TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"เจ้าสัว" ธนินท์ เจียรวนนท์ ชี้ ทางออกวิกฤติโควิด-19 เริ่มต้นที่ "วัคซีน"

“เจ้าสัว” ธนินท์ เจียรวนนท์ ชี้ ทางออกวิกฤติโควิด-19 เริ่มต้นที่ “วัคซีน”

ทางออกของวิกฤติโควิด-19 คือ การจัดสรรวัคซีน ให้การรักษาพยาบาลทันท่วงที ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกำลังใจ ลดจำนวนคนเสียชีวิตให้มากที่สุด วางแผนเตรียมความพร้อมให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ก้าวเดินไปต่อได้ มีการจ้างงานเกิดขึ้น 

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้กล่าวในรายการ Suthichai Live ภายใต้หัวข้อ “มุมมองธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า หัวใจสำคัญของการรับมือกับโควิด-19 และจะเป็นก้าวแรกหรือทางรอดที่สำคัญจากวิกฤติในไทยลำดับแรกสุด คือ วัคซีน ขณะที่ลำดับต่อมา คือ หมอกับการรักษาพยาบาล 

“วัคซีน” ที่มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศมากเกิน 70% ของกลุ่มประชากรภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว วัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหน จะมากหรือน้อย ย่อมได้ผลอย่างน้อยในการรักษาชีวิตให้อยู่รอด ซึ่งดีกว่าไม่มีให้ฉีดเลย อีกทั้งเมื่อฉีดแล้ว ธุรกิจทุกอย่างก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ปกติ ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้น ระบบการตรวจ คัดกรองและรักษาพยาบาล จึงต้องมีการจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ หัวใจของการรักษา คือ การเข้าถึง “ยา” และ “หมอ” ใครที่มีอาการหนักสมควรได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดก็ส่งไปโรงพยาบาล ให้แพทย์ดูแลได้อย่างใกล้ชิด ขณะที่ใครที่อาการไม่หนักแต่ยืนยันได้ว่าติดเชื้อ ก็ต้องเร่งให้การรักษาให้หายขาดโดยเร็วในระยะแรกเริ่มที่อาการยังไม่หนัก

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ถือเป็นวิกฤติที่หนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าครั้งใด ๆ รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ผลกระทบจากการระบาดส่งผลต่อทุกฝ่าย ทุกคน และทุกประเทศทั่วโลก ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ปัญหาอย่างหนึ่งของรัฐบาลในเวลานี้ คือ ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน จะเห็นได้ว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการหาทางออกจากวิกฤติโควิด-19 ได้แล้วในระดับหนึ่งคือ “อังกฤษ” ที่ทุกวันนี้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ ปราศจากการล็อกดาวน์ แม้จะยังพบผู้ติดเชื้อในระดับสูง แต่อัตราการเสียชีวิตกลับอยู่ในระดับต่ำ ทั้งหมดเพราะเขาระดมฉีดวัคซีน

“สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือการจัดหาวัคซีนมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน แล้วฉีดให้ได้มากที่สุด แล้วเมื่อได้วัคซีนแล้วก็ให้เปิดประเทศ อย่าปิด เพราะจะเป็นการปิดโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย” 

โรงงานซีพีในอินเดียที่พบผู้ติดเชื้อของโรงงานมากถึง 400 คน แต่สามารถจัดการดูแลรักษาและให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบ มีการสร้างโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ทำให้สามารถช่วยเหลือได้ทันการณ์ และมีผู้เสียชีวิตในระดับต่ำ

“อยากให้รัฐบาลเปิดทางเอกชนให้สามารถสั่งวัคซีนเข้ามาได้เพื่อปกป้องคนของตนเอง เพื่อให้สามารถเปิดโรงงาน ทำงานรับออเดอร์ต่อไปได้ เพื่อให้สามารถระดมฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงรวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดภาระของรัฐบาล ลดทรัพยากรภาครัฐให้นำไปใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือที่สุดก่อน ซีพีซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดให้พนักงาน”

นอกจากวัคซีนแล้ว ซีพียังสนับสนุนการผลิตยารักษาอาการโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อผลิตแจก และจ้างทีมแพทย์เพื่อให้การรักษาออนไลน์ ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ รวมถึงสนับสนุนการคิดค้นพัฒนายารักษาแบบฉีดพ่น

กรณีที่ยังมีผู้กังขาต่อความเกี่ยวข้องระหว่างซีพีกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค เจ้าสัว กล่าวว่า หลานชายได้มีโอกาสเป็นผู้ถือหุ้น เพราะฝ่ายบริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ติดต่อเข้ามาขอให้ไปเป็นนักลงทุนให้เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นบริษัทดีที่มีโอกาสเติบโตจึงนำเงินไปลงทุน วัคซีนที่บริษัทผลิตได้เป็นของรัฐบาลจีนทั้งหมด บริษัทผู้ผลิตไม่มีสิทธิ์ในการเข้าไปยุ่มย่ามหรือจัดการใด ๆ การซื้อขายต้องติดต่อไปยังรัฐบาลจีนโดยตรง เป็นยาควบคุมของรัฐบาล เอกชนไม่มีสิทธิ์ไปซื้อ ดังนั้น ซีพี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เรื่องการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล

ธนินท์มองว่า หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเติบโตแบบทวีคูณ โดยที่คนท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มคนมีเงินและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากขึ้น การเปิดพื้นที่บางส่วน เช่น เกาะต่าง ๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้จะเดินทางไปต้องฉีดวัคซีนให้ครบโดส มีเอกสารรับรอง ส่วนกรณีที่ต้องรักษา ให้ยกระดับระบบการตรวจคัดกรองเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที เปลี่ยนโรงแรมที่พักให้เป็นโรงแรมปลอดภัย เช่น การปรับระบบระบายอากาศที่แยกห้อง เมื่อโรงแรมเปิดทำการได้ ลูกจ้างก็ยังมีงานทำต่อไปได้ 

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น สุดท้ายนี้ ประเทศจะก้าวออกจากความมืดไปสู่ความสว่างจากวิกฤติวัคซีนโควิด-19 ได้คือ “วัคซีน”  โดยไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีข้อมูลและตัวอย่างมากพอที่จะเปรียบเทียบได้แล้วว่าวัคซีนตัวไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีผลลัพธ์อย่างไร

“ผมยังมองว่าพื้นฐานเมืองไทยยังดี แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการพื้นฐานใด ๆ มารอรับ เราจะหลุดแล้วนะ เราเริ่มจะแพ้อินโดนีเซีย เราจะแพ้เวียดนาม เราจะแพ้ฟิลิปปินส์ ถ้ารัฐบาลเขาบริหารเก่ง แล้วทุกคนมองว่าตลาดเขายิ่งใหญ่ แล้วเขาไปตรงนั้น เราจะยิ่งเสียเปรียบ เพราะจำนวนคนของเราที่มีเพียง 70 ล้านคน แต่ถ้าเรารู้จักใช้โอกาสตรงนี้ ให้เงื่อนไขดีๆ แล้วเลือกเอาแต่ไฮเทคฯ เข้ามา แล้วปล่อยที่เหลือไป ไทยเราก้าวข้ามมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว ดังนั้น เงื่อนไขของรัฐบาลวันนี้ต้องเอาธุรกิจ 4.0 เข้ามาเมืองไทยให้ได้ด้วยทุกวิถีทาง อย่าไปกังวลว่าจะเสียเปรียบ”

ขณะเดียวกันอย่าลืมใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลง เปิดรับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน รวมถึงให้ความช่วยเหลือเอกชนรายย่อยให้เตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับและยืนหยัดกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ โดยเฉพาะการวางกฎเกณฑ์เพื่อดึงเอาบุคลากรที่เก่ง ๆ เข้ามาทำงานในประเทศ ทดแทนแรงงานสูงอายุในไทยที่ทยอยเกษียณไปบ้างแล้ว โดนวางระบบให้เข้ามาแบบยั่งยืนถาวร เหมือนเช่นที่กรณีสิงคโปร์ทำอยู่ แต่เรื่องนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลที่จะเตรียมความพร้อมได้มากน้อยแค่ไหน 

ธนินท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กฎระเบียบทำให้เกิดความล่าช้าติดขัด ถ้าเปลี่ยนได้ก็ต้องเปลี่ยน เพราะสมัยนี้ ไม่ใช่ยุคปลาเล็กกินปลาใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นยุค ปลาเร็วกินปลาช้า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ