TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“กาตาร์ 2022” ... จะรอดหรือจะร่วง

“กาตาร์ 2022” … จะรอดหรือจะร่วง

นับถอยหลังไม่กี่วัน ก็เข้าสู่มหกรรมฟุตบอลโลกที่ถือว่าเป็นมหากาพย์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่มวลมนุษยชาติที่ว่ากันว่ามีคนจากทั่วโลกเฝ้ารอชมมากที่สุดเหนือกว่ากีฬาโอลิมปิกเสียอีก ห้วงเวลา 1 เดือนนับจากนี้จึงเป็นห้วงเวลาหยุดโลกอย่างแท้จริง  

ฟุตบอลโลกนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเจ้าภาพแล้ว ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้นการแข่งขันจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้มีกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและการบริการนอกเหนือจากการจับจ่ายใช้สอยในระหว่างที่มีการก่อสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อนการแข่งขัน

ผลระยะยาวการเป็นเจ้าภาพ อาจเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นโอกาสแสดงโลกเห็นว่าประเทศเจ้าภาพและเมืองที่มีสนามแข่งขันเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ได้มาอย่างยากลำบาก จะทำให้ทุกอย่างสวยหรู จะประสบความสำเร็จด้วยดีบทเรียนในอดีตจะเห็นว่าหลาย ๆ ประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกต้องประสบปัญหาการขาดทุนจนเกือบจะล้มละลาย เศรษฐกิจตกต่ำ มีปัญหาการว่างงานตามมา บางประเทศยังไม่ฟื้นจนทุกวันนี้ 

อย่างในกรณีของบราซิล ถือว่าเป็นประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ล้มเหลวมากที่สุดเนื่องจากประเมินผลสูงกว่าความเป็นจริง โดยตั้งกำไรไว้ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนก็สูงถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐกลับทำรายได้จากทัวร์นาเมนต์นี้เพียง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น เรียกว่าขาดทุนบักโกรกมากถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจของบราซิลต้องถดถอย โดยจีดีพีก่อนปี 2014 สูงถึง 6% หดตัวเหลือแค่ 4% มีปัญหาการว่างงานตามมา สิ่งก่อสร้างอย่างสนามกีฬาก็ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับอาฟริกาใต้ที่เคยเป็นเจ้าภาพก่อนหน้า 

กรณีของเยอรมันนี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006 ใช้งบลงทุนแค่ 430 ล้านยูโรเท่านั้น เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ของเดิมมีความพร้อมอยู่แล้ว ช่วงเวลาทีมีการแข่งขันยังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 400 ล้านยูโร ตรงข้ามกับหลาย ๆ ประเทศที่นักท่องเทียวต่ำกว่าที่คาด อีกทั้งยังมีกำไรจากการจัดการแข่งขันถึง 56 ล้านยูโรอัตราการว่างงานก็ลดลง เศรษฐกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากในกรณีของบราซิลและเยอรมนีจะเห็นได้ว่า “ต้นทุนของการเป็นประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว” ส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมีนัสำคัญ

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เจ้าภาพ คือ ประเทศ “กาตาร์” ที่มีขนาดเศรษฐกิจมีมูลค่า 1.46 แสนล้านดอลลาร์แต่ทุ่มงบกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวและผู้ชมฟุตบอลจากทั่วโลกซึ่งถือว่าลงทุนมากยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ และยังใช้เงินอีก 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างสนามกีฬา 8 แห่งรวมถึงใช้เงินอีกหลายพันล้านเพื่อสร้างรถไฟใต้ดิน สนามบินแห่งใหม่

คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจกาตาร์จะได้รับประโยชน์ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเดือนกว่าของศึกฟุตบอลโลก โดยจะมี “กำลังซื้อ” เพิ่มขึ้นจากนักกีฬาและทีมงานของชาติต่าง ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อชมการแข่งขัน เป็นต้น ผลทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กาตาร์จะได้รับเท่านั้น เพราะการเตรียมความพร้อม ทำให้รัฐบาลต้องลงทุนปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลทำให้กระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มระดับการจ้างงาน 

จากข้อมูลทางสถิติพบว่า อัตราการว่างงานของกาตาร์ลดลงจากระดับ 0.56% ในปี 2011 เหลือ 0.14% ในปี 2018 สอดคล้องกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 สู่ระดับ 2.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 85.62% ขณะที่ภาคธุรกิจที่อัตราการลงทุนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจากขนาด 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 สู่ราว 7.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2017  คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นราว 77.38%  แนวโน้มของเพิ่มขึ้นในขนาดมูลค่าการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเช่นนี้ ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2019 ภาคการก่อสร้างมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 18% ต่อไตรมาส 

ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจกาตาร์ขยายตัวจากขนาด 9.78 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 เป็น 1.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2018 โดยการลงทุนที่กล่าวไปในข้างต้นคิดเป็นสัดส่วน 38% ของการขยายตัว และในปี 2019 เศรษฐกิจกาตาร์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นที่ 11% ต่อปี  นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่กาตาร์จะได้รับคือ “ชื่อเสียง” ในระดับนานาชาติ 

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน ในดีก็ย่อมมีเสียขณะที่อีกด้านในการเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ก็มีรอยด่างมากที่สุดนับแต่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 21 ครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ความไม่ชอบมาพากลในการได้มาซึ่งการเป็นเจ้าภาพที่มีการให้สินบนผู้แทนประเทศต่าง ๆ จนทำให้คนดังในวงการฟุตบอลของโลกต้องพ้นจากตำแหน่งหลายคน รวมถึงจะถูกต่อต้านจากประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในเรื่องสิทธิมนุษยชน กรณีการกดขี่เอาเปรียบแรงงานต่างชาติทีเข้าไปทำงานก่อสร้างสนามกีฬา ระบบสาธารณูปโภคสำหรับการแข่งขัน จนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก 

ภาพการต่อต้านทั้งจากนักฟุตบอล สปอนเซอร์ จากประชาชนประเทศต่างๆตอนนี้ก็เริ่มขึ้นปะปรายและจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างที่มีการแข่งขัน อาจจะกระทบกับภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือได้ จนอาจจะกล่าวได้ว่า การลงทุนมหาศาลขนาดนี้อาจไม่คุ้มกับภาพลักษณ์ของประเทศก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ในปี 2022 จะสำเร็จหรือล้มเหลวจะรอดหรือจะร่วงคงต้องจับตาดูกันต่อไป

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ขายที่ดินให้ต่างชาติ … เผือกร้อนในมือ “ลุงตู่”

พรบ.สุราก้าวหน้า … บนทางแพร่ง

คำถามถึง “กสทช.”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ