TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyทรู - เอไอเอส เร่งเครื่องดึงลูกค้าเอสเอ็มอี โชว์แกร่งโทรคม-เทคโนโลยี หนุนทรานสฟอร์ม

ทรู – เอไอเอส เร่งเครื่องดึงลูกค้าเอสเอ็มอี โชว์แกร่งโทรคม-เทคโนโลยี หนุนทรานสฟอร์ม

เอสเอ็มอี ขุมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยจำนวนกิจการ 3-4 ล้านรายทั่วประเทศขึ้นกับการอ้างอิงตัวเลขจากแหล่งใด แต่ที่แน่ ๆ คือ เอสเอ็มอีล้วนขาดแคลนทรัพยากรในการก้าวข้ามสู่ Industry 4.0 ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ กำลังคน ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี

จากข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เคยทำสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมของไทย พบว่ามีประมาณ 70% ยังอยู่ขั้น Industry 1.0 และ 2.0 ที่ก้าวสู่ Industry 3.0 มีไม่ถึง 30% และประมาณ 2% เท่านั้นที่อยู่ใน Industry 4.0

ดังนั้น เอสเอ็มอีถือเป็นเค้กชิ้นสำคัญที่ผู้มีความพร้อมทั้งโครงข่ายโทรคมนาคม-เทคโนโลยีและเงินทุนอย่างค่ายมือถือจะร่วมลงสนามชิงชัย

บทบาท True Digital Park กับการสร้าง Tech Ecosystem ให้ประเทศไทย

ทรูบิสิเนสชูความพร้อมเทค

ล่าสุด พิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้ข้อมูลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2565 ว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 17.4 ล้านล้านบาท โดยมากกว่า 15% ของ GDP ทั้งประเทศมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และไตรมาสแรก ปี 2566 มีมูลค่าถึง 7.4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่าตลาดดิจิทัลของโซลูชันโรงงานอุตสาหกรรมในไทยมีมูลค่า 7.4 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากปีนี้ไป

และข้อมูลจาก Meticulousresearch.com ระบุมูลค่าตลาด Smart Manufacturing ของเอเชียแปซิฟิกในปี 2029 มีกว่า 4.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิตต่างต้องการและให้ความสำคัญต่อการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อผลักดันนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ในส่วนของทรูบิสิเนสที่ได้ดึงศักยภาพหลังควบรวมทรูดีแทค เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ผสานอัจฉริยภาพเครือข่าย 5G เทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร ทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก อาทิ อาลีบาบา คลาวด์ สร้างสรรค์ 5G และดิจิทัลโซลูชัน เพื่อนำบริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าองค์กรให้เข้าสู่ Digital Transformation ได้อย่างไม่สะดุด

3 บริการหลักรองรับทุกอุตสาหกรรม

โดยทรูมีบริการนวัตกรรมดิจิทัลโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่ให้บริการจะช่วยแก้ไขปัญหาควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และลดต้นทุนการผลิต 3 กลุ่มบริการหลัก ได้แก่

  1. 5G Infrastructure เชื่อมต่อการสื่อสารบนเครือข่าย 5G ที่เร็วแรงและครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น พร้อมเทคโนโลยีเครือข่ายล้ำสมัยที่รองรับได้ทุกภาคอุตสาหกรรม 
  2. Cloud Infrastructure บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ และ 
  3. TRUE BIZ-TECH ศูนย์รวมโซลูชัน ออกแบบเพื่อตอบโจทย์เฉพาะธุรกิจ ทั้งโซลูชันเพื่อโรงงานอัจฉริยะ ขนส่งอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ

พร้อมกันนี้ ยังมีจุดแข็งที่แตกต่างคือ บริการ Cyber Security ยกระดับการตรวจสอบความปลอดภัย และเฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ควบคู่กับทรู ดิจิทัล อคาเดมี (True Digital Academy) สถาบันพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโซลูชันได้เต็มประสิทธิภาพ 

อีกทั้งยังมีทีมงานมืออาชีพให้คำปรึกษาและออกแบบโซลูชันตามความต้องการขององค์กร และดูแลบริการหลังการขายอย่างใกล้ชิดในหลากหลายช่องทาง

ลดปัญหาเอสเอ็มอี

“ช่วงโควิด เอสเอ็มอีได้หายไปมาก แต่ตอนนี้ประเทศเปิด ได้เริ่มกลับมา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหลาย ซึ่งการจะทำดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น จะต้องทำเรื่องคนด้วย ทั้งนี้หลักสูตรในอคาเดมีมีพร้อมสำหรับการอัปสกิลดิจิทัลแก่บุคลากรภายใน และลูกค้ามีถึงขั้น Data Sciencetist”

บริษัทวางเป้าหมายขยายตลาดเจาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และสงขลา โดยประเดิมคิกออฟในงาน FACTECH 2023 ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา

ปัจจุบัน ลูกค้าองค์กรของทรูบิสิเนสมีทั้งสิ้น 1.6 แสนราย ซึ่งรายได้ 80% มาจากลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร้ซ และ 20% จากเอสเอ็มอี แต่ถ้านับจำนวนลูกค้าแล้ว เอสเอ็มอีจะมีมากกว่าเอ็นเตอร์ไพร้ซ รายได้ของทรูบิสิเนสมีประมาณ 10% ของกลุ่มทรู และการเติบโตเป็นเลข 2 หลัก

อย่างไรก็ตาม โรงงานไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และขนาดกลาง จะกลัว ๆ กล้า ๆ ที่จะทรานสฟอร์มโรงงานสู่ดิจิทัล การใช้บริการทรู บิสิเนส จะช่วยลดปัญหาบุคลากร เทคโนโลยี และการลงทุน

เอไอเอส ชูกลยุทธ์ 7s

ขณะที่ ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS ประกาศจับมือพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของเอสเอ็มอี นำไปสู่การสร้างการเติบโตแก่เศรษฐกิจแบบร่วมกัน (ECOSYSTEM ECONOMY) ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Collaboration) รวมถึงการสร้างความยั่งยืนแก่การดำเนินธุรกิจ

โดยมองว่า การเพิ่มขีดความสามารถให้การดำเนินธุรกิจผ่านการทำดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชันยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีมีอาวุธใหม่ ๆ ในการสร้างโอกาสและการเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซเพื่อเสริมศักยภาพ การเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน การลดต้นทุน การขยายช่องทางการขาย รวมถึงการขยายฐานลูกค้าและการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ

ดังนั้น เอไอเอสได้จัด ‘กลยุทธ์ 7S’ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสนับสนุน ประกอบด้วย 

  1. AIS SME Mobile Services บริการโทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร
  2. AIS SME Internet Services บริการอินเทอร์เน็ต
  3. AIS SME Digital Marketing Services เครื่องมือด้านการตลาดออนไลน์
  4. AIS SME IT & Digital Solutions พัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน
  5. AIS SME Full e-Services งานบริการแบบ E-Service ที่อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคล
  6. AIS SME Special Privileges สิทธิพิเศษที่ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้นด้วย AIS SME BIZ UP และ 
  7. AIS SME Strategic Partnership การผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ

ทั้งยังส่งบริการ “Yellow B2B2C e-marketplace” แพลตฟอร์มที่จะช่วยเอสเอ็มอีต่อยอดธุรกิจ B2B และ B2C แบบครบวงจร เพิ่มช่องทางการพบผู้ซื้อทั้งรายใหญ่และรายเล็กได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่าน www.yellow.co.th

ปัจจุบัน ลูกค้าเอสเอ็มอี ทำรายได้ให้เอไอเอส บิสิเนส ประมาณ 1 ใน 3 ของลูกค้าองค์กรทั้งหมด และคาดหวังการเติบโตที่สูงขึ้นต่อไป

AIS เล็งขยายผล ‘มาตรวัดทักษะทางดิจิทัล’ ฉบับแรกของประเทศ ชี้คนไทยยังขาดทักษะจำเป็น

AIS จับมือ สภาอุตสาหกรรมฯ นำโครงข่าย 5G ยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ