในชีวิตของคุณทีละนิด จนกว่าคุณจะรู้ตัว คุณก็ไม่มีวันจะปฎิเสธ มันไปได้อีกแล้ว แล้วในแง่ของการลงทุน หุ้นญี่ปุ่นตัวไหนบ้างที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Soft Power และทำคะแนน Jitta Score ได้ดี

ผมหาคำตอบมาให้คุณแล้ว

ส่อง 5 หุ้น Soft Power ญี่ปุ่น

  1. HOYA

Hoya Corporation ก่อตั้งขึ้นในเมืองโฮย่า เมืองโตเกียวตั้งแต่ปี 2484 โดยพี่น้อง 2 คน ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นผู้ผลิตเลนส์สายตาขนาดเล็ก และต่อมาก็พัฒนาธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรม สุขภาพและเทคโนโลยี

ทุกวันนี้คุณจะพบเห็นเทคโนโลยีของ Hoya ได้ทั้งในเลนส์ของแว่นสายตา กล้องทาง การแพทย์ เครื่องเล่นแผ่น Blu-ray สมารทโฟน คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ เป็นเวลากว่า 80 ปีที่ HOYA ไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีเลนส์ของตัวเอง

ในปัจจุบันการใส่แว่นตาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาอีกต่อไป แต่ยังเป็นการช่วยปกป้องสายตาจากแสงคอมพิวเตอร์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือแม้ กระทั่งแสงแดด และชื่อของ Hoya ก็เป็นหนึ่งในเลนส์คุณภาพที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ

Jitta Score 7.56

  1. Capcom

บริษัทผู้พัฒนาเกมที่มีชื่อเสี่ยงจากญี่ปุ่น เจ้าของลิขสิทธิ์เกมและตัวละครชื่อดังอย่าง Resident Evil Street Fighter และ Devil May Cry รวมถึงเกมอื่น ๆ อีกมากมาย

Capcom เริ่มธุรกิจจากการทำพัฒนาเกมแนว Arcade ผ่านบอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิก ของตัวเองที่มีชื่อว่า CP System ตั้งแต่ปี 2523 ต่อมาจึงเริ่มสร้างเกมในตำนานอย่าง Rockman และ Street Fighter ให้กับเครื่องเล่นเกม Nintendo

Capcom ไม่ได้มีรายได้จากการจำหน่ายเกมเท่านั้น แต่ยังมีรายได้จากธุรกิจบริหารร้าน เกมประเภท Arcade ที่พบเห็นได้จำนวนมากในญี่ปุ่น ธุรกิจร้านขายของที่ระลึกและให้ บริการเครื่องเล่นเกม ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์สันทนาการ ธุรกิจการจำหน่ายตู้เกมและ เครื่องเล่น และธุรกิจสันทนาการอื่น ๆ อีกมากมาย

เรียกได้ว่า หากพูดถึงเกม ญี่ปุ่นย่อมเป็นหนึ่งในประเทศที่หลายคนนึกถึง ไม่ว่าจะเป็น คาแรกเตอร์ที่มีความอนิเมะซ่อนอยู่อย่างเป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นภาพติดตาสำหรับคอเกม และวัยรุ่นในยุค 90s ที่ไม่มีทางลบเลือนออกไปได้เลย

Jitta Score 7.22

  1. Bandai

บริษัทผู้ผลิตของเล่นสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดัง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2493 โดย Naoharu Yamashina ที่เริ่มธุรกิจด้วยการผลิตของเล่นจากการ์ตูน ตั้งแต่ซีรี่ส์อนิเมชั่นเรื่องแรก ของ ญี่ปุ่นอย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ มาจนถึง ‘หุ่นเหล็ก’ หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ Chogokin ที่มา จากชื่อโลหะที่ใช้ผลิต ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘หุ่นยนต์ Z’ ที่เป็นอนิเมะยอดนิยมในยุค 70s

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัทคือ ‘หุ่นยนต์ Gundam’ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำรายได้มากที่สุด ของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน สินค้าอีกอย่างที่มีชื่อเสียงคือ ‘Tamagotchi’ เกมสัตว์เลี้ยงเสมือน ในตลับรูปไข่ที่ใครหลายคนเคยมีไว้ครอบครอง

จนในปี 2548 Bandai ได้ควบรวมกิจการกับ Namco อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการเกมของ ญี่ปุ่น ในปัจจุบันบริษัท Bandai Namco มีการต่อยอดทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมการผลิตหุ่นยนต์ Gundam ได้ เป็นต้น

และก็เป็นบริษัท Bandai นี่แหละที่เป็นผู้ประดิษฐ์ ‘ตู้ Gachapon’ ที่ถ้าคุณไปเดินตามห้าง สรรพสินค้าในปัจจุบันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่เจอสักตู้ หรือบางทีก็คันไม้คันมือ อยากเล่นใจจะขาด จนลามมาถึงวงการเกมออนไลน์ในปัจจุบัน ที่เกือบทุกเกมจะต้องมี การเสี่ยงโชคจับไอเทมในเกมจากตู้ Gachapon ด้วยเช่นกัน

Jitta Score 7.05

  1. Nintendo

บริษัทผู้พัฒนาเกมคอนโซลชื่อ ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2432 จากการเป็นร้านขายเกม ไพ่ดอกไม้ (Hanafuda) ที่วาดลวดลายด้วยมือภายใต้ชื่อว่า Nintendo Koppai ใจกลางกรุง เกียวโต เมืองหลวงของญี่ปุ่นในสมัยนั้น

Nintendo ถือเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น จนในปัจจุบันมาถึงรุ่นที่ 3 บริหารงานโดย Hiroshi Yamauchi และยังสานต่อภารกิจของครอบครัวได้เป็นอย่างดี หลังเปิดตัวเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch จนได้รับความนิยมทั่วโลก

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ Nintendo เข้าสู่วงการผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกมเกิดขึ้นในปี 2518 หลังบริษัทเริ่มผสมผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคนั้นเข้ากับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จนในปี 2520 Nintendo จึงเริ่มวางขายเกมคอนโซลเป็นครั้งแรก

Nintendo ทำให้คนทั่วโลกรู้จัก Super Mario หรือแม้กระทั่งเกมยอดฮิตของคนทั่วโลกอย่าง Pokemon Go ที่ทุกคนมีติดมือถือไว้สร้างความสนุกได้ทุกที่ มั่นใจได้ว่าหากคุณเป็นคน ที่เล่นเกม ต้องมีสักเกมหนึ่งของ Nintendo ที่คุณเคยเล่นแน่นอน

Jitta Score 6.63

  1. Fast Retailing

หากพูดถึงชื่อ Fast Retailing น้อยคนที่จะรู้จัก แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ Uniqlo รับรองได้ว่าทุก คนต้องรู้จักอย่างแน่นอน

Fast Retailing บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกแฟชั่นจากญี่ปุ่น เริ่มต้นธุรกิจจาก ขายเสื้อผ้าผู้ชายในร้านเล็ก ๆ ตั้งแต่ปี 2492 จนในปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ Casual Wear ยอดนิยมที่มีแบรนด์ในเครือมากกว่า 7 แบรนด์

จนปัจจุบัน Fast Retailing มีร้านเสื้อผ้าในเครือทั้งหมด 3,646 สาขากระจายอยู่ทั่วโลก โดยประเทศที่มีสาขามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

Fast Retailing เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ปลุกกระแสความ Minimal สไตล์ญี่ปุ่นที่เน้นความ สบายในการสวมใส่ และสามารถสวมใส่ได้หลากหลายสไตล์ มองอย่างไรก็ไม่มีเบื่อ และที่สำคัญคือเสื้อผ้ามีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผลอีกด้วย

Jitta Score 6.24

คุณคงเห็นแล้วว่าจริง ๆ แล้ว Soft Power เป็นพลังที่นุ่มนวล แต่สามารถสร้างแรงกระเพื่อม ทางธุรกิจได้อย่างยิ่งใหญ่ รู้ตัวอีกที รอบตัวคุณก็เต็มไปด้วยอิทธิพลเหล่านี้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น ในตู้เสื้อผ้าของคุณ ในหน้าจอโทรทัศน์ บนสมาร์ทโฟน หรือโลกอินเทอร์เน็ต

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

ข่าวร้าย คือ เพื่อนที่ดีที่สุด ของนักลงทุนสาย VI

ทำความรู้จัก Mr. Market และวิธีรับมือฉบับ Benjamin Graham

ทำความรู้จัก Charlie Munger ผู้เปลี่ยนแนวคิดการลงทุนของ Warren Buffett 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ