TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistMORE โศกนาฏกรรมหุ้นไทย

MORE โศกนาฏกรรมหุ้นไทย

ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดขณะนี้คงไม่พ้นกรณีที่นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นเรียกว่าเป็นการ “ปล้นตลาดหลักทรัพย์” ที่อุกอาจที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นคือ กรณีการซื้อขายหุ้น “มอร์ รีเทิร์น” หรือ “MORE” ที่สร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาทและทำลายความน่าเชื่อถือตลาดหุ้นไทยอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้

ร้อนถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องสั่งหยุดพักการซื้อขายอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และส่อแววว่าอาจจะถูกแขวนต่อไปอีกนานเท่าไรมิอาจทราบได้ เนื่องจากยังมีข้อพิรุธต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย สำหรับเป้าหมายในการปล้นครั้งนี้เจตนาพุ่งเป้าไปที่ “โบรกเกอร์” หรือที่เรียกว่า “บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์” แบบเน้น ๆ และไม่ใช่แค่รายเดียวแต่มากถึง 20 รายเลยทีเดียว งานนี้เรียกว่าปิดตลาดปล้นแบบเงียบ ๆ 

อันที่จริงความน่าสงสัยในพฤติกรรมน่าจะมีมานาน โดยที่มาที่ไปก่อนที่จะเป็น MORE เดิมชื่อว่าบมจ.ดีเอ็นเอ 2002 หรือ DNA เปลี่ยนมาเป็น MORE ในเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับรื้อโครงสร้างธุรกิจจากเดิมที่เป็นผู้จัดจำหน่าย DVD กลายเป็นธุรกิจบริหารจัดการน้ำ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน โครงสร้างผู้ถือใหญ่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจาก DNA มาเป็น MORE ตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงกลางปี 2563 ส่งผลให้ราคาหุ้น MORE พุ่งกระฉูดต่อเนื่อง จนมาแตะจุดสูงสุดที่ 2.98 บาท เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของหุ้น MORE พุ่งขึ้นจากราว 2 พันล้านบาท ไปสู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ราวปาฏิหาริย์ด้วยเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น 

แผนการที่ดำเนินมาอย่างแยบยลต้องสะดุดขาตัวเอง ความมาแตกเอาเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้ามาตรวจสอบ พบว่าหุ้น MORE มีการซื้อขายอย่างพิศดาร ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2565 ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรงตั้งแต่เปิดตลาด +4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้ามูลค่าการซื้อขายวันนั้นก็สูงถึง 7,143 ล้านบาท จากค่าเฉลี่ย 30 วันก่อนหน้าที่อยู่แค่ 360 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น

ไฮไลท์ของแผนนี้อยู่ในช่วงเปิดตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 4,300 ล้านบาท สิ่งที่น่าสงสัยก็คือมีการส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียง “รายเดียว” ผ่านโบรกเกอร์หลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท ส่วนคำสั่งขายมีมาจากหลายรายที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ ตั้งแต่ 70 ล้านหุ้นต่อราย จนถึงราว 600 ล้านหุ้นต่อราย

ทันทีที่เปิดตลาด เกิดการจับคู่ซื้อขายกับผู้ขายหลายราย ผ่านโบรกเกอร์หลายแห่ง จากนั้นไม่นานหลังเปิดตลาด ราคาหุ้นก็ดิ่งลงจนไปต่ำสุด หรือติด floor ที่ราคา 1.95 บาท ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. 2565 หลังจากเปิดตลาด หุ้น MORE ก็ติด floor ทันทีที่ราคา 1.37 บาท ขณะที่การซื้อขายลดลงเหลือแค่ 134 ล้านบาทเท่านั้น นี่คือโศกนาฏกรรมอีกครั้งของตลาดหุ้นไทย

จากกรณีที่มีการปั่นวงเงินมาร์จิ้นขึ้นไปสูงระดับหลายพันล้าน แต่ละโบรกฯ มียอดตั้งแต่ระดับใกล้ ๆ 100 ล้านบาท ไปจนถึงกว่า 1,000 ล้านบาทซึ่งจะต้องมีการชำระค่าหุ้นกันในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 25655 กเริ่มมีสัญญาณแล้วว่า งานนี้มีรายการ “เบี้ยวค่าหุ้น” แน่ ๆ นั่นแปลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โบรกเกอร์ที่เป็นตัวกลางต้องรับผิดชอบอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ข้อที่น่าสังเกต ทำไมมีคนคิดจะขายหุ้นกับคนจะซื้อจำนวนตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายตั้งคำถามว่า นี่เป็นการแอบฮั้วกันตุ๋นโบรกเกอร์หรือไม่ หวังจะหลอกเอาเงินจากโบรกเกอร์หรือเปล่า นี่เป็นเพียงข้อสงสัย ส่วนข้อเท็จจริงก็คงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าผู้ซื้อกับผู้ขายมีเจตนาฮั้วกันเพื่อทำการทุจริตจริงหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนให้โบรกเกอร์ต้องระมัดระวังในการปล่อยวงเงินเครดิตมากขึ้น เพราะอาจมีโจรใส่สูทใช้ช่องว่างของกฏกติกาปล้นกลางวันแสก ๆ แบบกรณีนี้อีก

ฟันธงว่ากรณีนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน คนเหล่าน่าจะต้องศึกษาทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เห็นกฎกติกามี “ช่องโหว่” อยู่ตรงไหน และรู้พฤติกรรมโบรกเกอร์ที่เป็นคนกลาง “กินค่าคอม” นั้นมีความโลภเป็นทุนเดิม ทำให้แผนต่าง ๆ ง่ายขึ้น นักวิเคราะห์หลายคนในตลาดหุ้นจึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการปล้นโบรกฯ

ขณะที่ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” กูรูนักลงทุนวีไอ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ในภาพใหญ่ถือเป็นการสะท้อนจุดอ่อนของตลาดทุนไทยที่เต็มไปด้วยหุ้นปั่น ซึ่งในระดับโครงสร้างอาจจะเอื้ออำนวยให้มีการเก็งกำไรหรือปั่นราคาหุ้นได้ง่าย ๆ และไม่มีทางแก้ ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างตรงนี้ใหม่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำได้

เนื่องจากตัวบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและฟรีโฟลตต่ำ รวมไปถึงไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นเข้าไปป้องกัน จึงเกิดช่องว่างที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่เห็นว่าทำง่าย โอกาสโดนจับแทบจะไม่มี พอใครทำได้ก็เกิดการเลียนแบบและขยายตัว ซึ่งปัจจุบันก็มีหุ้นลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท เพียงแต่เคส MORE เป็นเคสพิเศษด้วยวิธีการใหม่

“ปัจจุบันมาตรการกำกับการซื้อขายที่ทำอยู่ถือว่าใช้ไม่ได้ ไม่มีผล เพราะทำไปแล้ว ก็ป้องกันหุ้นที่ถูก Corner ไม่ได้ แม้แต่มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันก็ตาม คำถามคือว่า หน่วยงานที่ดูแลได้มีการทบทวนหรือไม่ โดยในหลักการคือ หากไม่ได้ผล ต้องหาทางแก้ใหม่ เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถทำ Corner หุ้นได้ นอกจากนี้ งานนี้โบรกฯ ก็ต้องอุดช่องโหว่ตัวเองด้วย”

ทั้งหมดนี้ หากจะเรียกความเชื่อมั่น หน่วยงานกำกับก็คงต้องลงดาบผู้กระทำผิดให้สังคมได้เห็น รวมถึงปรับมาตรการรับมือต่าง ๆ ให้ทันเกมมากขึ้นโดยเร็ว

เมื่อระดับกูรูชี้แนะ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. ฟังแล้วรีบแก้ไขก่อนที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“กาตาร์ 2022” … จะรอดหรือจะร่วง

ขายที่ดินให้ต่างชาติ … เผือกร้อนในมือ “ลุงตู่”

พรบ.สุราก้าวหน้า … บนทางแพร่ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ