TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeAIS เล็งขยายผล 'มาตรวัดทักษะทางดิจิทัล' ฉบับแรกของประเทศ ชี้คนไทยยังขาดทักษะจำเป็น

AIS เล็งขยายผล ‘มาตรวัดทักษะทางดิจิทัล’ ฉบับแรกของประเทศ ชี้คนไทยยังขาดทักษะจำเป็น

แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (AIS) เดินหน้าต่อยอดขยายผลการประยุกต์ใช้งาน “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” หรือ “Thailand Cyber Wellness Index”  ซึ่งเป็นมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลฉบับแรกสำหรับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง ตลอดจนสังคมโดยรวม 

ทั้งนี้ สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวถึงแนวคิดในการจัดทำมาตรวัดดังกล่าวว่ามีสาเหตุจากความต้องการต่อยอดโครงการ AIS อุ่นใจ Cyber ซึ่งเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) หลังจากที่เทคโนโลยีดิจิทัลหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น 

กระนั้น หลักสูตรของ AIS อุ่นใจ Cyber เป็นเพียงแค่การให้ความรู้กระจายให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่านั้น ยังไม่สามารถตอบได้ว่าคนไทยมีสุขภาวะความพร้อมดิจิทัลในระดับใด ดีมากน้อยแค่ไหน และมีส่วนไหนที่ต้องการปรับปรุง 

กลายเป็นที่มาที่ทาง AIS ตัดสินใจจับมือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการจัดทำแบบทดสอบวัดระดับความรู้ทางดิจิทัลของคนไทย โดยใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการจัดทำ ทดสอบ รวมถึงเก็บข้อมูลความพร้อมทางดิจิทัลของคนไทยครั้งแรก 

ดร.ดารุวรรษ ศรีแก้ว อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าธนบุรี ผู้พัฒนาแบบทดสอบ “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” หรือ “Thailand Cyber Wellness Index” อธิบายว่า ดัชนีชี้วัดจะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Advanced (ระดับที่สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถดูแลให้คำแนะนำคนรอบข้าง) ระดับ Basic (สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ดูแลเฉพาะตนเองได้เท่านั้น) และระดับ Improvement (ขาดความพร้อมในการใช้งานดิจิทัล และต้องการการอบรมเรียนรู้ทำความเข้าใจอีกมาก

ในส่วนของเกณฑ์ในการวัดทักษะดิจิทัลจะครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) 

ดร.ดารุวรรณ กล่าวว่า จากการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน พบว่า ทุกช่วงวัยมีค่าเฉลี่ยความรู้เท่านั้นดิจิทัลอยู่ในระดับพื้นฐาน ยกเว้นกลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่มีความพร้อมในการใช้งานดิจิทัลเท่าที่ควร 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดด้วยกัน จะพบว่าเกือบครึ่ง (44.04%) อยู่ในระดับ improvment คือยังต้องปรับปรุง ส่วนระดับพื้นฐานอยู่ที่ 33.5% และระดับadvanced อยู่ที่ 22.45%

ขณะเดียวกัน เมื่อมองลึกลงไปถึงความพร้อมในแง่ของพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลพบว่า 3 พฤติกรรมหลักที่คนไทยยังขาดทักษะมากที่สุดคือ การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล สิทธิทางดิจิทัล และความสัมพันธ์ทางดิจิทัล 

ดร.ดารุวรรณ ชี้ว่า การสื่อสารหมายรวมถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และใช้งานดิจิทัลอย่างมีมารยาท (netiquette) และเคารพให้เกียรติผู้อื่น สิทธิทางดิจิทัลคือรู้จักกฎระเบียบ ไม่ละเมิดผู้อื่น ขณะเดียวกันเมื่อถูกละเมิดก็รู้ว่าต้องจัดการอย่างไร ส่วนความสัมพันธ์ทางดิจิทัล คือใช้ดิจิทัลในการสานสัมพันธ์อย่างเหมาะสมแต่ไม่ถือสิทธิในชีวิตของคนอื่นจนเกินไป

ขณะที่พฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทยที่อยู่ในระดับพื้นฐานคือ ทักษะการใช้ ทักษะการรู้เท่าทัน และทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลที่อยู่ในระดับ advanced ของคนไทยมีเพียงทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการช่วยประชาสัมพันธ์ ต่อต้านและระวังการรังแกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ 

นอกจากนี้ การทดสอบยังประมวลผลแยกในกลุ่มอาชีพหลัก ๆ 5 อาชีพด้วยกันคือ พนักงานบริษัท ค้าขาย รับจ้าง รัฐวิสาหกิจ และเกษตรกร ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ของทุกอาชีพยังอยู่ในระดับที่ยังคงต้องปรับปรุง  

ดร.ดารุวรรณ กล่าวว่า การมีมาตรวัดที่เป็นมาตรฐานและสามารถประมวลทักษะความพร้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหลายหน่วยงานในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ออกแบบวางแผนแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้คนไทยในแต่ละพื้นที่มีทักษะความพร้อมทางดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยไม่เสียเวลาและเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ 

พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ความไม่พร้อมทางทักษะด้านดิจิทัลของไทยในขณะนี้ ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรทางไซเบอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าขณะนี้ จะมีตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ รวมถึงมาตรการป้องกันที่มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าดีที่สุดอยู่ดี 

ทั้งนี้ จากตัวเลขสถิติของศูนย์บริการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับแจ้งความเฉพาะอาชญากรรมออนไลน์ พบว่าระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 พฤษภาคม 2566 มีคดีออนไลน์ทั้งสิ้น 270,306 เรื่อง หรือเฉลี่ยวันละ 525 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 4 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 74 ล้านบาทต่อวัน

โดย 5 อันดับคดีที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ หลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน หลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ และการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) ส่วนกลุ่มที่ตกเหยื่อมีทุกช่วงวัย แต่ส่วนใหญ่คือวัยทำงานเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยคิดเป็น 3% 

พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าวว่า เป้าหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือการลดสถิติคดีอาชญกรรมไซเบอร์ให้เหลือน้อยที่สุด แต่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นจากฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ดังนั้น การที่ประชาชนมีความรู้เท่าทัน มีทักษะที่แข็งแรงทางดิจิทัล ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันอาญกรรมทางไซเบอร์ของประเทศไทยได้ 

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปรียบเทียบอาชญกรรมทางไซเบอร์ว่า เป็นเสมือนไวรัสโควิดที่ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ที่ไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ก็เพราะมนุษย์มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น อาชญกรรมทางไซเบอร์ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีวันหมดไปตราบใดที่สังคมยังต้องใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ถ้าคนมีทักษะการใช้งานดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน ใช้อย่างชาญฉลาด ใช้ได้อย่างปลอดภัย ก็จะทำให้การใช้งานเทคโนโลยีมีประโยชน๋ต่อตนเองและสังคมมากกว่าโทษแน่นอน

สายชล หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่ต่อยอดการใช้ประโยชน์ ต่อไป “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” หรือ “Thailand Cyber Wellness Index” ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างเต็มที่ 

ด้าน สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญเพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง 

ดังนั้น AIS  จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงกากหำุร AIS อุ่นใจ CYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล

นอกจากนี้ สมชัย กล่าวสรุปว่า AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้มองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

AIS อุ่นใจ Cyber ชวนคนไทยหยุดเรียกชื่อล้อเลียน ด้วยแคมเปญ “โปรดเรียกฉันด้วยชื่อฉัน” ในวัน Stop Cyberbullying Day

AIS อุ่นใจ Cyber ย้ำ “คิด” ก่อนเมนต์-แชร์ “หยุด” รังแก บนโลกออนไลน์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ